“ในที่สุดเขาก็รู้ว่าคนไร้บ้านไม่ใช่แค่ผีพเนจร” เสียงจากคนไร้บ้านที่เริ่มรู้สึกว่าสังคมไม่ได้เพิกเฉยต่อพวกเขาแล้ว

.

คนไร้บ้านไม่ใช่ผีพเนจร

ผีพเนจร ผีหัวลำโพง คนไม่มีหัวนอนปลายเท้า… 

3 คำที่ ‘หอม’ (นามสมมุติ) ได้ยินบ่อยครั้งสมัยกลายมาเป็นคนไร้บ้านแรกๆ เมื่อ 6 ปีก่อน เธอเองก็ไม่ทราบว่าทำไมคนที่ไม่รู้จักกัน ไม่เคยพูดคุยกัน และเพิ่งเจอกันครั้งแรกถึงพูดกับเธอแบบนี้ คำตอบเดียวที่หอมพอจะนึกออก คือ เพราะว่าหอมเป็นคนไร้บ้าน

คำพูดและคำด่าทอ คือ สิ่งที่มักเกิดขึ้นในชีวิตหอมตั้งแต่อยู่บ้านที่อยุธยา จนกระทั่งมาเป็นคนไร้บ้านที่กรุงเทพมหานคร เมื่อ 6 ปีก่อน หอมตัดสินใจจากบ้าน จากพี่น้อง เพราะเธอทนคำติฉินนินทาที่เพื่อนบ้านของเธอพูดไว้ไม่ไหว การที่หอมเป็น LGBTQ+ ทำงานกลางคืน และทำงานที่คาบาเรต์ ทำให้เธอโดนเพื่อนบ้านว่าร้ายและดูถูกว่าในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 6 คน หอมน่าจะเป็นคนที่ ‘เอาตัวไม่รอด’

หอมเองก็ไม่อยากจะอยู่ท่ามกลางคำนินทาอีกต่อไป เธอจึงตัดสินใจตีตั๋วรถไฟมาที่กรุงเทพเพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นและตัวเองได้เห็นว่า คนอย่างหอมมีศักยภาพไม่เหมือนที่ใครเขาพูดกัน ที่พักที่แรกของเธออยู่แถวพระราม 2 เป็นห้องเช่าที่หอมพักอยู่กับแฟน อาชีพแรกของทั้งคู่คือพนักงานโรงงานผลิตยาง ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี จนกระทั่งวันหนึ่งหอมตัดสินใจเปิดใจกับแฟนแล้วพบว่า แฟนของเธออยากแต่งงานและมีลูก ซึ่งนั้นเป็นเงื่อนไขที่หอมให้ไม่ได้ ห้องเช่าห้องเดิมที่เคยอยู่ด้วยกันไม่ได้ทำให้หอมสบายใจที่จะอยู่อีกต่อไป เมื่อความสัมพันธ์จบลง หอมเลือกที่จะออกมาจากพระราม 2 และหยุดการทำงานไว้ เป้าหมายต่อไป คือ กลับอยุธยา

ก่อนจะเดินทางขึ้นรถไฟกลับอยุธยา หอมเห็นว่า ในสถานีรถไฟหัวลำโพงมีคนนอนและใช้ชีวิตอยู่ตรงนี้มากมาย ทำให้เธอคิดว่า “ถ้าคนอื่นอยู่กันได้ เราก็น่าจะอยู่ได้” เธอเลยล้มเลิกความคิดที่จะกลับอยุธยา และตั้งหน้าตั้งตาสร้างชีวิตใหม่ตามลำพังโดยเริ่มจากการเป็นคนไร้บ้านที่หัวลำโพง

