HOMELESS SURVEY #1: งานการไม่มั่นคงเกี่ยวอะไรกับคนไร้บ้าน?


หลายคนคงเคยรู้สึก “ไม่มั่นคง” กับชีวิตและอาชีพการงานที่ตนเองทำอยู่

และแม้หลายคนจะยังมี “ความสามารถ” และ “แรงกาย” ในการทำงาน ทว่าก็มิได้หมายถึง “ความมั่นคง” ในการงานแต่อย่างใด

การว่างงาน ตกงาน หรือหางานไม่ได้ของหลายคนอาจมิใช่ปัญหาหลัก เพราะอย่างน้อยพ่อแม่ พี่น้อง หรือเพื่อนฝูง ยังคงสามารถช่วยเหลือให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้

แต่นั่น อาจมิใช่สิ่งที่เกิดกับพี่น้อง “คนไร้บ้าน” จำนวนหนึ่ง


ความยากจนและการปากกัดตีนถีบเพื่อต่อสู้ในชีวิตของผู้คนจำนวนมากและคนรอบข้าง ได้ทำให้เครือข่ายทางสังคมและครอบครัวของผู้คนเหล่านี้อาจมิได้เป็นที่พึ่งในชีวิตได้เสมอไป

ในแง่นี้ ทำให้คนจำนวนหนึ่งถอยห่างหรือปราศจาก “ตาข่ายปลอดภัย” (Social Safety Net) ที่จะมาช่วยโอบอุ้มเมื่อชีวิตพลิกผัน โดยเฉพาะชีวิตที่เดินอยู่บนเส้นของความไม่มั่นคง ที่พร้อมจะพลิกให้คนบนเส้นตกหล่นลงมา

และจำนวนหนึ่งต้องออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเป็น “คนไร้บ้าน”

แม้การว่างงานและความไม่มั่นคงจากการทำงาน อาจมิใช่ปัจจัยเดียวในการที่คนผู้หนึ่งจะเลือกออกมาเป็นคนไร้บ้าน หากแต่ผลสำรวจคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร  ก็ได้ทำให้เห็นว่าคนไร้บ้านจำนวนมาก มีสภาพการทำงานที่ไม่มั่นคงหรือว่างงานในช่วงก่อนการมาเป็นคนไร้บ้าน และส่วนใหญ่ยังต้องประสบกับความไม่มั่นคงนี้ต่อไป ไร้ซึ่ง “ตาข่ายปลอดภัย” หรือระบบสวัสดิการที่จะมาช่วยสร้างความมั่นคงและลดต้นทุนในชีวิต

จากการสำรวจฯ พบว่า คนไร้บ้านประมาณร้อยละ 26 เคยทำงานรับจ้างทั่วไปหรือเป็นลูกจ้างรายวันที่ไม่มีหลักประกันรายได้และการทำงานมาก่อนเป็นคนไร้บ้าน  ร้อยละ 11 ทำงานค้าขายที่ส่วนใหญ่เป็นการขายของเล็กๆ น้อยๆ ที่รายได้ไม่แน่นอน ร้อยละ 12 อยู่ในภาวะว่างงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาทางสุขภาพหรือสูงวัยทำให้นายจ้างเลือกที่จะไม่จ้างงาน และร้อยละ 3 มีอาชีพหาของเก่าที่มักจะอาศัยในห้องเช่าขนาดเล็ก ในแง่นี้ทำให้คนไร้บ้านกว่าร้อยละ 50 ต้องพบเจอกับความไม่มั่นคงจากการทำงานและรายได้ก่อนเป็นคนไร้บ้าน


เมื่อหลังจากเป็นคนไร้บ้านแล้ว สัดส่วนของคนไร้บ้านที่มีรายได้และการทำงานที่ไม่มั่นคง ได้สูงขึ้นเป็นถึงประมาณร้อยละ 76

(ทำงานรับจ้างทั่วไปร้อยละ 41, ว่างงานร้อยละ 5, ค้าขายร้อยละ 12, หาของเก่าร้อยละ 18)

นอกจากนี้ คนไร้บ้านประมาณร้อยละ 50 ยังรายงานด้วยว่ามีรายได้ที่ไม่เพียงพอในการใช้จ่ายแต่ละวัน


การทำงานและรายได้ที่ไม่มั่นคง การไร้ตาข่ายปลอดภัยทางสังคม และระบบสวัสดิการที่หนุนเสริมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนนี้ ได้เป็นอุปสรรคสำหรับคนไร้บ้านใน “ตั้งหลัก” ชีวิตได้อีกครั้ง และทำให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตอันเต็มไปด้วยความเสี่ยงทั้งทางชีวิตและสุขภาพ

 

 


อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าโครงการการสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง