“การช่วยชีวิตคืองานส่องแสง ไม่รู้ว่าเอาเรี่ยวเอาแรงมาจากไหน” ‘กระแต’ ส่องแสง สุปัญญา

เรื่อง : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

ถามถึงชื่อจริงของ ‘กระแต’ พี่เลี้ยงของเครือข่ายเยาวชนสลัมสี่ภาคที่เพิ่งได้พักจากงานอาสาสมัครตรวจโควิดเชิงรุกของชมรมแพทย์ชนบทที่ยิงยาวเหยียดมาทั้งวัน

เสียงหัวเราะปนเขินอาย หลุดออกมาก่อนจะบอกชื่อนามสกุลจริงว่า ส่องแสง สุปัญญา ซึ่งตอนเด็ก ๆ ใครถามจะอายมาก

“พ่อชื่อสว่าง แม่ชื่ออำพร ที่แปลว่าก้อนเมฆ หนูเกลียดชื่อหนูมากเลย รู้สึกว่าเหมือนนักร้อง พรศักดิ์ ส่องแสง  แล้วน้องสาวชื่อรุ้งนภา น้องชายก็ตะวัน อยู่บนท้องฟ้าหมดเลย”

วันนี้กระแตอายุ 30 ปีแล้ว ความรู้สึกต่อชื่อจริงตัวเองก็เปลี่ยนไปด้วย ไม่ใช่เพราะปลงหรือชิน แต่เพราะชีวิตกับการงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มันทำให้เธอรู้สึกรักชื่อของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ

ฉันนี่แหละเด็กสลัม

ชุมชมสถานีรถไฟหลักหกคือชุมชนแห่งแรกที่กระแตนับเป็นบ้านเพราะอยู่มาอย่างยาวนานเกิน 20 ปี แต่เป็นบ้านหลังที่ทิ้งระยะห่างจากทางรถไฟแค่ 3 ก้าว

“ดังมากค่ะ เวลารถไฟจะถึงสถานีเขาก็จะบีบแตร แล้วบ้านก็จะสั่น แต่หนูก็นอนหลับเพราะชินแล้ว แต่พอญาติมา เขานอนไม่หลับนะ”

นอกจากความชิน สลัมที่หลายคนมองว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรม ​แต่สำหรับกระแต มันคือบ้านที่ปลอดภัย หลับสนิทได้ทุกคืน

“หนูรู้สึกว่ามันเป็นบ้านของเรา เป็นคนในชุมชนของเรา  คนข้างนอกมองชุมชนแออัดด้วยสายตาไม่เป็นมิตร แต่เราจะมองเป็นพี่น้องกัน เวลาเรากลับบ้านค่ำ เขาก็จะถามทำไมกลับดึก หนูว่ามันปลอดภัยนะ”

แต่กับโลกข้างนอก กระแตในวันที่ยังเป็นเด็กหญิงกลับให้ค่าตัวเองน้อยกว่าคนอื่นเพราะความจน

“มันจะมีเส้นบาง ๆ ระหว่างคนทั่วไปกับตัวเอง เราเป็นเด็กสลัม เป็นคนจน ไม่กล้ามีบทบาท ไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น มีบ้านอยู่ในชุมชนแออัด แล้วในชุมชนแออัดก็จะมียาเสพติด  แต่แม่จะสอนตลอดว่าอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้”​

จะมีบาดแผลเดียวที่จนวันนี้กระแตก็กลับไปแก้ไขไม่ได้คือ เรียนไม่จบ เพราะความดื้อของตัวเองจนไม่ได้ไปต่อใน ปวช. ปีสุดท้าย

“แต่ก่อนยกพวกตีกันบ่อย เราก็ดันไปอยู่ในกลุ่ม เพื่อนโดนฟัน ขึ้นโรงพัก แม่ก็เป็นห่วง เลยไม่ให้เรียนต่อ เลยถูกส่งไปอยู่กับป้าพักหนึ่ง พอกลับมา เห็นเพื่อนๆ เรียนจบก็เครียดมาก ร้องไห้เสียใจว่าทำไมเราต้องทิ้งโอกาส ถ้าเราตั้งสติกว่านี้ ไม่ดื้อ เราเรียนจบแน่นอน”

แม่เลยชักนำเข้าสู่วงการเยาวชนสลัมสี่ภาค

อำพร จำปาทอง แม่ของกระแต คืออดีตประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค ถึงตรงนี้ ลูกสาวเล่าเรื่องแม่อย่างละเอียดและภูมิใจ

“เริ่มจากแม่เป็นแกนนำชุมชนก่อน ตั้งใจทำงานมากจนได้เป็นทีมบริหารของเครือข่ายสลัมรถไฟหนึ่งในเครือข่ายของสลัมสี่ไม่อยาก  จนมาประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค ซึ่งเป็นช่วงที่หนูดื้อ  ไม่ค่อยรู้บทบาทของแม่ ถามแม่บ่อยๆ ว่าไปทำไม ไปประชุมอีกแล้ว หนูไม่อยากให้ไป ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจว่าแม่ทำไปทำไม แต่พอแม่สู้เรื่องไล่ที่ดินสำเร็จ  หนูก็รู้สึกว่าแม่เท่มาก อยากเป็นแบบแม่”​

เป็นเวลากว่าสิบปีที่คุณอัมพรต่อสู้กับพี่น้องเรื่องไล่ที่ จนได้สิทธิเช่าที่ดิน ลูกสาวที่เห็นมาตลอดจึงค่อย ๆ ซึมซับ

“ทุกบทบาทแม่เต็มที่มาก ชาวบ้านศรัทธาในตัวแม่ ถึงแม่เขาจะพูดเยอะ แต่แม่เขาทำให้เห็น หนูก็เลยรู้สึกว่าเออ คนเรามันจะพูดอย่างเดียวไม่ได้นะ มันต้องทำให้เขาเห็นนะเขาถึงจะเชื่อเรา”

“แต่แม่ก็พูดตลอดว่า ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ ก็คือทำให้เราด้วย แล้วคนอื่นก็ได้ประโยชน์ด้วย เสียสละบ้าง ไม่ใช่เป็นผู้รับอย่างเดียว”​

เวลานั้นเป็นจังหวะเดียวกับที่กระแตลาออกจากการเรียนสายอาชีพ และได้ไปอยู่ในกลุ่มเยาวชนสลัมสี่ภาคเพราะได้ทุนการศึกษาผ่านการทำงานของแม่ แม่เลยชวนไปเข้าค่ายกับกลุ่มเยาวชนฯ ไปครั้งแรกก็ได้ข้อสรุปเลยว่า ค่ายหนหน้าจะไม่มีชื่อส่องแสงแน่นอน

“เป็นการประชุมของผู้ใหญ่ เด็กก็ไปทำกิจกรรมด้วย หนูรู้สึกมันน่าเบื่อมาก พูดอะไรกันเนี่ย มันไม่ใช่ปัญหาของเราสักหน่อย กว่าจะผ่านไปแต่ละวัน สามวันนี่ยาวนานมาก”

เท่านั้นยังไม่พอ กลับจากค่ายแล้ว กระแตยังถูกแม่ดันหลังให้ไปร่วมกิจกรรมทุกเดือน เวียนเปลี่ยนชุมชนไปเรื่อย ๆ ได้ทำยาหม่องบ้าง ลงไปพูดคุยกับคนในชุมชนบ้าง ลงแรงทำงานช่วยเหลือคนอื่นบ้าง ที่สำคัญได้เจอเพื่อนที่มีปัญหาเหมือน ๆ กัน มันทำให้เด็กคนหนึ่งไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยว

“เพราะมันเป็นการรวมกลุ่มกัน ได้รู้ปัญหาของเพื่อนด้วย มันไม่ใช่ชุมชนเราชุมชนเดียวนะที่มีปัญหา ไม่ใช่บ้านเราที่เดียวที่เป็นชุมชนแออัด เพื่อนเราก็มีปัญหานะ ถ้าเราไม่รวมกลุ่มกันตั้งแต่เด็ก ไม่รวมกลุ่มกันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก มันก็จะไม่มีการผลักดันการต่อสู้ เราก็เลยชอบตั้งแต่ตอนนั้น”

กระแตจึงเริ่มเข้ามาช่วยงานแม่มากขึ้น เวลาแม่ออกไปทำงาน ก็ได้ลูกสาวเป็นฝ่ายสื่อสารในชุมชน

“ตอนโดนการรถไฟมาไล่รื้อ แม่ออกไปประชุม หนูลุกขึ้นมาทำเองเลย หนูแค่รู้สึกว่าหนูรักบ้านหนู ตอนนั้นเขาเอารถแมคโครมาหัวชุมชน ท้ายชุมชน เพื่อรื้อสถานี เราก็เลยรู้สึกว่าต้องปกป้องบ้านเรา เราประกาศผ่านเสียงตามสายเลยว่าใครที่อยู่บ้าน ให้ออกมากันเยอะ ๆ พอเขา (การรถไฟ) เห็นเราคนเยอะ เขาก็ถอยกลับไป”

หนนั้น กระแตเข้าไปเจรจาอย่างตรงไปตรงมา เริ่มจากการแสดงความเข้าใจอีกฝ่ายว่าเขาก็ต้องทำงาน แต่คนในชุมชนเองก็ไม่มีที่ไป ถ้าไล่ เราก็ต้องบุกรุกที่อื่นอีก ปัญหามันจะไม่จบสิ้น

เช่นเดียวกับการด้อยค่า ความรู้สึกว่าตัวเองต่ำกว่าคนอื่นในใจของกระแตก็ค่อย ๆ หายไป

“ที่หนูได้ไปกับแม่ทำงานกับบ่อย ๆ หนูเห็นแม่ได้ขึ้นไปประชุมกับรัฐมนตรีกระทรวง ก็รู้สึกว่าคนจนอย่างเราก็สามารถต่อรองสิทธิประโยชน์ของตัวเองได้ มันทำให้หนูกล้าพูดกับตำรวจที่จะมาไล่บ้านหนูด้วย ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนคนจนกลัวตำรวจมาก แต่งานที่เราทำ ทำให้รู้สึกว่า ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน เท่าเทียมกัน ถึงเราจะไม่ได้รวย แต่เราก็สามารถพัฒนาความคิดเราได้”​

เห็นได้ชัดเจนว่าแม่คือฮีโร่ของกระแต แต่ลูกสาวปากหนัก ไม่เคยบอก

“หนูไม่เคยพูดกับแม่เลย แต่หนูรู้สึกว่าเท่มาก แม่เป็นผู้หญิงเก่ง จากที่มีรถซาเล้ง ก็พัฒนาจากรถซาเล้งมาเป็นรถเครื่อง จากรถเครื่องก็มามีรถกระบะ ก็ต่อสู้มาจนสามารถซื้อหน้าร้านได้ ชีวิตดีขึ้น แม่หนูทำให้ครอบครัวอยู่รอด

แม่หนูนี่แหละเป็นแรงผลักดันให้หนูอยากทำเพื่อคนอื่น ถ้าเป็นแม่คนอื่น เขาอาจจะบอกว่าลูกต้องหาเงินให้เยอะ ๆ สิ จะไปทำเพื่อคนอื่นทำไม แต่แม่หนูไม่เคยพูดคำว่าต้องรวย แม่หนูจะบอกหนูว่า ไม่ต้องรีบรวย คนเรามีโอกาสทุกคน”

จนวันนี้กระแตได้เขยิบขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยงเครือข่ายเยาวชนสลัมสี่ภาค และตั้งธงทำงานไม่ต่างจากแม่

“เด็ก ๆ รุ่นนี้ติดโทรศัพท์มาก หนูก็พยายามจัดกิจกรรมให้รวมกลุ่ม เช่น ปลูกผัก ถึงจะไม่ได้สร้างรายได้ แต่มันก็ลดรายจ่าย เอาไปกินได้ เด็ก ๆ ก็อาจภูมิใจว่าช่วยครอบครัวได้ และก็พยายามสอนให้พวกเขารู้ว่า ชีวิตตอนนี้ที่สบายมากขึ้น มีแอร์เย็น มีบ้านที่ปลอดภัย มันมาจากการที่แม่ของพวกเรา ร่วมต่อสู้กันมา ไปนอนหน้ากระทรวงสามวันสี่วัน มันไม่ง่าย”

อาสาสมัครชมรมแพทย์ชนบท งานที่ไม่รู้เอาเรี่ยวเอาแรงมาจากไหน

วันนี้กระแตคือกำลังสำคัญของอาสาสมัครตรวจโควิดเชิงรุกของชมรมแพทย์ชนบทในนามของทีม Care ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย IHRI มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายสลัมสี่ภาค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ในพื้นที่กระแตประจำการอยู่ฝ่ายคัดกรองผู้ป่วย จัดกลุ่มสีเขียว เหลือง แดง ก่อนจะส่งต่อให้ทีมแพทย์พยาบาลต่อไป

