ถ้าสังคมเราให้โอกาส คนไร้บ้านจะกลับสู่สังคมได้อีกครั้ง : นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค

“เราสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เขาสามารถกลับคืนสู่สังคม เราไม่อยากให้คนขาดโอกาสพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่นเดียวกับกลุ่มของเรา ที่อยากมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีที่อยู่ที่ปลอดภัย และเขาเหล่านั้นก็เป็นเช่นเดียวกัน”

รู้จัก “พี่แหม่ม” นุชนารถ แท่นทอง ผู้ประสานงาน เครือข่ายสลัมสี่ภาค

นุชนารถ แท่นทอง ผู้ประสานงาน เครือข่ายสลัมสี่ภาค หรือ พี่แหม่ม เธอและเครือข่ายฯเป็นหนึ่งในแนวร่วมที่ช่วยนำเสนอปัญหา “คนไร้บ้าน” มาตั้งแต่สมัยคนในสังคมยังเรียกคนเหล่านี้ว่า “คนเร่ร่อน” แม้ปัจจุบันปัญหาคนไร้บ้านสามารถดึงคนในสังคมให้มาสนใจได้บ้าง และรัฐก็เริ่มตอบสนองโดยการให้งบประมาณมาสร้าง “ศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน” ในจังหวัดนำร่อง โดยให้งบประมาณมา 118 ล้านบาท แต่ทว่ายังอยู่ในกระบวนการที่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ เพราะยิ่งเมืองเติบโตหรือพัฒนาไปไกลเท่าใด ยิ่งทิ้งคนให้ไร้บ้านมากขึ้น

เธอมองว่า จากประสบการณ์การลงสำรวจ และการทำงานกับคนไร้บ้าน การจะแก้ปัญหาคนไร้บ้านอย่างยั่งยืนได้ต้องทำความเข้าใจ และให้โอกาสที่เป็นอิสระแก่พวกเขา

 

วีดีโอ

เครือข่ายสลัมสี่ภาค : จากคนจนเมือง ถึงคนไร้บ้าน

พี่แหม่ม เล่าว่า เครือข่ายสลัมสี่ภาคเป็นองค์กรชาวบ้านที่ทำเรื่องที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง โดยเฉพาะประเด็นคนไม่มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง  แต่หลังจากที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาเมืองที่เกิดขึ้นก็พบว่า ยังมีคนที่เผชิญปัญหามากกว่าคนจนเมือง

“เราคุยกันแล้วเราพบว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีกลุ่มคนที่เผชิญปัญหาลำบากยิ่งกว่าเราอีก คนกลุ่มนี้คือคนไร้บ้าน หรือ คนเร่ร่อน เมื่อก่อนยังไม่ได้เรียกคนไร้บ้านนะ จากนั้นก็มีการชักชวนกันสำรวจ เริ่มจากมูลนิพัฒนาที่อยู่อาศัย และCopa หรือกลุ่มปฏิบัติการคนจนเมือง และเครือข่ายสลัมสี่ภาค เข้าไปสำรวจคนไร้บ้านในกรุงเทพฯตามจุดต่างๆ เช่น สนามหลวง หัวลำโพง และตามอนุสาวรีย์ ก็มีการสำรวจ ไปคุย”

“เราเห็นคนไร้บ้านที่อยู่อาศัยตามที่สาธารณะ จริงๆแล้วเขาไม่ได้เป็นคนอย่างที่สังคมตีตราว่า เป็นคนสติฟันเฟือง ติดอย่าเสพติดแล้วก็หนีออกจากบ้าน เป็นคนจิตตก ประเภทอะไรอย่างนี้ จริงๆ ไม่ใช่เลย มีคนหลายกลุ่มมากที่เข้ามาเป็นคนไร้บ้าน เช่น เป็นคนที่เข้ามาทำงานชั่วคราว หลังหว่านพืชผลเข้ามาทำงานในกรุงเทพ พอถึงหน้าเก็บเกี่ยวก็กลับ พอเข้ามาก็ไม่สามารถเช่าที่อยู่อาศัยได้เพราะมีราคาแพง ก็อยู่บริเวณนั้น ก็จะมีกระเป๋าใบหนึ่งเหมือนเป็นทุกอย่างของเขา โดยจะมีของเหล่านี้ติดตัวตลอด ไปไหนก็นอนนั่น”

“เวลาสัมภาษณ์ เขาก็จะบอกว่า เขามาจากครอบครัวที่ลำบากอยู่กันไม่พอกินก็ออกมาทำงาน บางคนพ่อแม่ตายหมดแล้ว บางคนมีปัญหาทะเลาะกับคนในครอบครัว อยู่กับพี่น้องไม่ได้ มีหลายกลุ่มมาก สิ่งที่เราเห็นก็คือว่า คนเหล่านี้ไม่ต่างจากพวกเราเลย”

 

ถ้าสังคมเราให้โอกาส คนไร้บ้านจะกลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง

จากประสบการณ์การลงพื้นที่ สำรวจ พูดคุยกับคนไร้บ้าน และทำกิจกรรมร่วมกับคนไร้บ้าน พี่แหม่มเห็นว่าการให้โอกาส การมีอยู่อาศัยที่มั่นคงปลอดภัย จะช่วยสร้างโอกาสให้คนไร้บ้านกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง

“เราสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เขาสามารถกลับคืนสู่สังคม เราไม่อยากให้คนขาดโอกาสพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่นเดียวกับกลุ่มของเรา ที่อยากมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีที่อยู่ที่ปลอดภัย และเขาเหล่านั้นก็เป็นเช่นเดียวกัน”

“เวลาพวกพี่ลงพื้นที่ไปสังเกต ตอนแรกก็กลัวเขานะ เพราะสังคมบอกว่าพวกเขาเป็นคนแบบนั้น แบบนี้ คนเหล่านี้น่ากลัว ซึ่งจริงๆแล้วเขาเป็นคนน่ารักมากเลย ดังนั้นจึงเห็นว่าควรตั้งศูนย์ฯ(ศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน) เพราะเวลาเราไปสำรวจ เขาจะกลัวมากว่าจะมีคนจากรมประชาสงเคราะห์มาจับตัวไป พอไปอยู่ในสถานสงเคราะห์คนที่เป็นคนในครอบครัวเดียวกันก็ถูกแยกออกไป หากันไม่เจอก็มี บางคนไม่มีบัตรประชาชน”

“เขาไม่ได้ชอบที่จะไปอยู่สถานสงเคราะห์ เพราะมันเป็นสถานที่ที่ปิด ดังนั้นการสร้างศูนย์พักพิงชั่วคราวให้เขาได้ตั้งหลัก มีที่อาบน้ำ มีที่เปลี่ยนเสื้อผ้า มีที่เก็บของ และพวกเขาสามารถออกมาทำมาหากินในแต่ละวันได้ จากนั้นเมื่อพวกเขาเริ่มตั้งตัวได้ หรือมีทางไป เขาก็จะไปเอง”

ส่วนกลุ่มที่ยังอยู่และร่วมทำกิจกรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเอง มีการออมทรัพย์ มีการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน มีการช่วยกันออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ช่วยกันออกค่าน้ำ มีการปลูกผัก ออกทำมาหากินร่วมกัน พี่แหม่มเองรู้สึกว่า คนไร้บ้านที่เคยทำงานด้วยเปลี่ยนแปลงไปมาก

“พวกเขาเปลี่ยนแปลงมาก มีหลายคน และหลายกลุ่มมากที่มีครอบครัวไปแล้ว มีบ้าน โดยที่พวกเขามีอิสระที่จะเลือก เขาอยากอยู่เขาก็อยู่ เขาไม่อยากอยู่เขาก็ไป เขาก็จะช่วยทำศูนย์ฯให้มันดีขึ้น ดูแล้วเป็นความสุขที่เกิดขึ้น”

ตอนนี้ก็เป็นรูปธรรมแล้ว รัฐยอมรับ รัฐถึงอนุมัติงบ 118 ล้าน สำหรับสร้างศูนย์คนไร้บ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นรูปธรรมที่ยืนยันว่ามันมีความสำเร็จ พี่เชื่อว่าในอนาคตมันจะยืนยันได้มากขึ้นเมื่อคนไร้บ้านมีจำนวนลดลง

“นี่คือสิ่งที่เราเห็น มันเป็นพัฒนาการของกลุ่มคนไร้บ้าน ถ้าสังคมเราให้โอกาส กลุ่มคนเหล่านี้ก็สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง มีครอบครัว มีชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงพวกเราก็พยายามผลักดันปัญหาคนไร้บ้านให้เป็นคนที่มีบ้าน เพราะถือว่าคนไร้บ้านเป็นเครือข่ายของสลัมสี่ภาค”