ในเมืองไทย อุตสาหกรรมก้าวกระโดด แต่ทิ้งคนจนเมืองไว้กับมลพิษ

เรื่อง: บุณิกา จูจันทร์

ขอบคุณภาพจาก Khaosod

ผ่านมาแล้ว 4 เดือนสำหรับเหตุการณ์อัคคีภัยที่โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ชุมชนในซอยกิ่งแก้ว 21 จำต้องตกอยู่ในความหวาดกลัว หลังประสบกับเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ ซึ่งสร้างความเสียหายต่าง ๆ ให้กับหลายครัวเรือนในละแวกนั้น ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างอาคารด้านในร้าว วัสดุที่ทำด้วยกระจกระเบิดแตก ฝ้าและเพดานถล่ม 

ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกันเอง มีประกาศให้ผู้อยู่อาศัยในระยะรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงงานอพยพออกจากพื้นที่ ใช้เวลาเกือบ 29 ชั่วโมงกว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมเพลิงได้ และเมื่อล่วงเลยถึงวันที่ 7  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการจึงประกาศให้ประชาชนกลับเข้าที่พักของตนได้

เหตุการณ์นี้ส่งผลให้บ้านเรือน 100 หลังคาเรือนเสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 40 คน นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครดับเพลิงคนหนึ่งเสียชีวิตลงในขณะที่กำลังปฏิบัติงาน

แต่นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นเสียทีเดียว เพราะสัญญาณต่าง ๆ นั้นพบเห็นได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2563 มีรายงานว่าผู้อยู่อาศัยในโครงกาารหมู่บ้านจัดสรรของศุภาลัยได้ร้องเรียนปัญหาเรื่องกลิ่นสารเคมีรั่วไหลออกมาจากโรงงานต่อ อบต.บางพลีใหญ่ พร้อมกับส่งหนังสือร้องเรียนไปที่โรงงานถึง 3 แห่ง โดย 1 ในนั้นคือโรงงานหมิงตี้นั้นเอง

>>>ไทม์ไลน์ พฤษภาคม 2563 “หมิงตี้” ปัญหาเริ่มต้นที่กลิ่น

ผู้อยู่อาศัยบางส่วนให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้านี้เองตนไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีสถานที่บรรจุสารเคมีอันตรายในละแวกที่พัก พวกเขารับรู้ว่ามีโรงงานตั้งอยู่ติดกับหมู่บ้าน แต่ไม่มีใครแจ้งอย่างตรงไปตรงมาว่าโรงงานแห่งนั้นจัดเก็บสารเคมีที่อาจก่อระเบิด และสารเคมีดังกล่าวคือ ‘สไตรีนโมโนเมอร์’ ซึ่งนอกจากจะสร้างมลภาวะทางอากาศแล้ว ยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย

นอกจากนี้เอง ผู้อยู่อาศัยได้เทียบกลิ่นที่โชยออกมาจากโรงงานกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นน้ำมันเครื่อง, ถ่านหิน, หรือพลาสติกที่ถูกเผาไหม้ พวกเขาต่างกล่าวว่าตนตื่นมาพร้อมกับกลิ่นเหม็นรุนแรง ก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะ จนไม่อาจใช้ชีวิตตามกิจวัตรประจำวันได้อีกต่อไป กิจกรรมในที่โล่งแจ้งที่เคยทำ อาทิ การออกกำลังกาย ก็จำเป็นต้องเลิกทำไปโดยปริยาย

หลังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการเข้าตรวจสอบโรงงานหมิงตี้และส่งเจ้าหน้าที่ตรวจวัดมลพิษในปี 2563 อีก 1 ปีต่อมา ทาง อบต.บางพลีใหญ่รายงานว่า “โรงงานหมิงตี้ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อน้ำ มีเขม่าควันจากการเผาไหม้ ระบบบําบัดน้ำเสียจากระบบ waste scrubber ชำรุด” แม้จะเป็นเช่นนั้น ผลการสำรวจของทาง อบต. กลับขัดแย้งกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ซึ่งระบุว่าค่ามลพิษจากโรงงานหมิงตี้ไม่เกินค่ามาตรฐานขององค์กร

