คุยกับ ‘ลุงดำ’ จากสถานการณ์คนไร้บ้านในอดีตสู่การมีศูนย์พักพิงฯของตัวเอง

สถานการณ์คนไร้บ้านในอดีตตั้งแต่ถูกไล่จับ จนถึงมีศูนย์พักพิงฯของตัวเอง เป็นอย่างไร ลุงดำเป็นคนหนึ่งที่ให้ภาพนั้นได้ดี เพราะเขาผ่านสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านของคนไร้บ้านมานานนับสิบกว่าปี จนปัจจุบันกลายมาเป็นคนขับเคลื่อนในประเด็นเรื่อง การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน

หลายคนคงคุ้นชินคำว่า “คนเร่ร่อน” มากกว่า “คนไร้บ้าน” เพราะเป็นคำที่ถูกใช้เรียกบุคคลอาศัยอยู่ตามที่สาธารณะมาก่อนการนิยามคนเหล่านี้ว่าเป็น “คนไร้บ้าน” ซึ่งการเปลี่ยนคำเรียก กินระยะเวลายาวนาน พอๆกับสถานการณ์คนไร้บ้านที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาที่พวกเขาเผชิญ

‘ลุงดำ’  หรือ สุทิน เอี่ยมอิน อดีตคนไร้บ้าน ที่ผ่านสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านของคนไร้บ้านมานานนับสิบกว่าปี จนปัจจุบันกลายมาเป็นคนขับเคลื่อนในประเด็นเรื่อง การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน

ลุงดำเป็นคนไร้บ้านมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2544 นอนสนามหลวงมาสามปี ผ่านสถานการณ์ที่รัฐไล่จับคนไร้บ้านจนต้องหนีออกไปชานเมืองอยู่บ่อยครั้ง จนท้ายที่สุดเขาตระหนักว่า ตนเองไม่สามารถหนีได้ตลอดชีวิต ประกอบกับมีครือข่ายสลัมสี่ภาคมาแนะนำเรื่องสิทธิฯ ทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้ที่จะช่วยให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จึงตัดสินใจเป็นตัวแทน นำเสนอปัญหาต่อภาครัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรภาคเอกชน ตลอดจนสังคม  ให้เข้าใจปัญหาจนนำมาสู่การหาแนวทางพัฒนาชีวิตคนไร้บ้าน โดยตั้งต้นจากการสร้างศูนย์พักพิงคนไร้บ้านที่จะนำร่องในจ.เชียงใหม่และข่อนแก่น


สถานการณ์คนไร้บ้านในอดีตตั้งแต่ถูกไล่จับ จนถึงมีศูนย์พักพิงฯของตัวเอง เป็นอย่างไร ลุงดำเป็นคนหนึ่งที่ให้ภาพนั้นได้ดี


จากประสบการณ์หลายสิบปีที่ผ่านมา คนไร้บ้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ผมเป็นคนไร้บ้านตั้งแต่ปีพ.ศ.2544 นอนสนามหลวงมาสามปี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ลำบากมากที่สุด สมัยนั้น ผู้ว่าฯสมัครปิดสนามหลวง ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำไล่ เทศกิจก็ไล่จับ ช่วงจัดงานเอเปค ประมาณปีพ.ศ. 2546-47  โอโห้ หนักเลย จับอะไรไม่ได้จับหมา จับหมาไม่ได้จับคน

เอเปคมาไล่จับ ผมก็หนีจากสนามหลวงไปอยู่วัดพนัญเชิงอยุธยา อยู่ชานเมืองเข้าไว้ เหมือนหนูเห็นแมวก็ต้องหลบก่อน พอเหตุการณ์สงบแล้ว จึงกลับเข้าไปใหม่ ผมหนีไปอยุธยา มหาชัย เลือกเอาชานเมืองไว้ก่อน แต่แถวนั้นเขาก็จับ พอตำรวจเห็นว่ามีคนแปลกหน้ามา ก็จะคิดว่างัดบ้าน งัดวัดหรือเปล่า ไล่จับอีก

เราถูกจับไม่ได้ เพราะจะถูกนำไปสถานสงเคราะห์ ซึ่งมันเหมือนคุก อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมไม่มีอิสระอะไรเลย ผู้หญิงก็อยู่อีกที่หนึ่ง ผู้ชายอยู่อีกที่หนึ่ง เด็กเล็กกอยู่อีกที่หนึ่ง ลองคิดดูสิ

