กว่าจะเป็นคนไทย (ไม่ไร้สิทธิ): เมื่อการไม่มีบัตรฯ เป็นกำแพงของชีวิต

เขียนโดย: นภสร สถิรปัญญา และเอกมงคล ปูรีเดช

ถ้าถามว่า “อะไรคือสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน” ทั้งเราและผู้อ่านหลาย ๆ คนก็คงจะตอบไปในทำนองเดียวกันว่ามีของกิน ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต เงิน แต่สิ่งที่เราแทบจะไม่นึกถึงเลยก็คือ ‘บัตรประชาชน’ หรือการมีสัญชาติ มีตัวตนตามกฎหมายในประเทศหนึ่ง ๆ แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่มีบัตรประชาชน ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทั้งการตกสำรวจ ข้อจำกัดในการแจ้งเกิด และพวกเขาก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้สถานะพลเมือง สิทธิ สวัสดิการ และเพื่อให้ดำรงชีวิตได้อย่างปกติในฐานะคนไทยทั่วไป

ในซีรีส์ กว่าจะเป็นคนไทย (ไม่ไร้สิทธิ) ครั้งนี้ Penguin Homeless จะมาเล่าถึงชีวิตของคนไทยไร้สิทธิ ที่ตกหล่นจากการมีบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเครื่องมือยืนยันสิทธิสถานะ ผ่านกรณีของน้องพลอย และน้องพี ที่สะท้อนปัญหาการตกหล่นจากสวัสดิการ ความซับซ้อนในการพิสูจน์สิทธิและการได้มาซึ่งบัตรประจำตัวประชาชน และการสนับสนุนที่อาจไม่ทั่วถึง เรื่องเล่าหล่านี้อาจช่วยให้หลายภาคส่วนมองเห็นปัญหาที่คนไทยไร้สิทธิเผชิญอยู่ได้ชัดขึ้น และยังทำให้เราย้อนกลับมามองเห็นความสำคัญของบัตรประชาชนที่ถืออยู่มากขึ้นอีกด้วย

เพราะคนไทยไร้สิทธิ หรือคนไทยตกหล่น เป็นประชากรที่ปรากฏอยู่ในทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด พวกเขาเป็นคนไทย เกิดและเติบโตในประเทศไทย มีญาติพี่น้องและบรรพบุรุษอยู่ในประเทศไทยหลายชั่วคน หากแต่ตกหล่นจากการมีเอกสารยืนยันตัวตน อันเนื่องมาจากการไม่ได้แจ้งเกิดหรือมีเอกสารยืนยันการเกิด การสูญหายของเอกสารประจำตัว และการไม่มีผู้ยืนยันตัวตนของพวกเขา

ในบทความแรกของซีรีส์นี้จะเล่าถึงเรื่องราวของ ‘น้องพลอย’ (ผู้ไม่ประสงค์ที่จะเปิดเผยใบหน้า) เด็กหญิงที่เคยใช้ชีวิตโดยไม่มีบัตรประชาชนมากว่า 16 ปี … ลองคิดดูว่าถ้าเราต้องขับรถทุกวัน โดยไม่มีใบขับขี่เป็นเวลา 16 ปี ทุก ๆ วัน เราก็คงกลัวว่าจะเจอด่านตรวจไหม จะขับรถไปที่ไหนได้บ้าง ซึ่งน้องพลอยใช้ชีวิตบนความรู้สึกไม่ปลอดภัยแบบนั้นมาตลอดเส้นทางชีวิต ต่างจากเรา ๆ ที่หากลืมบัตรประชาชนหรือลืมใบขับขี่ก็รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะหยิบออกมาได้ และไม่ต้องกังวลอะไร… 

           เรื่องเล่าของน้องพลอยที่ใช้ชีวิตโดยไม่มีบัตรมากว่า 16 ปี (ซึ่งถือว่ามากกว่าเคสอื่น ๆ ที่เราได้สัมภาษณ์) นอกจากจะสะท้อนให้เราเห็นภาพอย่างชัดเจนว่าการไม่มีสิทธิสถานะเป็นคนไทยหรือการไม่มีบัตรประชาชน สร้างความวิตก ความรู้สึกไม่ปลอดภัย และเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาและชีวิตในโรงเรียน ยังชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของขั้นตอนในการได้มาซึ่งบัตรประชาชนด้วย กระทั่งผ่านกระบวนการมามากมาย จนตอนนี้น้องพลอยได้บัตรประชาชนแล้วด้วยความช่วยเหลือของเครือข่ายคนไทยไร้สิทธิ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี

16 ปีที่ผ่านมา ก่อนเจอเครือข่ายคนไทยไร้สิทธิ คุณพ่อได้ไปติดต่อทำบัตรด้วยตัวเองไหม เจออุปสรรคอะไรบ้าง?

เนื่องจากน้องพลอยเป็นเคสคนไทยตกสำรวจ ทำให้ก่อนหน้านี้คุณพ่อพยายามเข้าไปสอบถาม ติดต่อกับราชการด้วยตัวเองอยู่หลายครั้งเพื่อผลักดันให้น้องพลอยมีบัตรให้ได้ แต่ข้อมูลที่คุณพ่อได้รับจากหน่วยราชการคือ ความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อพิสูจน์ตัวตน 

ซึ่งในระหว่างที่ยังไม่ได้บัตร น้องพลอยต้องเจออุปสรรคหลาย ๆ อย่าง

ไม่มีบัตรมาสิบกว่าปี น้องพลอยเข้าเรียนยังไง มีอะไรที่ไม่ได้เหมือนเพื่อนบ้าง?

น้องพลอยกับคุณพ่อเล่าว่าแม้จะไม่มีบัตรประชาชน แต่ก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ช่วยสนับสนุนเด็กขาดทุนทรัพย์ หรือเด็กที่ไม่สามารถเข้าเรียนตามระบบโรงเรียนรัฐทั่วไปได้ น้องพลอยย้ายโรงเรียนมาหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ชีวิตในการเรียนของน้องพลอยไม่ได้เรียบง่ายเหมือนนักเรียนทั่วไป เพราะเมื่อไม่มีบัตรประชาชน แม้ทางโรงเรียนรับน้องพลอยเข้ามา แต่เธอย่อมไม่ได้วุฒิการศึกษา ไม่สามารถเบิกจ่ายค่าเทอมจากโครงการเรียนฟรีของรัฐได้ ไม่เพียงเท่านั้น น้องพลอยยังไม่สามารถเลื่อนชั้นได้เหมือนนักเรียนคนอื่น ๆ 

“พอไม่มีบัตรก็ต้องเรียนซ้ำ ๆ” 

น้องพลอยเรียนชั้น ป.1 ซ้ำสามครั้ง ป.2 สองครั้ง และ ป.3 อีกสองครั้ง และต้องเรียนในเนื้อหาเดิม ๆ ปัจจุบันน้องพลอยอายุ 17 ปีและยังอยู่ชั้น ม.2 “เห็นเพื่อนจบ เราก็อยากจบไปกับเขาด้วย…” น้องพลอยเล่า ซึ่งนั่นก็หมายความว่าคุณพ่อต้องเสียค่าเทอม ค่าหนังสือ และค่าใช้จ่ายเหล่านี้ซ้ำ ๆ ทุกปี

พอไม่มีบัตรแล้ว เรามีความกังวลอะไร เสียสิทธิ หรือโอกาส อะไรไปบ้าง?

ความกังวลเรื่องแรกที่น้องพลอยพูดถึงคือความกลัวว่าจะไม่มีวุฒิการศึกษาและทำงานไม่ได้ เพราะเมื่อไม่มีบัตรประชาชน หลังเรียนจบก็ไม่สามารถเรียนขอวุฒิการศึกษาได้ กลายเป็นความวิตกกังวลต่อนาคต

น้องพลอยอยากเป็นนักร้อง แต่พอไม่มีบัตรประชาชน ก็กังวลว่าจะทำตามความฝันของตัวเองได้หรือเปล่า ไม่รู้ว่าจะสมัครเข้าแข่งขันหรือเข้าไปออดิชั่นอะไรได้บ้าง หรือหากเข้าไปแข่งขันโดยไม่มีหลักฐานยืนยันตัวตน เธอจะไปได้ไกลแค่ไหน 

