“ทุกคนมีโอกาสเป็นคนไร้บ้านได้หมดจากสภาพสังคมตอนนี้” ทำความเข้าใจ ‘คนไร้บ้าน’ และวิธีรับมือกับสถานการณ์ ผ่านวงเสวนา Home for the homeless หาบ้านใหม่ ให้คนไร้บ้าน

Generation rent เจเนเรชันแห่งการเช่า

กลายเป็นพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่หลายๆ คนตอนนี้ ที่เลือก ‘เช่า’ แทนการซื้อขาด ไม่ว่าจะเป็นของชิ้นเล็กๆ อย่างเสื้อผ้า เครื่องประดับ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงของชิ้นใหญ่อย่างยานพาหนะ หรือที่พักอาศัย

นักวิเคราะห์บางคนคาดว่า มาจากราคาข้าวของที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับรายได้ ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคน หรือคนเจนอื่นๆ เลือกที่จะเช่าแทนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เปิดเผยว่า ราคาที่พักอาศัยทั่วประเทศไทยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกในปลายปีนี้ สาเหตุหลักมาจากต้นทุนวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างยังคงมีราคาสูง

“ทุกคนมีโอกาสเป็นคนไร้บ้านได้หมดจากสภาพสังคมตอนนี้” 

ความคิดเห็นของสมพร หารพรม ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ผ่านวงเสวนา Home for the homeless หาบ้านใหม่ ให้คนไร้บ้าน ภายในงาน Sustainability Expo 2023 เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

สมพรทำงานช่วยเหลือคนไร้บ้านมาหลายปี ทำให้เขาคุ้นชินและเห็นว่าเหตุผลที่ทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็น ‘คนไร้บ้าน’ เพราะไม่มีกำลังพอที่จะจ่ายค่าที่พักอาศัย โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาดที่ผ่านมา ยิ่งผลักให้เกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่ขึ้นเรื่อยๆ

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส. เปิดเผยตัวเลขสำรวจจำนวนคนไร้บ้านในไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ว่ามีประมาณ 2,499 คน

Sustainability Expo 2023 โซน Better Community by AME

ตัวเลขหลักพันอาจดูน้อยในความรู้สึกบางคน อนรรฆ บอกว่า เพราะสถานะคนไร้บ้านมีความไม่แน่นอน วันนี้ไร้บ้าน พรุ่งนี้อาจจะมีที่อยู่แล้ว ฉะนั้น ตัวเลขเฉียดสองพันห้าร้อยคนนี้อาจเป็นคนที่เปลี่ยนหน้าใหม่ๆ ไม่ซ้ำเดิม แปลว่าจำนวนคนไร้บ้านมีมากกว่านี้ ซึ่งครึ่งหนึ่งของจำนวนอยู่ในกรุงเทพมหานคร รองลงมาคือชลบุรี และเชียงใหม่ 

“ที่เราพบส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายวัยกลางคน ภาพจำเมื่อพูดถึงคนไร้บ้านจะเป็นชายวัยกลางคน อยู่ตัวคนเดียว ไม่มีหลักประกันทางรายได้”

นอกจากนี้ อนรรฆยังเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจคนไร้บ้านว่า สัดส่วนเป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ในแต่ละจังหวัด ส่วนใหญ่มีปัญหาทางสุขภาพ ซึ่งแบ่งออกเป็นมีอาการติดสุราอย่างเห็นได้ชัด 18.1% และมีปัญหาสุขภาพจิตที่เห็นได้ชัด 17.9%

สถานการณ์คนไร้บ้านที่ดูจะเพิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นที่มาให้เกิดวงเสวนาดังกล่าว ซึ่งมีผู้ร่วมวงด้วยอีก 2 คน คือ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และศราวุธ มูลโพธิ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพ และเสริมสร้างคุณภาพชีวิต (กคส.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อแชร์ประสบการณ์และความคิดเห็นว่า สังคมเราจะรับมือกับสถานการณ์ที่ “ใครๆ ก็เป็นคนไร้บ้านได้” อย่างไร

