แนะรัฐไทยสร้างสวัสดิการรักษาโรคตามสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ตามบัตรประชาชน แก้ปัญหาให้คนเข้าถึงสุขภาวะที่ยั่งยืน

สุรพงษ์ กองจันทึก เสนอให้รัฐสร้างสวัสดิการรักษาพยายาบาลตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อแก้ปัญหาคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางสิทธิเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เนื่องจากปัจจุบันรัฐให้สิทธิตามบัตรประชาชนทำให้คนไร้บัตรโดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ เช่น คนไทยไร้บัตร คนไร้บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์เข้าไม่ถึงสิทธิที่ควรได้รับ  หากสร้างได้คนต่างชาติในสังคมก็จะเข้าถึงด้วย เพราะพวกเขาต่างร่วมจ่ายภาษีให้รัฐเช่นกัน

เมื่อวันที่ 3 – 5 พฤศจิกายน 2560 มีการประชุมเพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำระดับชุมชนในการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะและสิทธิทางสุขภาพ ณ ห้องไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดโดย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สมาคมคนไร้บ้าน และภาคีเครือข่าย

ในช่วง การบรรยายในหัวข้อ “การช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะเพื่อการเข้าถึงสุขภาวะที่ยั่งยืน”  โดย คุณสุรพงษ์ กองจันทึก ศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงและการพัฒนา มีการพูดถึงสถานการณ์การเข้าถึงสิทธิของคนไทยที่ปัญหาเรื่องสถานะไว้อย่างน่าสนใจ ทีมงานเพนกวิ้นถอดความมานำเสนอ ดังนี้

……………………………………….

คนไทยไร้สิทธิ เป็นอย่างไร อันแรกเราต้องเข้าใจหลักการใหญ่ก่อนที่ทั่วโลกใช้กันเขาบอกอย่างนี้ คนหนึ่งคนต้องมีรัฐอย่างน้อย 1 รัฐมาคุ้มครองดูแล การคุมครองดูแลโดยรัฐเขาเรียกว่า สัญชาติ คือ รัฐเข้าไปดูแลคุ้มครองคน ดูแลทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสาธารณสุข คนหนึ่งคน ต้องมีรัฐอย่างน้อย 1 รัฐ ดูแล มี 2 รัฐดูแลยิ่งดี หรือ 3 ก็ยิ่งดี ยิ่งมากยิ่งดี เพราะฉะนั้น คนหนึ่งคนจะมีสองสัญชาติหรือสามก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย  หมายความว่า ต้องไม่มีคนไม่มีสัญชาติเลย คนที่ไร้สัญชาติในโลกนี้ ต้องไม่มีเลย

มาดูบ้านเรา กลุ่มคนที่เราดูแลอยู่ เราพบหรือไม่ว่า มีคนที่ไม่มีสัญชาติ รัฐยังไม่เอาบัตรคนไทยให้ ไม่ว่ารัฐไหน ไทย-พม่า ไม่เข้ามาดูแลเขา มีหรือไม่ครับ  มีเยอะมากนะครับ ด้วยสาเหตุแตกต่างกัน เช่น บางคนพ่อแม่เป็นคนต่างจังหวัดมาอยู่ในชุมชน ไม่ย้ายทะเบียนบ้านมา ไม่เคยติดต่อบ้านเก่าเลย ลูกเกิดมาก็ไม่ได้แจ้งเกิด หรือชุมชนเราบางแห่งรับเลี้ยงเด็ก ตอนแรกก็ดูแลลูก วันดีคืนดีทิ้งลูกเลย หรือบางคนเกิดมาพิการ พ่อแม่ก็ไม่ไปแจ้งเกิด พอไม่มาติดต่อรัฐ รัฐไม่จัดทำบัตรรับรองตามกฎหมายให้ คนเหล่านี้อยู่ในไทย อยู่ในชุมชนของเรา แต่ไม่ได้สัญชาติไทย พอไม่ได้สัญชาติ การดูแลของรัฐในฐานะคนไทยก็ไม่มี เมื่อไม่มีการอยู่ก็ยากลำบากมากขึ้น และสร้างปัญหาอื่นตามมาอีก คนที่ไม่มีคุณสมบัติ จะไปทำงานถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่ได้ จะไปเรียนหนังสือก็ไม่ให้เรียน พอไม่เรียนความรู้น้อย ทำงานไม่ถูกต้อง ก็ต้องไปทำงานที่หลบๆ ซ่อนๆ มันก็เอื้อไปสู่การทำงานที่ไม่ถูกกฎหมายอีก กฎหมายแรงงานเขียนไว้ชัดเจนว่า ให้เฉพาะคนไทยทำงาน คนต่างด้าวเป็นกรณีพิเศษ  ปัญหาต่างๆก็ตามมาอีก เกิดปัญหาต่อสังคม ชุมชน