ก่อนหน้านั้นกระแตทำงานด้านติดตามเคสอยู่แล้ว คอยติดตามถามไถ่ ให้ข้อมูล ให้กำลังใจ ผู้ป่วยที่กักตัวอยู่บ้าน

การได้ทำงานทั้งลงพื้นที่และดูแลผ่านโลกออนไลน์ ทำให้กระแตเข้าอกเข้าใจคนติดเชื้อเป็นอย่างดี

“พอเราได้มาลงชุมชน ดูแลเคสในชุมชน เราเห็นบางคนที่ตรวจเจอ ร้องไห้ ก็ปลอบเขาว่าพี่ไม่ต้องเครียดนะ  ไม่ต้องกลัว ไม่กี่วันก็หาย ถ้าเราดูแลตัวเองจริงจัง แต่ที่เขาร้องไห้เพราะห่วงคนที่บ้าน กลัวว่าจะนำโรคไปติดหรือเปล่า แล้วครอบครัว ลูกจะอยู่ยังไง หลายบ้านไม่มีห้องแยก”

ความห่วงที่ว่านี้ ไม่เลือกเพศและวัยด้วย

“ใกล้จะกลับบ้าน มีวัยรุ่นคนนึงเดินมาถามหนูว่า พี่ ผมติดโควิด ผมจะไปติดคนที่บ้านไหม แม่ผมอายุเยอะแล้ว พ่อผมปอดเหลือข้างเดียว บ้านผมนอนด้วยกัน มีแค่ตู้เสื้อผ้ากั้น ผมจะเอาโรคไปติดไหม วันนั้นหนูรู้สึกว่า มันมีคนที่ยากลำบากจริง ๆ เขาเครียดมาก ขนาดเขาเป็นวัยรุ่น ไม่น่าจะคิดอะไร เราก็ให้ความรู้เขาไปว่ามันป้องกันได้ ห้องน้ำเข้าร่วมกันได้ แต่เราต้องเข้าแล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาด”

เคสที่กระแตติดตามดูแล ณ ตอนนี้ นับได้เกิน 30 จากตอนแรก 4 คนก็สับสนและแยกประสาทยากมากแล้ว แต่พอมาถึงจุดที่กราฟพุ่งทะลุเพดานอย่างนี้ งานกลับไม่สะดุด

“คนหนึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอยู่ห้องคนเดียว ลูกอยู่ต่างจังหวัด เขากลัวมากว่าจะตายในห้องไหม ไม่มีใครติดต่อมาเลยมีแต่เราคนเดียว  พยายามพูดให้กำลังใจเขา แนะนำวิธีการกินยา ตอนนี้เขาได้ 12 วันแล้ว เขาขอบคุณเรามากเลย ถ้าไม่ได้กำลังใจ เขาอาจจะตายแล้ว แต่มีเราคอยโทรไปถามอาการเขาวันละสองครั้ง เขาเลยบอกว่า กระแต พี่รู้สึกว่าพี่ปลอดภัยมากเลยที่ได้คุยกับหนู”

หลายครั้งที่การทำงานทำให้กระแตได้กินข้าวมื้อแรกตอนสี่โมงเย็น แล้วเรี่ยวแรงมันมาจากไหน

“ปกตินอนดึก แต่ต้องตื่นตีสี่เพื่อที่จะไปถึงจุดตรวจเจ็ดโมง หนูก็รู้สึกว่ามันมีพลัง วันนั้นวันแรกหนูกลับบ้านเกือบไม่ทันเคอร์ฟิว รุ่งขึ้นก็ต้องตื่นแต่เช้าอีก เราต้องลุก มันเป็นงานหนัก แต่เราอยากไป อยากไปช่วยคน ก็ทำให้เรามีพลัง เรารู้สึกว่าการได้ช่วยคนอื่นให้เขาได้เข้าถึงการรักษา มันดีมากเลยนะ มันคือการช่วยชีวิต”

ถึงบรรทัดนี้ เราถามกระแตอีกครั้งว่ารู้สึกอย่างไรกับชื่อของตัวเอง

“อืม มันรู้สึกว่ามีพลัง สงสัยพ่อแม่อยากให้หนูส่องแสง(ยิ้ม)”