Sustainability Expo 2023 โซน Better Community by AME

‘สูงวัย ศักยภาพในการทำงานลดลง’ โจทย์ใหม่ของการทำงานช่วยคนไร้บ้าน 

“คนไร้บ้านเป็นปัญหาปลายทางในเรื่องสวัสดิการของรัฐ ฉะนั้น ไม่ใช่แค่ทำให้เขามีบ้านแล้วจบ แต่ต้องกลับไปแก้ไขที่สวัสดิการรัฐด้วย”

ในฐานะคนทำงานภาครัฐ ศานนท์ บอกว่า มาตรการช่วยคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบัน จะเริ่มจากฐานคิดที่มองว่า พวกเขาเป็นพลเมืองคนหนึ่งที่ควรได้รับการดูแลและสวัสดิการไม่ต่างจากคนอื่นๆ

‘บ้านอิ่มใจ’ เป็นหนึ่งในมาตรการนั้น กรุงเทพฯ ทำศูนย์กลางสำหรับดูแลคนไร้บ้าน โดยจะมีบริการอาหาร ติดต่อทำเอกสารทางกฎหมาย เช่น บัตรประชาชน และที่สำคัญคือบริการจัดหางานให้ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้คนไร้บ้านหลุดพ้นจากสถานะนี้ สามารถกลับไปดูแลตัวเองได้

อนรรฆ เสริมว่า สถานการณ์คนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทำให้การทำงานนี้ยากขึ้นเช่นกัน เพราะผู้สูงอายุหลายคนไม่มีกำลังพอจะออกไปหางาน หรืองานที่จะเปิดรับพวกเขาก็เริ่มน้อยลง 

สมพร เสริมต่อว่า ที่ผู้สูงอายุกลายเป็นคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการไม่มีสวัสดิการรัฐ ที่จะซัพพอร์ตพวกเขาในช่วงวัยที่ไม่สามารถทำงานหาเงินได้เหมือนเดิม นอกจากนี้ ยังมีคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเป็นคนไร้บ้าน คือ คนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต ครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ สถานที่รักษาของภาครัฐเองก็ไม่เพียงพอที่จะดูแล และคนที่เพิ่งออกจากเรือนจำ การกลับเข้ามาสังคมกลายเป็นเรื่องยาก 

“เรารู้สึกว่าการทำงานกับคนไร้บ้านไม่ง่าย เมื่อก่อนถ้าเขาเห็นคนจากภาครัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ เขาจะหนีทันที เพราะเขารู้สึกว่ารัฐแก้ปัญหาด้วยการกวาดเอาพวกเขาไปไว้ที่อื่น หรือสังคมเองก็มองเขาเป็นตัวประหลาด ทำให้เขาถอยออกมาจากสังคม สังคมก็ถอยจากเขา เลยกลายเป็นกำแพงระหว่างกัน สิ่งที่มูลนิธิเราลงไปทำงาน คือ ไปลดกำแพงนี้ แต่ตอนนี้มีสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปแล้ว คือ การทำงานของรัฐที่เป็นเชิงรุกมากขึ้น” สมพร กล่าว

Sustainability Expo 2023 โซน Better Community by AME

ปัจจัยที่ทำให้เกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่ อนรรฆ บอกว่า นอกจากความยากจนที่เป็นสาเหตุหลักๆ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อย่างปัญหาครอบครัว ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ผู้นำครอบครัวเช่น พ่อตกงาน ไม่สามารถหางานทำได้ ทำให้ไม่สามารถซัพพอร์ตทางการเงินกับครอบครัวได้เหมือนเดิม จนเกิดเป็นความน้อยใจและตัดสินใจไม่กลับบ้าน แต่เลือกหางานทำให้ได้แทน เมื่อทำไม่ได้ก็ทำให้กลายเป็นคนไร้บ้าน หรือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ก็เป็นตัวผลักให้คนเลือกออกจากบ้านมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ

“ช่วงโควิดที่เกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่จำนวนมาก เขาจะพากันมาอยู่ที่สวนลุม (สวนลุมพินี) ซึ่งปกติคนไร้บ้านเขาจะไม่ไปอยู่กัน ส่วนใหญ่ตกงานไม่กล้ากลับบ้านกัน 