ทำไมต้องมาพูดเรื่องคนไทยไร้สิทธิ โดยเฉพาะในเรื่องประกันสุขภาพด้วย ถ้าเขาไม่มีสัญชาติไทยเราไม่ให้สิทธิ ปี 2544 มีการร่าง พรบ. ประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมา บอกว่า คนมีสิทธิคือคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ปี 2545 ก็ประกาศพรบ.ออกมาถูกต้อง คนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านไม่ใช่เฉพาะคนไทย ไม่ใช่ไทยก็มีชื่อในทะเบียนบ้านได้ ทะเบียนบ้านมี 2 แบบ เรียก ทร14 สำหรับคนไทย หรือคนที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย คือ คนต่างด้าว มีชื่ออยู่ในเล่มสีน้ำเงินเหมือนเรา กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีสิทธิชั่วคราวกลุ่มนี้จะมีชื่อในทะเบียนบ้านเล่มเหลือง เขาเรียก ทร 13 บ้านหลังเดียวกันอาจจะมีทั้งคนที่มีสิทธิถาวรหรือสิทธิชั่วคราว คนชั่วคราวก็เช่นกัน ฝรั่งเข้ามาไทย สอนหนังสือ แลกเปลี่ยนอยู่นานๆ คนเหล่านี้ทำทะเบียนได้ ก็จะมีชื่อชั่วคราวในเล่มเหลือง หรือชนกลุ่มน้อย ชาวเขา ซึ่งรัฐไปสำรวจพบว่า คนกลุ่มนี้อยู่มานานแล้ว เขาก็ทำบัตรชั่วคราวให้ คนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านจึงมีสิทธิทั้งสองกลุ่ม   ถึงแม้ว่าเล่มสีเหลืองยังไม่มีสัญชาติไทย พอใช้สิทธิ โรงพยาบาลต้องให้ แต่โรงพยาบาลก็ยังสงสัย ก็เลยทำหนังสือหารือมาที่ สปสช กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ชัดเจนว่าคนพวกนี้ใช้สิทธิได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ก็ไปหารือไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของหน่วยงานรัฐทั้งหมด สุดท้ายมีมติออกมา เอาเข้าสู่ พรบ โดยบอกว่า สิทธิรักษาพยาบาลเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยสิทธิเหล่านี้เป็นของปวงชนชาวไทย   หมายความว่า คนที่จะใช้สิทธิต้องเป็นคนไทยเท่านั้น  ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนก็เลยเปลี่ยนจาก 30 บาทรักษาทุกโรค เป็น 30 บาทช่วยคนไทยห่างไกลโรค ระบุชัดๆ ว่า ให้เฉพาะคนไทยไม่ใช่ไทยไม่ให้ และคำว่า “ไทย” เขาบอกว่าต้องมีเอกสารแสดงตัว ดูที่ตรงไหน ผู้ใหญ่เราดูที่บัตรประจำตัวประชาชน กฎหมายเขียนไว้ว่า เราต้องพกบัตรประจำตัวประชาชน เขาก็จะตรวจบัตร  ถ้าเป็นเด็ก ปัจจุบันนี้เด็ก 7 ปีให้ทำบัตรแล้ว เราก็ใช้บัตรประจำตัวเพื่อยืนยัน ถ้าต่ำกว่า 7 ปีเราก็ใช้สูติบัตร คนไม่มีบัตรยืนยัน เจ้าหน้าที่ก็จะอ้างว่า ไม่ใช่คนไทย

