ไร้บ้านหลากมุมเมือง โควิด-19 กับชีวิตคนไร้บ้าน

ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 พบคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 30% ทั่วประเทศ  หลายต่อหลายคนเป็นคน เป็นแรงงานที่เคยอยู่อาศัยในห้องเช่า ขาดงาน ขาดรายได้ จนไร้บ้าน  อีกหลายคนคือผู้ป่วย ที่ถูกขับออกจากบ้านเช่าและชุมชน จากความกลัวและความไม่เข้าใจ

ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  Penguin Homeless ชวนพูดคุยในประเด็นนี้ร่วมกับศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านปทุมธานี-บ้านพูนสูข บ้านเตื่อมฝัน กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่ และเสียงคนไร้บ้านขอนเเก่น: Voice Of Homeless In Khonkaen Cities เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์คนไร้บ้านในปัจจุบัน รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานและความเห็นเพื่อหาแนวทางดูแลคนไร้บ้านในระยะยาวต่อไป

“คนไร้บ้านหน้าใหม่”: ปรากฏการณ์ใหม่จากโควิด-19

ในการระบาดระลอกที่สามที่รุนแรงในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อทุกคนในวงกว้าง ภาพข่าวที่สะเทือนใจหลายคนในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นภาพคนนอนตายริมถนน 

แม้แต่ สมพร หารพรม ตัวแทนจากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ยอมรับว่าภาพนี้เป็นปรากฏการณ์ที่กลุ่มคนทำงานเองไม่เคยพบ หรือพบได้น้อยมากตลอดการทำงานกว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา ซึ่งคนเหล่านี้อาจเป็นได้ทั้งคนไร้บ้านและคนในกลุ่มเปราะบางอื่น 

อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เพิ่งพบเห็นในการระบาดระลอกที่สามของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยคือ กลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่  

ในเขตกรุงเทพมหานคร ปรากฏการณ์ใหม่นี้ไม่ได้เกิดจากสาเหตุทางภาวะเศรษฐกิจหรือทางครอบครัว หากแต่เป็นการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้พวกเขาหลุดออกจากระบบมาอยู่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ เช่น ครอบครัวที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 แล้วถูกให้ออกจากห้องเช่าจึงต้องออกมาอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ ซึ่งต่างไปจากสาเหตุที่พบได้ในการทำงานที่ผ่านมา  อีกทั้งคนไร้บ้านหน้าใหม่เหล่านี้มีลักษณะเป็นครอบครัว ไม่ใช่กลุ่มคนเดี่ยวเช่นในอดีต

ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ แม้จะมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในขณะนี้ได้ดีกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้คนมีประสบการณ์จึงสามารถปรับตัวและได้รับความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน อีกทั้งยังไม่เกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่แออัดในเมือง แต่หากเกิดการระบาดหรือเกิดกลุ่มคลัสเตอร์ในเมืองก็อาจเกิดกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ได้ 

คุณวิเชียร ทาหล้า อาสาสมัครเครือข่ายคนไร้บ้าน เชียงใหม่

วิเชียร ทาหล้า ผู้เป็นอาสาสมัครเครือข่ายคนไร้บ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า“เราพยายามเชื่อมกับกลุ่มอื่น ๆ ด้วย กลุ่มผู้ประกอบการที่อยากให้ความช่วยเหลือที่ตรงกับพี่น้อง [คนไร้บ้าน] จนเรารู้สึกว่ามันทำให้การทำงานของเราถูกมองเห็นจากผู้คนในเชียงใหม่พอสมควร ทำให้เราสามารถขยับขยายไปทำงานกับพี่น้องในห้องเช่า หรือบ้านเช่าในชุมชนแออัดได้พอสมควร”

อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ ยังไม่มีประสบการณ์ในการรับมือหากเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ แต่ได้เตรียมรับมือด้วยการศึกษาสถานการณ์ในพื้นที่อื่นแล้วนำมาวางแผน  เนื่องจากเศรษฐกิจของเชียงใหม่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก หากเกิดการระบาดจะส่งผลต่อไป ทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงักและอาจทำให้คนบางกลุ่มตกงานและต้องออกจากห้องเช่ามาเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ได้ 

