ณ สถานที่แห่งหนึ่งในเขต Happy Valley เขตอันแสนมั่งคั่งของเกาะฮ่องกง มีคนไร้บ้านหลายสิบคนได้จับจองพื้นที่สร้างที่อยู่อาศัยอัน “หรูหรา” ของตนเองบริเวณทางเดินอุโมงค์รถไฟใต้ดิน ใกล้กับฮ่องกงจ็อกกี้คลับบนถนนสปอร์ต ซึ่งที่นี่นับว่าเป็น “บ้าน” ของคนไร้บ้านมากว่า 3 ปี
ฟิลิปิโน โอเนด ผู้ที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ใน “หมู่บ้านรถไฟใต้ดิน” ได้ไม่นาน หลังจากที่ไร้บ้านมากว่าหนึ่งปี เขากล่าวว่าตนเคยอาศัยอยู่ในแฟลตเล็ก ๆ แต่ก็ถูกไล่ออกมาเมื่อไม่สามารถจ่ายค่าเช่าแฟลตได้ ในตอนนี้เขาเองก็ยังว่างงานและยังขาดรายได้
ชุมชนคนไร้บ้านในทางเดินอุโมงจ็อกกี้คลับดูเหมือนจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาไม่เพียงแต่นำเต็นท์และของใช้ส่วนตัวติดตัวมาด้วยเท่านั้น พวกเขายังเตรียมตู้เสื้อผ้า ตู้เย็น หรือแม้แต่โซฟา เพื่อให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้านที่สุดนอกจากนั้นพวกเขายังตกแต่งพื้นที่อยู่อาศัยด้วยผ้าที่มีสีสันซึ่งยังช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวของพวกเขาอีกด้วย
ฉากเหล่านี้เป็นภาพที่คุ้นเคยทั่วทั้งเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนสะพานลอย เนื่องจากจำนวนคนไร้บ้านในฮ่องกงเพิ่มสูงขึ้น
บางคนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนน เพราะเมื่อมีมาตรการห้ามรับประทานอาหารในร้าน ร้านแมคโดนัลด์ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงก็ไม่สามารถให้คนไร้บ้านค้างคืนได้อีกต่อไป ในขณะที่ก็มีบางคนที่ทำงานในฮ่องกงแต่ต้องอาศัยอยู่ในเซินเจิ้นเพราะมีค่าเช่าบ้านถูกกว่า พวกเขาไม่สามารถกลับบ้านที่เซินเจิ้นได้เพราะชายแดนถูกปิดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เจฟฟ์ รอตเมเยอร์ ผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ImpactHK กล่าวว่า จำนวนคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงสองปีที่ผ่านมาเป็นผลจากการว่างงานท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับการเก็บข้อมูลคนไร้บ้านของกระทรวงสวัสดิการสังคมในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่พบว่ามีคนไร้บ้านในเกาะฮ่องกงจำนวน 1,556 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนคนไร้บ้านในเดือนเดียวกันของปีที่แล้วที่มีจำนวน 1,482 คน
“เรากำลังให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านใน 11 เขต และสังเกตเห็นว่ามีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ เรายังพบด้วยว่าคนหนุ่มสาวได้กลายเป็นคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น” ร็อตเมเยอร์ กล่าว
เขาเสริมว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นสาเหตุที่ใหญ่ที่สุดของการไร้บ้าน เช่น ภาวะสมองเสื่อม และภาวะซึมเศร้า อีกทั้ง คนไร้บ้านยังต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมากมายเวลาปรับตัวให้เข้ากับชุมชน
“หลายคนรู้สึกสิ้นหวังเพราะรู้สึกว่าไม่มีใครสนใจพวกเขาและไม่สามารถไว้ใจใครได้ พวกเขายังต้องเผชิญกับสังคมที่ไม่เป็นมิตรที่บางครั้งก็มองว่าคนไร้บ้านคือคนเกียจคร้านและติดยา” ร็อตเมเยอร์ กล่าว
ร็อตเมเยอร์ เชื่อว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะยุติภาวะไร้บ้านในฮ่องกงเนื่องด้วยราคาที่อยู่อาศัยที่สูงเช่นนี้ แม้ว่าเขาจะเห็นด้วยกับนโยบายบางอย่างของรัฐบาล เช่น การจัดหาเงินทุนสำหรับที่อยู่อาศัยในระหว่างการหาที่อยู่อาศัยแต่ร็อตเมเยอร์เชื่อว่ารัฐบาลสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้เพื่อแสดงว่ารัฐบาลห่วงใยคนกลุ่มเปราะบางอย่างแท้จริง
“รัฐบาลต้องเข้าใจว่าการจัดหาที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะไร้บ้านได้ รัฐควรให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคประชาสังคมมากกว่านี้ และควรประสานงานกับพวกเขาโดยตรง” เขากล่าว
ทางด้านกระทรวงสวัสดิการสังคมชี้แจ้งว่าได้มีการปรับปรุงบริการสนับสนุนสวัสดิการที่มีอยู่ โดยจัดให้มีบริการตรวจสุขภาพและสุขภาพจิต ณ สถานที่ต่าง ๆ ซึ่งตรวจโดยพยาบาลวิชาชีพ รวมถึงบริการช่วยเหลือทางการแพทย์อื่น ๆ แก่คนไร้บ้าน
ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯ ได้มีการจัดสรรเงินช่วยเหลือให้แก่ภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อสนับสนุนสวัสดิการของคนไร้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการหางาน ตลอดจนการจัดการที่พักในเมืองและศูนย์พักพิงฉุกเฉินให้แก่คนไร้บ้านโดยระบุว่าขณะนี้มีที่พักชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้านทั้งหมด 642 แห่ง รวมถึงมีการจัดหากองทุนฉุกเฉินเพื่อรองรับความต้องการเฉพาะกิจของพวกเขาอีกด้วย
อ้างอิง: https://www.thestandard.com.hk/section-news/section/4/233898/’Subway-villages’-on-the-rise