พรบ. คนเข้าเมืองปี 2522 ม.57 เขียนไว้ว่า เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้นั้นเป็นคนต่างด้าว จนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่า ตนมีสัญชาติไทย  คนในชุมชนเราเพียบเลยครับ  อยุ่กับเรา พูดไทยกับเรา พอเจ้าหน้าที่มาตรวจขอดูบัตร ไม่มีบัตร ก็กลายเป็นคนต่างด้าว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็จะไม่ดูแล จะไปใช้สิทธิในฐานะคนไทยไม่ได้ ถ้าเป็นคนต่างด้าวเจ้าหน้าที่จะเอาเรื่องต่อ ขอหลักฐานการเข้าเมือง ไม่มีเอกสาร กลายเป็นเข้าเมืองผิดกฎหมาย จับส่งออกได้เลย บางทีเจ้าหน้าที่ก็อาศัยช่องว่างตรงนี้ในการขู่ว่าจะจับและรีดไถ่ และคนไม่มีบัตรเหล่านี้ส่วนใหญ่จะจน แต่ทำเงินให้กับเจ้าหน้าที่มหาศาล เราอาจจะคิดว่า คนรวยจ่ายให้เจ้าหน้าที่เยอะ ไม่ใช่นะ เวลาขับรถ รถแพงผ่านหมด ตำรวจเอารถจักรยายนตร์ก่อน กระบะรองลงมา เพราะคนรวยรีดไถ่ไม่ได้  รีดไถ่ผิด ซวยอีกโดนเด้ง แต่ชาวบ้านเขารีดไถ่ได้

เรื่องต่อมา คนในชุมชนเรา เราจะรู้ว่ามีสัญชาติไทยได้อย่างไร ต้องช่วยตรงไหน ช่วยอย่างไร มาตรา 7 พรบ.สัญชาติ บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด เกิดมา หายใจ มีชีวิต เราก็เป็นคนไทยโดยการเกิด ยังไม่ได้แจ้งชื่อ ยังไม่ได้แจ้งเกิดก็เป็นคนไทยแล้ว เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ออกเอกสารรับรองความเป็นคนไทยให้ เจ้าหน้าที่ออกเป็นเอกสารให้ เป็นเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ เทศบาล หรือเขต  (1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดใน หรือนอกราชอาณาจักรไทย ต้องเป็นพ่อหรือแม่ตามสายเลือด ถ้าพ่อไม่ได้จดทะเบียนสมรสโดยหลักได้ แต่เมื่อก่อนเจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่ได้  ผมต้องไปแก้กฎหมายทะเบียนราษฎรปี 2551 โดยเพิ่มถ้อยคำว่า บิดาตามวงเล็บหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแม้ผู้นั้นจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เกิด  (๒) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง ตามหลักดินแดนมาตรา 7 ทวิ 3 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น (1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย   กลุ่มนี้พูดง่ายๆ คือกลุ่มแรงงานต่างด้าว หรือเป็นกลุ่มชาวเขา (2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หมายความว่าคือ กลุ่มที่ถือพาสปอตเข้ามา ตามระยะเวลาวีซ่า  (3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  ถ้าเราอยากให้คนในชุมชนเราได้รับสิทธิทั้งหลายทำอย่างไร ก็ไปพิสูจน์ว่าเขาเป็นคนไทย โดยพิสูจน์พ่อแม่เขา  ไม่ว่าเขาจะอายุเท่าไหร่ ถ้าพ่อหรือแม่เป็นคนไทย ลูกคนนั้นก็เป็นคนไทยอยู่แล้ว  เอาไปพิสูจน์กับเจ้าหน้าที่ ถ้าเจ้าหน้าที่เชื่อก็จะออกเอกสารรับรองความเป็นคนไทยให้ คือ ออกบัตรประจำตัวประชาชนเพิ่มชื่อเข้าไปในทะเบียนบ้านแบบคนไทยให้  ถ้าหากพ่อแม่ไม่มี พ่อแม่มันก็ไม่มีบัตร ก็สืบต่อไปจนถึงปู่ย่าตายาย ถ้าลูกเป็นไทย ไม่สามารถทำให้พ่อหรือแม่เป็นไทยได้ ตามลำดับลงมา ต้องบอกว่าหลักกฎหมายสัญชาติทั่วโลกใกล้เคียงกัน แต่ไม่เหมือนกัน เป็นอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐที่จะให้สัญชาติรับรองว่าใครมีสัญชาติไหนอย่างไร  ต้องเข้าใจว่าเรื่องสัญชาติเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐเท่านั้น หมายความรัฐไทยมีอำนาจดูแล จัดการเฉพาะสัญชาติไทย

