คนไร้บ้านเป็นคนอันตราย เสี่ยงต่ออาชญากรรม จริงหรือ?

หากเราเคยมองว่าคนไร้บ้านเป็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมรุนแรง เป็นคนอันตราย และมักจะกลายเป็นอาชญากรเสี่ยงต่อการประกอบอาชญากรรม อาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ เพราะจากงานสำรวจวิจัยคนไร้บ้านในกทม.พบว่า คนไร้บ้านเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย มากกว่าเป็นคนก่อความรุนแรงเสียเอง

14370039_577100652462389_9048464755987247654_n

จากการสำรวจข้อมูลในงานวิจัย “การสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง” พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า คนไร้บ้านร้อยละ 32.5 เคยมีประสบการณ์ช่วงใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านตกเป็นเหยื่อของการละเมิดและความรุนแรงจากคนในสังคม เช่น ผู้ใช้สารเสพติด วัยรุ่นที่คึกคะนอง หรือ อันธพาล และร้อยละ 41.4 เคยขอความช่วยเหลือจากตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และคนไร้บ้านด้วยกัน เป็นต้น ดังนั้นมายาคติที่เชื่อว่า คนไร้บ้านเป็นคนอันตราย เสี่ยงต่ออาชญากรรม จึงไม่ใช่ความจริงทั้งหมด กลับกันพวกเขาคือเหยื่อของความรุนแรงที่ยากต่อการขอความช่วยเหลือและสนับสนุนจากสังคม และรัฐ สอดคล้องจากการศึกษาของสหรัฐอเมริกาที่พบว่า คนไร้บ้านคือเหยื่อมากกว่าผู้กระทำ ซึ่งยังถูกกระทำจากระบบโครงสร้าง และนโยบายที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ การทอดทิ้ง โดยเฉพาะคนไร้บ้านที่เป็นผู้หญิง วัยรุ่นและเด็ก ซึ่งจากการศึกษาครั้งนี้พบว่า เป็นเพศหญิงถึงร้อยละ 18.2 เพศทางเลือกจากการสังเกต ร้อยละ 1.8

 

ที่มา: รณภูมิ สามัคคีคารมย์, “นิยาม และมายาคติกับความเป็นจริงของคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ใน อนรรฆ พิทักษ์ธานิน และคณะ, การสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง (สสส, 2559)