เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน: สิทธิการเข้าถึงวัคซีน…ที่คนไร้บ้านเข้าไม่ถึง

มันเป็นวิกฤตที่รัฐไม่เคยพูดถึงคนไร้บ้านในระลอกนี้ การตรวจเชิงรุกก็ยังไม่ถูกพูดถึง ทั้ง ๆ ที่เขาอยู่ในที่สาธารณะซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างมาก และยังเข้าไม่ถึงข่าวสารและข้อมูลจากภาครัฐอีกด้วย

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกสามของโควิด-19 ผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คนเข้าสู่สภาวะไร้บ้านมากขึ้นและนโยบายของรัฐในปัจจุบันก็ยังไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความไม่มั่นคงและความไม่ปลอดภัยของคนไร้บ้านในสังคม

แผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประสานเครือข่ายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน สสส. ร่วมกับ ThaiPBS จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน: สิทธิการเข้าถึงวัคซีน…ที่คนไร้บ้านเข้าไม่ถึง” เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมร่วมเสวนาถึงสถานการณ์คนไร้บ้านในปัจจุบัน แนวทางและข้อเสนอต่อการดูแลผู้ไร้บ้านรวมถึงการได้รับวัคซีน และโจทย์ความท้าทายต่อไปทั้งของภาครัฐและภาคประชาสังคมในการทำงานช่วยเหลือผู้ไร้บ้านท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและสิ่งที่คนไร้บ้านต้องเจอ

ในการระบาดรอบที่สาม พบว่ามีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น 20-30% โดย คุณสมพร หารพรม  ตัวแทนจากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้ให้ข้อมูลว่า จากการลงพื้นที่พบว่ามีคนไร้บ้านจำนวนมากขึ้น โดยมีกลุ่มคนไร้บ้านหน้าเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่อยู่ในช่วงวัยทำงานแต่ต้องตกงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด จึงทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าที่อยู่อาศัยได้ 

ในขณะเดียวกัน คุณอัจฉรา สรวารี ตัวแทนจากมูลนิธิอิสรชน กล่าวเสริมว่า จากประเด็นที่มีคนไม่สามารถจ่ายค่าเช่าห้องได้นั้น ทำให้เราเริ่มเห็นครอบครัวที่กลายเป็นคนไร้บ้านทั้งครอบครัวมากขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากหัวหน้าครอบครัวไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าที่อยู่อาศัยได้ 

มากไปกว่านั้น ความเสี่ยงในการติดเชื้อของคนไร้บ้านที่มีมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยที่วนกลับมาทำให้คนเร่ร่อนต้องยิ่งออกมาอาศัยในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เพราะเป็นผลมาจากความกังวลของผู้คนว่ากลุ่มคนไร้บ้านจะติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการซึ่งทำให้เสี่ยงจะเป็นพาหะ คนจึงไม่อนุญาตให้คนไร้บ้านมานอนในละแวกของตนนั่นเอง 

ด้าน คุณสิทธิพล ชูประจง ตัวแทนจากมูลนิธิกระจกเงา ชี้ว่า ปัจจัยหนี่งที่ทำให้คนไร้บ้านไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ ทั้งการเข้าถึงอาหาร เงินเยียวยา รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาด เป็นเพราะกลุ่มคนเหล่านี้ยังขาดทั้งช่องทางการเข้าถึงและต้นทุนในการเข้าถึงช่องทางดังกล่าว ดังที่พบว่า จากกลุ่มตัวอย่างคนไร้บ้าน 300 คน มีกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่ออกมาไร้บ้านเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กว่า 100 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อย โดยตัวเลขในระลอกสามนั้นสูงเท่า ๆ กับตัวเลขในระลอกแรก และคนที่เข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐนั้นมีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นมาตรการ “เราชนะ” ที่มีกลุ่มตัวอย่างเข้าถึงประมาณ 80 คน นอกนั้นไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือได้

คุณสมพร อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า กลุ่มคนไร้บ้านไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นอย่างมาก ถึงกระนั้นยังไม่มีมาตรการจากภาครัฐที่คำนึงถึงความเปราะบางของกลุ่มคนไร้บ้านให้เห็นนัก 

