เมื่อเรื่องเล่าข้างถนน ถูกนำมาจัดวางทางศิลปะในงาน Human of street SS 2

“เราไม่อยากให้คนยืนอ่านอย่างเดียว อยากให้คนเข้ามามีส่วนร่วม ได้จำลองความรู้สึกที่ว่าถ้าในชีวิตคุณได้เลขแบบนั้นจริงๆ คุณจะรู้สึกอย่างไร เข้าถึงสิทธิได้แค่ไหน อยากให้คนเข้าร่วมงาน ได้ร่วมเล่นอย่างนี้มากกว่า”

หากใครได้ไปร่วมงาน “HUMAN OF STREET Season 2 (Greeting For the Homeless)” ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2560 ณ พิพิธบางลำพู  คงจะสะดุดตากับนิทรรศการที่ถูกจัดวางภายในงาน  ได้แก่ “สกรีนลายเสื้อ”  “เรื่องเล่าริมทาง” และ “Homeless Experience”  แม้ตัวนิทรรศการจะดูไม่หวือหวา แต่แฝงด้วยนัยและความหมาย กลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้ลงไปสัมผัสกับคนไร้บ้านเป็นระยะเวลากว่าหกเดือน

นิทรรศการทั้งสามชุดนี้ เกิดขึ้นจากการที่นิสิตมหาวิทยาลัยศิลปากร  มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมเวทีอบรม Homeless Creative Lab ซึ่งจัดโดยความร่วมมือระหว่าง สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะไทยพีบีเอส ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนางานสื่อสาร เปิดไอเดีย ปรับมุมมอง เปลี่ยนโลกความเข้าใจ ในประเด็น “คนไร้บ้าน”

สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากตัวงานที่พวกเขาผลิต คือคำถามที่ว่า ไอเดียเบื้องหลังของงานศิลปะสามชุดนี้ คืออะไร เรื่องราว และประสบการณ์อันใดที่บันดาลใจให้พวกเขาสื่อสารประเด็น “เรื่องคนไร้บ้าน” ในแนวทางเช่นนั้น

หากใครชอบเรื่องเสี่ยงทายดวงโชคชะตา คงจะประหลาดใจกับศิลปะการจัดวางชุดนี้ของกลุ่มนิสิตจุฬาฯ  เพราะมันไม่ใช่การเสี่ยงดวงธรรมดา แต่เป็น “เสี่ยงเซียมซี เข้าใจสถานะคนไร้บ้าน”  แต่หากคนที่ไม่ชอบเสี่ยงก็ยังคงสนุกและได้ความรู้เรื่องสถานะคนไร้บ้านได้ด้วยการหยิบเซียมซีไปอ่านเลย

นอกจาก “เซียมซีเข้าใจสถานะคนไร้บ้าน” นักศึกษากลุ่มนี้ยังจำลองวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ของคนไร้บ้าน นำมาจัดวางสื่อนัยความหมายให้เห็นเรื่องราววิถีชีวิตของคนไร้บ้าน และก็ได้รับความสนใจไม่น้อย

ตัวแทนกลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า การออกแบบ Art installation เช่น การเสี่ยงเซียมซี ก็เพื่ออยากให้คนร่วมงานได้มีส่วนร่วม

“เราไม่อยากให้คนยืนอ่านอย่างเดียว อยากให้คนเข้ามามีส่วนร่วม ได้จำลองความรู้สึกที่ว่าถ้าในชีวิตคุณได้เลขแบบนั้นจริงๆ คุณจะรู้สึกอย่างไร เข้าถึงสิทธิได้แค่ไหน อยากให้คนเข้าร่วมงาน ได้ร่วมเล่นอย่างนี้มากกว่า”

พวกเขายังเล่าต่ออีกว่า แรงบันดาลใจการทำงานจำลองวัตถุ รวมถึงงานแสดงเสี่ยงเซียมเพื่อเข้าใจสถานะคนไร้บ้าน มาจากการลงพื้นที่ รับรู้เรื่องเล่าจากปากคนไร้บ้านข้างถนน

