1.5 ล้านบาท
เป็นราคาบ้านเฉลี่ยที่ ‘ผู้มีรายได้น้อย’ สามารถซื้อได้ จากการสำรวจของการเคหะแห่งชาติ ในปี 2560 – 2564 ซึ่งคำนิยามของผู้มีรายได้น้อยที่การเคหะฯ ระบุไว้ คือ มีรายได้ภายในครัวเรือนต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท แม้จะเป็นตัวเลขที่ดูเยอะ แต่เมื่อหันมาดูราคาที่ดินที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ กรมธนารักษ์ประกาศราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 2566 – 2569 ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 3% โดยเขตที่ที่ดินราคาสูงที่สุด คือ บริเวณถนนเพลินจิต ตารางวาละ 1 ล้านบาท ขณะที่บริเวณปริมณฑลอย่างจังหวัดนนทบุรี ราคาที่ดินอยู่ที่ประมาณ 1,300 – 170,000 บาทต่อตารางวา
เว็บไซต์ ddproperty เป็นเว็บซื้อขาย เช่า และรวบรวมข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ในไทย เปิดเผยผลสำรวจที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ประกาศขายในเว็บไซต์ว่า ราคาบ้านที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีอยู่ประมาณ 1% ขณะที่ราคาบ้านที่มีปริมาณเยอะที่สุดอยู่ที่ 1 – 3 ล้านบาท คิดเป็น 27%
นิยามคนจนในไทย คือ คนที่มีรายได้ไม่เกิน 2,686 บาทต่อเดือน สำหรับคนจนเมือง การเป็นเจ้าของที่ดินในเมืองอาจยังเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อม เพราะรายงานจากการเคหะฯ เมื่อปี 2562 เปิดเผยว่า มากกว่าร้อยละ 62 ของผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ เลือกอยู่อาศัยโดยการเช่า อีกทั้งพวกเขาเลือกที่จะเช่าในบริเวณที่สะดวกต่อการหารายได้ จากงานวิจัยโครงการบทสํารวจเบื้องต้นชีวิตของคนจนเมืองหลุดระบบ: กรณีศึกษาคนจนเช่าบ้าน/ห้องในเขตกรุงเทพมหานคร โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ พบว่า คนในชุมชนคลองเตย ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้จำนวนมาก เป็นแรงงานในการขับเคลื่อนย่านเศรษฐกิจอย่างสุขุมวิท มีทั้งคนที่ประกอบอาชีพเป็นแรงงานก่อสร้าง พนักงานขนส่ง ลูกจ้างสถานบันเทิงในย่านสุขุมวิท พนักงานร้านค้า วินมอเตอร์ไซต์รับจ้าง เป็นต้น จะเห็นได้ว่าคนเหล่านี้เองก็เป็นคนสำคัญคนหนึ่ง ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในย่านสำคัญต่างๆ ของกรุงเทพฯ
ในขณะเดียวกัน ถ้าหากเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่แรงงานหรือลูกจ้าง ผู้เช่าบ้านที่มีอาชีพหาบเร่แผงลอย ก็เลือกที่จะเช่าบ้านในบริเวณที่ตัวเองค้าขายอยู่ เพราะสะดวกต่อการทำงาน ‘ค้าขาย’ เป็นอาชีพที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ ทำให้การเช่าบ้านตอบโจทย์มากที่สุด เพราะต้องใช้พื้นที่ในการทำมาหากินค่อนข้างเยอะ ทั้งเอาไว้เก็บวัตถุดิบ – อุปกรณ์ พื้นที่สำหรับประกอบอาหาร เป็นต้น ถึงแม้ราคาเช่าบ้านจะใกล้เคียงกับการเช่าคอนโดมิเนียม หรือสามารถผ่อนบ้านรายเดือนได้เลย พวกเขาจึงยังเลือกที่จะเช่าบ้าน
