องค์กรสัมพันธมิตรเพื่อคนไร้บ้านในนครนิวยอร์ก (Coalition For the Homeless) สหรัฐฯ ได้ออกรายงานการติดตามการทำงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน ฉบับเดือนเมษายน 2021 ที่ผ่านมา โดยองค์กรแห่งนี้ร่วมฉายภาพสถานการณ์คนไร้บ้านในมหานครนิวยอร์กมาตั้งแต่ปี 1981
จากการรายงานของกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อทำงานเป็นภาคประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา จำนวนประชากรที่เข้าขอรับบริการอยู่อาศัยในสถานพักพิงชั่วคราวของทางการมีจำนวนสูงถึง 20,822 คน โดยประชากรกลุ่มนี้ ต่างล้วนมีประสบการณ์ในการหลับนอนตามที่สถานที่สาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ริมถนน โรงพยาบาล สถานพยาบาล บ้านชั่วคราวต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่อ่อนแอ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำ
ในขณะเดียวกัน ยังพบอีกว่า จำนวนเด็กแรกเกิดที่เกิดจากพ่อแม่ที่อาศัยตามที่พักชั่วคราวมีจำนวนมากถึง 1,399 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดตั้งแต่ปี 2015 รายงานระบุ
การจัดหาบ้านที่สามารถอยู่อาศัยได้อย่างมั่นคงถาวร จึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วนมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ในรายงานยังได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีต่อสถานการณ์สาธารณสุขและเศรษฐกิจในมหานครนิวยอร์ก รวมถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่สร้างความเปราะบางให้กับประชากรบางกลุ่มอย่างกลุ่มคนผิวสีซึ่งตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะไร้บ้านหรือไร้บ้านอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังประเมินไปถึงสถานการณ์ของคนไร้บ้านว่า พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้างในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นการขาดที่อยู่อาศัยเพื่อให้พวกเขาได้ lockdown ตนเองหรือสามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้ หรือการขาดเครื่องมือทำความสะอาดต่างๆ ที่เกิดจากการที่พวกเขาไม่มีรายได้ที่มั่นคง เพราะเป็นคนไร้บ้าน
นอกจากนี้ รายงานยังได้จัดทำ การ์ดรายงานผลระดับคะแนน เพื่อเป็นเกณฑ์การประเมินว่าทางภาครัฐนั้นจัดการช่วยเหลือผู้ไร้บ้านในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดีมากน้อยในระดับใด เช่น
สำหรับทางเทศบาลมหานครนิวยอร์กนั้น ในช่วง COVID-19
- การให้ที่พักชั่วคราวกับคนไร้บ้าน ประเภทที่มาคนเดียว (sheltered homeless single adults) ได้คะแนนระดับ C
- การให้ที่พักชั่วคราวกับคนไร้บ้าน ประเภทครอบครัว (sheltered homeless familes) ได้คะแนนระดับ B-
- การช่วยเหลือนักเรียน/นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ไร้ที่อยู่อาศัย ได้คะแนนระดับ F (สอบตก)
- การช่วยเหลือชาวนิวยอร์กที่ขาดที่อยู่อาศัยชั่วคราว ได้คะแนนระดับ D
- การแบ่งสรรปันส่วนและกระจายเสบียงเพื่อการยังชีพฉุกเฉิน ได้คะแนนระดับ A เป็นต้น
ทั้งนี้ รายงานยังได้ระบุถึงข้อเสนอแนะต่อภาครัฐถึงวิธีการรับมือ แก้ไขปัญหาคนไร้บ้านในนิวยอร์ก ซึ่งสามารถลงมือได้อย่างทันต่อสถานการณ์อีกด้วย โดยรายงานได้แบ่งเป็นกลุ่มข้อเสนอแนะออกเป็น 2 ประเด็น คือ ข้อเสนอแนะเรื่องการจัดการที่อยู่อาศัย กับข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาคนไร้บ้าน ดังนี้
- ข้อเสนอแนะเรื่องการจัดการที่อยู่อาศัย เช่น
- ดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการการสนับสนุน ‘บ้านมั่นคง’ (Home Stability Support) เพื่อสร้างกองทุนสนับสนุนค่าเช่าที่อยู่อาศัยกับกลุ่มคนที่รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ นั่นคือ คนไร้บ้าน หรือคนที่มีความเสี่ยง รวมถึง คนที่กำลังจะสูญเสียที่อยู่อาศัยเพราะกำลังจะถูกขับไล่
- เร่งดำเนินการให้สร้างที่อยู่อาศัยจำนวน 20,000 ยูนิต ตามที่ผู้ว่าการรัฐฯ ได้เสนอไว้เมื่อปี 2016 และดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2026 แทนปี 2031 และดำเนินการสร้างอีก 14,000 ยูนิตให้แล้วเสร็จต่อไป
- เรียกร้องให้รัฐบาลกลางอุดหนุนงบประมาณสนับสนุนมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน
- จัดสรรงบประมาณเพื่อให้จัดสร้างที่อยู่อาศัยแบบถาวรเพื่อคนไร้บ้าน
- ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาคนไร้บ้าน
- เสนอให้จัดหาโรงแรมเพื่อรองรับคนไร้บ้านที่อาศัยหลับนอนอยู่ตามที่สาธารณะ เช่น ป้ายรถโดยสารประจำทาง ริมถนน หรือในสถานีรถไฟใต้ดิน
- ปฏิรูปกระบวนการการเข้าถึงผู้ไร้บ้านที่ไม่มีที่พักอาศัยชั่วคราวภายใต้แนวคิดยึดบุคคลเป็นศูนย์กลาง (client-centered) และลดการใช้ความรุนแรงในทุกแง่มิติ
- ยุติการให้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่รักษาความปลอดภัยสาธารณะในการเข้าตอบสนองต่อคนไร้บ้านในที่สาธารณะอย่างไม่เป็นมิตร
- ให้มีการเดินรถไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงอีกครั้ง รวมถึงแนะนำไม่ให้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าไปเก็บข้อมูลหรือทำการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลคนไร้บ้านในสถานีและในขบวนรถไฟฟ้าอีก
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่ (.pdf – english version)
ที่มา: State of the Homeless – Housing is Health Care, a Lesson for the Age – Coalition For the Homeless