“จากการที่กลุ่มของเราได้ร่วมกิจกรรม Homeless creative lab และได้ไปลงพื้นที่สัมภาษณ์คนไร้บ้าน ได้เข้าไปรู้จักกับพี่ๆคนไร้บ้าน ได้เข้าใจว่าทำไมพี่ๆถึงกลายมาเป็นคนไร้บ้าน  เราจึงอยากเป็นตัวกลางถ่ายทอดสิ่งที่ได้ไปเข้าใจได้ไปเห็นมา โดยใช้ไอเดียที่ว่านำเรื่องราวของพี่ๆมาเขียนเป็นเรื่องราว จัดนิทรรศการ โดยการมี MOC up  นำเรื่องเรื่องเล่าที่ได้มาตีความเป็นวัตถุ”

“มีตั้งแต่ของที่คนไร้บ้านใช้หารายได้ ของใช้ส่วนตัว มีพวงมาลัยของน้องคนไร้บ้านคนหนึ่งที่ต้องหารายได้ระหว่างเรียน เราเลยนำมาแสดงให้เห็น ขวดเก่า ก็นำไอเดียมาจากพี่คนไร้บ้านคนหนึ่งที่มีอาชีพเก็บขวดเก่าขาย อีกอันหนึ่งคือนิทรรศการสร้างความเข้าใจเรื่องเลขบัตรประชาชน  อย่างพี่ๆ คนไร้บ้านที่เราได้ไปพูดคุย มีเลขบัตรประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยเลขศูนย์ ซึ่งเป็นหมายเลขที่รอการพิสูจน์สิทธิ ซึ่งตรงนี้อาจจะยังไม่มีคนรู้ เราเลยตีความเป็นรูปแบบของเซียมซี คือให้คนเข้าชมมีส่วนร่วมโดยการไปเสี่ยงเซียมซีแล้วดูว่าได้เลขอะไร”

นิสิตจุฬายังบอกอีกว่า พอได้มาสัมผัสและทำงานในประเด็นคนไร้บ้าน ก็เปลี่ยนมุมมองของพวกตนไปอย่างสิ้นเชิง และยังพบว่าสังคมไม่ค่อยสนใจประเด็นคนไร้บ้านมากนัก ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญ

“ประเด็นคนไร้บ้านเป็นประเด็นที่เรายังไม่ได้พูดถึงกันมากในสังคม ทั้งๆที่มันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พอๆกับประเด็นสิทธิมนุษยชนเรื่องอื่นๆ ยังเป็นประเด็นใหม่ สำหรับคนรุ่นหนูอยู่ พอมาทำเราเห็นว่า ตัวเราเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมถ่ายเรื่องๆราวหรือประเด็นใหม่ๆตรงนี้ให้กับคนรุ่นใหม่ คนในรุ่นเดียวกันได้”

“มุมมองเปลี่ยนไปเป็นคนละคนมาก เมื่อก่อนหนูจะโลกแคบกว่านี้นิดหนึ่ง จะมองแค่เรื่องส่วนตัวของตัวเอง เช่น เรื่องชีวิตในมหาวิทยาลัย เรื่องการเรียน แต่พอมาทำ เราก็รู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้มันอยู่รอบตัวเรา แต่บางครั้งเราเลือกที่จะมองไม่เห็นมัน พอหลังจากมาทำเป็นระยะเวลาหกเดือน ไปลงพื้นที่ทุกอาทิตย์ได้ไปคุยกับพี่ๆคนไร้บ้าน ได้ไปสัมภาษณ์ ได้ไปเห็นชีวิตของพวกเขา รู้สึกเหมือนได้เปิดโลกมากขึ้น”

 

 


ติดตามอ่านตอน    “-“  “0” จากเครื่องหมายเลขนำบนบัตรประชาชน สู่ลายสกรีนบนเสื้อยืด  และเมื่อเรื่องเล่าข้างถนน ถูกนำมาจัดวางทางศิลปะ ในงาน Human of street SS 2 ได้ที่ https://penguinhomeless.com