“พอออกจากพระราม 2 เราก็ไม่มีงานทำ 3 ปีแรกที่หัวลำโพงลำบากมาก มันไม่แน่นอนว่า แต่ละวันเราจะมีข้าวกินไหม เพราะเรารอเขามาแจก เงินก็ไม่มี แถมยังมีคนที่ผ่านไปผ่านมาดูถูกเราอีก ลำบากใจยิ่งกว่าเดิม แต่ถ้าให้เรากลับไปบ้านเราก็ไม่เอา เพราะรู้ว่าถ้ากลับไปมันจะสบายกาย แต่ไม่สบายใจเพราะมีคนจ้องจะเยาะเย้ย”

เราถามหอมว่า คนทั่วไปเขาพูดจากกับหอมยังไงบ้าง หอมบอกว่า หากย้อนไปเมื่อ 6 ปีที่แล้วก็มีทั้งดีไม่ดีปะปนไป แต่ถ้าใครที่พูดไม่ดีหอมก็จะจำได้ไม่มีวันลืม 

“เขาเป็นใครไม่รู้ที่เห็นเรานอนอยู่แล้วพูดต่อหน้าเราเลยว่า เราคือ ‘ผีพเนจร’ และ ‘ผีหัวลำโพง’ พูดหลายคำ แต่อันนี้เป็นคำที่จำได้แม่น เขาพูดเพราะไม่รู้ที่มาที่ไปของเรา เขาไม่รู้เลยว่า การที่มานอนตรงนี้ เราต้องเจอเรื่องอะไรมาบ้าง ในสายตาเขาเราแค่ดูขี้เกียจละมั้ง”

หลายปีก่อนในสายตาคนทั่วไป คนไร้บ้านอาจจะเป็นคนขี้เกียจ คนที่มีคดีติดตัว หรือคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องราวของคนไร้บ้านยังไม่ถูกนำเสนออย่างถูกต้อง และมีแค่ข้อมูลเพียงน้อยนิดเท่านั้น อีกทั้งความเข้าใจผิดๆ ดังกล่าวมีผลต่อการเข้าช่วยเหลือคนไร้บ้านอีกด้วย


ข้อมูลจาก ดร.พนิตา เสือวรรณศรี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานวิจัย “ชวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตคนไร้บ้าน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การเข้าใจว่าคนไร้บ้านคือคนที่มีอาการทางจิต เป็นการเข้าใจอย่าง ‘ตื้นเขิน’ ที่ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านอย่างไม่ตรงจุด เพราะเมื่อมองการไร้บ้านเป็นเรื่องของปัจเจก ปัญหาของคนไร้บ้านก็จะถูกแก้ไขอย่างไม่ครอบคลุม ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หลายองค์กรทั้งรัฐและเอกชน จึงพยายามสร้างความเข้าใจใหม่ให้คนทั่วไป ได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริงของคนไร้บ้านมากยิ่งขึ้น เพื่อให้พวกเขาไม่ถูกทำร้ายและขับไล่ออกจากสังคม

สิ้นเสียงคำว่า ผีพเนจร สิ่งที่หอมตอบกลับไปต่อคนพูด “คนไร้บ้านไม่ใช่คนขี้เกียจทุกคน พวกเราก็มีการมีงานให้ทำ ถ้าไม่รู้อะไรอย่าตัดสินกันแบบนี้ดีกว่า” ตัดสิน ตีตรา เป็นสิ่งที่หอมจะไม่ยอมให้ใครมาทำกับเธออีก สิ่งเหล่านี้พาออกมาจากอยุธยาแล้ว แน่นอนว่าที่หัวลำโพง เธอจะไม่ยอมให้มันเกิดขึ้นซ้ำๆ หอมจึงเลือกหางานและหาเงินให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

“ตอนนั้นเรารับหมดทุกงาน รับจ้างเช่าพระ ขายของ เขาจ้างให้ไปดูดส้วมเรายังทำเลย จนวันหนึ่งมีคนที่เป็นผู้รับเหมาเข้ามาหาลูกจ้างไปทำงาน เราก็ไป แต่งานรับเหมาก่อสร้างรายได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงด้วย งานเสี่ยงคือเราต้องขึ้นที่สูงจะได้ค่าแรงเยอะ ถ้าไม่เสี่ยงก็จะได้ค่าแรงถูกกว่าประมาณ 300-400 บาท งานมันก็ไม่มีทุกวันด้วย”