ข้อมูลจากรายงานเดียวกันยังสำรวจผู้เช่าบ้านในพื้นที่ประวัติศาสตร์อีกด้วย ‘พี่หงา’ หนึ่งในผู้เช่าบ้านบริเวณเขตพระนคร เล่าว่า เขาเช่าบ้านในราคา 8,000 บาท ซึ่งอยู่ตรงหน้าวัดเทพธิดา อันเป็นพื้นที่ที่เขาใช้เปิดร้านขายของ เหตุผลที่เลือกเช่าใกล้ๆ เพราะจะได้เก็บของได้สะดวก ยิ่งถ้าวันไหนที่ขายดีก็จะง่ายต่อการเดินไปเอาของจากในบ้านมาเติมที่หน้าร้าน
แต่ทั้งนี้เพราะเป็นผู้มีรายได้น้อย อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องรับมือก็คือ ปัญหาความไม่มั่นคงทางที่อยู่อาศัย ทั้งการเสี่ยงโดนไล่รื้อ ปัญหารายได้ไม่พอต่อการจ่ายค่าเช่า เนื่องจากประกอบอาชีพที่ไม่มั่นคง ปัญหาระหว่างผู้เช่ากับเจ้าของบ้านเช่า รวมไปถึงปัญหาการมีสถานะทางทะเบียนบ้าน ที่ส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ในฐานะผู้อาศัย เช่น สิทธิในการขอน้ำขอไฟ สิทธิในการส่งลูกหลานเข้าโรงเรียน เป็นต้น
ทำให้มีหลายครัวเรือนอยู่แบบไม่มีสัญญาเช่าบ้าน ใช้วิธีทำสัญญาแบบปากเปล่า ในขณะที่บางบ้านมีสัญญาเช่าตั้งแต่แรกและเพิ่งเริ่มมีสัญญาเช่าในภายหลัง แต่การมีสัญญาเช่าก็ไม่ได้การันตีความมั่นคงให้กับผู้เช่าบ้าน เนื่องจากหลายบ้านต้องดิ้นรนภายใต้สัญญาที่มีปัญหา เช่น บ้านหลังหนึ่งในชุมชนพื้นที่ตึกแดงเช่าที่ดินปลูกบ้านไว้กับกรมธนารักษ์ สัญญาช่วงแรกมีระยะเช่า 5 ปี แต่ต่อมาเหลือเพียง 3 ปี และภายหลังก็ลดลงเหลือเพียง 1 ปีเท่านั้น
การที่สัญญาระยะเวลาเช่าลดลงเรื่อยๆ เป็นสัญญาณที่เตือนว่า ผู้เช่ากำลังเผชิญกับการเริ่มต้นไล่รื้อชุมชน เพื่อนำพื้นที่ไปพัฒนาเป็นอย่างอื่นนั้นเอง
เนื่องจากไม่รู้ว่าตัวเองจะได้อยู่ในที่ที่เรียกว่า ‘บ้าน’ ได้นานแค่ไหน ผู้เช่ารายคนจึงยอมอยู่สภาพบ้านที่ทรุดโทรม เพราะพวกเขากลัวว่าเมื่อซ่อมแซมบ้านไปแล้วจะโดนไล่ที่ภายหลัง ถ้าเป็นแบบนั้นก็หมายความที่เสียเงินซ่อมบ้านไปก็ไร้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นแล้วจึงทนอยู่แบบที่เป็นดีกว่า
ยกตัวอย่างเช่น บ้านในพื้นที่ชุมชนไผ่สิงโต เขตคลองเตย มีผู้เช่ารายหนึ่งเปิดเผยว่า เขากล้าไม่ซ่อมแซมบ้านที่ตัวเองอยู่ เพราะเขารู้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นบริเวณที่เช่ามาจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งเสี่ยงต่อการต่อการโดนไล่ที่ เขาจึงไม่อยากจะเสียเงินลงทุนปรับปรุงบ้าน ถ้าจะต้องโดนไล่ออกทีหลัง
ทั้งนี้ เหตุผลในการไล่รื้อชุมชนในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันออกไป แต่จุดร่วมที่งานวิจัยโครงการบทสํารวจเบื้องต้นชีวิตของคนจนเมืองหลุดระบบพบ คือ ความต้องการรื้อพื้นที่ชุมชนไปพัฒนาเมือง หมายความว่าคนอาศัยหรือคนจนเมืองก็จะไม่มีที่ให้อยู่ การศึกษาพบว่าการไล่รื้อส่งผลกระทบหลัก 3 ประเด็น คือ ความเป็นชุมชนหายไป เศรษฐกิจหยุดชะงักเพราะแรงงานไม่มีที่อยู่อาศัย และคนในเมืองเองก็จะเผชิญค่าครองชีพที่สูงขึ้นเนื่องจากแรงงานขาดแคลน
ไม่ใช่แค่ความไม่มั่นคงทางพื้นที่ ที่ทำให้พวกเขาไม่ปรับสภาพความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้น แต่เพราะเป็นผู้มีรายได้น้อยด้วย พวกเขาจึงไม่มีงบมากพอในการซ่อมแซมบ้าน
