เรื่อง: ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
“สิ่งที่เราทำมันทำให้คนอื่นรอดตายได้เลยนะ”
‘ผึ้ง’ สิรินดา สิงห์โตทอง อาสาสมัครมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย วัย 22 นิ่งคิดอยู่นานหลังจากถูกถามว่า “ความสุขของงานที่กำลังทำ อยู่ตรงไหน”
ในการเรียนปริญญาตรีปีสุดท้ายท่ามกลางสถานการณ์โควิด ผึ้งก็เช่นเดียวกับเพื่อน ๆ ทุกคนที่ต้องเรียนออนไลน์ เวลาที่เหลือจากนั้นถูกยกให้กับงานอาสาสมัคร งานซึ่งเป็นที่มาของประโยคข้างต้น
ภูมิหลัง : เด็กวัดและคนไร้บ้าน
เรื่องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผึ้ง เพราะตั้งแต่จำความได้ ผึ้งไม่เคยมีหน้าที่เรียนอย่างเดียว
“หนูเป็นเด็กวัดมาก่อน”
นักศึกษาปี 4 คณะมนุษยศาสตร์ รั้วพ่อขุน เริ่มต้นเล่าเรื่องเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนว่าโตมากับพ่อที่เป็นคนเก็บค่าที่จอดรถในวัด ตัวผึ้งเองอาศัยนอนกับแม่ชี แต่พอเริ่มโตขึ้น การเป็นเด็กสาวที่โตภายในรั้ววัดน่าจะดูไม่ดี ผึ้งและพ่อจึงออกมาเช่าห้องละแวกใกล้เคียง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่ได้นานคือ พ่อโดนเพื่อนที่ทำงานทำร้ายสาหัสถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล รายได้จึงไม่มี ตอนนั้นเด็กหญิงชั้น ป.4 อย่างผึ้งก็ต้องเอาเงินเก็บจากทุนยากจนและทุนเรียนดี ไปจ่ายค่าห้องเช่า
แต่เงินเก็บของเด็กคนหนึ่งต่ออายุการเช่าห้องได้ไม่นาน สองพ่อลูกก็ต้องพากันออกมานอนที่ท่าน้ำบ้าง ริมคลองบ้าง โชคดีที่ผึ้งไม่ได้นอนทุกวัน พอครูที่โรงเรียนรู้ข่าวก็ถามเพื่อนในห้องว่า มีใครสะดวกให้ผึ้งไปนอนด้วยบ้าง
“ตอนนั้นหนูอายที่จะต้องไปขอความช่วยเหลือเพื่อน แต่พอครูถาม เพื่อนแย่งกันยกมือ ก็ดีใจที่เพื่อนไม่รังเกียจที่จะช่วยเรา เลยได้ไปนอนบ้านเพื่อนบางวัน ครูเองก็ช่วยดูแลเรื่องอาหารกลางวัน”
ภาพที่เพื่อนๆ แย่งกันยกมือถือว่าทำให้ใจแฟบ ๆ ของเด็กคนหนึ่ง พองฟูจนคับอก ด้วยความที่เป็นคนคิดมาก คิดไปก่อน คิดไปไกล และไม่ชอบขอความช่วยเหลือจากใคร
“ไหน ๆ จะต้องลำบากแล้วก็ลำบากไปเลย ลำบากด้วยลำแข้งตัวเอง แต่นี่เราไม่ได้ร้องขอ หนำซ้ำมีคนหยิบยื่นมาให้ มันเป็นความรู้สึกดีที่ไม่ได้ทำให้เราด้อยค่าตัวเอง เหมือนเราก็เป็นคนดีประมาณหนึ่งที่ทำให้เขาหยิบยื่นโอกาสมาให้ ไม่ได้เกี่ยงกัน”
แต่ก็มีบางวันที่ผึ้งออกมานอนข้างนอกกับพ่อ แล้วเจอเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ลงพื้นที่ วันนั้นเอง ผึ้งกับกับพ่อถูกถ่ายรูป บันทึกข้อมูลว่าเป็นคนไร้บ้าน