“คำว่าคนไร้บ้านไม่ใช่แค่ไม่มีที่อยู่อาศัย แต่เป็นเรื่องทางจิตใจ ประมาณ 30% ของคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ มีญาติมีที่อยู่อาศัยให้กลับไปนะ แต่เขาไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นบ้านให้เขากลับไปได้ เป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงกลายเป็นคนไร้บ้าน” อนรรฆ กล่าว

ยิ่งใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะนานเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คนไร้บ้านเกิดความเคยชิน กลายเป็นปรับตัวอยู่ได้ ไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมแล้ว อนรรฆ บอกว่า Self-esteem หรือความมั่นใจในตัวเองของคนไร้บ้านจะเริ่มลดน้อยลงไปพร้อมๆ กับความหวังในชีวิต ยิ่งทำให้พวกเขาไม่รู้สึกถึงความจำเป็นที่ต้องมีงานทำ หรือมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง ทำให้อนรรฆเสนอว่าสังคมมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเหลือคนไร้บ้านได้

“มีงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบจากสถานการณ์นี้ เขาบอกว่าจะทำให้กำลังในการพัฒนาประเทศลดลง ถ้าภาครัฐยังไม่เข้ามาทำงานในจุดนี้ คือ ลดจำนวนการเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่ เราจะสูญเสียแรงงานที่เป็นกำลังของประเทศนี้เรื่อยๆ และเพิ่มภาระการดูแลพวกเขาในระยะยาว เพราะยิ่งอยู่ในสถานะคนไร้บ้านนานเท่าไร ก็ยิ่งทำให้การฟื้นฟูกลับมายากเท่านั้น”

ศราวุธ บอกว่า ภาครัฐมีพื้นที่สำหรับดูแลคนไร้ที่พึ่งประมาณ 73 แห่งทั่วประเทศ สามารถรับรองคนได้ประมาณ 20,000 คน แต่มีแนวโน้มว่าคนกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกินกำลังที่รับได้ ทำให้ภาครัฐมีอีกงานหนึ่ง คือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางประมาณ 850,000 ครัวเรือน โดยรัฐจะสนับสนุนใน 3 มิติ คือ การศึกษา รายได้ และความเป็นอยู่ ซึ่งมีนโยบายที่สนับสนุนหลายอย่าง เช่น นโยบายปรับปรุงบ้านสำหรับผู้สูงอายุ หากประชาชนคนไหนต้องการสามารถติดต่อหน่วยงานรัฐในพื้นที่ได้

Sustainability Expo 2023 โซน Better Community by AME

ไม่ให้ข้าว แต่ให้งานทำ เพื่อเขากลับมายืนด้วยตัวเอง

“ทุกคนต้องการโอกาสเพื่อขยับขยายสถานะตัวเอง พี่น้องคนไร้บ้านคือคนที่ขาดโอกาสนี้ เขาอาจเป็นคนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ครอบครัวไม่ยอมรับ เช่น พ่อแม่ไม่อยากดูแล เขาเลยต้องหนีออกมา หรือบางคนก็กำพร้าตั้งแต่เกิด ฉะนั้น ต้องดูว่าสังคมให้โอกาสคนกลุ่มนี้ที่เป็นคนเปราะบางมากน้อยแค่ไหน”

สมพรที่ทำงานกับคนไร้บ้านมาเป็นเวลานาน แชร์ประสบการณ์ว่า คนไร้บ้านหลายคนมีปัญหาบัตรประชาชนหาย ทำให้ไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันตัวตน โดยเฉพาะในการรับสวัสดิการต่างๆ จะให้ทำใหม่ก็เป็นเรื่องยากเพราะหลายคนไม่มีเอกสารไปยื่นทำเรื่อง 

เขายังพูดถึงเรื่องความหวังของคนไร้บ้าน หากได้มีโอกาสกลับมาทำงานและมีรายได้ จะทำให้พวกเขาเริ่มกลับมามีความหวังในชีวิตอีกครั้ง มีคนไร้บ้านหลายคนที่อยากทำงาน แต่ประตูแห่งโอกาสที่เปิดรับพวกเขาในเรื่องนี้ยังคงน้อยอยู่

“คนไร้บ้านบางคนจะมองแค่ปัจจุบัน อะไรที่มันใกล้ๆ ไม่ได้มีความหวังความฝันไกลๆ หรือวางแผนอนาคต ตอนเราทำโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง เราเห็นว่าคนไร้บ้านบางคนพอมีงานทำมีรายได้ เขาก็เริ่มกลับมามีความหวังเล็กๆ นะ เริ่มจากอยากมีห้องพักเล็กๆ สักห้อง จริงๆ มีบางคนที่ยอมเสียเงินวันละ 350 บาท เพื่อแลกกับการได้นอนที่ดีๆ สักคืน

“สิ่งที่เราเห็นได้อีกอย่างจากการทำงานกับคนไร้บ้าน คือ เขาไม่ได้ขี้เกียจตามภาพจำที่สังคมมี  เรามีโปรเจคให้คนไร้บ้านบริหารศูนย์พักสำหรับคนไร้บ้านกันเอง มีอยู่ที่กรุงเทพฯ ปทุมธานี ขอนแก่น และเชียงใหม่” สมพร กล่าว

‘ที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก’ เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะสถานการณ์ที่พักอาศัยราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จนบางคนไม่สามารถจ่ายได้ จึงจำเป็นที่ต้องมีที่พักราคาถูกเป็นทางเลือกสำหรับทุกคน ซึ่งการทำงานนี้เป็นการร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานรัฐต่างๆ และมูลนิธิที่พัฒนาที่อยู่อาศัย โดยตอนนี้อยู่ในช่วงหาพื้นที่ที่ไม่มีการใช้งานในกรุงเทพฯ เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นที่พักอาศัยต่อไป ซึ่งนโยบายนี้จะช่วยลดโอกาสการเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่ได้อีกทางหนึ่ง 

‘โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง’ ที่สมพรพูดถึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดจำนวนคนไร้บ้าน โดยโฟกัสไปที่คนไร้บ้านหน้าใหม่ โครงการนี้จะชวนคนไร้บ้านมาร่วมด้วยการหาที่พักและสนับสนุนด้านการทำงาน เพื่อให้พวกเขามีเงินเพียงพอที่จะดูแลตัวเอง โดยโครงการฯ จะสนับสนุนค่าที่พักครึ่งหนึ่ง ซึ่งการสนับสนุนจะปรับเป็นขั้นบันไดจนถึงวันที่คนไร้บ้านสามารถจ่ายค่าที่พักได้ 100% นั่นแปลว่าพวกเขาสามารถกลับมายืนได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังมี ‘รถปันสุข’ เป็นบริการเคลื่อนที่ของมูลนิธิฯ ที่จะออกไปหาคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ โดยจะมีบริการเหมือนกับบ้านอิ่มใจ แต่เป็นการเดินทางไปหาตัวคนไร้บ้านเลย

อีกประเด็นสำคัญที่วงเสวนาอยากฝากถึงคนทั่วไป คือ การช่วยเหลือคนไร้บ้านด้วยการแจกข้าว พวกเขาแชร์ร่วมกันว่า นอกจากช่วยเหลือคนไร้บ้านแล้ว การทำความเข้าใจสังคมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการสื่อสารว่าควรช่วยเหลืออย่างไร ต้องเกิดบนทัศนคติที่มองเห็นว่าคนไร้บ้านมีศักยภาพเช่นกัน

Sustainability Expo 2023 โซน Better Community by AME

“เราคงไปขัดศรัทธาคนไม่ได้ จริงๆ เราไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแจกเท่าไร เพียงแต่ว่าอยากให้การแจกนี้มันนำไปสู่อะไรอีกได้บ้าง ตอนนี้เลยทำเป็นจุดให้คนมาแจกร่วมกับกรุงเทพฯ โดยจะมีจุดบริการอื่นๆ เช่น หางาน ให้คนมาช่วยกันจ้างงานได้ เราทำไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนทัศนคติสังคม” อนรรฆทิ้งท้าย