จำนวนประชากรคนไร้บ้านในประเทศฟินแลนด์ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการประกาศนโยบายภายใต้แนวคิด “ที่อยู่อาศัยต้องมาก่อน” โดยเป็นนโยบายที่สนับสนุนให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาไร้บ้านได้รับการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยเป็นอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็ก และการให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆเบื้องต้น ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะไร้บ้านจำนวน 4 ใน 5 คนได้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงอย่างยั่งยืนอีกครั้ง
ฟินด์แลนด์เป็นประเทศเดียวในทวีปยุโรปที่ภาวะไร้บ้านลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2008 เราจะสามารถพบเห็นที่พักชั่วคราวจำพวกเต็นท์ และกระท่อมตั้งอยู่ระหว่างต้นไม้ในสวนสาธารณะเฮลซิงกิ ในกลางเมืองหลวงของฟินแลนด์ได้อย่างหนาตา ที่พักดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนไร้บ้าน โดยการพักอาศัยเช่นนี้ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา รัฐบาลฟินแลนด์ได้พยายามลดปัญหาคนไร้บ้าน โดยการสร้างที่พักพิงระยะสั้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้กลับมีผลกระทบทำให้กลุ่มคนไร้บ้านต่อเนื่องที่ประสบปัญหาที่อยู่อาศัยระยะยาวนั้นไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย เนื่องจากที่พักพิงฉุกเฉินมีจำนวนน้อยเกินไป ทำให้คนไร้บ้านจำนวนมากไม่สามารถกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงได้ การไร้ที่อยู่อาศัยนำมาสู่การติดกับดักคนไร้บ้าน พวกเขาหางานไม่ได้หากไม่มีที่อยู่อาศัย และในทางกลับกันหากไม่มีงานทําที่มั่นคงพวกเขาก็ไม่มีเงินสำหรับที่อยู่อาศัยที่มั่นคงได้ กลายเป็นวงจรกับดักที่ไม่สามารถหลุดพ้น นอกจากนี้ คนไร้บ้านยังมีปัญหาในการยื่นขอสวัสดิการสังคมอีกด้วย
แต่ในปี 2008 รัฐบาลฟินแลนด์ได้แนะนํานโยบายใหม่สําหรับคนไร้บ้าน รัฐบาลเริ่มดําเนินการนโยบายตามแนวคิด “ที่อยู่อาศัยต้องมาก่อน” ตั้งแต่นั้นมาจํานวนคนไร้บ้านก็ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยฟินแลนด์ตั้งเป้าหมาย “ไม่มีใครควรต้องอยู่ตามท้องถนน พลเมืองทุกคนควรมีที่อยู่อาศัย” จากแนวคิดและเป้าหมายดังกล่าวทำให้ประเทศสามารถประสบความสําเร็จเป็นประเทศ EU-country เพียงแห่งเดียวที่จํานวนคนไร้บ้านลดลง
“ที่อยู่อาศัยต้องมาก่อน” คนไร้บ้านทุกคนได้รับที่อยู่อาศัยในฟินแลนด์อย่างไร?
องค์กรพัฒนาเอกชน ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยสําหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ พวกเขาดูแลการก่อสร้าง ซื้ออาพาร์ตเมนต์ในตลาดที่อยู่อาศัยส่วนตัว และปรับปรุงอพาร์ตเมนต์ที่มีอยู่ โดยที่อยู่อาศัยมีหนึ่งถึงสองห้อง นอกจากนั้นได้ดัดแปลงที่พักพิงฉุกเฉินเก่านำมาพัฒนาเป็นอพาร์ตเมนต์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว ที่อยู่ดังกล่าวมีคนไร้บ้านเป็นผู้เช่าโดยมีข้อตกลงการเช่าเป็นรูปธรรม พวกเขาต้องจ่ายค่าเช่าและต้นทุนการดําเนินงานในการเช่าที่อยู่อาศัย นอกจากที่อยู่อาศัยแล้วยังมีนักสังคมสงเคราะห์ประจำโครงการคอยให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น การยื่นขอรับสวัสดิการสังคมอีกด้วย
วิธีการทํางานของแนวคิด “ที่อยู่อาศัยต้องมาก่อน”
นโยบายที่อยู่อาศัยที่ฟินแลนด์ได้นำมาใช้ส่งต่อความช่วยเหลือไปสู่คนไร้บ้าน มีโมเดลการทำงานคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะไร้บ้านจะต้องมีงานทํา และได้รับการฟื้นฟูปัญหาทางจิตใจหรือฟื้นฟูจากการติดสารเสพติด หลังจากนั้นพวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือในการหาที่อยู่อาศัย และได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นจากนักสังคมสงเคราะห์ในการสมัครรับสวัสดิการทางสังคมและความพร้อมสําหรับการให้คําปรึกษาโดยทั่วไป รูปแบบการทำงานที่ปลอดภัยเช่นนี้ทำให้คนไร้บ้านสามารถหางานทําและดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจได้ง่ายมากขึ้น โดยอิงจากผลลัพธ์คนไร้บ้านจำนวน 4 ใน 5 คนสามารถมีที่อยู่อาศัยระยะยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โครงการสามารถจัดหาที่อยู่อาศัยได้มากถึง 4,600 หลังคาเรือน ในขณะที่ในปี 2560 มีคนไร้บ้านอาศัยอยู่ตามท้องถนนประมาณ 1,900 คน แต่โครงการสามารถลดจํานวนคนไร้บ้านระยะยาวนี้ให้เหลือจำนวนน้อยกว่า 1,000 คน ได้ภายในปี 2562 และยังมีสถานที่รองรับสําหรับคนไร้บ้านในศูนย์พักพิงฉุกเฉินอีกด้วย
การจัดบริการที่อยู่อาศัยจ่ายน้อยกว่าการปล่อยให้คนไร้บ้านอยู่ในพื้นที่สาธารณะ
การจัดหาที่อยู่อาศัยนั้นนับเป็นการลงทุนก้อนใหญ่ที่เห็นผลในระยะยาว แต่โดยรวมแล้วมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการปล่อยให้คนไร้บ้านอาศัยอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ ยิ่งมีคนอาศัยอยู่ตามพื้นที่สาธารณะมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้โอกาสที่จะเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินบ่อยมากขึ้นเท่านั้น เช่น การทําร้ายร่างกาย การบาดเจ็บ การเสียชีวิต ซึ่งในกรณีนี้ ทั้งการใช้กองกำลังตํารวจ การเยียวยารักษาด้านสุขภาพ ตลอดจนกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีการดำเนินการหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวล้วนมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจัดหาที่อยู่อาศัยทั้งสิ้น
ไม่มีการรักษาใดที่เป็นปาฎิหาริย์ – แต่ยังมีหนทางแห่งความสำเร็จ
ผลลัพธ์จากจำนวนคนไร้บ้าน 4 ใน 5 คนที่สามารถอยู่อาศัยในโครงการอย่างยั่งยืน ทำให้เห็นว่าแนวคิดที่อยู่อาศัยนั้นมีศักยภาพที่จะคงประสิทธิภาพในระยะยาว แต่ก็มีคนไร้บ้านมากถึงจำนวนร้อยละ 20 ที่ขอออกจากโครงการเนื่องจากต้องการอาศัยอยู่กับเพื่อนหรือญาติ และ/หรือไม่สามารถจ่ายค่าเช่าตามเงื่อนไขของโครงการได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหลังจากออกจากโครงการแล้วคนไร้บ้านกลุ่มนี้ก็ยังสามารถสมัครเข้าสู่โครงการและรับการสนับสนุนจากโครงการได้อีกครั้งหากต้องการ นอกจากนี้ยังมีช่องว่างเรื่องการช่วยเหลือกลุ่มผู้หญิงที่เป็นคนไร้บ้านหรือมีภาวะเสี่ยงต่อการไร้บ้านซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่เข้าถึงยากเนื่องจากผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่กับญาติหรือคนรู้จักมากกว่าออกมาใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนาโมเดลโครงการที่อยู่อาศัยระยะยาวนี้ต่อไป
การลงทุนสำหรับที่อยู่อาศัยเป็นการช่วยคนไร้บ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยสามารถเห็นได้จากปัจจัยความสำเร็จของประเทศฟินแลนด์ที่ทำให้เห็นว่าแนวคิดที่อยู่อาศัยนั้นมีศักยภาพที่จะคงประสิทธิภาพในระยะยาว โครงการ ‘ที่อยู่อาศัยต้องมาก่อน’ จึงเป็นหนึ่งในทางออกสำหรับการยุติปัญหาการไร้บ้านโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ที่มา :