.
Homeless (โฮมเลส)
เป็นคำที่เราคุ้นเคยกันดี และใช้เรียกคนที่ออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ หรือคนไร้บ้าน มูลนิธิอิสรชน องค์กรให้ความช่วยเหลือคนเปราะบาง ให้นิยามคนไร้บ้านไว้ว่า คนที่ถูกขับไล่ออกจากที่พักอาศัย เพราะฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี หรือเพราะวิถีชีวิตเขาขัดแย้งกับความเชื่อในพื้นที่ เช่น กินของดิบๆ จนคนกลัวว่าจะเป็นผีปอบ กระสือ ทำให้ถูกขับไล่ออกมา
คำที่ใช้เรียก หรือแทนคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีแค่คนไร้บ้าน หรือ Homeless สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) ของอังกฤษ หยิบ 3 คำที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์คนเปราะบางที่มีปัญหาเข้าถึงที่อยู่อาศัย คือ Homeless, Houseless (เฮาส์เลส) และ Unhoused (อันเฮาส์)
Houseless มีความหมายว่า ไม่มีที่อยู่อาศัย ส่วน Unhoused คือ ไร้ที่อยู่อาศัย ทั้ง 3 คำมีความหมายที่คล้ายคลึงกันจนแทบจะมองไม่เห็นความแตกต่าง แต่เมื่อลงรายละเอียดลึกๆ คำเหล่านี้มีความแตกต่าง และมีผลต่อการหยิบมาใช้เพื่อสื่อสารเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่นักวิชาการและองค์กรต่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือคนเปราะบาง กำลังให้ความสำคัญ
เพราะคำมีผลต่อความรู้สึกและมุมมองที่สังคมมีต่อคนเปราะบาง การใช้คำที่เหมาะสมจะช่วยให้คนเข้าใจ และมองเห็นความสำคัญของพวกเขาได้ อย่างเช่นสถานการณ์คนไร้บ้าน บลานเช่ เฮาส์ (Blanchet House) กลุ่มให้ความช่วยเหลือคนเปราะบางในแคนาดา บอกว่า คำที่ใช้เรียกคนที่มีปัญหาที่อยู่อาศัยมักมองแค่มุมกายภาพ และเป็นปัญหาส่วนบุคคล ทำให้การแก้ไขปัญหามุ่งเป้าไปที่การทำให้พวกเขากลับมามีที่อยู่อาศัย แต่นั่นอาจไม่ช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้
Homeless เป็นคำที่ถูกใช้มากที่สุดในปัจจุบัน เมอร์เรียม-เวบสเตอร์ (Merriam-Webster) พจนานุกรมของอเมริกาให้ความหมายว่า ไม่มีบ้านหรือที่อยู่อาศัยถาวร (having no home or permanent place of residence)
บ่อยครั้งที่คำว่า Houseless ถูกใช้แทน Homeless ทั้ง 2 คำมีความหมายโดยรวมเหมือนกัน คือ คำเรียกคนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งอย่างถาวร ความแตกต่างเลยอยู่ที่การใช้คำแทนคำว่า ‘บ้าน’ ในภาษาไทยเราจะมีคำเรียกที่อยู่อาศัยหลักๆ คือ บ้านและเรือน ซึ่งความแตกต่างของ 2 คำนี้อยู่ที่เรือน หมายถึง พื้นที่ที่เราพักอาศัย สิ่งก่อสร้างในรูปแบบต่างๆ ขณะที่บ้านคือการนับรวมบริเวณทั้งหมด เช่น สนามหญ้า สระน้ำ ถือเป็นอาณาเขตที่พักอาศัย คำว่าบ้านและเรือนจึงแตกต่างกันในเชิงกายภาพ
ขณะที่บ้านในภาษาอังกฤษจะวัดจากความรู้สึกของคนอยู่ Home (โฮม) มีความหมายถึงสังคมที่เราอาศัยอยู่ด้วย ไม่ใช่แค่คนเท่านั้น สัตว์เลี้ยงก็นับได้ด้วยเช่นกัน เป็นสิ่งที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข ส่วน House (เฮาส์) จะหมายถึงโครงสร้างที่พักอาศัย 2 คำนี้เลยแตกต่างกัน คนอาจไม่มี House แต่มี Home ได้เสมอ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม การใช้คำว่า Homeless เลยอาจสื่อสารได้ครบถ้วนมากกว่า
เบเวอร์ลี เกรแฮม (Beverly Graham) ผู้อำนวยการโอเอสแอล (OSL) องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านในอังกฤษ บอกว่า Homeless เป็นคำแง่ลบสำหรับเธอ มันให้ความรู้สึกเหยียดและการเลือกปฏิบัติ