ในขณะที่ภาครัฐยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ว่าโรงงานหมิงตี้ก่อมลพิษหรือไม่ ประชาชนยังคงได้รับผลกระทบจากกลิ่นสารเคมีอย่างต่อเนื่อง ‘อาหลง หันหัวหลง’ 1 ในผู้ประสบมลภาวะทางอากาศ กล่าวว่าตนได้กลิ่นแสบจมูกมาตั้งแต่ปี 2562 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาได้ทำเรื่องยังองค์กรรัฐต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุมมลพิษ, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ และส่วนราชการจังหวัดฯ ทว่าไม่มีภาคส่วนใดที่สามารถจัดการปัญหาได้เลย เขาจึงตัดสินใจขายทอดที่พัก พร้อมกับขึ้นป้าย “ขายทิ้ง!! บ้านพร้อมกลิ่น”

ป้ายประกาศขายที่พักของอาหลง หันหัวหลง ผู้ได้รับผลกระทบจากกลิ่นสารเคมีของโรงงานหมิงตี้ เครดิทภาพจาก T News

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้นำไปสู่การตั้งคำถามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น “ทำไมโรงงานที่เก็บสารเคมีซึ่งก่อให้เกิดไฟไหม้หนักขนาดนี้ถึงอยู่ติดกับชุมชน?” หรือ “ทำไมถึงเกิดเหตุเพลิงไหม้ตั้งแต่แรก”

สำหรับคำถามแรก มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ชี้ว่า กฎหมายผังเมืองที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณากรณีโรงงานหมิงตี้ได้แก่ 

  1. กฎหมายผังเมืองรวม พ.ศ. 2537 
  2. กฎหมายผังเมืองรวม พ.ศ. 2544 
  3. กฎหมายผังเมืองรวม พ.ศ. 2556 

โดยกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้บริเวณที่ตั้งของโรงงานหมิงตี้เป็น “เขตพาณิชยกรรม” พื้นที่โดยรอบของโรงงานจึงถูกพัฒนาเพื่อรองรับการอยู่อาศัยของผู้คน

เมื่อย้อนกลับมาดูประวัติการก่อตั้งของโรงงานหมิงตี้ พบว่าโรงงานแห่งนี้เริ่มประกอบกิจการในพ.ศ. 2534 นั่นหมายความว่าโรงงานหมิงตี้ถือกำเนิดขึ้นก่อนการประกาศใช้ผังเมืองรวมทั้ง 3 ฉบับ อย่างไรก็ตาม การประกอบกิจการของโรงงานหมิงตี้อาจขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยเรื่อง “ที่ตั้ง สภาพแวดล้อม ลักษณะอาคารและลักษณะ ภายในของโรงงาน” เนื่องจากโรงงานกำลังตั้งอยู่ในพื้นที่ที่แวดล้อมด้วยชุมชน เต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์ ทั้งยังใกล้กับสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมกับการดำเนินกิจการโรงงาน

นอกจากนี้เอง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (​EnLAW) วิเคราะห์ว่า “พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562” อาจนำไปสู่เหตุระเบิดและเพลิงไหม้ที่โรงงานหมิงตี้ เนื่องจากในพ.ร.บ.ดังกล่าว มีการแก้ไขนิยามคำว่า “การจัดตั้งโรงงาน” ในลักษณะที่เอื้อให้ผู้ประกอบการสร้างโรงงานโดยไม่ต้องขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) เสียก่อน นอกจากนี้เอง พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2562 ยังไม่ได้กำหนดให้โรงงานที่มีขนาดเดียวกับโรงงานหมิงตี้จัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Impact Assessment – EIA)  เพื่อประกอบการขอใบอนุญาต นั่นหมายความว่าปัจจุบันโรงงานต่าง ๆ จำนวนหนึ่งไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง หรือผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนรอบข้าง 

