“การที่เราตัดสินใจเช่นนั้นเพราะเราอยากจะมาใช้ชีวิตของเราสักที ประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นที่วัดสวนแก้ว สันมหาพลก็ดี ศูนย์คนพิการ หรือการต้องไปเป็นขี้ข้าเขา มันไม่ได้ตอบโจทย์ให้ผมใช้ชีวิตอย่างอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงแข็งแรงในชีวิตเลย ชีวิตที่ผ่านมามันแค่ชั่วคราว มันไม่ได้ตอบโจทย์ให้ผมว่า ผมจะอยู่ตรงนี้ตลอดชีวิต มีงานทำ มีรายได้มั่นคง มีที่อยู่อาศัย”
ลุงนรินทร์ตัดสินใจมาอยู่ที่ท่าแพเพื่อหาลู่ทางชีวิต เดิมพันกับโชคชะตาที่พลิกผันอีกครั้ง เขาได้พบกับป้าทองคำ หญิงผู้ใช้ชีวิตไร้บ้านในเชียงใหม่มานานเกิน 10 ปี แม้จะไม่สามารถหยิบยื่นความช่วยเหลืออย่างดีให้แก่กันได้มากนัก แต่สิ่งที่ป้ามอบให้ลุงนั้นคือ โอกาสของการได้ทำงาน การใช้ชีวิตที่ไร้บ้าน การทำมาหากินที่จะได้เป็นเจ้านายตนเองอย่างที่ลุงนรินทร์ต้องการ
“เธอเห็นผม ผมก็เห็นเธอ เราเริ่มพูดคุย และพึ่งพาอาศัยกัน เขาขายน้ำอยู่ที่ท่าแพ ผมก็ไปช่วยเขา ชีวิตที่อยู่ท่าแพ บางวันมี บางวันก็ไม่มี ช่วยเหลือป้าทองคำบ้าง มีใช้เล็กๆ น้อยๆ จากการเก็บขยะ และของเก่าขาย จนมาได้จักรยานพ่วง เพราะ มีคนขายไส้กรอกอีสานบนท่าแพ แล้วผมไปถามว่าอยากขายไส้กรอก ต้องทำไงบ้าง เขาก็บอกได้ แต่ให้ไปโกนหนวดโกนเครา ผมก็โกน นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมมีอาชีพที่ดีขึ้น ผมขายไส้กรอกอีสานตามร้านคาราโอเกะ ปั่นจักรยานพ่วงไป แต่มันไม่เวิร์ก เหนื่อยมาก ผมก็คิดว่าจะทำอะไรดี พอดีวัดเจดีย์หลวงมีงาน ก็ปั่นไปขายให้นิสิตเณร ได้วันละ 800-900 บาททุกวัน ดีกว่าไม่ค่อยเหนื่อย กำลังจะไปได้ดี คนทำไส้กรอกมีปัญหาครอบครัวจึงแยกกันไป ผมก็ไม่ได้ขาย แต่ยังดีที่เขาทิ้งจักรยานสามล้อไว้ ผมเลยขอซื้อต่อด้วยเงินจำนวน 600 บาท คันนี้ที่ได้มาผมถือว่ามันเป็นมือเป็นตีนผม ทำให้ผมเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น”
“เวลานอน นอนด้านหลังอาคารตึกแถวพาณิชย์ ผมจะไม่นอนฝั่งเหนือ ผมนอนฝั่งใต้ นอนประมาณไม่เกินสามทุ่ม จะนอนบนรถจักรยานสามล้อเข็น ตื่นประมาณตีสี่-ตีห้า นั่นแหละชีวิตประจำวันผม เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ผมมีสงเคราะห์ของผมอยู่แล้ว ก็ใช้สิทธิตรงนี้ในการรักษา ตอนนั้นไม่มีมาไล่จับ เข้าใจว่ามัน(คนไร้บ้าน)ยังมีไม่มาก เป็นสังคมร้าง ไม่มีเจ้าหน้าที่มาวุ่นวาย ตราบใดที่เรานอนของเราคนเดียว ไม่เหมือนกรุงเทพที่นอนกันเป็นร้อยอันนั้นมีผลกระทบแน่”
