ไม่ใช่เพราะบ้าเลยไม่มีบ้าน : เข้าใจปัญหาของคนไร้บ้าน ที่อาการทางจิตไม่ใช่เหตุผลของการไม่มีบ้านเสมอไป

เพราะเป็นคนมีอาการทางจิตจึงเป็นคนไร้บ้าน

นี่เป็นตัวอย่างของความเข้าใจผิดหนึ่งที่บางคนมีต่อ ‘คนไร้บ้าน’ มองว่าคนไร้บ้านคือคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต จนอาจโดนครอบครัว หรือคนใกล้ชิดทิ้งให้ออกมาใช้ชีวิตอยู่ข้างนอก หรือคนไร้บ้านกับคนมีอาการทางจิตคือคนกลุ่มเดียวกัน ทั้งที่ในความจริงแล้ว มิติของการเป็นคนไร้บ้านมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก


“ชวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตคนไร้บ้าน” งานวิจัยโดย ดร.พนิตา เสือวรรณศรี จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเล่าถึงมิติที่ซับซ้อนนี้  เชื่อมโยงกับปัญหาทางจิตเวช ซึ่งเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในหลายๆ ปัจจัย เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่า คนไร้บ้านคือคนที่มีอาการทางจิตเวชมาก่อน คือ การตั้งเกณฑ์หรือการนิยามโรคทางจิตเวช 

งานวิจัย Are the homeless mentally ill? (คนไร้บ้านมีโรคทางจิตเวชหรือไม่) โดยจอห์นสัน (Johnson) และเชมเบอร์ลิน (Chamberlain) เมื่อปี 2016 ไม่เห็นด้วยกับการตั้งเกณฑ์โรคทางจิตเวช โดยเฉพาะที่บอกว่า คนที่ใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ คือ ผู้ป่วยทางจิตเวช เนื่องจากคนที่เป็นผู้ป่วยทางจิตเวชกับคนใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์ มีการรักษาเฉพาะทางที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งการใช้เกณฑ์แบบนี้ทำให้คนไร้บ้านที่อาจไม่ได้มีอาการทางจิตมาก่อน แต่มีการดื่มสุราหรือใช้ยาเสพติดถูกนับรวมว่า เป็นผู้ป่วยทางจิตเวชไปอีกด้วย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนไร้บ้านมักจะติดสุราช่วงที่เป็นคนไร้บ้านต่างหาก

สำหรับในประเทศไทย กรมสุขภาพจิตมีนิยามสำหรับผู้ป่วยจิตเวชสุรา ยา และสารเสพติด คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นผู้เสพหรือผู้ติดที่มีอาการทางจิตจากโรคแทรกหรือโรคร่วมทางจิตเวชที่เกี่ยวข้องกับสุรา ยา และสารเสพติด ส่วนผู้ป่วยจิตเวชสุรา ยา และสารเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง คือ ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ตามการคัดกรองแบบ ICD-10 หรือบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ฉบับทบทวนครั้งที่ 10 โดยกรมอนามัยโลก นอกจากนี้ จะมีลักษณะพฤติกรรมรุนแรงตามเกณฑ์อย่างน้อยหนึ่งข้อ เช่น ทำร้ายตัวเองโดยหวังให้เสียชีวิต ทำร้ายผู้อื่นด้วยวิธีรุนแรง มีอาการหลงผิดหรือมุ่งร้ายผู้อื่นแบบเจาะจง และเคยมีประวัติก่อคดีอาญารุนแรง

สถิติของการสำรวจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชของคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร โดย แพทย์หญิงทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล เมื่อปี 2559 พบว่า โรคทางจิตเวชที่เจอได้มากที่สุดในกลุ่มคนไร้บ้าน คือ โรคซึมเศร้า โรคอาการทางจิต และโรคติดสุรา ส่วนโรคที่มีอาการหวาดระแวง หูแว่ว ประสาทหลอนนั้นอาจเป็นผลมาจากอาการติดสุรา นอกจากนี้งานวิจัย คน (ทําไม) ไร้บ้าน: รายงานสถานการณ์ความไม่เป็นธรรม โดย อนรรฆ พิทักษ์ธานิน และขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย เปิดเผยว่า กลุ่มคนไร้บ้านที่มีอาการทางจิตอย่างเห็นได้ชัด หรือมีบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial personality disorder) มีเพียงแค่ร้อยละ 9.64 และร้อยละ 1.8 ของกลุ่มคนไร้บ้านที่มีอาการทางจิตทั้งหมด

อาจมีคนไร้บ้านที่ต้องการการรักษาทางสุขภาพจิตอยู่จริง แต่การเหมารวมว่า คนไร้บ้านทุกคนคือคนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต ก็ถือเป็นการกล่าวเกินจริง และไม่ถูกต้องเสมอไป

ฉะนั้น ถ้าการมีปัญหาทางจิตไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้คนกลายเป็นคนไร้บ้านเท่านั้น แล้วเหตุผลของการเป็นคนไร้บ้านมีอะไรบ้าง?