พ.ร.บ.โรงงานฉบับล่าสุดเองยังไม่ถูกบังคับใช้กับทุกโรงงาน เนื่องจากนิยามของคำว่า “โรงงาน” ในพ.ร.บ.ดังกล่าวมิได้ครอบคลุมโรงงานที่มีขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้า หรือมีคนงานน้อยกว่า 50 คน ซึ่งเป็นขนาดของโรงงานหมิงตี้ 

กลุ่ม EEC Watch ได้ให้ข้อสังเกตว่า นิยามดังกล่าวอาจเปิดช่องให้โรงงานที่หลุดเกณฑ์พ.ร.บ.โรงงานดำเนินการได้ โดยไม่ต้องขอทั้งใบอนุญาตในการประกอบการกิจการโรงงาน ทั้งใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโรงงานในพื้นที่ ในขณะที่โรงงานในลักษณะดังกล่าวมักเกี่ยวพันกับกิจการที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชุมชนในละแวกโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นกิจการรีไซเคิล กิจการโรงงานคัดแยกขยะ หรือกิจการโรงงานฝังกลบขยะ

เมื่อไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของพ.ร.บ.โรงงานฯ โรงงานที่มีขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้า หรือมีคนงานน้อยกว่า 50 คน จึงไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการประเมินระบบความปลอดภัย การบริหารจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพชุมชน และความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง และเมื่อขาดกระบวนการขัดกรองโรงงานไปอีกชั้นหนึ่ง การเปิดโรงงานจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้นไปโดยปริยาย ภาพของโรงงานใกล้เขตที่อยู่อาศัย แวดล้อมไปด้วยกากขยะอุตสาหกรรมและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ปนเปื้อน จึงอยู่ไม่ไกลตัวเรานัก

สำหรับปัญหาทำเลที่ตั้งโรงงานหมิงตี้ สรายุทธ์ สนรักษา ผู้ประสานงานเครือข่ายพระแม่ธรณี ระบุว่าตนพบเอกสาร “ผังโรงงานอุตสาหกรรมอันตราย” ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งครอบคลุมโรงงานหมิงตี้ แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะช่วยทำให้ชุมชนรอบโรงงานเข้าใจว่าตนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงระดับไหน แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับปฏิเสธที่จะถ่ายทอดข้อมูลดังกล่าวกับประชาชน และแจ้งกับสรายุทธ์ว่าองค์กรได้สงวนเอกสารผังโรงงานดังกล่าวให้สำหรับผู้บริหารเท่านั้น  นอกจากจะไม่ทราบว่าที่พักของตนซ้อนทับกับพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว หรือตนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลอะไรได้บ้าง ประชาชนยังไม่อาจมีส่วนร่วมในการออกแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินเลย

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับกลไกเยียวยาประชาชน เนื่องจากพ.ร.บ.โรงงานฯ ได้ยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการทุก ๆ 5 ปี ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสภาพของโรงงาน และเก็บข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบที่โรงงานมีต่อประชาชนในท้องที่ ยิ่งไปกว่านั้น การประกันภัยเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากโรงงานยังถูกตัดออกไปจากพ.ร.บ.ฉบับนี้อีกด้วย ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจากกิจการโรงงานนั้น ๆ อาจต้องฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องเงินเยียวยาต่อไป

แม้ว่าสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วยสารพิษจะเป็นภัยคุกคามต่อทุกชีวิต แต่ใช่ว่าทุกคนจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเท่ากัน หรือมีทรัพย์สินและต้นทุนสำหรับซื้อความปลอดภัยได้เหมือน ๆ กัน 

จากการสำรวจของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) เมื่อปี 2561 พบว่า กลุ่มคนยากจนที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคเผชิญกับอุปสรรคจำนวนมากเมื่อต้องรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ ปัญหามลภาวะในมิติต่าง ๆ แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมเสีย หรือวิกฤติสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ความยากจนทำให้คนไม่อาจซื้ออุปกรณ์บรรเทาผลกระทบจากมลพิษและภัยธรรมชาติได้ เมื่อเผชิญหน้ากับคลื่นความร้อน ผู้คนจำนวนมากไม่มีเครื่องปรับอากาศเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในระดับปลอดภัย หรือเมื่อปัญหาฝุ่นพิษทวีความรุนแรงขึ้น หน้ากากกรองสารพิษและเครื่องฟอกอากาศกลับกลายเป็นของที่หลายคนมิอาจเอื้อมถึงได้ 

มลภาวะนำไปสู่ความตายของคนที่เสียเปรียบทางสังคม พร้อมกับสร้างปัญหาสุขภาพ ซึ่งส่งผลต่อการหารายได้มาจุนเจือตัวเอง หากถอยออกมาดูภาพรวมของปัญหา พบว่าการเสียชีวิตด้วยเหตุมลภาวะนั้นเกิดขึ้นในประเทศที่รายได้ปานกลางหรือประเทศรายได้น้อยถึงร้อยละ 92 เมื่อเจาะลงไปในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ประชาชนมากกว่า 5 ล้านคนถูกมลภาวะในมิติต่าง ๆ คร่าชีวิตไป ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ, มลภาวะทางน้ำ ซึ่งสืบเนื่องจากสุขอนามัยและความไม่สะอาดของน้ำ และมลภาวะจากสารตะกั่ว 

นั่นหมายความว่า หากภาครัฐออกมาตรการเยียวยาให้ประชาชนอย่างถ้วนหน้า สิ่งที่ชดใช้ให้อาจน้อยกว่าราคาที่คนจนต้องจ่ายไปมากโขทีเดียว

ที่สมุทรปราการ อุตสาหกรรมมาคู่อุบัติภัย

การระเบิดของโรงงานหมิงตี้ทำให้คนสมุทรปราการบางส่วนหวนรำลึกถึงอุบัติภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะแพรกษาในปีพ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นสถานที่ที่ห่างจากโรงงานหมิงตี้ไปไม่เกินระยะ 20 กิโลเมตร

เหตุไฟไหม้บ่อขยะเนื้อที่ขนาด 153 ไร่ กินระยะเวลามากกว่า 1 อาทิตย์ โดยภายในบ่อขยะนั้นพบกากอุตสาหกรรมซึ่งถูกลักลอบเอามาทิ้ง ฝุ่นควันจากเพลิงไหม้ในครั้งนั้นได้สร้างวิกฤติด้านสภาพอากาศ จนประชาชนในรัศมี 1.5 กิโลเมตรรอบบ่อขยะจำต้องอพยพจากพื้นที่ 

ล่วงมาถึงปีพ.ศ. 2559 หลังจากชาวบ้านนับพันได้รวมตัวกันในนาม “เครือข่ายต่อต้านบ่อขยะแพรกษา” และร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกค่าชดเชยเยียวยาความเสียหายต่อสุขภาพ และเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องฟื้นฟูสภาพแวดล้อม เจ้าของบ่อขยะได้จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เสียหาย รายละ 3,000 บาท

ธารา บัวคำศรี ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวคือ “หายนะ” ที่กระทบ 3 ชุมชนในละแวกนั้น คิดเป็น 1,480 ครอบครัว นอกจากนี้เอง เหตุการณ์เพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษายังเผยให้เห็นความไม่แม่นยำในข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากหน่วยงานต่าง ๆ รายงานถึงขยะที่พบในบ่อแตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเสนอให้รัฐบาลจัดทำบัญชีรายชื่อการปล่อยสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register – PRTR) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงที่มาและองค์ประกอบของขยะได้อย่างโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดเหตุระเบิดที่โรงงานหมิงตี้ รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ปฏิเสธร่างกฎหมายการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ฉบับมูลนิธิบูรณะนิเวศ กับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม 