เมื่อข้อมูลของคนไร้บ้านถูกเล่ามากขึ้น หนทางที่จะเข้าช่วยเหลือคนไร้บ้านได้อย่างตรงจุดก็มีมากขึ้นอีกด้วย โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง เป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยเหลือให้คนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคงมากขึ้น โครงการนี้เป็นความร่วมมือของ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่อยากให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หอมเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้เธอหลุดพ้นจากการนอนที่หัวลำโพง และขยับขยายมาอยู่ในห้องเช่าแห่งหนึ่ง ที่เธอสามารถใช้ชีวิตและเดินหน้าหางานทำต่อไปได้

“ความเข้าใจคนไร้บ้านตอนนี้มันแตกต่างจากแต่ก่อน เรารู้สึกว่าตอนนี้เขาเข้าใจปัญหาของเรามากขึ้น พอหลังจากที่เข้าโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่งแล้ว เราก็หางานทำได้มากขึ้นด้วย มีที่พักผ่อน มีห้องไว้เก็บของ ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนขโมยอีก มีห้องน้ำไว้อาบน้ำแต่งตัวดีๆ ไปหางานทำ ตอนนี้เราได้งานเป็นพนักงานล้างจานที่โรงแรม รายได้ก็แบ่งเอาไปจ่ายค่าห้องได้”

เมื่อมีห้อง ก็มีงานทำ เมื่อมีงานทำ ก็มีเงิน นี่คือสิ่งที่ผลักดันให้ชีวิตของหอมเดินต่อไปข้างหน้า นอกจากนี้มันยังทำให้เธอได้พิสูจน์ตัวเองอีกว่าเธอไม่ใช่แค่ ‘ผีพเนจร’ อย่างที่ใครเคยพูดไว้ วันนี้เธอภาคภูมิใจที่ตัวเองสามารถลบคำสบประมาทเหล่านั้นได้ มากไปกว่านั้นคือการที่เธอสามารถกลับไปบ้านที่อยุธยาได้อีกครั้ง 

“พอเรามีงานมันก็ทำให้เขาเห็นว่า เราไม่ใช่ผีพเนจร หรือคำด่าอื่นๆ ที่เขาพูดกันอีกต่อไป เราเริ่มมีเงินที่จะกลับไปอยุธยาอีกครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่กลับไปก็จะซื้อขนมและเสื้อผ้าไปฝากน้องๆ กับหลานๆ เสมอ จนคนแถวนั้นที่เคยว่าเราเขาก็ไม่พูดแบบนั้นกับเราแล้ว”

“สักวันเราจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ให้ได้” คือ เป้าหมายที่หอมใช้ผลักดันตัวเองในแต่ละวัน

การหลุดพ้นจากการนอนริมถนนที่หัวลำโพง ได้พิสูจน์ให้ตัวหอมเองเห็นว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะไปต่อได้แค่ไหน เธอขอบคุณตัวเองและขอบคุณทุกคนที่มองเห็นคนไร้บ้านและหยิบยื่นโอกาสมาให้อีกครั้ง

.

