จากฆาตกรรมต่อเนื่อง (?) สู่ความเข้าใจคนไร้บ้าน [ที่มากกว่า ‘จัดระเบียบ’]

เขียนโดย ณัฐเมธี สัยเวช

murder

ในช่วงที่อาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวการฆาตกรรมที่เมื่อพิจารณาลักษณะของเหยื่อ การเสียชีวิต และพื้นที่เกิดเหตุ แล้วน่าสงสัยว่าจะเป็นฆาตกรรมต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในการก่อเหตุเป็น “คนเร่ร่อน” (คำในข่าว) ซึ่งในขณะที่การสืบสวนสอบสอนดำเนินไปนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กันก็คือ การ “จัดระเบียบ” พื้นที่สาธารณะ ซึ่งตามเนื้อข่าวนั้น (https://goo.gl/d15J5i) การปฏิบัติการดังกล่าวเน้นไปยัง “บริเวณที่มีบุคคลจรจัดพักอาศัยอยู่เป็นแหล่งเพาะอาชญากรรม ยาเสพติด สร้างความไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน” และมีการเชิญตัว “บุคคลจรจัด” (คำในข่าว) มาทำประวัติ รวมถึงการ “ร่วมกันทำความสะอาดที่สาธารณะที่มีบุคคลเร่ร่อนอาศัยอยู่” และในบางข่าวนั้น (https://goo.gl/GLwH4e) ก็ยังบอกด้วยว่า แม้จะมีการ “จับกุม” ไป แต่ “คนเร่ร่อน” ก็ยังกลับมาอาศัยอีก

จากเรื่องราวดังกล่าว มีข้อที่น่าสังเกตสำคัญๆ บางประการดังนี้

  1. คำที่ใช้เรียก: อันที่จริง ในหมู่ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับภาวการณ์ไร้บ้าน (homelessness) ได้มีความพยายามใช้คำอื่นในการเรียกบุคคลที่อยู่ในสภาวะเช่นนั้น กล่าวคือ แทนที่จะใช้คำว่า “จรจัด” หรือ “เร่ร่อน” ก็หันมาใช้คำว่า “คนไร้บ้าน” ซึ่งเป็นคำที่มีคุณค่าทางสังคมค่อนข้างเป็นกลาง แม้จะยังอาจเบี่ยงเบนไปทางลบอยู่บ้างด้วยทัศนคติดั้งเดิมที่สังคมมีต่อประชากรกลุ่มนี้ แต่ก็ยังเป็นคำที่นับได้ว่ามีความหมายค่อนข้างไปในทางบวกมากกว่าคำว่า “คนจรจัด” หรือ “คนเร่ร่อน” ทั้งยังเป็นคำที่สะท้อนถึงปัญหาที่แท้จริงที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ เพราะแม้คำว่า “คนไร้บ้าน” จะชวนให้เข้าใจว่าปัญหาที่แท้จริงคือการไม่มีบ้าน แต่ในเมื่อคำว่า “ไร้บ้าน” นี้มีที่มาจากภาษาอังกฤษที่ว่า “homeless” ด้วยความหมายของคำว่า “home” แล้ว คำว่า “บ้าน” ในคำ “ว่าคนไร้บ้าน” จึงกินความหมายครอบคลุมไปเพียงกว่าการหมายถึงสิ่งปลูกสร้างทางกายภาพ แต่หมายรวมได้ถึงความปลอดภัยทางใจ อันเกิดขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน และไม่ใช่เพียงสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อาศัยเท่านั้น

มีรายงานหลายชิ้นทั้งในและต่างประเทศที่ยืนยันว่า มีคนไร้บ้านหลายคนที่จริงๆ แล้วมีบ้าน หรือกระทั่งมีครอบครัว แต่ด้วยปัจจัยปัญหาหลายๆ ประการที่เกิดขึ้นในชีวิตทำให้พวกเขาไม่สามารถจะอยู่อาศัยที่บ้านตัวเองได้ และต้องออกมาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะในที่สุด หรือบางคนก็ยังใช้ชีวิตอย่างไปๆ กลับๆ ระหว่างการอาศัยพื้นที่สาธารณะและการอยู่ที่บ้านด้วยซ้ำ (ปัจจัยหลักๆ คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และครอบครัว [ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ลึกๆ แล้วก็มีที่มาจากปัญหาทางเศรษฐกิจและปากท้อง])

  1. ทัศนคติเบื้องหลังการจัดการ: จากถ้อยคำและเนื้อหาต่างๆ ที่ปรากฏในข่าว ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวถึงคนไร้บ้านหรือกระทั่งมาตรการดำเนินการ สะท้อนถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติต่อคนไร้บ้านดังเช่นตลอดเวลาที่ผ่านมา นั่นก็คือ การที่ยังคงมีทัศนคติว่าคนไร้บ้านคือตัวปัญหาตั้งแต่ระดับของการเป็นที่เกะกะพื้นที่สาธารณะจนกระทั่งมีความเกี่ยวเนื่องกับอาชญากรรมต่างๆ หรือก็คือเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นพิษภัยต่อสังคม

ทัศนคติดังกล่าว นอกจากจะเป็นการ “จัดการเรื่องคนอย่างไม่เคารพความเป็นคน” และมีพื้นฐานความคิดในการแก้ไขปัญหาอย่าง “กีดกัน” (exclusive) กลุ่มประชากรเป้าหมายออกจากสังคม ยังเป็นทัศนคติที่ทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหานั้นคลาดเคลื่อนไปจากสาเหตุที่แท้จริง

แนวทางทัศนคติที่ควรเป็นในการปฏิบัติต่อกลุ่มประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้น ควรจะเริ่มโดยการเลิกมองว่า “คนไร้บ้าน” เป็นปัญหา เพราะปัญหาที่แท้จริงก็คือการเกิดขึ้นของ “ภาวะไร้บ้าน” ซึ่งสะท้อนไปถึงปัญหาที่สำคัญที่สุดทางสังคม เศรษฐกิจ และนโยบายการเมือง นั่นก็คือการไม่มีมาตรการทางสังคมที่จะคอยรองรับไม่ให้คนที่ประสบอุบัติเหตุชีวิตในกรณีใดๆ ต้องตกไปสู่ภาวะไร้บ้าน ซึ่งหากไม่มุ่งแก้ปัญหาที่จุดนี้ ไม่ว่าจะพยายามแก้ไขอย่างไร ก็ย่อมมีคนไร้บ้านหน้าใหม่เกิดขึ้นในสังคมอยู่เรื่อยๆ

ทั้งนี้ การจับกุมและจัดระเบียบอาจมิใช่ทางออกที่ดีของการแก้ไขปัญหาในทุกระยะ แนวทางที่ควรเป็น คือ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่พักชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้านซึ่งมีอยู่ในปัจจุบัน หรือการประสานกับที่พักชั่วคราวเหล่านั้นเพื่อมาให้ข้อมูลแก่คนไร้บ้าน เพื่อคนไร้บ้านได้มีทางเลือกอันอาจนำไปสู่การพัฒนาตัวเองเพื่อหลุดพ้นจากภาวะไร้บ้านต่อไป รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบริการทางสังคมและสุขภาพที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้ เพื่อเป็น “หลัก” ในการตั้งชีวิตใหม่

เพราะแท้จริงแล้ว แม้ภาวะไร้บ้านจะดูเหมือนเป็นทางเลือกหนึ่งของมนุษย์ แต่ก็คงเป็นทางเลือกท้ายๆ ที่จะปรากฏขึ้นมาในยามที่ไม่มีทางอื่นใดให้เลือกอีกแล้ว.