โครงการพัฒนาศักยภาพแก่คนไร้บ้านในรัฐราชสถาน อินเดีย ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากคนไร้บ้านและได้พาพวกเขากลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคมได้อีกครั้ง โดยโครงการดังกล่าวดูแลคนไร้บ้านอย่างครอบคลุมและรับประกันการได้งานหลังจบโครงการ
บัณฑิต ตุลสิดาส อายุ 52 ปี เป็นขอทานในเมืองชัยปุระ รัฐราชสถานเป็นเวลาหลายปี เมื่อครั้งที่เจ้าหน้าที่ชวนเขาเข้าร่วมโครงการฝึกงานของรัฐบาลในตอนแรก เขาปฎิเสธที่จะเข้าร่วมโครงการ หรือเมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีอาหารให้ครบสามมื้อและมีห้องให้อยู่ เขาก็ยังยืนกรานเช่นเดิม
“แต่เมื่อเขาบอกผมว่า ผมจะมีงานทำหลังจบโครงการแน่นอน ผมตอบรับทันที” บัณฑิตกล่าว “(เพราะ)ถ้าเกิดจบโครงการฝึกงาน(และผมยังไม่มีงาน) ผมก็คงต้องกลับมาไร้บ้านอีกครั้ง ผมจะกินอยู่อย่างไรถ้าไม่มีรายได้”
ปกติแล้ว การไล่คนไร้บ้านออกจากถนนมักเป็นไปแบบชั่วครั้งชั่วคราว เช่น ตอนที่มีผู้มีอิทธิผลมาลงพื้นที่ คนไร้บ้านมักจะถูกต้อนขึ้นรถตำรวจและพาไปอยู่ที่พักสกปรกและแออัด แต่เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาก็ออกมาไร้บ้านอีก ทั้งนี้ แทบไม่มีไม่มีโครงการจากรัฐโครงการใดที่แก้ไขปัญหาความยากจนหรือภาวะตกงานเลย
อย่างไรก็ดี องค์กรพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิตรัฐราชสถาน (The Rajasthan Skill and Livelihood Development Corporation (RSLDC)) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐราชสถาน ได้ริเริ่มโครงการฝึกงานระยะเวลา 4 เดือน สำหรับคนไร้บ้านผู้ชาย 100 คน ที่ต้องหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวของตน โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับการประเมินว่าสามารถทำงานอะไรได้บ้าง และพวกเขาจะได้รับการฝึกทักษะเหล่านั้นเป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยนายจ้างต่าง ๆ จะถูกเกณฑ์มาเพื่อจ้างงานคนในศูนย์และสามารถเข้ามาเยี่ยมศูนย์ฝึกได้เสมอ
คนไร้บ้านเหล่านี้จะได้รับที่พักและอาหาร รวมถึงได้เงิน 230 รูปี หรือประมาณ 104 บาทต่อวัน ซึ่งถือเป็นเงินที่มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำของอินเดียเล็กน้อย
ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนเริ่มฝึกงาน คนไร้บ้านจะได้รับการดูแลทางด้านจิตใจและอารมณ์ “พวกเราพาเขาไปรับคำปรึกษา เล่นโยคะ เล่นฟุตบอล นั่งสมาธิ ได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้นอนบนเตียงสะอาดและได้หลับสบาย ในวันแรกพวกเขาจะได้อาบน้ำ ได้ตัดผม โกนเคราและสวมใส่เสื้อผ้าสะอาด” ผู้อำนวยการองค์กร RLDSC นิราจ ภวันต์ กล่าว
ราเคส เชน รองผู้จัดการทั่วไปขององค์กร RSLDC เชื่อว่าการดูแลทางด้านจิตใจและอารมณ์เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการพาคนไร้บ้านกลับสู่สังคม โดยได้เล่าว่าทางองค์กรเคยจัดการฝึกงานแบบไม่มีการให้คำปรึกษา และพบว่าคนไร้บ้านหลายคนออกกลางคัน ดังนั้นแล้ว “การให้คำปรึกษานั้นสำคัญพอ ๆ กับการฝึกงาน”
นอกจากนั้น คำถามแรก ๆ ที่คนไร้บ้านมักถามคือ “เราจะกินอะไรถ้าพวกคุณพาเราออกไปจากถนน”