นายแพทย์ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย ผู้แทนนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ มองว่าสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยิ่งตอกย้ำถึงความเปราะบางของกลุ่มคนไร้บ้าน กระบวนการเยียวยาของภาครัฐไม่ได้ครอบคลุมกลุ่มคนเปราะบางที่มีต้อนทุนต่ำอย่างคนไร้บ้านเลย ดังนั้นรัฐต้องมีกลไกและมาตรการที่จะเยียวยาคนที่เปราะบางที่สุดโดยไม่มีต้นทุนใด ๆ ในการเข้ามาตรการ เช่น ที่พักฟรี ราคาถูก หรือลดค่าเช่าโดยตรงไปเลย เป็นต้น ทั้งนี้ เรายังไม่เห็นมาตรการเหล่านี้จากรัฐเท่าใดนัก

ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แม้จะพยายามจัดตั้งช่องทางการช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้าน อย่างศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน และสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ แต่ด้วยทรัพยากรที่จำกัดจึงทำให้ความช่วยเหลือไม่เพียงพอต่อการสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้อย่างครอบคลุม ดังนั้นมาตราการที่ควรจัดสรรอย่างเร่งด่วนในตอนนี้จึงควรเป็นการจัดสรรวัคซีนให้แก่คนไร้บ้านและการเยียวยากลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่

นายแพทย์วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ได้เสนอเพิ่มเติมว่า เนื่องจากในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ง่าย ๆ นั้น คนไร้บ้านถือเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ดังนั้น เพื่อเพื่มโอกาสในการเข้าถึงการตรวจเชิงรุก จะต้องมีการตั้งศูนย์ประสานงานประจำในพื้นที่สาธารณะและต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาสังคมในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานระหว่างรัฐและกลุ่มคนไร้บ้านเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อเสนอแนะว่าด้วยการเข้าถึงบริการสุขภาพและวัคซีคโควิด-19 ของคนไร้บ้าน

นายแพทย์วิรุฬกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วเป้าหมายการจัดให้คนเข้าถึงฉีดวัคซีนนั้นมี 2 แนวทางหลัก คือ หนึ่ง การลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต สอง การลดอัตราการติดเชื้อ ซึ่งก็เป็นข้อถกเถียงกันว่ารัฐควรจะมุ่งแก้ไขปัญหาไปในแนวทางเป้าหมายใดมากกว่า วัคซีนยี่ห้อเดิม มันอาจจะมีการพัฒนาจนสามารถตอบสนองสายพันธุ์ใหม่ ๆ มากขึ้น หากมองในแง่ของคนไร้บ้าน พวกเขาถือเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งสองแบบ เพราะเป็นกลุ่มที่อาจติดเชื้อและไปแพร่ให้คนอื่น และยังมีความเสี่ยงที่จะป่วยและเสียชีวิต โดยเฉพาะคนไร้บ้านที่สูงอายุ คนไร้บ้านจึงควรเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับวัคซีนด้วยซ้ำ 

ส่วนข้อสงสัยที่ว่ารัฐจะจัดสรรวัคซีนให้ถึงมือคนไร้บ้านได้อย่างไร จุดประสานงานคือคำตอบ เพื่อให้คนไร้บ้านเข้าถึงการดูแลและข้อมูลต่าง ๆ ได้ รวมถึงจัดระบบการลงทะเบียนเพื่อเก็บข้อมูลดูแลคนไร้บ้านต่อไป ในปัจจุบันมีกลุ่ม Thaicare ที่กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มระบบเพื่อการนี้อยู่ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลคนชายขอบที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนและติดตามประสานงานเคสของพวกเขาต่อไปได้

นายแพทย์ขวัญประชา เสนอต่อไปว่า รัฐต้องมีวิธีการชัดเจนสำหรับคนที่ไม่มีเอกสารราชการในการเข้าถึงวัคซีนและบริการสุขภาพ อีกทั้ง เนื่องจากคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตพื้นที่สาธารณะ การติดตามจึงเป็นปัญหาใหญ่มาก วัคซีนที่ดีที่สุดที่ควรจัดหาให้กับคนไร้บ้านจึงเป็นกลุ่มวัคซีนโดสเดียวจบ เช่น Johnson & Johnson เพื่อให้คนไร้บ้านได้รับวัคซีนที่ทำให้ภูมิคุ้มกันที่เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ภายใต้ระบบบริหารจัดการในขณะที่ เขาแทบมองไม่เห็นถึงความเป็นไปได้นั้น ดังนั้น ด้วยวิถีชีวิตที่เป็นอิสระ คนไร้บ้านก็ควรได้รับก่อนและโดยเร็วที่สุด

