“จำนวนหญิงไร้บ้านอังกฤษพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่มีการล็อคดาวน์โควิด-19 เหตุตกงานและความรุนแรงในครอบครัว”

ขอบคุณรูปจาก The Guardian

จำนวนผู้หญิงไร้บ้านในอังกฤษพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในลอนดอนที่จำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นกว่า 35% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564 พบคนไร้บ้านในลอนดอนเพิ่มขึ้นมากกว่า 11,000 คน คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่มากกว่าปีที่แล้ว 3% แม้จะ มีการผลักดันให้ทุกคนพ้นจากสภาวะไร้บ้านในฤดูใบไม้ผลิที่แล้วก็ตาม องค์กรการกุศลเพื่อคนไร้บ้านนาม “ไครสิส(Crisis)” ได้อธิบายปรากฏการณ์การรเพิ่มขึ้นของคนไร้บ้านว่าเป็นผลมาจาก การผลักให้คนไร้บ้านมาอาศัยในโรงแรมในช่วงแรกของการระบาดของโควิด-19 

ในระหว่างปี 2557 ถึง 2560 จำนวนคนไร้บ้านค่อนข้างคงที่ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาจำนวนคนไร้บ้านก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกือบสองเท่าจากจำนวนในปี 2555ตัวเลขนี้จัดทำโดยเทศมณฑลเกรเทอร์ลอนดอน และถือเป็นข้อมูลคนไร้บ้านที่ครอบคลุมมากที่สุดของสหราชอาณาจักร

องค์กรการกุศลต่าง ๆ ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้กับปัญหาคนไร้บ้านนี้เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หลังมีการยกเลิกมาตรการที่ห้ามขับไล่ผู้เช่นออกจากที่พักอาศัย การพักชำระหนี้ค่าเช่านั้นสิ้นสุดลงและที่อยู่อาศัยราคาถูกขาดแคลน และทำให้หลายคนต้องออกมาอยู่อย่างคนไร้บ้านในที่สุด

องค์กรกุศลต่าง ๆ ยังกล่าวเตือนถึงวิกฤตคนไร้บ้านผู้หญิงถึงเพิ่มขึ้นที่เกิดจากงานด้านการบริการที่ลดลงและความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากสถิติจำนวนคนไร้บ้านของอังกฤษที่เผยแพร่อย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์นั้น พบว่า 14% ของคนไร้บ้านเป็นผู้หญิง และตัวเลขใหม่ของคนไร้บ้านในลอนดอน ก็พบว่า 16% เป็นผู้หญิง

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลคนไร้บ้านต่างกังวลว่าผู้หญิงหลายคนอาจไม่ถูกนับรวมอยู่ในสถิติคนไร้บ้านอย่างเป็นทางการ เพราะคนไร้บ้านผู้หญิงมักจะเข้าไปอยู่ในที่พักพิงเพื่อความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นบนรถโดยสารหรือตามแผนกฉุกเฉิน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนับรวมพวกเธอเมื่อมีการเก็บสถิติตามพื้นที่

ริค เฮนเดอร์สัน ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร “Homeless Link” องค์กรการกุศลเพื่อคนไร้บ้านระดับประเทศ กล่าวว่า แม้โครงการ “Everyone In” โครงการที่ช่วยเหลือให้คนหลุดพ้นจากสภาวะไร้บ้าน จะประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ก็เป็นโครงการเพื่อแก้ไขเพียงปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ซึ่งจากจำนวนคนไร้บ้าน 7,500 คนเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีของลอนดอนแสดงให้รัฐบาลเห็นว่า หากรัฐบาลมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านภายในปี 2567 รัฐบาลต้องเริ่มจากการแก้ไขรากของปัญหาคนไร้บ้านก่อน

จอน สปาร์ค ผู้บริหารองค์กรไครสิส กล่าวว่า “เป็นที่น่าสะเทือนใจที่เห็นจำนวนคนเร่ร่อนบนท้องถนนเพิ่มขึ้น … ในทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนคนเร่ร่อนเพิ่มขึ้นถึง 94% อย่างน่าตกใจ  และปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่ป้องกันไม่ได้”

เกมมา ธาเปอมอลล์ พนักงานอาวุโสประจำองค์กรการกุศลเพื่อคนไร้บ้านนาม “กลาสดอร์ (Glass Door)” กล่าวว่า สำหรับผู้หญิงที่ไร้บ้านนั้น การสูญเสียงานเป็นสาเหตุสำคัญของการไร้บ้าน แต่ “เมื่อฉันได้ทำงานสนับสนุนผู้หญิงไร้บ้าน ฉันมักจะสังเกตุเห็นว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นมากกว่านั้น”

เธอกล่าวต่อไปว่า “พวกเขาเดินเข้ามาหาศูนย์ช่วยเหลือคนไร้บ้านด้วยปัญหา เช่น ตกงาน แต่ในไม่ช้าปัญหาอื่น ๆ จะปรากฎให้เห็น เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว”

มาริเก แวน ฮาร์สกัมพ์ จาก “New Horizon” องค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือและสนับสนุนคนไร้บ้านวัยหนุ่มสาว ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างชายและหญิงที่เร่ร่อนตามท้องถนน โดยพบว่า ผู้หญิงมักจะไม่อยู่ตามท้องถนนในตอนกลางคืน ซึ่งนั่นหมายความว่าหญิงเร่ร่อนเหล่านี้จะไม่ถูกนับรวมในข้อมูลคนไร้บ้านหรือคนเร่ร่อนในที่สาธารณะ

หญิงนิรนามคนหนึ่งที่เคยได้รับความช่วยจากองค์กรการกุศลกลาสดอร์เล่าว่า  เธอย้ายจากประเทศโรมาเนียมาอยู่ที่สหราชอาณาจักรเมื่อ 2 ปีก่อน เธอเคยตกเป็นเหยื่อของการค้าแรงงานทาสสมัยใหม่ในช่วงแรกที่อพยพเข้ามา แต่เมื่อภาษาอังกฤษของเธอพัฒนาขึ้น เธอจึงตระหนักได้ว่าเธอกำลังถูกเอาเปรียบและได้หางานใหม่จนได้งานเป็นพนักงานเสิร์ฟ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 เธอตกงานและไม่สามารถหาห้องเช่าได้ เธอเสียทรัพย์สินอันหนึ่งไปกับการโดนขู่ทำร้าย และกลายมาเป็นคนไร้บ้านอยู่ที่สาธารณะ

แต่ในที่สุดเธอก็ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรการกุศลกลาสดอร์และสามารถเข้าสู่ระบบ Universal Credit (UC) หรือระบบสวัสดิการสำหรับผู้กลับเข้าไปทำงานอีกครั้งของอังกฤษ  (มีเป้าหมายเพื่อให้พ้นจากการว่างงานและเข้าสู่ตลาดงานได้ง่ายขึ้น)  อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าที่ผ่านมาเธอประสบการณ์กับสิ่งที่ “หนักหนาทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย”

 “หลังจากใช้ชีวิตบนท้องถนน ฉันไม่เคยอยากกลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นเลย  ฉันไม่อยากนอนบนถนนอีกแม้แต่คืนเดียว” เธอกล่าว

ทั้งนี้ แวน ฮาร์สกัม ให้ข้อมูลว่า องค์กร New Horizon ได้คาดการณ์ว่าจะพบผู้หญิงออกมาไร้บ้านมากขึ้น จากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่รุนแรงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดขอโควิด-19 นี้ “โดยปกติแล้วหญิงสาววัยรุ่นมักสามารถขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ แต่พวกเขาทำได้ยากขึ้นในช่วงโควิด ดังนั้นหญิงสาวเหล่านั้นจึงเลือกรับความช่วยเหลือจากองค์กรฯแทน” เธอกล่าว

 “ปัจจัยที่สามคือ ในช่วงเวลาปกติ หญิงสาวอาจได้รับการสนับสนุนตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยศูนย์ช่วยเหลือเยาวชน แต่ศูนย์ฯ เหล่านี้ต่างปิดตัวลงในช่วงการระบาดของโควิด-19”

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/society/2021/jun/30/rise-in-women-sleeping-rough-hidden-crisis-england-charities-warn