“หนูกับพ่อเลยได้เป็นคนไร้บ้าน มีสมุดประจำตัวด้วย แล้ววันหนึ่งพ่อก็ไปเจอเพื่อนสมัยนอนสนามหลวงด้วยกัน เพื่อนชวนพ่อให้มาอยู่ที่ศูนย์คนไร้บ้าน (ศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู ดำเนินการโดยเครือข่ายคนไร้บ้าน) หนูกับพ่อก็เลยไปอยู่ตั้งแต่นั้น”
ชีวิตไม่เคยอนุญาตให้เรียนอย่างเดียว
สถานะคนไร้บ้านไม่ได้ทำให้ชีวิตผึ้งเปลี่ยนไป ห้วงวัยของเด็กหญิงเติบโตเป็นนางสาว ผึ้งยังเรียนไปทำงานไปเหมือนเดิม เพราะไม่อยากพึ่งพาใคร
ย้อนไปถึงความรู้สึกแรก ๆ ผึ้งบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าอาย ถามตัวเองบ่อย ๆ ว่าทำไมเป็นเด็กแล้วยังต้องมาทำงานขณะที่เพื่อนคนอื่นได้วิ่งเล่น
“แต่หลัง ๆ เราได้รับคำชม ครูก็จะภาคภูมิใจกับเราว่าเราทั้งเลี้ยงพ่อด้วย ทำงานด้วย เราเลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่ามากกว่าที่จะมานั่งอาย”
ผึ้งผ่านงานมาหลายอย่าง แต่ถ้าให้เลือกขออยู่เบื้องหลัง เพราะเคยชิมลางงานขายของแล้วรู้สึกว่าไม่ถนัดจริง ๆ
เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เห็นผึ้งมาตั้งแต่เล็ก ๆ พอขึ้นมัธยมปลาย ก็ชวนไปทำงานเอกสาร ประสานงานการเงิน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ทำให้คนอื่นได้เห็นศักยภาพการทำงานอันหลากหลายของผึ้ง
ก่อนตัดสินใจมาเป็นลูกพ่อขุน จริง ๆ คณะในฝันของผึ้งคือสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อยากทำงานที่ช่วยเหลือคนอื่น เพราะเราได้รับความช่วยเหลือมาเยอะแล้ว” เหตุผลสำคัญที่เลือก
แต่เพราะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เปรียบเทียบคะแนนแล้ว ผึ้งเลยเปลี่ยนไปใจไปสมัครเรียนคณะที่สามารถแบ่งเวลาไปทำงานได้สะดวก เพราะยังต้องหาเลี้ยงครอบครัวไปด้วย
สำหรับผึ้งคณะมนุษยศาสตร์คือแหล่งรวมหลากหลายวิชา หนึ่งในนั้นมีสังคมสงเคราะห์ด้วย ผึ้งจึงคิดว่า วันนั้นตัดสินใจถูกแล้ว
“เราเห็นภาพเลยว่าทุกสิ่งมันเชื่อมโยงกัน ว่ามนุษย์คนหนึ่งไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือไปตลอด การสงเคราะห์ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเสมอไป ถ้าเราช่วยให้เขายืนด้วยตัวเองได้จะดีกว่า หนูอยากช่วยแบบนั้น ไม่ได้อยากสงเคราะห์แบบเอาเงินทุนการศึกษาไปให้ แต่อยากช่วยต่อไปให้เขาไปถึงฝั่งแต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง ตอนนี้อะไรที่มีประโยชน์ก็อยากทำหมดเลย”
และตอนนี้สิ่งที่ผึ้งกำลังทำอยู่ คืองานอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยโควิด หนึ่งในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์มากที่สุด