ในช่วงนั้น มีเครือข่ายสลัมสี่ภาคลงไปทำความเข้าใจกับผมในท้องสนามหลวง ตอนนั้นคิดว่าไม่ปลอดภัย ต้องตอบแบบเสียไม่ได้ พอคุยได้สองสามคำ เราจะขอตัว บอกว่ามีธุระ ที่จริงไม่มีหรอก หนีเลย เพราะเคยมีมาถามข้อมูล ถ่ายรูปเรา เสร็จแล้วก็ไป จากนั้นก็จะมีพวกสงเคราะห์ฯมาจับ

พอเครือข่ายสลัมสี่ภาคลงไปทำความเข้าใจ โดยบอกว่า คุณน่าจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานของคุณนะ เช่น เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ผมก็ไม่ค่อยเชื่อ หลังๆเริ่มเชื่อ เพราะคิดได้ว่า ชีวิตนี้กูหนีมาตลอด ต่อไปจะไม่หนีแล้ว เลยอยากลองทำตามคำแนะนำจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  และกลุ่มคนที่เรามารู้จักทีหลังว่าเป็นเอ็นจีโอ ว่าต้องสู้ ผมจึงเข้ามาอยู่กับเครือข่ายพี่น้องคนไร้บ้านเมื่อประมาณปี 2546

พอเข้าไปก็พาไปสัมมนาเลย เราก็เลย เฮ้ย มันมีจริงนี่หว่าองค์กรแบบนี้  พอเห็นว่ามีจริงผมก็มั่นใจว่ามันน่าจะแก้ปัญหาได้ จึงไปพูดคุยกับคนไร้บ้าน ชวนมาเข้าเครือข่ายฯ แต่เครือข่ายคนไร้บ้านไม่มีประธาน จะมีตัวแทน อย่างผมจะใช้คำว่า “ตัวแทน” เรียกแทนตัวเองตลอด ตัวแทนที่นำเสนอปัญหาต่อภาครัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรภาคเอกชน ให้พวกเขาเข้าใจพวกเรา

ในปัจจุบัน หน่วยงานรัฐปฏิบัติต่อเราดีขึ้นมาก “พยายามเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งสามคำนี้ถ้าหน่วยงานไหนเอาไปปฏิบัติรับรองแก้ปัญหาได้ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นชุมชน หรือประเด็นที่พี่น้องคนด้อยโอกาสเผชิญอยู่

คำว่าเข้าใจ เข้าถึง คือ ลงมาขลุกขีตีมงกับเรา ลงมาดูเราเลยว่าเรามีชีวิตเป็นอย่างไร พอเข้าถึง ก็จะเข้าใจปัญหา จากนั้นนำไปพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาเขา

สื่อและชุมชนเอง หรือคนทั่วไปมองเราในทางที่ดีขึ้น แต่การแก้ปัญหาบางอย่างยังเข้าไม่ถึง เช่น การรักษาพยาบาล เขาไม่มีเลข 13 หลัก

ถ้าจะแก้ปัญหาคนไร้บ้านอย่างถาวร เหมือนลุงดำที่ได้รับโอกาส อะไรเป็นปัจจัยสำคัญบ้าง

หนึ่ง ต้องหาที่ตั้งหลักให้เขา ตั้งหลักเสร็จแล้วก็ต้องมาส่งเสริมเรื่องอาชีพของเขา หลังจากนั้นต้องหาตลาดงานให้เขานะ อาชีพเย็บพรม เย็บรองเท้า หรืออาชีพอะไรก็ตาม เราทำได้ทำเป็น แต่ก็หาตลาดงานไม่ได้ ตลาดที่ว่า คือ หาตลาดขายไม่ได้ ไปขายข้างทางก็ถูกจับอีก รัฐต้องหาตลาดให้พร้อมกับการส่งเสริมอาชีพ ถึงจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้คนไร้บ้าน

สอง ต้องส่งเสริมความคิดของเขา ซึ่งบางคนก็มีความคิดอยู่แล้ว เช่น คนที่มีอาชีพเก็บของเก่า เขาก็มีความคิดที่อยากจะเอาของเก่าไปขายโรงงานไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งก็แค่ไปส่งเสริมว่ามีวิธีไหนบ้าง จะรวบรวมให้ได้เยอะก่อนแล้วค่อยไปขายไหม รัฐต้องเข้ามาส่งเสริมว่าจะขายยังไง เพราะเราเข้าไม่ถึงเรื่องแบบนี้