งานวิจัยของ Johnson และ Chamberlain ให้ไว้เหตุผลหนึ่ง คือ ‘ความเสียเปรียบทางสังคม’ ทำให้คนกลายเป็นคนไร้บ้านได้ เช่น มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ไม่ได้รับการศึกษาที่เพียงพอ หรือถูกจัดหมวดให้เป็นคนชายขอบ ไม่ว่าจะพวกเขาจะมีหรือไม่มีอาการทางจิต แต่ถ้ามีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่กล่าวไปข้างต้นก็สามารถเสี่ยงเป็นคนไร้บ้านได้

‘สูญเสียคนสำคัญในชีวิต’ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้คนกลายเป็นคนไร้บ้านได้ งานวิจัยของพนิตา ยกตัวอย่างข้อมูลจากผลสำรวจคนไร้บ้านในกรุงมาดริด ประเทศสเปน พบว่าการสูญเสียบุคคลสำคัญในชีวิต เช่น พ่อแม่ คู่รัก ลูก หรือเพื่อน เกิดขึ้นกับคนไร้บ้านกลุ่มนี้มากถึงร้อยละ 62 อีกทั้งร้อยละ 54 ของกลุ่มคนไร้บ้านนี้เคยเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่ส่งผลต่อชีวิต เช่น เกิดโรคร้ายแรง หรือถูกทำร้าย การขาดที่พึ่งและขาดการสนับสนุนจากคนรอบตัว ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดที่ทำให้กลายเป็นเหตุผลของการเป็นคนไร้บ้าน

ปัจจัยเดียวกันนี้ก็ส่งผลต่อการเป็นคนไร้บ้านที่ไทยเช่นกัน ข้อมูลจากงานวิจัยของอนรรฆและขวัญประชา ชี้ว่า กลุ่มคนไร้บ้านที่สูญเสียคนสำคัญในชีวิต โดยเฉพาะคนที่เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิด และส่งผลต่อการตัดสินใจเป็นคนไร้บ้าน

แม้ปัญหาสุขภาพจิตจะไม่ใช่สาเหตุหลักของการเป็นคนไร้บ้าน แต่การเป็นคนไร้บ้านระยะเวลานานๆ ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีปัญหาทางจิตเวช รวมไปถึงการใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์อีกด้วย

ในงานวิจัยของอนรรฆ และขวัญประชา คนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะเป็นเวลา 3 – 6 ปี หรือ 10 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการทางจิตในระดับรุนแรง มากกว่าคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะ 1 – 3 ปี เป็นสัญญาณสำคัญที่ย้ำว่า กลุ่มคนไร้บ้านควรได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะมีอาการทางจิตในระดับที่รุนแรงขึ้นในอนาคต

การเป็นคนไร้บ้านก็สามารถเจอกับการถูกกลั่นแกล้ง หรือ Bully ได้เหมือนกับคนอื่นๆ แล้วผลกระทบจากสิ่งนี้ก็ส่งผลต่อพฤติกรรมเช่นกัน อย่างเกิดความหวาดระแวง ปลีกตัว ไม่สุงสิงกับใคร และยิ่งทำให้คนนั้นมีความเสี่ยงที่จะมีโรคทางจิตเวช ใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์สูงอีกด้วย 

สุดท้ายแล้ว พนิตา เสนอในงานวิจัยว่า สิ่งที่กลุ่มคนไร้บ้านต้องได้รับการดูแลไม่ใช่เรื่องสุขภาพจิตอย่างเดียว แต่พวกเขาควรได้รับการช่วยเหลือแบบครบวงจร เริ่มจาก ‘ศูนย์พักของคนไร้บ้าน’ ที่ควรเป็นสถานที่มีความปลอดภัยและรับฟังความรู้สึกของคนใช้งานอย่างแท้จริง เพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง รวมถึงยังได้เห็นคุณค่าของตัวเองอีกด้วย

และการมี ‘บ้าน’ ยังเป็นคำตอบของการช่วยเหลือคนไร้บ้าน การมีที่อยู่เป็นของตัวเองช่วยลดความวิตกกังวล และหวาดระแวง การกลั่นแกล้งจากสังคมก็ลงลดเช่นกัน ขณะเดียวกันความมั่นคงทางกายภาพช่วยให้เกิดความมั่นคงในจิตใจได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลพวกเขาให้มีสุขภาพจิตที่ดีและมีความมั่นใจที่กลับเข้าสู่สังคมอีกครั้ง

เรื่องราวหรือปัญหาของคนไร้บ้านอาจเป็นเรื่องไกลตัว จนบางคนไม่รู้ว่าจะรับรู้ไปทำไม แต่ถ้าลองมองอีกมุมหนึ่ง ที่ว่าเราทุกคนต่างมีโอกาสเป็นคนไร้บ้านได้ เพราะปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้นอาจเกิดขึ้นกับเราได้ในวันใดวันหนึ่ง การไร้บ้านจะเป็นเพียงภาวะหนึ่งได้ หากมีการจัดการที่ถูกต้องภายใต้การได้ข้อมูลที่ครบถ้วน 

อ้างอิง:

  • Johnson, G. & Chamberlain, C. (2016). Are the homeless mentally ill?
  • กรมสุขภาพจิต. คู่มือแนวทาง/เกณฑ์การรับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากการใช้สุรา/ยา/สารเสพติด. กรมสุขภาพจิต
  • ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล. (2559). การสํารวจความชุกโรคทางจิตเวชของกลุ่มประชากรคนไร้บ้านในเขต กรุงเทพมหานคร
  • พนิตา เสือวรรณศรี. ชวนทําความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตของคนไร้บ้าน
  • อนรรฆ พิทักษ์ธานิน และขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย. (2560). คนทําไมไร้บ้าน : รายงานสถานการณ์ความ ไม่เป็นธรรม.