“เจ้าของบ้านไม่เคยซ่อมอะไรเลย ต้องเสียเงินซ่อมเองตลอด อย่างหลังคาก็ซ่อมเองเสียเงินกว่า 20,000 บาท ประตูก็ซ่อมเอง สภาพบ้านก็แย่มาก” เสียงจากผู้เช่ารายหนึ่งในชุมชนวัดสังเวชเล่าให้ฟัง เขาพักอาศัยอยู่ในห้องแบ่ง 7 ห้อง และตัวบ้านมีสภาพทรุดโทรมเนื่องจากเป็นบ้านที่มีอายุมากกว่า 100 ปี
ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่อีกปัญหาที่ผู้เช่าบ้านต้องรับมือ คือ ปัญหาด้านสุขภาวะ จากการสำรวจพบว่า บ้านเช่าส่วนใหญ่มักทรุดโทรมและไม่ได้มาตราฐาน พื้นที่ใช้สอยน้อยจึงต้องรวมทุกอย่างไว้ในที่เดียว ทั้งกิน นอน ทำครัว หรือกิจกรรมอื่นๆ ก็จะทำให้ห้องเดียวกัน อีกทั้งพื้นที่ไม่ได้มีการจัดแบ่งแบบเป็นที่เป็นทาง ทำให้พวกเขาอาศัยรวมอยู่กับผู้เช่ารายอื่น ที่อาจจะมีความเสี่ยงของการติดเชื้อกันเอง ยิ่งถ้าเป็นในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ห้องที่ไม่มีหน้าต่างก็สามารถแพร่เชื้อต่อกันได้ง่าย รวมไปถึงห้องน้ำก็เป็นแบบใช้ร่วมกัน
มากไปกว่านั้น คือ การที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านที่มีความปลอดภัยต่ำ เพราะว่าไม่ได้มีระบบการดูแลที่แน่นหนา ประกอบกับสภาพบ้านอยู่ในชุมชนแออัดเสี่ยงต่อการโดนขโมยของ แถมวัสดุที่ใช้ทำบ้านก็มักจะเป็นบ้านไม้หรือบ้านปูน เมื่อเวลาผ่านไปก็ผุพังได้ง่าย เสี่ยงต่อการเกิดบันไดถล่มหรือบ้านถล่ม
แม้ฟังดูแล้วบ้านเหล่านี้อาจไม่คุ้มค่าที่จะดิ้นรนอยู่สำหรับใครบางคน แต่กับคนรายได้น้อยที่มีทางเลือกในชีวิตไม่มาก อย่างน้อยการมีบ้านไว้ก็ยังเป็นหลักประกันได้ว่า พวกเขายังสามารถหาเลี้ยงชีพตัวเองได้ เหนื่อยแค่ไหนแต่กลับบ้านไปก็ยังได้พักผ่อน บ้านเป็นพื้นที่แคบๆเล็กๆ ที่เดียวในเมืองขนาดใหญ่ที่ไม่ตัดสินว่าเขาเป็นใครและให้ความสบายใจกับพวกเขา แต่ในทางกลับกันพบว่า เมืองใหญ่เองก็ไม่ได้ช่วยให้พวกเขามีบ้านสักเท่าไหร่ การศึกษาโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านด้วยการวิจัยภาคสนาม โดย พีระ ตั้งธรรมรักษ์และคณะ ระบุ ว่าปัจจัยที่ส่งผลให้คนกลายเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ได้มากที่สุด คือ ปัจจัยทางด้านครอบครัว และปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นจัยใดจะเป็นปัจจัยนำหลัก ในด้านปัจจัยครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นปัญหาของการใช้ความรุนแรง ที่บางครั้งมีสาเหตุจากปัญหาด้านความสัมพันธ์ และปัญหาด้านความยากจน ในส่วนของปัจจัยทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าการไม่มีรายได้มั่นคงเพียงพอที่จะจ่ายค่าที่อยู่อาศัยและตั้งหลักชีวิต ย่อมส่งผลให้คนเปราะบางเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน
เนื่องจากปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่มาจากโครงสร้างขนาดใหญ่ในสังคมซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดคือรัฐ แต่ในขณะเดียวกันงานวิจัยโครงการบทสํารวจเบื้องต้นชีวิตของคนจนเมืองหลุดระบบพบว่า ประเทศไทยยังขาดหน่วยงานที่กำหนดนโยบายให้ผู้อยู่อาศัยแบบเข้าถึงได้ นโยบายที่มีมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงที่อยู่ในอาศัยสำหรับโครงการขนาดใหญ่ และสร้างชุมชนที่มีเงื่อนไขมากมาย จนผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงได้ พวกเขาจึงโดนผลักให้ไปอยู่บ้านเช่าที่ไม่มีมาตรฐาน เจอการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้เช่า และยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลอีกด้วย