ออกนอกเรื่องหน่อยครับ  ทำไมอาชีพเก็บของเก่าเป็นสิ่งที่คนไร้บ้านเลือกทำ หรือชอบทำ

ง่ายนิดเดียว เพราะผมก็ทำอยู่ อย่างคนอายุ 50 ปีขึ้นไปไม่มีแรงที่จะทำอย่างอื่น ก่อสร้างก็ทำไม่ไหวแล้ว

สอง ความรู้ เพราะความรู้เราไม่มี อาชีพที่ไม่ต้องลงทุนเลย หรือลงทุนน้อยที่สุดเพียงแค่มีถุงใบหนึ่ง ก็คืออาชีพเก็บของเก่า

สาม เราพยายามทำสิ่งให้สังคมคิดว่าเราจะไม่เป็นภาระของสังคมมากมาย และช่วยเหลือตัวเองได้ ผมบอกพี่น้องเราอยู่เสมอว่าทำอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ให้ช่วยเหลือตัวเองมากที่สุด เมื่อเราไปไม่ไหวจริงๆ เขาจะเห็นเราเอง เขาจะได้หนุนเสริมเราได้ ไม่ใช่อยู่ๆคุณไม่ทำอะไรเลย ได้แต่ร้องขอ แบมือขอ ไม่มีทาง

ที่เขามาทำอาชีพนี้ คือ ความรู้เขาไม่มี เขาอาจจะมีโรคประจำตัวบางอย่าง อายุมากแล้ว ทำอะไรไม่ได้  อาชีพเหล่านี้แหละที่ทำให้เขามีชีวิตยืนยาวอยู่ได้

ความอิสระเกี่ยวไหมครับ

ก็อาจจะใช่ครับ แต่ส่วนน้อยที่คิดแบบนั้น คนไร้บ้านอยากได้งานแม้แต่เป็นลูกจ้างก็ได้ แต่ไม่มีคนรับ และกฎหมายกำลังจะออกมา คือ ในกทม.ให้เอกชนรับเหมาเก็บขยะเอง เอกชนก็จะไม่ให้พวกเราเก็บขยะ เขาจะเก็บเองแยกเอง แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นพวกเราจะทำอย่างไร ทุกอาชีพต้องดิ้นรนกันทั้งนั้นแม้แต่อาชีพนี้  ถ้ากฎหมายนี้ออกมาจริงผมจะคัดค้าน

เรื่องศูนย์พักพิงฯ มันเกิดมาจากความเชื่อที่ว่าต้องให้คนไร้บ้านตั้งหลักได้ก่อน ตอนนี้เกิดขึ้นจริงแล้ว รู้สึกอย่างไรบ้าง

ผมดีใจที่พี่น้องชาวเชียงใหม่จะมีรังนอนที่มั่นคง ไม่ใช่อยู่ได้ปีหนึ่งก็หารังนอนใหม่ ถ้าคนไร้บ้านมีที่อยู่ที่มั่นคง เขาจะเริ่มมีหลักคิดที่จะพัฒนาตัวเองไปสู่จุดหมาย เป้าหมายของเขาก็คือ มีบ้านที่มั่นคงของเขาเอง สร้างครอบครัวในอนาคต

ถ้าเรามีศูนย์ที่มั่นคงเราจะมีพื้นที่ เด็กลูกหลานของคนไร้บ้านก็จะมีที่เรียนรู้ มีที่เรียนหนังสือ อีกอย่างการมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งจะสามารถทำให้เขาไปลงทะเบียนทำบัตรต่างๆ เพื่อทำนิติกรรมได้

การมีศูนย์พักพิงฯจะทำให้คนไร้บ้านแตกต่างจากเดิมอย่างไร

การตั้งศูนย์พักพิงฯจะช่วยในแง่ที่ว่า เวลาเรานอนหลับข้างนอกไม่มีใจคิดอย่างอื่นเลย คิดอย่างเดียวว่ากูจะหาอะไรมาประทังชีวิต พร้อมๆกับการทำให้ตัวเองไม่ถูกจับ หรือถูกกลั่นแกล้ง อย่างแถวสนามม้านางเลิ้ง ไม่ได้แค่มีคนมาเยี่ยวใส่ แต่เอาน้ำมันจุดแล้วเผาเลย พอเราไปแจ้งตำรวจ ตำรวจจะมาจับเราอีกไม่ยอมไปจับวัยรุ่นที่เผา

พอมีเครือข่ายฯ อย่างพี่น้องคนไร้บ้านเชียงใหม่พยายามรวมกลุ่มไปหาเช่าตึก ทำสถานที่ให้เหมือนสถานที่คนอยู่ ทาสีใหม่ พอเจ้าของตึกเห็นเอาตึกคืนอีก

พอมีงบสร้างศูนย์ แล้วมีที่กันแดดกันฝน เขาก็เริ่มคิดอย่างอื่นบ้าง ว่า ในอนาคตข้างหน้าพวกเขาจะมีชีวิตอย่างไร เขาจะเก็บเงินเพื่อมีบ้านเป็นของตัวเองอย่างไร เขาได้คิดเพราะ นอนหลับ กินอิ่ม ไม่ต้องหวาดระแวง จากนั้นก็จะมีการปรึกษาเรื่องอาชีพ เมื่อที่ตั้งหลักที่มั่นคงแล้ว กายมันพร้อมที่จะคิดไปข้างหน้า

ช่วงนี้หากเราสังเกตจะเห็นว่ามีคนไร้บ้านในช่วงวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น เมื่อก่อนปัญหาคนไร้บ้านจะถูกโยงไปในเรื่องของการศึกษา แต่ตอนนี้ประเทศไทยพัฒนาขึ้นไปเยอะ ต้องการแรงงานขึ้นมาก ปัญหามันสัมพันธ์กันหมดทั้งการศึกษา การว่างงาน ซึ่งรัฐบาลต้องแก้ไข ต้องประกันการว่างงาน ไม่เฉพาะแต่แรงงานในเมืองในภาคเกษตร รัฐบาลต้องรับประกัน ซึ่งจะทำให้คนไร้บ้านลดลงมาก

หลังจากมีศูนย์พักพิงฯแล้ว ในอนาคตจะขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาชีวิตคนไร้บ้านอย่างไรต่อ หรือลุงดำมีข้อเสนออย่างไร

เราได้งบ 118 ล้านบาท จากรัฐบาลชุดนี้ เรื่องที่อยู่อาศัย แต่อาจจะมีข้อเรียกร้องต่อไป เพราะสิทธิพื้นฐานที่เราได้มีเพียงแค่ที่อยู่อาศัย อย่างอื่นยังไม่ได้ เช่น ยารักษาโรค ซึ่งบางคนไม่มีบัตรประชาชน พอไม่มีบัตรคนก็ถามว่าคุณเป็นคนไทยรึเปล่า ผมเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งบางคนอาจจะไปเกิดกับหมอตำแย พ่อแม่แยกทางกัน พอจะเอาหมอตำแยมายืนยันก็ไปสวรรค์แล้วก็มี พอไปหาหมอ หมอบอกเอาบัตรมา เราก็ไม่มีบัตร เขาก็ให้ยาพาราฯมาแปดเม็ด เราเรียกยาพาราฯว่า ยาเทวดา คือ พอกินไปถ้าไม่หายป่วยก็หายไปจากโลกนี้

เครือข่ายคนไร้บ้านเห็นว่า เราควรตั้งกองทุนเพื่อรักษาคนไร้สถานะ เช่น มีงบประมาณสักสามพันล้านกระจายไปทั่วประเทศผ่านโรงพยาบาลภาครัฐ พอมีกองทุนตรงนี้ก็จะไม่มีใครสามารถอ้างได้ หมอก็จะสบายใจด้วยเพราะที่ผ่านมา หมอบางคนใจดีรักษาให้ พอรักษาเราหมอก็ต้องออกเงินเอง ซึ่งเราเชื่อว่าเงินจำนวนนี้รัฐบาลสามารถจัดสรรได้ ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลได้อีกเยอะ และการช่วยชีวิตคนมันดี คุณยังมีการตั้งกองทุนช่วยหมูหมากาไก่ได้เลย ทำไมคนจะช่วยไม่ได้