มันก็มีเรื่องว่าบางคนไม่มีสัญชาติไทย แต่เกิดในไทยมานานแล้ว หลักฐานการเกิดระบุว่าเกิดที่นี่ มีพยานรู้เห็น แต่พ่อแม่ทิ้งไป แล้วคนเหล่านี้ก็เติบโตมาในสังคมไทยตลอดมา แล้วถ้าไม่ให้สัญชาติไทย มันจะมีสัญชาติอื่นได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ แล้วถ้าไทยไม่ยอมรับก็ไม่มีชาติอื่นยอมรับ ก็เลยมีการออกกฎหมายเมื่อปี 2551 มาตรา 23 บอกว่าคนที่เกิดในประเทศไทย เกิดก่อน 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ให้ได้สัญชาติไทย เคยมีบัตรหรือทะเบียนอะไรบ้างแล้ว คนเหล่านี้ให้ได้สัญชาติไทย เพราะว่าเป็นการขยายความเพิ่มเติม เกิดในประเทศไทยนานแล้วให้ได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน แต่ทั้งหมดนี้ต้องมีหลักฐาน เราต้องไปหาหลักฐานมาให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเกิดในประเทศไทยจริง

ผมยกตัวอย่างหนึ่ง ผมไปเจอคุณยายคนหนึ่งที่ชุมชนหลังสถานีรถไฟโคราช เราก็พอทราบว่า ที่ดินรถไฟไม่ได้ดูแลก็มีคนไปอยู่เยอะ อยู่นาน 30-40 ปี คุณยายคนนี้สติไม่ค่อยดี อายุก็เยอะ 70 กว่าปี พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ชาวบ้านก็อยากช่วยแก แกอยู่คนเดียว ทุกคนคิดว่าแกน่าจะเป็นคนไทย หนังสือก็พออ่านออก แกก็บอกว่าแกเป็นคนไทย แต่แกบอกว่าจำบ้านเก่าหรือญาติพี่น้องไม่ได้เลย ก็มีครูคนหนึ่งอาสาช่วย เลยให้ไปนอนบ้านป้าตลอด 24 ชั่วโมง 2 -3 วัน ชวนแกคุยเรื่อยๆ คำไหนที่แกพูดบ่อยจดไว้ ผมก็มาช่วยดูว่าคำไหนที่ป้าแกพูดบ่อยเป็นพันคำ พบว่ามี 2 คำน่าสนใจ หนึ่ง ชัยนาท สอง วัดโบสถ์ ผมก็เช็คไปที่ชัยนาท ปรากฏว่าที่ชัยนาทมีวัดโบสถ์มากกว่า 40 วัด ก็ลงลึกอีก ว่าวัดโบสถ์ที่คน 50 60 ปีก่อนเรียก ก็ไปไล่มาใหม่จาก 40 แห่ง เหลือประมาณ 30 แห่ง เราพาป้าแกนั่งรถตะเวนทั้ง 30 วัด ให้แกฟื้นความจำว่าแกเคยอยู่ไหน ว่าคุ้นไหนบ้าง โชคดีที่แกบอกว่าตรงนี้ซึ่งเป็นบ้านร้าง เคยมีโรงเรียนและแกเคยเรียนที่นี่ เราก็จอดรถถามคนแถวนั้นว่ามีโรงเรียนจริงไหม เขาบอกจริง โรงเรียนใหม่ย้ายไปที่อื่น เราก็ไปโรงเรียนใหม่ เจอครูก็ลองไปรื้อดูทะเบียนเอกสารเก่า รื้อนานมากจนไปถึงเอกสารสุดท้ายมีส่วนขาด แต่โชคดีที่ส่วนที่ไม่ขาดมีชื่อป้าแกอยู่ แผ่นสุดท้ายเลย  ครูก็ทักว่า ป้าเรียนรุ่นนี้หรอ รุ่นเดียวกับแม่หนูเลย พาไปหาแม่ครู ความจำที่แกลืม เริ่มกลับมา และครูบอกว่า ญาติพี่น้องอยู่ตรงนี้ ตระกูลแกบ้านเก่าอยู่ตรงนี้ ก็เลยกลับไปหาญาติ ญาติจำได้ ร้องให้ มารับรองกัน ได้รับการเพิ่มชื่อเป็นคนไทย เพราะมีญาติรับรอง

