“ผมมาจากคลองเตย” อาสาสมัครผู้เสียน้ำตาและประธานสภาเด็กฯ ชื่อ จักรกฤษณ์ เต็มเปี่ยม

เรื่อง : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

ภารกิจตรวจโควิดเชิงรุก 7 วัน 7 คืนครั้งล่าสุดที่นำโดยชมรมแพทย์ชนบท มี ‘แฮม’ จักกฤษณ์ เต็มเปี่ยม ประธานสภาเด็กและเยาวชนเขตคลองเตย และเยาวชนเครือข่ายสลัม 4 ภาคตื่นแต่เช้าไปช่วยงานทุกวัน 

“บางวันก็แบกร่างไร้วิญญาณไปเลย เพราะมันเหนื่อยมาก”​แฮมบอกตรงๆ 

แต่อะไรที่ทำให้คนรุ่นใหม่วัย 22 ปีคนนี้เต็มใจไปเป็นอาสาสมัครตั้งแต่เช้าจรดค่ำทุกวัน 

“อยากให้คนที่ติดเข้าถึงการรักษาและยาที่แจก” งานหลักของแฮมคือพูดคุยสอบถาม ให้คำปรึกษา คัดกรองอาการ ก่อนส่งต่อไปให้ทีมแพทย์ 

มีอยู่หลายครั้งที่แฮมเสียน้ำตาขณะปฏิบัติหน้าที่ 

“มันเป็นอะไรที่เจ็บมากครับ บางครั้งร้องไห้ตามเขาเลย ร้องไห้กับคนที่ติด เขาเครียดมาก ลูกเขาจะอยู่ยังไง เขาต้องใช้ชีวิตยังไง มีเตียงให้เขาไหม ซึ่งคำถามนี้อยู่ในหัวแฮมตลอดเพราะเขาถามแฮม แล้วแฮมตอบไม่ได้” 

เพราะหน้าที่ของแฮมคือ ซักถามให้รู้อาการเพื่อจัดกลุ่มสีเขียว เหลืองและแดง และคนที่มานั่งให้แฮมถามล้วนแล้วแต่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ อาทิ แม่บ้าน อาชีพ รปภ. ขายของข้างทาง ฯลฯ ทั้งหมดเป็นคนที่แฮมบอกว่า ถ้าไม่ออกจากบ้าน เค้าก็ไม่มีรายได้ 

หลายคนเป็นญาติ หลายคนเป็นคนในชุมชนละแวกเดียวกับที่แฮมเติบโตมา บางคำแม้ไม่ต้องเล่า แฮมก็เข้าอกเข้าใจเพราะเป็น ‘ชาวคลองเตย’ เหมือนกัน 

สลัมคลองเตยนิเวศน์

แฮมเกิดและเติบโตในชุมชนคลองเตย บ้านหลังน้อยอยู่ด้วยกัน 6 คน ยายเปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัว หลานถามยายบ่อยๆ ว่าทำงานอะไร

“แม่บ้าน” ยายชอบบอกแฮมอย่างนั้น แต่หลานชายไม่หยุดสงสัยเพราะแม่บ้านอะไร ทำไมเดินไปคุยกับบ้านโน้นที บ้านนี้ที แฮมเพิ่งมารู้หลังจากนั้นหลายปีว่ายายทำงานในเครือข่ายสลัมสี่ภาค 

แฮมได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไล่มาตั้งแต่อนุบาลจนจบชั้นม.6 จนตอนนี้แฮมคือนักศึกษาปีสุดท้ายของคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 

ตั้งแต่เด็กจนโต แฮมไม่เคยอายที่จะบอกใครต่อใครว่าเป็นเด็กสลัม และแฮมมีความสุขกับชีวิตดี 

“ความสุขรอบตัวแฮมก็คือคนที่อยู่กับแฮมนี่แหละครับ เพื่อน พี่ น้อง คนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ที่บ้านแฮมจะใช้ชีวิตแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ถ้าสมมติวันเกิดใครก็จัดใหญ่ กินกันทั้งชุมชนเลย แฮมชอบแบบนี้มาก” 

แฮมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าใคร และใครก็จะมาด้อยค่าแฮมไม่ได้ 

“แฮมไม่แคร์ครับเพราะว่าแฮมไม่ค่อยสนใจอยู่แล้ว ถึงแม้คุณจะมองยังไง แฮมก็คือคนคนหนึ่งเหมือนกัน เกิดในคลองเตยหรือเกิดที่ไหนก็ตามมันก็คนเหมือนกัน อีกอย่าง แฮมว่าสิ่งที่แฮมทำอยู่ในอดีตจนถึงตอนนี้มีประโยชน์ครับ” 

สิ่งที่มีประโยชน์ในความหมายของแฮมคืองานเครือข่ายสลัมสี่ภาคที่ยายพาทำมาตั้งแต่เด็กๆ นับหนึ่งจากการโดนบังคับ แต่ไปๆ มาๆ กลับซึมซับจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“เราไม่ชอบ แดดร้อน อยู่บ้านดีกว่า จะได้เล่นกับเพื่อนๆ ด้วย แต่ยายก็ยังพาไปลงชุมชนโน้นชุมชนนี้ ไปนั่งคุย ประชุมอะไรก็ไม่รู้ ยายบอกเป็นแม่บ้าน เราก็สงสัย แม่บ้านอะไรมานั่งประชุม”  

กระเถิบจากประถมขึ้นมัธยม งานของยายก็ยังไม่เข้าตาเข้าใจแฮม จนวันหนึ่งครูประจำชั้นม.1 มาสะกิดให้แฮมถามตัวเองครั้งแรกว่า ความฝันคืออะไร 

“ครูเป็นคนลุยตลอดเวลา ทั้งตอนไปเยี่ยมบ้าน ตอนสอน ดูเต็มร้อยกับทุกสิ่ง เอาจริงเอาจัง ไถ่ถามความฝันของนักเรียนในห้องรวมถึงความฝันของแฮมเอง” 

จากเด็กที่เรื่อยๆ กับชีวิต เจอคำถามของครูเข้าไป แฮมเลยบอกตัวเองว่าถ้ายังไม่เจอก็ต้องหาอะไรที่ท้าทายทำ จนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเยาวชนสลัมสี่ภาค ได้ไปลงพื้นที่ต่างชุมชน  ไปเข้าค่าย และไปเป็นสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ เขตคลองเตย 

รองประธานสภาเด็กและเยาวชนฯ ที่อยากทำบ้านให้ดีขึ้น 

“ม.5 เทอมสอง แฮมได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาเด็กและเยาวชนของเขตคลองเตย แวบแรก แฮมรู้สึกว่า โห…ตำแหน่งอะไรใหญ่โตขนาดนั้น เข้าไปจริงๆ ก็เจออะไรมากมายแต่แฮมก็สู้ยิบ เพราะธงของแฮมคือเปลี่ยนบ้านตัวเองให้ดีขึ้น” 

บ้านของแฮมคือคลองเตย 

“แฮมไม่อยากให้ทุกคนดูถูกคำว่าคลองเตย ดูถูกก็ได้แต่เราจะทำให้เห็นว่า เราจะเปลี่ยนขึ้นมาได้ในสักวัน” 

เพราะงานในสภาเด็กและเยาวชน เปิดโลกกว้างให้แฮม ได้เรียนรู้ ได้ปรับตัว ออกแบบและสร้างสรรค์งาน ได้เจอเพื่อนที่มีแพชชั่นคล้ายกัน 

และที่สำคัญ สภาฯ สอนให้ตั้งหลายวิชาที่ไม่มีในห้องเรียน 

“แฮมเขียนโครงการเป็นเพราะว่าสภาเด็กฯ คำนวณงบประมาณได้ แฮมรู้รายรับรายจ่ายของตัวเอง รู้ว่าต้องจัดการระบบตัวเองยังไง เขาสอนเราเรื่องการใช้ชีวิตเรา สอนเรื่องเพศศึกษา สอนเรื่องที่มันตอบโจทย์มากๆ สอยให้ทะลุกรอบที่ผู้ใหญ่ตั้งไว้ เขาให้เราเลี้ยวซ้ายแต่เราจะเลี้ยวขวาเพื่อไปเจอความท้าทายมากกว่านี้” 

ในความคิดของแฮม ในห้องเรียนสอนแค่วิชาให้เดินทางตรง แต่ไม่ได้สอนเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา แต่สภาฯ คือสนามซ้อม ได้ลองผิดลองถูก ให้เด็กคนหนึ่งได้เรียนรู้ว่าโตขึ้นจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร 

“ก่อนจะออกไปพัฒนาคน เราต้องพัฒนาตัวเองก่อน เพื่อให้ตัวเราได้ไปพูดคุยกับคนที่เราจะพัฒนาได้ เราอยากเห็นเด็กในกรุงเทพมหานครมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีคุณภาพการศึกษาที่ตอบโจทย์เขา และบรรลุเป้าหมายอย่างชัดเจนที่ตัวเขาอยากเป็น” 

ธงสำคัญคือเด็กรุ่นหลังที่แฮมอยากช่วยพัฒนา เพราะเชื่อว่าแต่ละคนเก่งไม่เหมือนกัน 

“เราไม่อยากให้เด็กเดินตามกรอบที่ผู้ใหญ่วางไว้ให้ เดินเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาหน่อยมันก็ไม่เห็นเป็นไร ถึงแม้จะถึงเส้นชัยช้ากว่าแต่มันก็ยังถึงเส้นชัยนะ อาจจะมีอุบัติเหตุบ้าง มีเรื่องหนักหนาสาหัสบ้าง มันก็ยังสู้ไปด้วยกันได้  ให้เด็กเขาทำอะไรท้าทาย ดีกว่าไปเจอข้างหน้าแล้วเขาทำอะไรไม่เป็น”​

จริงๆ แล้ว รองประธานสภาฯ อยากเป็นนักร้อง 

ถามถึงคณะที่แฮมเรียนอยู่ปีสุดท้าย คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทย – เป็นใครก็ต้องคิดว่ารักศิลปะแน่ๆ 

“ไม่ชอบเลยครับและไม่เก่งเอามากๆ” ก่อนจะรีบเฉลยในประโยคถัดมาว่า ที่เลือกเพราะอยากเอาวิชาและความรู้ที่ได้ไปช่วยพัฒนาคลองเตยให้ดี สร้างงานให้คนมีรายได้มากกว่านี้ 

“คลองเตยจะโดนดูถูกเรื่องขยะ แฮมจะไปเอาขยะของคนคลองเตยมาเปลี่ยนให้เป็นมูลค่า แฮมเลยกล้าเลือกสาขานี้แล้วก็ยอมสู้ สู้มาจนปี4 แฮมเหนื่อยมาก เอาจริงๆ เพราะแฮมไม่มีหัวทางด้านออกแบบเลย แฮมต้องเรียนรู้มากกว่าเพื่อนถึงสามเท่า แต่ก็ฮึด คิดแค่ว่าสักวันเราจะต้องเปลี่ยนแปลงได้  ต้องพาเขาไปมีคุณภาพชีวิตที่ดี” 

คุณภาพชีวิตเป็นสิ่งสำคัญมาก แฮมบอกว่าถ้าคนคลองเตยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพมั่นคง เรื่องของยาเสพติดจะลดน้อยลง

ถ้าไม่ได้อินกับศิลปะ แล้วจริงๆ แฮมรักหรือชอบอะไร 

“จริงๆ อยากเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งครับ (หัวเราะเขิน)” 

ศิลปินคนโปรดของแฮมคือ  ศิริพร อำไพพงศ์ กับ เต๋า ภูศิลป์ 

“แต่พอแฮมมาดูสารรูปตัวเองแล้ว ไม่ผ่านว่ะ (หัวเราะ) แฮมเคยประกวดของแกรมมี่ครั้งหนึ่งครับ เข้ารอบ 50 คนด้วยนะ” 

พับความฝันเรื่องการเป็นนักร้องไป เพราะไม่กี่ปีมานี้แฮมเตรียมปักธงใหญ่กว่านั้น อันเนื่องมาจากงานสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนฯ ที่หนีไม่พ้นคนค่อนขอดว่ามาจากคลองเตย 

“แฮมอยากจะลงสมัคร ส.ส.ของเขตคลองเตยครับ แฮมอยากเป็น สส. คนแรกที่มาจากคลองเตย แฮมอยากให้ตัวเองเป็นคนที่มีทุกที่ ใครเรียกหาแฮม แฮมไปได้ทันที แฮมไม่อยากเห็นความเดือดร้อนที่มากกว่านี้ของคนคลองเตย เพราะบางครั้ง ส.ส. บ้านแฮมมีแต่รูป มีแต่ภาพ แต่ตัวไม่มา แต่แฮมจะเป็น ส.ส.ที่ใครเดือดร้อนจะพุ่งไปหาทันที”

ความผูกพันต่อคนไร้บ้านและงานตรวจโควิดเชิงรุกที่ทุ่มสุดตัว

ก่อนหน้ามาลงสนามตรวจโควิดเชิงรุก แฮมลงพื้นที่ช่วยเหลือคนไร้บ้านมาก่อนและทำมาตลอด

“แฮมโตมากับการเห็นคนไร้บ้านนอนข้างถนน ยายเดินไปคุยกับเขา ปากซอยบ้านแฮมฝั่งด้านตลาดคลองเตยจะมีคนไร้บ้านมานอนอยู่ทุกวันๆ”​