ผึ้งคือกำลังสำคัญของทีม Care ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย IHRI มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายสลัมสี่ภาค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
“ทีม Care มีหน้าที่ไปช่วยพยาบาลชุมชน ทุกคนผ่านการฝึกอบรบมาแล้วว่าต้องไปติดตามเคสยังไง ทั้งเคสที่เป็นสมาชิกในและนอกชุมชน รวมถึงประชาชนทั่วไปที่เราไปช้อนเขามาเพื่อดูแลคู่กันไปกับพยาบาล ตอนนี้หนูดูแลหลายสิบเคสเลยค่ะ”
คำว่าดูแลของผึ้งมีทั้งแบบลงพื้นที่ภายใต้การป้องกันดูแลตัวเองอย่างดีกับทำหน้าที่ตอบคำถามผู้ป่วยผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เนื้องานแทบจะกินเวลา 24 ชั่วโมงและไม่มีวันหยุด
แต่ผึ้งก็รู้สึกอยากทำ
งานที่ได้รับคำขอบคุณทุกวัน
“มันเป็นความรู้สึกอยากทำ ตรงนี้ (มูลนิธิฯ) ก็ช่วยเหลือเรามาเยอะ ถ้ามันมีโอกาสให้เราได้ทำเพื่อจะช่วยเหลือคนอื่นกลับไปหรือว่าตอบแทนคนที่เขาช่วยเรามา หนูยินดีเลย หนูไม่ค่อยปฏิเสธ ช่วยเท่าที่ทำได้ บางครั้งก็จะรู้สึกว่าอยากทำเองเลย ไม่ได้รอให้เขามาใช้ไหว้วาน”
นอกจากให้ข้อมูล ดูแลผู้ป่วยที่กักตัวแล้ว การทักทาย ถามไถ่ เพียงวันละไม่กี่ครั้งแต่ทุกวันของผึ้ง ทำให้ปลายทางที่รักษาตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองสู้อยู่คนเดียว
“เราต้องเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ทำให้เขารู้สึกเหมือนอยู่คนเดียว คุยกับเขา ถามอาการ ยังมีเราอีกคนนะที่ยังห่วง ถามไถ่ว่ากินยาหรือยัง เป็นยังไงบ้าง”
สิ่งที่ผึ้งได้รับกลับมาคือคำขอบคุณ และมันเหมือนเป็นพลังที่โยนกลับไปให้ผึ้งทุกวัน
“เขาก็พูดว่าขอบคุณมากเลยนะที่ช่วยให้ตัดสินใจในวันนั้น คือถ้าไม่ตัดสินใจในวันนั้นก็ไม่รู้ว่าวันนี้เป็นยังไง” รอยยิ้มผึ้งทะลุผ่านโปรมแกรมซูมออกมาเลย
ถ้ากวาดคำขอบคุณใส่ตระกร้ากลับบ้าน ผึ้งคงได้หลายใบ และมันทำให้ผึ้งรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง
“งานนี้มันให้โอกาสที่หาไม่ได้ง่าย ๆ ในชีวิต หนูเลยรู้สึกว่ามันทำให้เรามีคุณค่า และไม่ว่าสถานการณ์จะบีบหรือไม่บีบ หนูก็ทำมันด้วยความเต็มใจ”
อย่างที่ออกตัว ผึ้งไม่ชอบงานใด ๆ ในหมวดออกหน้า เช่นเดียวกัน อย่ามาเรียกเธอว่าฮีโร่
“ไม่กล้าหรอกพี่ ไม่ได้รู้สึกด้วย หนูแค่รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันช่วยคนอื่นได้”
แต่ทุก ๆ วันผึ้งจะบันทึกการทำงานของตัวเองลงใน Instagram Stories เพื่อวันหลังจะได้ย้อนกลับมาดูว่าเคยทำอะไรไว้บ้าง
ผึ้งยังย้ำซ้ำว่า รายละเอียดที่เธอบันทึกไว้ทุกวันนี้ไม่ได้เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร่ แต่เป็นความรู้สึกที่ ‘ยิ้มในใจ’
“ว่าสิ่งที่เราทำมันทำให้คนอื่นรอดตายได้เลยนะ”