วิเชียรแสดงความกังวลว่า “หากต่อไปไม่มีงานจริง ๆ เราคิดไว้เหมือนกันว่าคนไร้บ้านหน้าใหม่จะออกมาแน่ ๆ เพราะบางคนไม่สามารถไม่กลับไปภูมิลำเนาได้  บางคนเพิ่งตกงานอีกครั้งเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา จึงมีความเสี่ยงว่าจะมีคนไร้บ้านในเชียงใหม่มากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นไปได้ หากยังไม่เกิดมาตรการใด ๆ ”

คุณณัฐวุฒิ​ กรมภักดี​ กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน ขอนแก่น

ณัฐวุฒิ​ กรมภักดี​ ตัวแทนจากกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การระบาดระลอกที่สามนี้เข้าใกล้กลุ่มคนไร้บ้านในขอนแก่นมากกว่าสองครั้งที่ผ่านมา และได้มีการระบาดในชุมชนแออัด รวมถึงตลาดสดซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของคนไร้บ้าน  อีกทั้งขณะนี้ที่จังหวัดขอนแก่นพบคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนออกมาอยู่พื้นที่สาธารณะมากขึ้นพอสมควร

“มีความเสี่ยงมากที่พี่น้องของเราจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ติดโควิดไปด้วยในระลอกนี้ และถ้าติดแล้วผมคิดว่าการควบคุมค่อนข้างยากเพราะพี่น้องเรายังต้องออกไปทำงาน ไปทำมาหากิน” ณัฐวุฒิกล่าว

ไม่เพียงแต่ตามเมืองใหญ่เท่านั้น เมืองเล็กอย่างจังหวัดกาญจนบุรีก็มีปรากฏการณ์คนไร้บ้านหน้าใหม่เช่นกัน  ปัจจุบันที่จังหวัดกาญจนบุรีมีคนไร้บ้านในเขตตัวเมือง 57 คน เพิ่มจาก 43 คนในปี 2562-63 รวมถึงในอำเภอหรือหมู่บ้านที่พบคนไร้บ้านได้ทั่วไปตามตลาดสดหรือศาลเจ้า 

คุณวิชาญ อุ่นอก อาสาสมัครคนไร้บ้าน กาญจนบุรี

วิชาญ อุ่นอก ตัวแทนอาสาสมัครคนไร้บ้าน จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า “และเนื่องจากการระบาดระลอกที่สามนี้เป็นการระบาดในวงกว้าง คนที่อยากเข้าไปช่วยเหลือเองก็ได้รับความเดือดร้อน ตนเองก็กลัวว่าเข้าไปแล้วจะติดเชื้อ  การช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านจึงมีข้อจำกัด ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากช่วย แต่ความกลัว ความวิตกมีมากกว่ารอบที่หนึ่งและสอง” 

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือคนไร้บ้านไม่มีอาหาร เนื่องจากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ทำให้คนเหล่านี้ขาดที่พึ่งพิง

การทำงานเชิงรุก: ทางออกในการรับมือกับภาวะวิกฤติ

คุณสมพร หารพรม มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย

“สิ่งสำคัญไม่ใช่โรคโควิดอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือการอยู่รอดของเขาในพื้นที่สาธารณะ”

– สมพร หารพรม

จากปัญหาที่คนไร้บ้านกำลังเผชิญท่ามกลางการแพร่ระบาดระลอกที่สามไม่ได้มีเพียงความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 เท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องความอยู่รอดที่ยากยิ่งขึ้นในภาวะขาดที่อยู่อาศัยและอาหาร รวมถึงสิ่งยังชีพอื่น ๆ ขณะที่มีการล็อคดาวน์ 

การทำงานเชิงรุกจึงเป็นแนวทางการทำงานที่สำคัญในขณะนี้ ซึ่งไม่ใช่การดำเนินการโดยตัวแทน เครือข่าย หรืออาสาสมัครเพียงฝ่ายเดียว ทว่าเป็นการร่วมมือของทุกภาคส่วนและภาคีต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อร่วมหาหนทางในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่สามของโควิด-19 ที่กำลังคุกคามคนไร้บ้านในปัจจุบัน  

ณัฐวุฒิกล่าวว่า “เราอยากให้รัฐเข้ามาซัพพอร์ตในการจัดหาชุดตรวจ เราไม่อยากจะเปิดรับบริจาค เรารู้สึกว่านี่คือหน้าที่ของรัฐที่รัฐจะต้องตรวจเชิงรุกให้เรา เพราะเรารู้สึกว่าการตรวจเชิงรุกในกลุ่มคนไร้บ้านที่เป็นพี่น้องเรา ถ้าตรวจแล้วไม่เจอก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นว่าที่จริงแล้วคนไร้บ้านไม่ได้น่ากลัว ขอแค่คุณจัดพื้นที่ให้เขาอยู่กับพื้นที่ มีจุดพักคอยในที่สาธารณะ หรือให้เขาเข้าถึงการฉีดวัคซีนด้วย ผมคิดว่ารัฐควรจะต้องเร่งเรื่องนี้”

สมพรกล่าวว่ามูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและกลุ่มเครือข่ายได้ออกแถลงการณ์เสนอให้มีการทำงานเชิงรุกโดยให้รัฐนำระบบสาธารณสุขเข้าไปหาประชาชน ประกอบกับการจัดจุดประสานงานในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถเข้าถึงระบบสาธารณะสุขในเขตที่อยู่อาศัยของพวกเขาได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันเบื้องต้น เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ และอาหาร 

สมพรกล่าวว่าการจัดการส่วนนี้ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานรัฐต่าง ๆ  ส่วนในระยะยาวมีการร่วมมือและพูดคุยระหว่างหน่วยงานเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านในสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดระลอกที่สาม รวมถึงการลงพื้นที่ร่วมกัน การจัดพื้นที่พักคอย จัดให้มีการลงทะเบียนสำหรับคนไร้บ้านเพื่อให้คนเหล่านี้เข้าถึงสิทธิในการรับวัคซีนและการตรวจเชิงรุกในกลุ่มคนไร้บ้านเพื่อหาผู้ติดเชื้อต่อไป

การจัดจุดประสานงานเช่นนี้ได้รับการตอบสนองอย่างดีเช่นกันในพื้นที่จังหวัดอื่น เพราะทำให้คนไร้บ้านมีช่องทางและสบายใจที่จะเข้ามาขอความช่วยเหลือ อีกทั้งทำให้เครือข่ายและหน่วยงานได้พูดคุยกับคนไร้บ้านเพื่อทำความเข้าใจปัญหาสำหรับนำไปวางแผนแก้ไขต่อไป 

วิชาญกล่าวว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกในขณะนี้คือการช่วยเหลือให้คนไร้บ้านเข้าถึงแหล่งอาหารและตั้งจุดประสานงาน

“เราเห็นข้อจำกัดว่าถ้าหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบคนไร้บ้านยังอยู่ในที่ตั้งเดิม คือยังอยู่ในสำนักงาน ไม่ได้ออกมา ยากมากที่คนไร้บ้านจะเดินเข้าไปขอความช่วยเหลือ” 

ทางอาสาสมัครคนไร้บ้านที่จังหวัดกาญจนบุรีจึงจัดศูนย์ประสานงานและอีเวนต์ที่รวมหน่วยงานเกี่ยวกับคนไร้บ้านต่าง ๆ สำหรับตั้งจุดแจกอาหาร อุปกรณ์ป้องกัน และประสานงานด้านสิทธิและการรักษา รวมถึงการขึ้นทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีน

“รูปแบบที่เป็นจุดประสานงานค่อนข้างตอบโจทย์ที่เป็นคนไร้บ้านพอสมควร เขากล้าที่จะออกมา”

ทางเครือข่ายฯ ประสบความยากลำบากในการดำเนินงานช่วงแรก เนื่องจากบางหน่วยงานยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับคนไร้บ้าน และเกรงว่าคนไร้บ้านในที่สาธารณะเป็นการรวมกลุ่มซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อโควิด-19 แต่เมื่อได้พูดคุยก็ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานและมีการวางแผนจะขยับขยายการทำงานต่อไปร่วมกับตำรวจและเทศกิจในการจัดการพื้นที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน เพราะการผลักไสคนไร้บ้านออกจากพื้นที่สาธารณะจะกลับยิ่งทำให้เกิดการรวมกลุ่มและติดเชื้อได้มากขึ้น การพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐจึงนำไปสู่การจัดที่พักพิงเป็นหลักแหล่งให้แก่คนไร้บ้านและทำให้ปัญหาคลี่คลายไปได้

“ตอนนี้เราคิดถึงเรื่องการทำระบบฐานข้อมูล ตอนนี้มี 50 คนที่กาญจนบุรี ที่เราขึ้นว่าเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน นอนที่ไหน แล้วส่งข้อมูลให้กับทุกหน่วยที่เป็นภาคีในการทำงานร่วมกัน  เวลาคนไร้บ้านเจ็บป่วยขึ้นมา ส่งตัวให้โรงพยาบาล เราก็รู้ว่าเขาเป็นคนไร้บ้านในเขตเมืองกาญฯ มีชื่ออยู่ คนที่ได้รับการสงเคราะห์ก็จะเชื่อมข้อมูลกันแบบนี้  ตอนนี้เลยคิดว่าหน่วยงานภาครัฐจึงมีความจำเป็นมากในการเข้ามาช่วยกัน” วิชาญกล่าว

ส่วนที่จังหวัดขอนแก่นได้พยายามเชื่อมโยงความช่วยเหลือไปสู่ชุมชนด้วยการทำระบบคูปองอาหารหรือฟูดสแตมป์ (food stamp) แจกจ่ายให้แก่กลุ่มคนไร้บ้าน ให้คนเหล่านี้นำคูปองไปแลกอาหารและของใช้จากร้านค้าต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้ผู้ค้ารายย่อยมีรายได้เลี้ยงตัวเองไปในขณะเดียวกัน ส่วนคนไร้บ้านก็มีสิทธิในการเลือกอาหารหรือของจำเป็นตรงตามที่ตนต้องการ

“เราปรับตามกลุ่มเป้าหมายเยอะมาก เพื่อให้เขาเข้าถึงสิ่งที่เขาต้องการ อาหารที่เขาต้องการจริง ๆ  อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเกิดจากระบบนี้คือ ตัวผมเองหรืออาสาสมัครที่ไม่ใช่ชุมชน ไม่ได้เข้าไปบริหารจัดการเลย เขามีระบบแกนของแต่ละพื้นที่ แต่ละเครือข่ายที่บริหารกันเอง เขามีระบบตรวจสอบว่าใครคือคนเปราะบางในพื้นที่ ใครคือคนที่ลำบากจริง ๆ แล้วเขาก็อัพเดตกันเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนั้น” ณัฐวุฒิกล่าวถึงลักษณะการจัดการในพื้นที่ที่ให้อำนาจและทางเลือกแก่ทุกฝ่าย

ณัฐวุฒิกล่าวว่าจากการทดลองรูปแบบคูปองนี้ในเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว มีคนไร้บ้านเข้าถึงอาหารมากถึง 500 ครัวเรือน และเกิดการจับจ่ายในชุมชนกว่า 140,000 บาท ตนจึงคิดว่ารูปแบบนี้เกิดประโยชน์แก่ทั้งคนไร้บ้านและผู้ค้าในชุมชน และหาทางจะเสนอรูปแบบนี้แก่รัฐเพื่อเป็นวิธีการในการแก้ปัญหาต่อไป

ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  วิเชียรกล่าวว่าการตั้งจุดประสานงานทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเป็นพื้นที่ให้คนไร้บ้านได้แสดงตัวตน เป็นช่องทางให้เครือข่ายฯ ได้ประสานงานกับคนในชุมชน ทำให้เข้าถึงพี่น้องในกลุ่มได้ง่ายขึ้น อีกทั้งทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มอื่นๆ ที่เปราะบางได้ด้วย  นอกจากนี้เครือข่ายฯ กำลังเตรียมความพร้อมหากเกิดการแพร่ระบาดในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยการตั้งจุดตรวจในพื้นที่สาธารณะ

เครือข่ายฯ มีกลไกถัดมาคือจัดการเชื่อมโยงประชาชนทั่วไปที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือได้มีช่องทางในการแลกเปลี่ยนผลผลิตของพี่น้องในเครือข่ายฯ แทนที่จะเป็นการบริจาค เพื่อเป็นกลไกให้เกิดการหมุนเวียนในพื้นที่ 

“เครือข่ายพี่น้องที่ทำเรื่องเกษตร เครือข่ายพี่น้องที่ทำเรื่องที่ดิน เขามีทรัพยากร มีข้าว ผักอยู่แล้ว ก็เป็นกลไกในการนำมาเชื่อมต่อกับการเข้าถึงอาหารของคนในเมือง ซึ่งที่จริงเขาไม่ได้ขาดแคลนเรื่องอาหาร  เราก็เลยถือโอกาสนี้ใช้วิธีระดมจากในเครือข่ายมา แล้วเราเอามาจัดการแบ่งสรร ส่วนหนึ่งนำมาทำอาหารให้พี่น้องคนไร้บ้าน” วิเชียรเล่าถึงการทำงานที่ผ่านมา

ขณะนี้ทางเครือข่ายฯ อยู่ในขั้นตอนที่กำลังขยับขยายเข้าไปในชุมชนแออัดเมือง ว่าแต่ละฝ่ายมีศักยภาพด้านใดบ้างเพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายอื่น ๆ ต่อไปโดยที่เครือข่ายฯ เป็นผู้จัดหาข้อมูลสำหรับให้แต่ละหน่วยงานไปบริหารจัดการเพื่อให้เข้าถึงผู้ที่เดือดร้อนจริง ๆ 

คนไร้บ้านต้องได้รับการปฏิบัติในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียม

คนไร้บ้านเป็นส่วนหนึ่งของเมือง และไม่มีวันที่จะหมดไปตราบใดที่ยังมีเมือง  นอกจากการช่วยเหลือเร่งด่วนในสถานการณ์ปัจจุบัน เครือข่ายต่าง ๆ ได้วางแผนและมีข้อเสนอในระยะยาวเพื่อให้คนเหล่านี้อาศัยอยู่ในเมืองโดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในฐานะประชากรส่วนหนึ่งของสังคมและมีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ

ปัจจุบันยังมีช่องโหว่ในระบบการทำงานของภาครัฐที่ทำให้คนไร้บ้านยังไม่ได้รับการดูแลที่เพียงพอ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่สามของไวรัสโควิด-19 การจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอให้แก่คนไร้บ้านคือการรับมือเร่งด่วนที่สุด ไม่ว่าจะในเมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก รวมไปถึงการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงให้ประชาชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งจะป้องกันปัญหาคนที่หลุดออกจากระบบเศรษฐกิจแล้วกลายมาเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนเปราะบางอย่างคนไร้บ้านมักถูกรัฐยกมาอ้างในการจัดหาสวัสดิการและวัคซีนว่าควรได้รับความช่วยเหลือเป็นกลุ่มแรก แต่ในทางปฏิบัติแล้วคนเหล่านี้กลับถูกละเลยและเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะเข้าถึงความช่วยเหลือและสวัสดิการต่าง ๆ 

แนวทางที่จะส่งเสริมให้คนไร้บ้านอยู่ได้ด้วยตนเองในระยะยาวทั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้และหลังจากนี้ไป คือ การจัดการโครงสร้างเพื่อให้คนไร้บ้านอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งการบริจาค โดยมองว่าคนไร้บ้านไม่ใช่ภาระของเมือง

วิเชียรกล่าวว่าบางครั้งวัฒนธรรมการให้ก็ทำให้การทำงานยากขึ้นและทำให้คนอ่อนแอลงเพราะทำให้กลุ่มคนเปราะบางพึ่งพาคนอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องมียุทธศาสตร์และการพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะเข้าใจคนไร้บ้านได้ดีขึ้น

“ต้องพูดคุยแลกเปลี่ยน เพราะมีเรื่องอื่น ๆ อีก มีเรื่องสิทธิ มีเรื่องบัตรหาย ซึ่งหากเกิดอะไรมากไปกว่านี้จะเกิดผลกระทบแน่” วิเชียรกล่าว

วิชาญกล่าวในลักษณะเดียวกันว่าการมองว่าคนไร้บ้านเป็นคนที่ไม่มีที่ไปถือเป็นการสงเคราะห์  ในภาวะที่ผ่านจุดนี้ไปแล้ว การส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องจำเป็น เพราะในปัจจุบันคนไร้บ้านยังแทบเข้าไม่ถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐ อีกทั้งต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมองของคนในสังคมและยุทธศาสตร์ของรัฐที่มองว่าคนไร้บ้านต้องหมดไป

“การช่วยเหลือที่ผ่านมา ที่เมืองอื่น ๆ ด้วย เป็นเหมือนส่วนที่คนมีอยู่มีกินล้นแล้ว แล้วเหลือ เขาถึงจะได้รับการช่วยเหลือและดูแล”

“จะทำอย่างไรให้กลุ่มคนไร้บ้านเหล่านี้ยืนได้ด้วยตนเอง ที่มากกว่าการรอรับจากคนที่มีจิตใจเมตตา เพราะที่ผ่านมาเรามองคนไร้บ้านเหมือนกับว่าเขาอยู่ในภาวะที่ต้องรับอย่างเดียว”

“เราต้องมองว่าคนไร้บ้านเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เขามีสิทธิที่จะอยู่ในเมือง แต่เราจะจัดสวัสดิการหรือมีการจัดการอย่างไรให้เขาอยู่ได้ ไม่เป็นภาระของเมือง ผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่เราต้องคิดกันจริง ๆ หลังจากนี้ว่าคนไร้บ้านจะอยู่กันอย่างไร” วิชาญกล่าว

แนวคิดที่จะนำไปสู่การจัดการดูแลและพัฒนาความเป็นอยู่ของคนไร้บ้านในเมืองคือการมองว่าคนไร้บ้านคือมนุษย์ที่มีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคม ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชนที่ต้องถูกอุ้มชูหรือดูแลเป็นพิเศษกว่าคนอื่น 

การปรับมุมมองของรัฐและคนในสังคมที่ไม่ได้มองคนไร้บ้านแบบตัดสินหรือเหมารวมจะนำไปสู่การส่งเสริมให้คนไร้บ้านเข้าถึงสิทธิ ทรัพยากร และสวัสดิการพื้นฐานเหมือนทุกคน และไม่ถูกสังคมดูแคลน 

“ที่ขอนแก่นเราพูดตลอดว่าเราทำงานกับคนไร้บ้านภายใต้ความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกับคนอื่น  เราจะไม่สปอยล์ว่าฉันเป็นคนไร้บ้านนะ คุณต้องมาดูแลฉันดีกว่าคนอื่นนะ ฉันต้องเข้าถึงอะไรดีกว่าคนอื่นนะ  แต่ว่าทำอย่างไรให้คนไร้บ้านเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานในความเป็นพลเมืองเหมือนกับคนอื่น”  นี่เป็นวิธีคิดที่ณัฐวุฒิมองว่าจะนำไปสู่การออกแบบนโยบายการทำงานที่ไม่เน้นการสังคมสงเคราะห์

การกลายมาเป็นคนไร้บ้านเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งในเชิงโครงสร้างทางสังคม สถาบันครอบครัว หรือความเปราะบางในมิติอื่น ๆ  ดังนั้น การมีระบบรัฐสวัสดิการรองรับ หรือระบบคุ้มครองทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลไกรัฐหรือกลไกกลางที่จะเข้าไปคุ้มครองโอบอุ้มผู้คนได้ทันในช่วงรอยต่อที่เขาจะกลายมาเป็นคนไร้บ้าน คือแนวทางที่จะทำให้คนกลายเป็นคนไร้บ้านลดลง

วิเชียรกล่าวว่า “คนไร้บ้านไม่มีทางหายไปทั้งหมด มันเป็นภาวะหนึ่ง ระยะเวลาจะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่ว่ามีระบบอะไรรองรับ”

“เรื่องความเหลื่อมล้ำมีผลกระทบกันได้หมด บางคนเคยมีทุกอย่างแต่พอมีโควิดแล้วไม่มีมาตรการรองรับก็สามารถหลุดออกมาได้”

วิเชียรจึงมองว่าระบบหรือโครงสร้างที่ดีที่ออกแบบมาเพื่อรองรับทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะทำให้คนกลับมาตั้งหลักและฟื้นฟูให้ใช้ชีวิตต่อไปได้ คือเครื่องมือที่ป้องกันไม่ให้คนกลายมาเป็นคนไร้บ้าน

ตัวแทนจากเครือข่ายต่าง ๆ ล้วนมีภาพฝันถึงรัฐสวัสดิการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและการทำงานแบบร่วมมือไม่แยกส่วนระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะนำไปสู่ระบบหรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่จะรองรับคนที่กำลังจะกลายมาเป็นคนไร้บ้าน รวมไปถึงลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงสวัสดิการและสิทธิขั้นพื้นฐาน และใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์และประชากรส่วนหนึ่งของสังคมในอนาคต

และการจะทำให้ภาพฝันนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วนของสังคม

**********