อดัม อเล็กซิส (Adam Aleksic) ผู้เชี่ยญชาญด้านภาษาศาสตร์ บอกว่า Unhoused ปรากฏขึ้นครั้งแรกประมาณปี 2551 ในทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นคำในกลุ่มเรียกคนที่มีปัญหาที่อยู่อาศัย ต่อมาปี 2020 ปริมาณการใช้คำนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการและคนที่ทำงานเกี่ยวกับคนไร้บ้าน พวกเขามองว่าคำนี้สุภาพ ไม่ดูหมิ่นหรือทำให้คนที่ถูกเรียกดูด้อยกว่า ที่สำคัญสื่อถึงสถานการณ์ที่คนออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะได้ตรง และครบถ้วนกว่าคำอื่นๆ
อย่างที่บอกว่าพวกเขาต่างมีบ้านของตัวเอง แต่บ้านในความหมายของพวกเขาอาจไม่ตรงกับบ้านที่สังคมกำหนดไว้ คือ การอยู่ภายใต้สิ่งก่อสร้างที่มั่นคงแข็งแรง ปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้อยู่ที่ระบบเศรษฐกิจ ที่ทำให้ราคาที่พักอาศัยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนคนจับต้องได้ยาก รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคก็สูงขึ้นเช่นกัน สวนทางกับรายได้ที่น้อยลงเรื่อยๆ คำว่า Unhoused เลยเป็นคำที่ชี้ไปที่ปัญหาโครงสร้างมากกว่าแค่บอกว่า คนคนหนึ่งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือที่อยู่ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่
Homeless เป็นคำที่เกิดขึ้นช่วงปี 2523 ในอเมริกา มาจากสถานการณ์ที่รัฐตัดงบสำหรับสนับสนุนที่อยู่อาศัยประชาชน ทำให้จำนวนคนไม่มีที่อยู่เพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คน และกลายเป็น 600,000 คนในปี 2530 คนต่างต้องการคำเพื่อเรียกปรากฏการณ์นี้ พวกเขาเลยใช้คำว่า Homeless
เอลิซาเบธ โบเวน (Elizabeth Bowen) อาจารย์ภาควิชาสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยบัฟฟาโล บอกว่า การที่ Unhoused ถูกใช้มากขึ้น จะทำให้คนรับรู้ว่าปัญหาที่แท้จริงที่ไม่ควรถูกมองข้าม คือ ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ผ่านมาปัญหาคนไร้บ้านมักถูกมองในเชิงปัจเจก เช่น เป็นความล้มเหลวส่วนบุคคล หรือเป็นสิ่งที่เขาเลือกเอง แต่ปัญหาใหญ่หลวงสุดที่โบเวนรู้สึกและอยากให้สังคมสนใจ คือ ราคาที่อยู่อาศัยนั้นแพงและไม่เพียงพอต่อจำนวนพลเมือง
“เป็นเรื่องธรรมดาที่คำบางคำฟังดูเป็นคำปกติในยุคหนึ่ง แต่อีกยุคมันอาจกลายเป็นคำเลวร้าย” โรบิน ควีน (Robin Queen) ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ให้ความเห็นไว้ และนี่เป็นเพียงวงจรหนึ่งที่คนจะหาคำมาใช้เรียกบางอย่าง พอยุคสมัยเปลี่ยนไปคำคำนั้นอาจไม่สุภาพ หรือคนมีความรู้มากขึ้น พวกเขาก็จะเปลี่ยนหาคำอื่นมาทดแทน สิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ วนไปตามการหมุนของโลก เขายกตัวอย่างยุคหนึ่งที่สังคมมองว่า คนไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งนั้นโง่เขลา เป็นคนจรจัด คำว่า Homeless เลยเกิดขึ้นเพื่อมาทดแทน เพราะมันฟังดูเป็นมิตรและไม่ทำร้ายใคร
ไม่ว่าจะนิยามพวกเขาด้วยอะไรก็ตาม ณ เวลานี้ที่เรากำลังอ่านบทความนี้ ยังคงมีคนที่ออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเรื่อยๆ และพวกเขาอาจไม่ได้สนใจว่าจะต้องนิยามตัวเองด้วยคำว่าอะไร เพราะสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้นสำคัญกว่า คือ การใช้ชีวิตให้รอดในแต่ละวัน และหวังว่าพวกเขาจะมีชีวิตในแบบที่ต้องการ ที่ไม่ต้องพยายามจนเหนื่อยเกินไป
แต่การเกิดคำใหม่ๆ อาจช่วยคนที่เกี่ยวข้องในการทำงานช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ทำให้พวกเขาเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และออกแบบความช่วยเหลือได้ตรงจุด
.
.
.
อ้างอิง