“ผมใช้ชีวิตที่ท่าแพเป็นเวลาปีเศษ จากนั้นช่วงกลางปี 2551 ผมเริ่มขายอาหารปลาบนรถจักรยานพ่วง ช่วงนั้นก็มีรายได้พอสมควร มีอาชีพเป็นของตัวเองไม่ต้องไปเดือดร้อนใคร ชีวิตผมดีขึ้น จังหวะนั้นเครือข่ายคนไร้บ้านเริ่มขึ้นมาแล้ว ป้าทองคำก็แจ้งข่าวว่า เครือข่ายคนไร้บ้านที่กรุงเทพขึ้นมาสำรวจเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้าน พอเสร็จจากการค้าขายผมก็ไปนั่งฟัง จนรู้ความเป็นไปเป็นมาของเครือข่ายคนไร้บ้าน เขาเสนอว่า จะมาช่วยคนไร้บ้านให้มีที่อยู่อาศัย พอเขาเสนอมาอย่างนี้ผมก็เกาะติดตลอด เข้าร่วมกระบวนการเลยไม่ต้องคิดมาก เราต้องหาตัวช่วยเพื่อให้เรายืนได้ เราก็ไปร่วมไปทำกิจกรรมกับเขา เขาไม่ได้เข้ามาเรี่ยไรเงิน หรือให้เงินกับเรา แต่เขามาช่วยและเริ่มไปกับเรา เคลื่อนผลักดันงบประมาณเพื่อมาช่วยเหลือ ก่อร่างสร้างศูนย์”
ชีวิตไร้บ้านเป็นเวลาปีกว่า เหมือนไม่ได้ทำให้ลุงนรินทร์ท้อแท้กับชีวิต แต่กลับกลายเป็นเสมือนโอกาสให้ลุงนรินทร์ได้ใช้ชีวิตในแบบฉบับของตนเอง และกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้ลุงเข้าร่วมกิจกรรมรวมกลุ่มกับคนไร้บ้าน จนกลายเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิคนไร้บ้าน
“ไปกรุงเทพผมก็ไป ไปเรียกร้องผมก็ไป เดินพูดคุยกาแฟกับคนไร้บ้านก็ไป จากนั้นเรารวมกลุ่มเป็นคนไร้บ้านเชียงใหม่มีการออมเป็นสวัสดิการ กองทุนที่อยู่อาศัย อาหารปลาก็ยังขายอยู่ (ไปซื้อที่ร้านเป็นกระสอบ แล้วมาแบ่งขาย) เพราะเป็นปากท้องของผม ทิ้งไม่ได้ นอกจากจะเข้ากรุงเทพฯ ก็หยุดขาย”
ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2552 ลุงนรินทร์ก็ย้ายไปอยู่คูหาที่เช่าเป็นศูนย์คนไร้บ้าน ภายใต้การสนับสนุนของพอช. ลุงจึงมี “ที่ซุกหัวนอน” ลุงไม่รู้หรอกว่าตนเองเป็นคนไร้บ้าน คำว่าไร้บ้าน ลุงก็เพิ่งเคยได้ยินมา
“เอาจริงๆ คำๆนี้ผมไม่รู้จัก แต่ผมคิดว่า ผมเป็นคนไม่มีหัวนอนปลายตีน ไม่ใช่เร่ร่อน ผมอยู่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้นเพื่อหาลู่ทางให้กับชีวิตตนเอง ซึ่งผมคิดว่า ช่วงอาศัยอยู่ท่าแพ เป็นช่วงที่ผมเป็นคนไม่มีหัวนอนปลายตีน เพราะที่หน้าสวนสัตว์ผม นอนแค่ 4 วัน 3 คืน ผมถือว่ามันเป็นช่วงเวลาของการมองลู่ทางว่าจะไปไหนหลังจากเงินหมดแล้ว แต่ที่ท่าแพผมไม่ได้มองว่าจะไป แต่ผมมองว่า จะอยู่จุดนี้จนกว่าจะมีลู่ทางให้กับเรา ผมคิดอยู่เสมอว่าจะทำอะไรกิน ไม่ใช่ไม่คิดนะ เพียงแต่ว่าโอกาสยังมาไม่ถึง พอดีเจอป้าทองคำ โอกาสผมเริ่มมาแล้ว ต้องขอบคุณเขา เรียกพี่เรียกน้องกัน เขาขายอาหารปลา เขาไม่ขาย ผมขาย อาชีพเก็บขวดผมก็ทำ แต่บอกตรงๆ มันเหนื่อย เพราะต้องเคลื่อนที่ ขายอาหารปลาดีกว่า อยู่กับที่”
“บ้าน” ในความคิดของคุณลุงนรินทร์คืออะไร ลุงตอบเพียงแค่ว่า “นอนที่ไหนก็ได้มันก็คือบ้าน บ้านฉุกเฉิน บ้านชั่วคราว บ้านถาวร มันก็มีอยู่สามลักษณะ บ้านฉุกเฉินก็คือนอนไปเรื่อย บ้านชั่วคราวก็อยู่ใต้อาคาร มันคือว่า เรามีที่หลับนอน ถ้าเรามีที่หลับนอนที่นั่นก็คือ “บ้าน” แล้ว”
ภายหลังจากได้ร่วมทำงานกับกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่ ได้เข้าไปพูดคุย ช่วยเหลือคนไร้บ้านคนอื่น ลุงก็พบว่า ปัญหาการไร้บ้าน เป็นปัญหาเฉพาะของแต่ละคนที่เขาออกมา เป็นปัญหาร้อยพ่อพันแม่
“คนอื่น เขาอาจจะมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง เช่น ลูกหลานไม่เอา พี่น้องไม่เอาเขา โดนไล่ออกมา มันมีหลายอย่างมันเหมือนเป็นโรคที่ไม่ใช่โรคเดียวกัน แต่เป็นเหมือนกัน มันอาจจะไม่มีทางรักษา แต่มารวมเป็นเครือข่ายดีไหม ผมว่าดี มาช่วยเหลือกัน อันนี้คือการแก้ปัญหาให้กับตัวเองในทางที่มั่นคงและถาวร”
ในอนาคต ลุงนรินทร์วางเป้าหมายตนเองโดยผูกไว้กับเครือข่ายคนไร้บ้านเชียงใหม่ คือ การได้ใช้ชีวิตด้วยตนเองอย่างสุขใจ
“เป้าหมายของผมคือเป้าหมายเดียวกับเครือข่ายคนไร้บ้าน คือ มีศูนย์ถาวรให้พี่น้องคนไร้บ้านได้อยู่ ได้ฝึกฝน และได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ช่วยพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้า มีอาชีพ มีเงินที่มั่นคงแข็งแรง ในอนาคตมีบ้าน แล้วเราใช้ชีวิตของเราเอง โดยไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากประสานงานร่วมกันเท่านั้น”
“ความสุขใจ อยู่ไหนก็ได้ แม้แต่กับอยู่กับคนไร้บ้านด้วยกันเอง ขออย่าก้าวก่ายกัน ทำหน้าที่ของแต่ละคนพอ ซึ่งมันจะอยู่แล้วสุขใจ นั่นคือชีวิตของผมในบั้นปลายที่หวังเอาไว้ ณ เวลานี้”
“ส่วนตัวผมไม่เคยคิดอยากมีบ้าน หนึ่งชีวิตผมผ่านมา นอกจากเป้าหมายเครือข่าย ชีวิตผมทิ้งไว้ที่สวนแห่งนี้แล้ว”
และนี่คือเรื่องราวของนรินทร์ เอื้ออมรรัตน์ ผู้หยิ่งทระนง เย้ยฟ้า ท้าทายชีวิตพิการ และไร้บ้าน ที่ในท้ายที่สุดเขาได้ค้นพบเป้าหมายชีวิตของตนเอง.
อ่านตอนเดิมได้ที่
คนไร้บ้านเชียงใหม่ เดอะซีรีส์ (6) นรินทร์ ผู้หยิ่งทระนง เย้ยฟ้า ท้าทายชีวิตพิการ และไร้บ้าน #1