คุณอัจฉราเห็นด้วยกับนายแพทย์ขวัญประชา ถึงการตั้งคำถามว่าคนไร้บ้านจะได้สิ่งที่ควรได้หรือไม่ ซึ่งต้องถามกลับไปที่รัฐบาลว่า ในวันนี้ รัฐมองคนเท่ากันหรือเปล่า เพราะยังเห็นได้ว่ากลุ่มคนที่เสี่ยงที่สุดยังเข้าไม่ถึงวัคซีน ทั้งที่จริง ๆ แล้ว การเข้าถึงวัคซีนของคนไร้บ้านเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก ทุกคนอยากได้วัคซีนอยู่แล้วตั้งแต่แรกก่อนที่จะพบว่ามีข่าวผลข้างเคียงของวัคซีน แต่ตอนนี้คนเริ่มลังเลเนื่องด้วยข้อมูลข่าวสารจากรัฐที่สร้างความสับสน

ในไทย ประชาชนเข้าหาวัคซีน ในขณะที่หลายประเทศวัคซีนเข้าหาประชาชน เช่น เสนอให้มีการฉีดวัคซีนแบบเคลื่อนที่ ในหลาpท้องถิ่นเริ่มทำแล้ว เพราะวิธีนี้สามารถเข้าถึงคนที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะได้มากกว่า แต่จะดีกว่าหรือไม่หากรัฐส่วนกลางใช้อำนาจการบริหารจัดการให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงวัคซีนทั้งประเทศอย่างเท่าเทียมกัน 

คุณสิทธิพล กล่าวเสริมว่า ถ้ามีวัคซีนเพียงพอ มีระบบการจัดการที่ให้คนได้เข้าถึงอย่างดี มีช่องทางให้เข้าถึงได้ง่าย วันนี้คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ เพราะคนไร้บ้านก็อยากมีสุขภาพที่ดี แต่เราไม่มีการเตรียมการอะไรแบบนี้เท่าใดนัก ถ้ารัฐเอาใจใส่กับคนที่มีเงื่อนไขพิเศษเช่นนี้สักหน่อยอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้เราอาจไม่ต้องพูดถึงกันเลย สิ่งที่เป็นกังวลว่าคือเอฟเฟ็คจากวัคซีนมัน นั่นคือ ถ้าหากไม่มีพื้นที่สังเกตอาการแล้วเกิดอะไรขึ้นหลังฉีดแล้วจะทำอย่างไร ดังนั้น จุดประสานงานต้องดูแลคนไร้บ้านทั้งกระบวนการตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังได้รับวัคซีน ทั้งนี้ คุณสิทธิพลได้เสนอเพิ่มเติมว่า จุดประสานงานต้องทำให้คนไร้บ้านมีแรงจูงใจเพียงพอที่จะให้เขาเดินมาหา อาจเป็นภาคประชาสังคมที่เข้ามาทำหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐและคนไร้บ้าน เพราะเป็นคนที่คนไร้บ้าน “ไว้ใจ” ทำให้คนไร้บ้านมีแรงจูงใจพอที่จะเดินเข้ามาหา มารายงานตัว มาเล่ารายละเอียดกับทางศูนย์ประสานงานฯ 

คุณสมพร ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรมีการตรวจเชิงรุกเพื่อประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงของคนไร้บ้านก่อน โดยหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร กทม. ต้องเขามาชี้จุดตรวจเชิงรุกสำหรับคนไร้บ้าน รวมถึงการตั้งจุดประสานงานต่าง ๆ เพื่อคนไร้บ้านในพื้นที่ กทม.

นายแพทย์วิรุฬ กล่าวสรุปข้อเสนอการจัดตั้งศูนย์ประสานงานว่า จุดประสานงานที่จัดตั้งโดยภาครัฐร่วมมือกับภาคประชาสังคม ต้องเป็น One Stop Service ที่ทำงานช่วยเหลือคนไร้บ้านอย่างบูรณาการ ซึ่งเรามีต้นทุนทำได้อยู่แล้ว แต่ยังรอแผนการทำงานร่วมกัน

ความท้าทายหลังจากนี้

คุณอัจฉรา เห็นว่า ข้อท้าทายในตอนนี้คือ การบริหารจัดการหรือการประสานงานที่ทำให้ทุกอย่างลื่นไหล อย่างมูลนิธิอิสระชนเราดูแลกลุ่มผู้ใช้ชีวิตตามที่สาธารณะ ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ป่วยทางจิต ผู้พ้นโทษ และครอบครัว ไม่ใช่เพียงคนไร้บ้านอย่างเดียว ปัญหาของกลุ่มคนเหล่านี้จึงเป็นปัญหาเชิงซ้อนดังที่นายแพทย์ขวัญประชากล่าวว่ามันมีทั้งปัญหาเชิงซ้อนและเชิงระบบที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของรัฐสวัสดิการของไทย ซึ่งคนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากทุกปัญหาดังที่กล่าวไป นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในแง่ของการแก้ไขทัศนคติเชิงลบจากสังคมที่มองว่าคนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะคือคนที่ไม่ยอมทำมาหากิน และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอื่น ๆ 