มุมมองที่เปลี่ยนไปทำให้คนไร้บ้านได้กลายเป็น ‘คนช่วยคนไร้บ้าน’

“เขาเที่ยวตัดสินเรา ทั้งๆ ที่เขาไม่รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของเราเลย” สถานการณ์เดียวกันกับหอม ‘ไก่’ (นามสมมุติ) หญิงไร้บ้านแถวสนามหลวงที่เจอกับคำพูดด่าทอจากคนแปลกหน้า เพียงเพราะว่าเธอเป็นคนไร้บ้านและเป็นแม่

10 กว่าปีแล้วที่ไก่เลือกออกจากจังหวัดตากมาหางานที่กรุงเทพฯ โชคดีที่งานแรกของเธอได้ทำกับคนรู้จัก เขาจึงให้ที่อยู่กับไก่ได้พักอาศัยระหว่างทำงานไปด้วย เป็นร้านซักรีดเล็กๆ แถวคันนายาว ซึ่งไก่เองก็พอใจกับการเป็นอยู่ของเธอในช่วงเวลานั้น เหตุผลที่เดินทางมาที่นี่เพราะเธอทราบดีว่า งานที่จังหวัดเดิมให้ค่าแรงสู้ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ เมื่อหาเงินตั้งตัวได้แล้ว เธอจึงเริ่มออกหางานใหม่เพราะต้องการรายได้ที่ดีกว่าเดิม แต่เส้นทางของไก่ก็เปลี่ยนไปเมื่อพบว่าตัวเองกำลังตั้งท้อง

“เรากลับบ้านที่ตากไปก็มีปัญหากับแม่ ก็ทนอยู่จนกว่าจะคลอดลูก พอคลอดได้สักพักใหญ่ๆ เลยอยากพาลูกกลับไปที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง แล้วก็เห็นว่าที่สนามหลวงมีคนเขานอนกันอยู่ เราเลยคิดว่า ถ้าตอนนี้ไม่มีที่ไปก็จะปักหลักที่สนามหลวงไปก่อน”

เป็นคนไร้บ้านแน่นอนว่าไม่ง่าย ยิ่งเป็นแม่ด้วยยิ่งยากเข้าไปใหญ่ แต่ไก่ไม่ท้อต่อการใช้ชีวิตที่นี่ แม้เข้าใจดีว่ามันจะลำบาก ไก่ก็ยังยืนยันที่จะอยู่ต่อ

“เคยมีคนเดินผ่านเรากับลูก แล้วเขาพูดว่าตัวเองลำบากยังไม่พอหรอ ถึงต้องเอาลูกมาลำบากด้วย เราฟังแต่ก็ไม่สนใจ เพราะคนนั้นเขาไม่รู้หรอกว่าเราเจออะไรมาบ้าง ชีวิตเขาคงสวยหรูเลยคิดว่า คนอื่นจะต้องเป็นเหมือนเขา เราก็ได้แต่ปล่อยผ่าน”


ไม่ใช่แค่ลำบากใจ แต่ลำบากกายก็ด้วย ไก่เล่าว่า เธอเคยถูกรังแกและเกือบถึงขั้นล่วงละเมิดทางเพศ แต่โชคดีที่มีคนแถวนั้นผ่านมาเห็นและช่วยเหลือทัน แถมหลังจากนั้นคนๆ นี้ก็เป็นคนให้งานกับเธออีกด้วย งานที่เธอได้รับ คือ งานให้เช่าเสื่อสำหรับคนที่มานอนพักผ่อนแถวสนามหลวง และงานเสิร์ฟส้มตำหาบเร่ ซึ่งนอกจากได้เงินแล้ว บางวันก็ยังพอได้กินข้าวที่เขาแบ่งมาให้ด้วย แถมเป็นงานที่ไม่ต้องไปไหนไกล ไก่เลยมีเวลาได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด

ถึงแม้จะฟังดูลงตัว แต่ไก่ก็ยังต้องมีเป้าหมายไว้ให้ตัวเองเดินหน้าต่อ ลูกเป็นคนสำคัญที่ไก่รักและหวงแหนมาก เธอเลยกังวลว่า ถ้าหากยังอยู่สนามหลวงแบบนี้ลูกโตขึ้นต้องลำบากแน่ๆ เป้าหมายต่อไปของเธอคือการมีที่อยู่และงานที่มั่นคงกว่านี้ ประจวบกับตอนที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านอยู่พอดี ซึ่งทางมูลนิธิได้จัดศูนย์พักพิงให้กับคนไร้บ้านที่เข้าร่วมการสำรวจ ไก่จึงเข้าร่วมโครงการนี้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนชีวิตของเธอไปเลย

“ทางมูลนิธิเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาของคนไร้บ้านและพัฒนาศักยภาพของพวกเรา หลังจากนั้นชีวิตเราก็เปลี่ยนไป เรามีที่อยู่ มีที่ที่ได้อาบน้ำ จากปกติที่เราจะนานๆ ได้อาบน้ำที เราชอบความรู้สึกที่ตัวเราสะอาดมากเลย และมันช่วยให้สุขภาพเราดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ก็จะมีคนภายนอกติดต่อจ้างงานคนไร้บ้านผ่านศูนย์พักพิงนี้ ทำให้เราและคนไร้บ้านคนอื่นๆ ได้งานทำด้วย”

ไก่ชอบทำงานกับเครือข่ายนี้เพราะนอกจากจะพัฒนาชีวิตตัวเอง สิ่งที่ไก่เห็นได้ชัดคือมันสามารถพัฒนาชีวิตคนไร้บ้านคนอื่นได้ด้วย ไก่เริ่มจากการเอาตัวเองเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่า คนไร้บ้านก็มีแรงแและมีศักยภาพที่ทำอย่างอื่นได้เหมือนกัน ถ้าหากพวกเรามีสิ่งที่เรียกว่า ‘โอกาส’

“คนไร้บ้านต้องการแค่โอกาส ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ามีคนไร้บ้านหลายคนที่ทิ้งโอกาสไปเหมือนกัน แต่ก็ยังมีอีกหลายชีวิตที่ใช้โอกาสแล้วเอามาเป็นแรงผลักดันในการเดินหน้าต่อ”

ทุกวันนี้ไม่มีใครเดินมาพูดกับไก่แล้วว่าเธอเป็นแม่ที่ไม่รักลูก ไก่พิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่า เธอดูแลตัวเองและดูแลลูกได้ อีกทั้งเธอยังเริ่มดูแลคนไร้บ้านคนอื่นๆ ได้อีกด้วย เมื่อวันหนึ่งที่ไก่มีโอกาสแล้วไก่ก็ไม่ลืมที่จะส่งต่อไปให้คนอื่น

“มีคนไร้บ้านหลายคนกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ตอนแรกที่เขามาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเพราะเขามีปัญหาเรื่องครอบครัว เราก็พยายามช่วยคุยให้ หางานให้ จนทําให้เขากลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวได้ เขาเคยตอบกลับมาว่า ‘ตอนนี้ผมได้งานทําแล้วนะ กําลังจะสร้างบ้านให้พ่อให้แม่’ เราดีใจกับเขามาก”

ไก่เป็นคนหนึ่งที่เคยเจ็บปวดกับคำพูดและทัศคติที่คนทั่วไปมีต่อคนไร้บ้าน เธอเชื่อว่าถ้าคนทั่วไปเข้าใจคนไร้บ้านมากขึ้น คนไร้บ้านก็จะมีที่ยืนในสังคมและหลุดพ้นจากสถานะนี้ได้มากขึ้น 

“ทัศคติมีผลต่อคนไร้บ้าน ถ้าเขาโดนดูถูกและมองข้าม เขาก็จะเชื่อว่าตัวเองเป็นแบบที่คนอื่นบอก และจะดำเนินชีวิตแบบนั้นต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเรามองเห็นเขา เราช่วยเหลือเขา ต่อให้เป็นการช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เขาจะมีแรงผลักดันตัวเอง อยากพัฒนาตัวเอง อันนี้คือตัวอย่างที่เราเห็นมาจากการที่เราได้ดูแลคนไร้บ้าน”