ส่องสำรวจคนไร้บ้านกทม.มาจากไหนบ้าง

ดร.มนทกานต์  ฉิมมามี จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ผลการสำรวจประชากรในรายงานวิจัยฯ พบว่า ปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มคนไร้บ้านกลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่อพยพมาจากเขตชนบทในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่เพียงอย่างเดียว แต่พวกเขามาจากไหนบ้าง….

1

ดร.มนทกานต์  ฉิมมามี จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ผลการสำรวจประชากรในรายงานวิจัย “การสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง” พบว่า คนไร้บ้านในกทม. ส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.4 เดินทางมาจากภาคชนบทของไทย ในขณะที่คนไร้บ้านที่เป็นคนเมืองอยู่เดิมก็มีในสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกันมากนักคือ ร้อยละ 45.6 ซึ่งเมื่อพิจารณาจำแนกตามเพศของคนไร้บ้านแล้ว มีข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ เพศชายส่วนใหญ่มาจากเขตชนบท ในขณะที่คนไร้บ้านเพศหญิงและเพศทางเลือกส่วนใหญ่มาจากเขตเมืองมากกว่า

พื้นที่ต้นทางของคนไร้บ้านเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ งานศึกษาคนไร้บ้าน/คนเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัยในช่วงแรก ให้ภาพของของกลุ่มคนจนที่อพยพย้ายถิ่นมาจากภาคเกษตรกรรมในชนบทของไทย โดยเฉพาะจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากแรงผลักด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญทำให้กลายมาเป็นคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ในขณะที่ ในช่วง 10 ปีที่ผ่าน ผลการสำรวจนี้ยืนยันว่าพื้นที่ต้นทางถูกจำกัดขอบเขตให้เข้ามาใกล้จุดศูนย์กลางของประเทศมากขึ้น คือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดในภาคกลาง ซึ่งงานศึกษานี้สามารถเผยให้เห็นถึงพื้นที่ต้นทางสำคัญๆ ของคนไร้บ้านที่เข้ามาอาศัยในพื้นที่สาธารณะและศูนย์พักพิงชั่วคราวในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ว่ามาจากเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 30.6 รวมถึงภาคกลาง ร้อยละ 28.2 ในขณะที่ก็มีคนไร้บ้านจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและพื้นที่เกี่ยวเนื่องในสัดส่วนที่สูงเช่นเดียวกัน คือ ร้อยละ 30.6 (ดูภาพ 7.1) สำหรับพื้นที่ต้นทาง 5 อันดับแรกที่มีคนไร้บ้านออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารระของกรุงเทพฯ และพื้นที่เกี่ยวเนื่องมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ (ร้อยละ 22.2) รองลงมาเป็นจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและตอนกลาง คือ ศรีษะเกษ (ร้อยละ 4.5) นครราชสีมา (ร้อยละ 4.3) อุบลราชธานี (ร้อยละ 3.7) และขอนแก่น สุรินทร์ นครสวรรค์ (ร้อยละ 3.4)

2

ดังนั้น ผลการสำรวจพื้นที่ต้นทางของคนไร้บ้านนี้ สามารถตอบข้อสงสัยถึงถิ่นที่มาของคนไร้บ้านได้ในระดับหนึ่งว่า กลุ่มคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯและพื้นที่เกี่ยวเนื่องในปัจจุบัน (2559) ส่วนหนึ่งเป็นคนไร้บ้านกลุ่มใหม่ (มีระยะเวลาในการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านน้อยกว่า 5 ปี) ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่แล้ว ในขณะที่อีกกลุ่ม คือ คนไร้บ้านดั้งเดิมที่อพยพมาจากเขตชนบทในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนหนึ่งก็ยังคงเป็นคนไร้บ้านอยู่ในพื้นที่สาธารณะต่อไป

ในรายงานวิจัย “การสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้โครงการการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้าน และการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร”