จำนวนคนไร้บ้านสูงอายุในอังกฤษเพิ่มจำนวนขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แนะรัฐจัดสวัสดิการคู่กับที่อยู่อาศัย

จากการลงทะเบียนคนไร้บ้านกับเทศบาลเมืองท้องถิ่น ประเทศอังกฤษ พบว่า คนไร้บ้านสูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไปเพิ่มจำนวนขึ้นถึงสองเท่า จากในปี 2009 มีจำนวน 1,210 คน  ปี 2016  เพิ่มจำนวนเป็น 2,420 คน

ที่มาภาพ: Reuters

ข้อมูลจากรัฐบาลอังกฤษ ระบุว่า จำนวนคนไร้บ้านทั้งหมดในอังกฤษก็เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันเช่นกัน คิดเป็นร้อยละ 42 จาก 41,790 คน เป็น 59,260 คน แต่จำนวนคนไร้บ้านสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โดยในจำนวนนั้นเป็นผู้สูงวัยอายุ 65 ปี ขึ้นไปจำนวนร้อยละ 61  ผู้สูงวัยอายุ 75 ปีขึ้นไป ร้อยละ 21

สมาพันธ์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (The Local Government Association (LGA)) ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 370 แห่งทั่วประเทศอังกฤษ และเวลส์ กล่าวว่า หากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ ในปี 2025 จำนวนอาจเพิ่มขึ้นสองเท่า

นักรณรงค์ในประเด็นคนไร้บ้าน เห็นว่า จำนวนตัวเลขคนไร้บ้านสูงวัยเป็นเสมือน “ระเบิดเวลา” สำหรับองค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นปัญหาเรื้อรัง ไม่เฉพาะแค่ประเด็นที่อยู่อาศัย แต่รวมถึงสวัสดิการด้านสุขภาพและสังคม

การกลายเป็นคนไร้บ้านของผู้สูงวัยจากข้อมูลของ LGA พบว่า ส่วนใหญ่มาจากปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน ทั้งด้านกายภาพ และจิตใจ เช่น ปัญหาติดสุราเรื้อรัง ติดการพนัน

องค์กรการกุศลหลายแห่ง รวมถึงนักรณงค์ เตือนว่า หากไม่มี “ตาข่ายปลอดภัยทางสังคม” (proper safety net) เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนผู้สูงวัยเมื่อพวกเขาไม่มีที่อยู่อาศัย การตัดสวัสดิการเป็นสิ่ง “รุนแรง” เพราะมันทำให้คนหลายร้อย หลายพันคนไร้บ้าน เข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

“ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนตัวเลขคนไร้บ้านสูงวัยที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากๆ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มันดำเนินไปอย่างผิดทาง จนทำให้ตัวเลขนี้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เราจำเป็นต้องมีตาข่ายปลอดภัยทางสังคม เพื่อช่วยเหลือคนในสังคมที่เผชิญกับช่วงยากลำบากในชีวิต” เคโรไลน์ อับบราฮัมส์ ผู้อำนวยการองค์กรเอจยูเค (Age UK) ให้สัมภาษณ์กับอินดิเพนเดนท์

“เราทุกคนรู้ดีว่า มันเป็นปัญหาวิกฤตด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศนี้ และโชคไม่ดีที่มันมีผลต่อกลุ่มคนสูงวัยอย่างมาก เราขาดผู้เชี่ยวชาญในการจัดระบบ หรือแนะนำสวัสดิการแบบใหม่ และบริการเพื่อรองรับ”

“เราต้องการตัวลือกที่ดีกว่านี้ เช่น มีที่อยู่อาศัยที่สร้างสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ แต่สิ่งที่ทำให้มันเกิดขึ้นได้กลับถูกตัด สภาเมือง และสมาคมที่อยู่อาศัยยังคงลดงบประมาณอุดหนุนการสร้างบ้านที่เข้าถึงได้ มันน่าตกใจมากที่รัฐคิดว่าคนสูงวัยควรกลายเป็นคนไร้บ้าน ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยงมากทั้งปัญหาสุขภาพ ร่างกาย จิตใจ”

พอลลี่ นีท ผู้อำนวยการศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน กล่าวว่า หลังจากเห็นจำนวนคนไร้บ้านสูงวัยเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงประสบการณ์ที่คนไร้บ้านสูงวัยมาใช้บริการ เขาเห็นว่าควรเรียกร้องให้จบ “ฝันร้าย” อันนี้ รัฐมนตรีจะต้องหยุดการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ และสร้างบ้านราคาเข้าถึงได้เพิ่มมากขึ้น