คุณสิทธิพล มองว่า การสช่องทาง (platform) เข้าถึงวัคซีนของกลุ่มคนเปราะบางไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่เพียงพอ เพราะการไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนนั้นเป็นอุปสรรคขัดขวางการเข้าถึงวัคซีนของคนชายขอบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่คนไร้บ้าน เช่น คนลี้ภัย หรือคนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ ดังนั้น หากรัฐมีทัศนคติที่มองว่าคนทุกคนเท่ากัน รัฐต้องออกมาพูดให้ชัดว่าคนที่เข้าถึงวัคซีนได้นั้นไม่จำกัดสถานะว่าต้องเป็นพลเมือง ขอแค่เป็นผู้ที่อยู่ในขอบเขตของรัฐเท่านั้นก็จะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ อีกทั้ง รัฐต้องกล้าที่จะลงทุนในการเยียวยาคนเปราะบางในสังคมเหล่านี้ แต่ในตอนนี้มันไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้นการเรียกร้องวัคซีนนั้นจะต้องเป็นการเรียกร้องเพื่อทุกคนอย่างแท้จริงเท่านั้น

คุณสมพร ชี้ว่า รัฐควรช่วยส่งเสริมการทำงานคนที่ทำงานในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมในเชิงปฏิบัติ และรัฐต้องตระหนักว่าปัญหาของคนเปราะบางอย่างคนไร้บ้านนั้นเป็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วดังเช่นปัญหาอื่น ๆ 

นายแพทย์ขวัญประชากล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า ปัญหาโควิดและคนไร้บ้านนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การมองแต่มุมสาธารณะสุขคงไม่ตอบโจทย์เท่าไรนัก ดังที่สิทธิพลกล่าวไปข้างต้นว่าต่อคนไร้บ้านให้เข้าถึงวัคซีน แต่จะสังเกตุอาการหลังฉีดได้ที่ไหน ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมจึงต้องร่วมมือกันบริหารจัดการระบบโครงสร้างที่ช่วยเหลือคนจนเมืองให้มีที่อยู่อาศัย เพื่อไม่ให้เขาต้องหลุดออกมาอาศัยในพื้นที่สาธารณะ หรือถ้าหลุดออกมาแล้วก็ต้องพาเขาเข้ากลับไปให้มีที่อยู่อาศัยราคาถูกหรือไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย ซึ่งก็เป็นการบริหารจัดการที่กลับไปแก้ปัญหาที่ต้นตออย่างปัญหาเชิงโครงสร้างนั่นเอง

บทส่งท้าย

แม้ว่าประเทศไทยจะเผชิญกับแพร่การระบาดของโควิด 19 เป็นเวลาเกินหนึ่งปีครึ่งแล้ว แต่การจัดการของภาครัฐยังคงหละหลวม ตัวเลขยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลในศักยภาพการรองรับของสาธารณสุขไทย ประเทศได้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและจำนวนคนว่างานที่เพิ่มสูงขึ้น สิ่งนี้ก่อให้เกิดปัญหาในวงกว้าง กลุ่มคนไร้บ้านจึงเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยขาดมาตรการรองรับและยังคงเป็นกลุ่มคนที่ต้องแบกรับความเสี่ยงในการติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด 19 อีกด้วย 

แม้จะมีเสียงเรียกร้องมากมายเกี่ยวกับมาตราการเข้าถึงวัคซีนที่ยังคงมีการจัดการอย่างหละหลวมและการเยียวยาที่ยังไม่ทั่วถึง แต่ก็ยังขาดมาตราการที่เป็นรูปธรรมมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว คนไร้บ้านจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงมาตรการการช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งยังขาดแคลนวัคซีนที่เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของคนไร้บ้าน

การที่จะไขปัญหานี้ได้จำต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและภาคประชาสังคมในการเดินหน้าแก้ไขและให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของกลุ่มคนไร้บ้านซึ่งเป็นเหยื่อจากโครงสร้างทางสังคมที่กดทับ

สุดท้ายนี้อาจไม่มีใครต้องไร้บ้าน หากรัฐให้ความสำคัญถึงปัญหาเชิงโครงสร้างนี้แต่แรก