นอกเหนือไปจากอัคคีภัยที่บ่อขยะแพรกษา หากย้อนกลับไปที่ พ.ศ. 2543 อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความพรั่งพรึงให้กับคนสมุทรปราการคือการแพร่กระจายของรังสีโคบอลต์-60 ในพื้นที่พระประแดง โดยสาเหตุของอุบัติภัยครั้งนั้นเกิดจากการลักลอกทิ้งเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ในพื้นที่รกร้าง ต่อมาได้มีคนนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปแยกชิ้นส่วน ทำให้สารกัมมันตภาพรังสีภายในรั่วไหลออกมา 

เหตุการณ์นี้ได้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง มีรายงานว่าบางคนจำเป็นต้องตัดมือทั้งสองข้าง หรือไม่สามารถใช้การมือได้อย่างเต็มที่ แม้จะเข้ารับการรักษามาแล้วมากกว่า 10 ปี

ล่วงมาจนถึงปีพ.ศ. 2559 ศาลแพ่งมีคำสั่งตัดสินให้ “บริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค” จ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เสียหายเป็นเงินจำนวน 500,000 บาทโดยประมาณ อย่างไรก็ตาม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเผยว่า เมื่อเทียบกับหน่วยงานรัฐแล้ว ผู้ประกอบการได้ชดใช้ด้วยจำนวนเงินที่น้อยกว่ามาก นอกจากนี้เอง เหตุการณ์ดังกล่าวยังเพิ่มภาระทางการเงินให้กับสถานพยาบาลที่ทำหน้าที่ตรวจสารเคมีให้กับประชาชน ภาครัฐจึงควรออกมาเรียกร้องด้วยเช่นกัน

เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์สิทธิชุมชนและความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ปรากฏเด่นชัดคือความปรารถนาจะก้าวกระโดดในด้านอุตสาหกรรมของรัฐบาล อีกอย่างหนึ่งคือร่องรอยแห่งมลพิษในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม อันเป็นผลพวงของนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจตลอดสามทศวรรษ พื้นที่ที่รองรับโรงงานต่าง ๆ อาทิ โรงงานไฟฟ้าและโรงงานฝังกลบขยะ มักประสบกับปัญหามลพิษทางน้ำและทางอากาศ สืบเนื่องจากความล้มเหลวในการจัดการวัตถุมีพิษ รวมไปถึงการลักลอบทิ้งกากขยะ 

แม้ว่าปัญหาต่าง ๆ จะเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งและกินระยะเวลานาน แต่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกลับดำเนินการอย่างยากลำบาก ดังจะเห็นได้จากกรณีนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ในหนังสือ “ลำพูนใต้เงาอุตสาหกรรม” ธารา บัวคำศรี เปิดเผยว่าในช่วงปี 2536 – 3537 พบเหตุการณ์แรงงานเสียชีวิตนับสิบคน โดยพบสารเคมีในกระแสเลือด อีกทั้งยังมีรายงานคนปวดศีรษะ แขนชา และเจ็บป่วยในด้านทางเดินหายใจ โดยก่อนหน้านั้นพบปัญหาแม่น้ำกวงปนเปื้อนและการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมมาทิ้งนอกโรงงาน อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกกดดันให้เปิดเผยผลการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในโศกนาฏกรรมครั้งนั้น โฆษกรัฐบาลในขณะนั้นกลับเชื่อมโยงสาเหตุการเสียชีวิตกับโรคเอดส์แทน ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากมีการดำเนินคดีความสืบเนื่องจากการล้มป่วยของคนงาน ศาลแรงงานและศาลฎีกาได้มีคำสั่งยกฟ้องคดีดังกล่าว

หากย้อนกลับมาดูกฎหมาย ณ ปัจจุบันแล้ว น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมจะยิ่งทวีความรุนแรง เพราะนอกจากแนวทางกฎหมายจะเน้น “ปริมาณ” มากกว่า “คุณภาพ” ของโรงงาน มาตรการที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบยังถูกกีดกันออกไป อาจเรียกได้ว่านี่คือการผลักภาระให้ประชาชนต้องขึ้นศาล เพื่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่รัฐควรมอบให้ตนแต่แรก