“มันน่าตกใจ ที่ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยในประเทศเรา ทำสถิติแย่มากขึ้น  จำนวนตัวเลขคนแก่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเทศบาลท้องถิ่นต้องช่วยเหลือ หาที่อยู่ให้พวกเขา มันน่าเศร้ามาก เมื่อกลับมาดูการให้บริการของเรา คนสูงวัยเมื่อไร้บ้าน เขาต้องการคำปรึกษา และสนับสนุนจากเรา”

“การตัดสวัสดิการอย่างฉับพลัน และการขาดแคลนบ้านในราคาที่เหมาะสม ทำให้คนหลายร้อยหลายพันไร้บ้าน พวกเขาไม่มีบ้านเป็นของตนเอง และปราศจากบ้านที่มั่นคง มันเป็นสถิติที่ซ๊อคนะ มันเป็นความน่าอับอายขายขี้หน้าของชาติมาก มันไม่ใช่เพียงแค่คนหนุ่มที่ต้องได้รับผลจากระบบอสังหาริมทรัพย์ แต่คนแก่ก็ด้วย”

“การจบฝันร้ายนี้ รัฐบาลควรวางงบประมาณช่วงฤดูใบไม้ผลิในแนวทางที่หยุดการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ จากนั้นทำให้คนสูงวัยสามารถจ่ายค่าเช่าไหว และทำให้พวกเขาสามารถรักษาที่อยู่อาศัยของเขาไว้ได้ ในระยะยาวรัฐบาลจะต้องให้คำมั่นว่าจะสร้างบ้านในราคาที่เหมาะสม เข้าถึงได้ให้มากขึ้น”

ด้านผู้นำสภาเทศบาลเมืองเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างบ้านสำหรับผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น และปรับนโยบายปฏิรูปสวัสดิการที่ทำมาก่อนหน้านี้ เพื่อลดความเสี่ยง  และเรียกร้องให้พวกเขาสามารถกู้เงินงบประมาณได้มากขึ้น เพื่อสร้างบ้านในราคาที่เหมาะสมให้มากขึ้น เพื่อลดจำนวนคนไร้บ้าน

อิซซี เซคคอมเบ ประธานคณะกรรมการสวัสดิการชุมชนของ LGA  เตือนว่า สังคมกำลังเผชิญกับระเบิดเวลา ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนสูงวัยไร้บ้านเป็นเสมือนการ “เตือน” ให้เราจัดสวัสดิการสุขภาพและสังคมเพิ่มมากขึ้น

“โดยปกติ การไร้บ้านมักเกิดขึ้นกับคนวัยหนุ่ม มันเป็นข้อเท็จจริงที่น่าสลด ที่คนไร้บ้านอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 47 ปี แต่ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับระเบิดเวลา เมื่อกลุ่มคนสูงวัยกลายเป็นคนไร้บ้าน ปัจจุบันตัวเลขอาจจะยังไม่สูงมาก แต่สามารถเพิ่มขึ้นได้ภายในไม่กี่ปี”

“ปัญหาคนไร้บ้านไม่ใช่แค่ประเด็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับปัญหาสุขภาพและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนผู้สูงวัย  ตัวอย่างเช่น จากประสบการณ์ในชีวิตของคนไร้บ้านสูงวัยมักจะป่วยจากความซึมเศร้า หรือสมองเสื่อม ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการสังคมและสุขภาพ”

“สภาเทศบาลท้องถิ่นต้องการยุติปัญหาคนไร้บ้านด้วยการป้องกันไม่ให้มันเกิด โดยเริ่มจากต้นทาง เราอยากให้รัฐบาล อนุญาตเราให้สามารถสร้างบ้านในราคาที่เหมาะสม และปรับเปลี่ยนนโยบายปฏิรูปสวัสดิการ เพื่อช่วยให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้”

ด้านโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า “ปัญหาคนไร้บ้านในกลุ่มผู้สูงวัยเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก และเรารู้ว่า การที่ทุกคนมีบ้านที่มั่นคงเป็นของตัวเองนั้น สำคัญอย่างไร ดังนั้น เราจึงเตรียมผู้เชี่ยวชาญไว้ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา ในเวลาที่พวกเขาต้องการ”

“นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงจัดงบประมาณ 550 ล้านยูโร ยาวถึงปี 2020 เพื่อจัดการกับปัญหาคนไร้บ้าน ด้วยนโยบาย “ลดปัญหาคนไร้บ้าน” หมายความว่า ผู้คนจำนวนมากจะได้รับความช่วยเหลือตามที่เขาต้องการ และช่วยป้องกันพวกเขาจากการไร้บ้านในต้นทางอีกด้วย”

 


ที่มา: Independent