ดังนั้นการดูแลที่ครอบคลุมจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จในช่วงเริ่มต้นนี้ นักสังคมสงเคราะห์องค์กรดีพ จโยติ (Deep Jyoti) นีลาม ชาร์มา กล่าว
“…คนไร้บ้านไม่สามารถตั้งใจเรียนได้ หากพวกเขายังหิวและต้องค่อยกังวลเรื่อย ๆ ว่ามื้อต่อไปพวกเขาจะมีอะไรกินหรือไม่ ก่อนอื่นเลย เราจำเป็นต้องดูแลความต้องการพื้นฐานของพวกเขาก่อน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า หรือที่พัก ถึงจะเริ่มฝึกงานให้พวกเขาได้ โครงการของรัฐไม่ค่อยตระหนักถึงเรื่องพวกนี้ ถ้าพาพวกเขาไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงแต่พวกเขาไม่มีรายได้ พวกเขาก็ต้องกลับมาไร้บ้านอีกอยู่ดี” เธอกล่าว
จากผลสำรวจในปี 2564 ของศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์ (Institute for Human Development) พบว่า 80% ของคนขอทานจาก 20,000 (ประมาณ 16,000 คน) ต้องการทำงาน โดยคนขอทานได้เงินโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 200 รูปี หรือประมาณ 90.50 บาท ต่อวัน โดยหลายคนพยายามหางานรับจ้างทั่วไปเพื่อเพิ่มรายได้ของตน
หนึ่งในนั้นคือ สุเรนดรา อายุ 50 ปี สุเรนดราเคยต้องขอทานเพื่อแลกกับเงินเพียงเล็กน้อย และมีเพียงน้อยครั้งที่จะสามารถส่งเงินกลับไปให้ที่บ้านได้ แต่หลังจากที่เข้าร่วมโครงการ ตอนนี้เขาได้ทำงานที่มูลนิธิอักษราภัทร องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ดำเนินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนทั่วประเทศอินเดีย
“ผมสามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้มากขึ้น รวมทั้งมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น เมื่อก่อนผมไม่รู้เลยว่าแต่ละวันจะเป็นยังไง ตอนนี้งานของผมเป็นการช่วยให้คนที่อดยากได้อาหาร ผมก็พยายามที่จะทำอย่างเต็มที่ที่สุด เพราะผมเองรู้ดีว่า ความหิวเป็นยังไง ” สุเรนดรากล่าว
นอกจากนั้น สุเรนดรายังประทับใจความเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่อีกด้วย
“ไหล่ขวาของผมปวดมาตลอด พอผมบอกเจ้าหน้าที่ RSLDC พวกเขาก็จัดการให้ผมได้รับการรักษา มันทำให้ผมรู้สึกว่าพวกเขาสนใจสวัสดิการผมจริง ๆ ไม่ใช่แค่ต้องการเก็บกวาดถนนให้สวยงามขึ้น” สุเรนดรากล่าว
รัฐราชสถานวางแผนที่จะดำเนินโครงการนี้ทั่วทั้งรัฐ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำลังจะจัดโครงการนำร่องใน 10 เมือง อย่างไรก็ดียังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะสามารถรับประกันโอกาสในการหางานได้หรือไม่
ฮารช์ แมนเดอร์ นักสิทธิมนุษยชนและอดีตข้าราชการมองว่าควรระวังแนวคิดของผู้มีอำนาจที่บอกคนจนว่าต้องจัดการชีวิตของพวกเขาอย่างไรผ่านค่านิยม “ศักดิ์ศรีของคนจน”
“โดยหลักการแล้วโครงการนี้ดูเป็นโครงการที่ดี แต่เราต้องระวังไม่ให้โครงการนี้กลายเป็นแหล่งผลิตแรงงานราคาถูกที่ไร้สวัสดิการ” แมนเดอร์กล่าว
ในตอนนี้ จากผู้เข้าร่วมโครงการ 100 คน 60 คนกำลังทำงานที่ร้านกาแฟ ร้านขนม และธุรกิจอื่น ๆ โดยเงินที่ได้มาจะเข้าสู่บัญชีที่ RSLDC เปิดให้ ส่วนอีก 40 คนกำลังอยู่ในช่วงฝึกงานอยู่