แม้กระทั่งระบบเช่าบ้านเองก็ส่งผลให้คนเช่าเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบเช่าบ้านอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ระบบสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและต่อรองยาก สภาวะไม่มั่นคงของการขึ้นค่าเช่าที่อาจมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ทั้งขึ้นค่าเช่าตามสภาพเศรษฐกิจ ขึ้นค่าเช่าเพราะนำเงินมาปรับปรุงบ้าน หรือขึ้นค่าเช่าเพราะอยากบีบให้ผู้เช่าออกเพื่อที่จะนำพื้นที่ไปทำอย่างอื่น
เมื่อสำรวจดูแล้วปัญหาที่เหล่าคนจนเมืองต้องเจอมันกำลังผลักให้พวกเขาวิ่งอยู่ในวังวนที่ไม่จบสิ้น แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็คือกลุ่มแรงงานสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเมืองในยังเดินหน้าต่อ ทั้งภาคการค้าและการบริการที่มีมากมายในเมืองศิวิไลซ์ถ้าหากไม่ได้แรงงานเป็นฟันเฟืองก็คงเคลื่อนไปไหนไม่ได้ ถ้าพวกเขาไม่มีที่อยู่อาศัยผลกระทบจะไม่ได้อยู่แค่ที่ปัจเจกแต่คือองค์รวมอีกด้วย
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานสถิติสัดส่วนของผู้มีรายได้น้อยหรือคนยากจนต่อการมีที่อยู่อาศัยในปี 2565 และพบว่า มีมากถึง 52% ของคนจนไม่มีที่อยู่อาศัยและอยู่ในบ้านเช่า ทั้งต้องเสี่ยงกลายเป็นคนไร้บ้านและต้องเอาชีวิตรอดในเมืองไปด้วย
ข้อเสนอจากงานวิจัยจึงมีแนวทาง 2 ประการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาผู้เช่าหลุดระบบ โดยอย่างแรก คือ พัฒนาหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายที่อยู่อาศัยโดยตรง ทั้งจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาให้มีหน้าที่และอำนาจในการดูแลนโยบายการเช่าบ้าน ขยายขอบเขตรัฐบาลท้องถิ่นให้มีภารกิจดูแลบ้านเช่า และเพิ่มขอบเขตอำนาจของหน่วยงานที่อยู่อาศัยเฉพาะการเคหะ
ประการสุดท้าย คือ เพิ่มบทบาทของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ประชากรเหล่านี้ที่ถือว่าเป็นประชากรกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงบริการสาธารณสุข และรับประโยชน์จากการส่งเสริมสุขภาพตามนโยบายในภาพรวมได้อย่างเท่าเทียม
อ้างอิง:
อัพเดต 10 ทำเล ราคาที่ดินแพงที่สุดในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 2565 (bangkokassets.com)
ราคาประเมินที่ดิน 2566 เช็กราคาที่ดินกรุงเทพฯ ตารางวาละเท่าไหร่ (ddproperty.com)
https://www.ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/อัปเดตราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศรอบใหม่-14870
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. รายงานโครงการ “บทสํารวจเบื้องต้นชีวิตของคนจนเมืองหลุดระบบ: กรณีศึกษาคนจนเช่าบ้าน/ห้องในเขตกรุงเทพมหานคร”
พีระ ตั้งธรรมรักษ์ และคณะ. การศึกษาโอกาสในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านด้วยการวิจัยภาคสนาม