ใช้คำว่า ‘ผูกพัน’ ก็ได้ แฮมจึงดูดายไม่ได้ บางคนแฮมเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ 

“ม.1 ม.2  เราเดินหรือนั่งรถเมล์กลับบ้านดึกๆ ก็จะเห็นเขานอนข้างทาง ช่วงโควิดรอบแรกรอบสองคนกลุ่มนี้ถูกทอดทิ้ง  แฮมพยายามเจียดของที่คนบริจาคมา เอาไปแจกให้เขา ข้าวบ้าง ของแห้งบ้าง เป็นสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด ถึงจะมีหรือไม่มีโควิดเราก็ทำ”

จนโควิดเข้ามาจริงๆ แฮมจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม Care ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย IHRI มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายสลัมสี่ภาค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 

ก่อนลงพื้นที่ช่วยชมรมแพทย์ชนบทตรวจโควิดเชิงรุก แฮมไปเป็นอาสาสมัคร สปสช.ช่วยให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดโควิด ลงพื้นที่แจกฟ้าทะลายโจรพร้อมสอนวิธีการกิน ความรู้พื้นฐานจากการอบรมจึงแน่นพอตัว  ถามกว่ากลัวไหม แฮมตอบทันทีว่าไม่

“ไม่กลัวเลยครับ แฮมทำงานโควิดมาปีกว่า แต่ก็คิดนะว่าทำไมเราต้องมานั่งทำอย่างนี้ด้วย ทั้งที่เราก็เป็นเด็กและเยาวชนคนหนึ่ง เป็นแค่ประชาชน  แต่ถ้าประชาชนไม่ช่วยกันเองแล้วใครจะช่วย ลองสักตั้งวะ ไหนๆ ก็ทำมาตั้งปีกว่าแล้ว เอาให้มันสุดไปเลย ถ้ามันติดก็ติด อย่างน้อยก็ได้ช่วยเขา เราไม่อยากเห็นเขาถูกมองข้าม เราก็สู้ไปกับเขานะ ให้เขารู้สึกว่าอย่างน้อยพวกเราก็ไม่ได้ทิ้ง”  

คนป่วยถามอะไรมา แฮมตอบช่วยคลี่คลายได้ทุกคำถาม แต่มีคำถามหนึ่งที่แฮมต้องตอบปฏิเสธแทบทุกครั้ง

“จะได้เตียงไหม” “จะได้เตียงเมื่อไหร่” 

“แฮมบอกว่าหาเตียงให้ไม่ได้ แต่แฮมก็จะคุยกับเขาว่าจะต้องดูแลตัวเอง ทั้งการรักษา กินข้าวกินยา เราสามารถอยู่ร่วมกับคนที่ไม่ติดได้นะครับ เราต้องอาบน้ำเป็นคนสุดท้าย เราต้องดูแลตัวเองให้มันมากขึ้นกว่าคนอื่น ฯลฯ” 

หลายรายที่ Home Isolation แฮมก็จะดูแลผ่านโทรศัพท์ และช่องทางออนไลน์ต่างๆ บุกไปหาถึงที่เลยก็มี 

“บางครั้งเขาเป็นอะไรขึ้นมา เราต้องรีบไปหาเขา ไปวัดความดันให้เขา มันเหนื่อยมากนะครับ เหนื่อยทั้งใจทั้งกาย แต่เราก็ต้องทำทุกวิธีให้เขาไม่เครียด สารภาพว่าบางครั้งแฮมก็หลอนเลยนะครับ ได้ยินเสียงโทรศัพท์ดัง วันนี้จะมีอะไรเซอร์ไพร์สเราอีกไหม จะปิดโทรศัพท์ก็ไม่ได้ บางทีโทรมาถามอาการตอนตีสองตีสาม เขาเครียดนะครับ  แฮมก็เข้าใจ เลยให้หมดเลย ไลน์ เฟซ เบอร์ อยากได้อะไรแฮมให้หมดเลย” 

แต่สุดท้าย ไม่ใช่แฮมหรอกที่ให้อยู่ฝ่ายเดียว

“คนไข้ครับ เขาจะบอกให้แฮมรักษาสุขภาพด้วย เป็นกำลังใจให้ตลอด สู้ต่อนะ อย่าเพิ่งเป็นอะไร มันอบอุ่นครับ มันมีความสุข ได้ปลดปล่อย (ยิ้ม)”

” สุดท้ายนี้ ขอบคุณทีมงานสภาเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังใจ ไม่เคยทอดทิ้งเราเลย อันนี้นะครับเป็นกำลังใจที่ดีที่สุดของแฮม…..

น้องไหว แฮมก็ไหวครับ”