ผมเล่าให้ฟังเคสยากๆ อย่างคนสติไม่ดีเพื่อให้เห็นว่า ถ้าเราทำจริง ก็อาจทำได้ แต่ต้องทำงานหนัก พอแกได้สิทธิคนไทย อย่างน้อย ก็ได้ 600บาทต่อเดือน สิทธิรักษาพยาบาลก็ได้ตามมา แกได้เจอญาติ ดูแลกัน ชีวิตแกที่โดดเดี่ยวตลอดมาก็ มีความหวังในชีวิต มีความสุข

เรื่องต่อมาที่ชวนคุย เราอาจจะมีความเชื่อกันว่าคนเหล่านี้ เราไปดูแลทำไมคนไทยมีเพิ่มขึ้นทุกวัน เอาชื่อเข้ามาเพิ่มอีก แย่งทรัพยากรของเรา จะให้รักษาพยาบาล โรงพยาบาลยังขาดทุนอยู่เลย เอาคนเหล่านี้เข้ามาอีก ก็ตายสิ คำตอบคือ คนไทยไม่เพิ่ม คนไทยจะมีอยู่ 65 ล้านไปอย่างน้อย 20 ปี และมีแนวโน้มลดลงด้วย ไม่ต้องดูไกลครับ ดูในชุมชนของเรา อายุเท่าไหร่แล้ว  อายุ 30-40 ปี แต่งงานรึเปล่า เป็นโสดเพียบเลยครับ ที่แต่งก็มีลูกบ้าง ไม่มีลูกบ้าง ชอบเพศเดียวกันก็มาก โลกมันไปอีกแบบหนึ่ง ทุกชุมชนเป็นแบบนี้หมด ดังนั้น ข้ออ้างคนเพิ่มคือไม่จริง  เขาบอกว่าคนเหล่านี้ไม่เสียภาษีให้รัฐ ไม่มีเลขบัตร เอาภาษีมาให้พวกนี้ทำไม คำตอบคือภาษีมี 2 แบบ ภาษีส่วนใหญ่ที่รัฐเอามาบริหารเขาเรียกภาษีทางอ้อม หรือ vat ไปซื้อของทั่วไปเสีย vat หมด คนเหล่านี้ไปซื้อของที่ร้านค้า ขึ้นรถลงเรือ เสียหมด มีหรือที่ร้านเหล่านี้บอกว่า ไม่ใช่คนไทยหรือ ลดให้ 7 เปอเซ็นต์ ไม่มีครับ เสียเท่าเรา ภาษีแบบ 2 ภาษีส่วนบุคคล เงินรายได้ส่วนบุคคล มีรายได้มาก เสียมาก  ไม่มีเลข 13 หลักสรรพากรก็เก็บ เพราะว่า การเก็บภาษีไม่เกี่ยวกับเรื่องสัญชาติ ยกตัวอย่าง เลดี ก้าก้ามาเปิดคอนเสริตในไทยสมมติได้เงินไป 50 ล้านบาท สรรพากรก็หักภาษีเลย เล่นคอนเสริต 2 วัน กลับเลยก็หัก ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย แต่ก็ต้องเสีย เพราะภาษีเราคิดจากผู้ที่มาได้รายได้ในเขตแผ่นดินไทย ภาษีที่เสียไม่ได้เอาไปบริการคนๆ นั้น แต่คุณได้รับประโยชน์ไปแล้วจากแผ่นดินนี้คุณก็ต้องคืนมา ได้มากคืนมาก ได้น้อยคืนน้อย

ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญแยกสิทธิไว้ 2 แบบ แบบแรก เราเรียกว่าสิทธิพลเมือง หมายความว่าเราจะให้คนไทยมีสิทธินี้ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิได้รับการช่วยเหลือจากรัฐในบางเรื่อง สิทธิที่จะได้รับเงินสงเคราะห์  อีกแบบคือ สิทธิมนุษยชนหรือสิทธิขั้นพื้นฐาน อันนี้เราให้ทุกคนเช่น สิทธิในร่างกาย เขาจะเป็นคนต่างด้าว เป็นคนไม่มีบัตร แล้วใครจะไปตีหัวเขาไม่ได้นะ รัฐจะต้องดำเนินคดีผู้ที่ไปทำร้ายเขา จะไปลวนลามเขาไม่ได้ เพราะเขามีสิทธิในร่างกายเขา สิทธิในทรัพย์สิน คนที่ไม่มีสัญชาติไทย เขามีเงินซื้อของได้ แต่จะไปขโมยไม่ได้ สิทธิในการศึกษาตั้งแต่ปี 2548 เราให้ทุกคนในประเทศไทยเรียนได้ถึงระดับสูงสุดคือ ระดับปริญญาเอก คนยิ่งมีความรู้มาก รัฐยิ่งต้องส่งเสริม จะมีบัตรหรือไม่มีบัตรไม่สน คนยิ่งเรียนสูงยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม สิทธิอีกแบบหนึ่งคือ สิทธิในการรักษาพยาบาล จริงๆแล้ว สิทธินี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องได้รับ ไม่มีเงินก็ต้องรักษา แต่อันนี้เป็นหลักนะครับ เพราะความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น การรักษา มันคือ การรักษาโรค ไม่ได้รักษาคน เช่น ถ้าเขาเป็นวัณโรค เราต้องรักษาเขา เพราะถ้าไม่รักษาเขาอาจจะติดต่อไปถึงผู้อื่นได้ นอกจากนี้ ถ้าเรารักษาใครให้แข็งแรง มันจะส่งผลดีตามมาต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม อันนี้หลักการนะครับ แต่เราไปอ้างว่ามันอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย แต่ผมบอกว่าหมวดในรัฐธรรมนูญมันไม่เกี่ยว เพราะในหมวดสิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวไทย มันมีระบบหลายอย่างเช่น มาตราหนึ่งบอกว่าต้องเกณฑ์ทหาร หรือต้องทำตามกฎหมาย  แล้วคนต่างด้าวละ เขาไม่ต้องทำตามกฎหมายก็ได้หรือ แบบนี้ไม่ได้ครับ หมวดไม่เกี่ยวข้องเลย ต้องดูเป็นมาตรา ตามหลักการมันเป็นสิทธิพลเมือง หรือสิทธิมนุษยชน อย่าว่าแต่คนเลยครับ

สมเด็จพระเทพท่านพูดถึงเรื่องการศึกษากับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ด้วยคำถามเราไม่ดูแลได้หรือ ในเมื่อเขาเป็นคนอยู่ในชุมชนของเรา ไม่ใช่ลักษณะคำถามว่าเราจะไม่มีงบประมาณสนับสนุนหรือไม่

ผมฝากว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องระยะยาว แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างยิ่ง เราไม่มีเวลาพอเพื่อรอผลจากการค้นหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่า คนเหล่านี้อยู่ในประเภทที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะคนต้องใช้ชีวิตทุกวัน เราต้องช่วยเดี๋ยวนี้ งานที่พวกเราทำเป็นงานที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่คนๆ เดียวจะทำได้  เป็นงานที่ต้องใช้ความพยายาม สิ่งเหล่านี้จะเป็นจริงได้ต้องอาศัยน้ำใจที่โอบอ้อมอารี พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตรัสว่า จงให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง จงเลือกทำในสิ่งที่ดีที่สุด หรือให้ความเอื้ออำนวยอย่างดีที่สุดแก่ทุกคนโดยไม่คำนึงว่าเป็นศาสนาใด สถานะทางสังคม เศรษฐกิจแบบใด ขอให้เราสร้างสรรค์โลกของเราให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เราคงไม่ทำแค่เก็บข้อมูล แต่เราจะทำให้พี่น้องเราเป็นคนที่สมบูรณ์ เรามีคนที่ควรได้รับสิทธิความเป็นคนจำนวนมหาศาล ต้องอาศัยพวกเราช่วยกัน