ทางโรงเรียนก็เคยจะส่งน้องพลอยเป็นตัวแทนไปประกวดร้องเพลง ภาษา ศิลปะ วาดรูป ดนตรีไทย แต่ด้วยข้อจำกัดเดียวกัน หลายครั้งทางโรงเรียนก็ต้องส่งเพื่อนนักเรียนคนอื่นเข้าไปรับรางวัลแทน เช่นเดียวกัน น้องพลอยก็ต้องพลาดโอกาสรับเงินรางวัลจากกองทุนนักเรียนดีเด่น ด้วยเหตุผลเดียวกัน

เวลามีตรวจสุขภาพ หรือฉีดวัคซีนที่โรงเรียน บางครั้งครูก็บอกกับน้องพลอยว่าหยุดเรียนไปเลยก็ได้เพราะต้องใช้บัตรยืนยันตัวตน แม้ว่าบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ยอมตรวจหรือให้วัคซีน แต่นั้นเท่ากับว่า การจะได้หรือไม่ได้รับบริการสุขภาพในโรงเรียนของน้องพลอยจึงแทบจะเรียกได้ว่าขึ้นอยู่กับดวงและความเมตตาของเจ้าหน้าที่ในวันนั้นว่า เจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้คนไม่มีรายชื่อได้ตรวจสุขภาพหรือเปล่า ซึ่งโดยปกติ น้องพลอยก็ไม่มีสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเหมือนคนทั่วไปอยู่แล้ว ซ้ำต้องมาลุ้นกับสิทธิการรักษาในโรงเรียนอีกเช่นกัน

ชีวิตในโรงเรียนเป็นยังไง ต้องเจออะไรบ้างจากการไม่มีสัญชาติไทย?

นอกจากโอกาสและสิทธิที่เสียไปแล้ว น้องพลอยเล่าให้ฟังว่าชีวิตในสังคมโรงเรียนก่อนจะมีบัตรก็ต้องเผชิญกับการโดนถาม โดนล้อจากทั้งเพื่อนและครูในโรงเรียนมาโดยตลอด “เจอหน้าครูทุกครั้ง ครูก็จะถามว่า ได้บัตรละยัง? เมื่อไหร่จะได้บัตร? เป็นแบบนี้มาตลอด” ความรู้สึกวิตกและไม่มั่นคงของการไม่มีบัตรจึงไม่ได้อยู่แค่ในเรื่องของงาน ของอนาคต และสิทธิ โอกาสที่เสียไป แต่ยังอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันในสังคมโรงเรียนที่น้องพลอยเผชิญมากว่าสิบปี 

“โดนล้อ โดนกดดันมาสิบกว่าปีตั้งแต่เกิด ตั้งแต่เข้าโรงเรียนก็เริ่มเลยอะ (หัวเราะ)” เมื่อถามว่าโดนล้อหรือโดนกดดันมาอย่างไรบ้าง น้องพลอยเล่าว่า “เขาก็ถามว่าไม่มีบัตร ไม่ใช่คนไทยเหรอ เป็นเด็กลาว เด็กพม่าแน่ ๆ แล้วมาเรียนที่ไทยทำไม ทำไมไม่ไปเรียนที่ประเทศตัวเอง” บางครั้งคุณครูก็นำเรียกเธอว่า เด็กต่างด้าวเสียเอง จนเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ก็เริ่มเรียกและล้อไปตามนั้น

แม้จะมีคุณครูหลาย ๆ ท่านที่คอยช่วยเหลือและตักเตือนพฤติกรรมการล้อเลียนเหล่านี้ แต่ชีวิตในโรงเรียนที่ผ่านมาของน้องพลอยก็ได้รับแรงกดดันจากสังคมไม่น้อย เพียงเพราะเธอไม่มีบัตรประชาชน แต่นับตั้งแต่ได้บัตรมา น้องพลอยบอกว่า ก็ไม่มีครูมาถาม หรือมีเพื่อนมาล้ออีกต่อไปแล้ว 

นอกจากนั้น ความรู้สึกไม่ปลอดภัย และความวิตกจากการไม่มีบัตรยังขยายไปอยู่ในชีวิตประจำวันนอกรั้วโรงเรียนของน้องพลอยด้วย

คุณพ่อน้องพลอยเล่าว่าตอนไม่มีบัตรประชาชน การใช้ชีวิตเต็มไปด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัย “พอไม่มีบัตรก็รู้สึกเหมือนคนต่างด้าว จะไปไหนมาไหนก็ต้องระวัง แม้แต่ไปตลาดก็ลำบาก” เพราะไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่จะเรียกตรวจหรือขอดูบัตรตอนไหน การเดินทางออกนอกบ้าน หรือการเดินทางไปต่างจังหวัด ไปทัศนศึกษาของน้องพลอย จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ธรรมดา เรียบง่ายเหมือนที่เรา (ซึ่งมีบัตรประชาชน) คุ้นชิน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดปราจีนบุรีที่มีแรงงานข้ามชาติหลายกลุ่มเข้ามาทำงาน การตรวจตราของเจ้าหน้าที่ก็เข้มงวดมากกว่าในอีกหลายพื้นที่ ดังนั้นการจะออกไปใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้านของน้องพลอยตลอด 16 ปีก่อนจะมีบัตร ก็ย่อมทำให้เธอและคุณพ่อแอบรู้สึกผวาอยู่ในใจอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย

เรื่องทั้งหมดที่เล่ามาสะท้อนให้เห็นว่า ชีวิตสิบกว่าปีที่ผ่านมาของน้องพลอยก่อนจะได้บัตรประชาชน ต้องเสียโอกาส และสิทธิไปในหลายด้าน ทั้งการเรียน การวางแผนอนาคต การรับบริการสุขภาพและสวัสดิการจากรัฐ หรือสิ่งพื้นฐานกว่านั้นที่น้องพลอย รวมถึงคนไม่มีบัตรประชาชนอีกหลาย ๆ คนไม่ได้รับ นั่นคือ สิทธิในการใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องคอยวิตกกังวลว่าจะโดนเจ้าหน้าที่ตรวจบัตรหรือจะโดนจับไหม จะโดนเมื่อไหร่ การไม่มีบัตรจึงเหมือนการขับรถคันนั้น โดยไม่ใช่แค่ลืมพกใบขับขี่แต่ไม่เคยมีตั้งแต่แรกต่างหาก ดังนั้น นอกจากจะสะท้อนอุปสรรคแล้ว เรื่องของน้องพลอยจึงทำให้เราย้อนกลับมามองเห็นถึงความสำคัญของบัตรประชาชนและสิทธิที่เรามีอยู่อีกด้วย

หลังฟังเรื่องเล่าชีวิตของน้องพลอย เราพูดคุยกันต่อถึงการได้บัตรประชาชนมา 

หลังผ่านมา 16 ปี น้องพลอยได้บัตรมาได้ยังไง?

แม้ว่าก่อนหน้านี้คุณพ่อเคยพยายามเข้าไปติดต่อราชการเพื่อเดินเรื่องทำบัตรประชาชนให้น้องพลอย แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งต้นปี 2563 น้องพลอยได้มาเจอกับพี่ผึ้ง (เจ้าหน้าที่ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดปราจีนบุรี) ซึ่ง ณ ตอนนั้น พี่ผึ้ง เข้าไปเป็นครูอาสาในโรงเรียนของน้องพลอยพอดี 

ความบังเอิญนี้ทำให้พี่ผึ้งรู้ว่าน้องพลอยไม่มีบัตรประชาชน และได้รับรู้ถึงอุปสรรคชีวิตในโรงเรียน รวมถึงความเหลื่อมล้ำที่เด็กไทยไร้สิทธิต้องเผชิญ พี่ผึ้งในฐานะเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานฯ จึงช่วยเดินเรื่องติดต่อประสานงานกับอำเภอ ราชการ เครือข่ายภาคประชาชนส่วนกลาง นักสังคมสงเคราะห์ จนผ่านกระบวนการทั้งหมด ใช้เวลาประมาณ 11 เดือน มาถึงตอนนี้น้องพลอยได้บัตรประชาชนและได้สิทธิเรียนฟรี รวมถึงมีชีวิตในโรงเรียนที่ไม่โดนล้อ ไม่โดนกดดันอีกต่อไป (ซึ่งในตอนแรกของซีรี่ส์ เราจะยังไม่ลงรายละเอียดในเรื่องของกระบวนการ แต่จะพูดถึงในตอนต่อไป อยากให้รอติดตามกันนะคะ/ครับ)

ในฐานะที่เราพยายามทำบัตรมาโดยตลอด อยากให้อะไรดีขึ้นบ้างสำหรับคนไทยไร้สิทธิคนอื่น ๆ ที่อาจจะกำลังหาทางทำบัตรอยู่?

สิ่งแรกที่คุณพ่อพูดถึงคือ อยากให้เครือข่ายที่ช่วยเหลือคนไทยไร้สิทธิเป็นที่รู้จักมากขึ้น อาจจะด้วยเหตุที่เครือข่ายในปราจีนบุรี ก็เพิ่งเริ่มก่อตัวในช่วงปี 2562 เลยทำให้คุณพ่อน้องพลอย รวมถึงคนไทยไร้สิทธิอีกหลาย ๆ คน ไม่ทราบว่ามีเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ที่คอยช่วยเหลือพวกเขาอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการติดต่อและดำเนินเรื่องผ่านกระบวนการที่เครือข่ายภาคประชาสังคมประสานงานให้นั้น ง่ายกว่าและใช้เวลาน้อยกว่าช่องทางเดิมที่ราชการมี และแทบจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 

นอกจากนี้ หากลองดูต้นเรื่องของการได้บัตรมา นั่นคือการที่พี่ผึ้งบังเอิญเข้าไปเจอกับน้องพลอยในโรงเรียน เราจึงถามถึงกรณีที่มีนักเรียนที่เป็นคนไทยไร้สิทธิในโรงเรียนแห่งอื่น ซึ่งพี่ผึ้งอธิบายว่าในจังหวัดปราจีนบุรี โรงเรียนต่าง ๆ มีการติดต่อกันและรู้จักครูผึ้งในฐานะเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานของจังหวัด ทำให้คุณครูโรงเรียนอื่นสามารถประสานเรื่องมาถึงครูผึ้งได้ในกรณีเช่นนั้น 

นับตั้งแต่ความพยายามของคุณพ่อน้องพลอยเมื่อสิบปีก่อนจนถึงปัจจุบัน ความช่วยเหลือคนไทยไร้สิทธิทั้งจากภาคประชาสังคม รวมถึงความร่วมมือระหว่างเครือข่ายกับองค์กรในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ หน่วยราชการ และท้องถิ่นเองพัฒนาไปไกลกว่าเดิมมาก โดยในปัจจุบันมีกลไกความร่วมมือในจังหวัดปราจีนบุรีที่ได้เปิดโอกาสให้โรงเรียนในพื้นที่สามารถส่งต่อกรณีบุคคลตกสำรวจไปยังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในจังหวัด และสำนักทะเบียน กรมการปกครอง เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติและการทำบัตรประชาชนต่อไป ซึ่งกลไกดังกล่าวมีกรอบเวลาการดำเนินการชัดเจนและมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น

สำหรับในจังหวัดอื่น ๆ แม้ยังไม่มีการสร้างเครือข่าย หรือการทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ที่ชัดเจนเท่าปราจีนบุรี แต่เครือข่ายสลัมสี่ภาคก็มีความพยายามจัดตั้งเครือข่ายคนไทยไร้สิทธิในจังหวัดนำร่อง เพื่อให้การทำงานและการช่วยเหลือคนไทยไร้สิทธิขยายครอบคลุมไปถึงกลุ่มคนไม่มีบัตรประชาชน หรือบุคคลตกสำรวจมากขึ้น

พัฒนาการของกลไกเหล่านี้ ขั้นตอนการเดินเรื่อง การเติบโตของเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนคนไทยไร้สิทธิ และเรื่องเล่าชีวิตของเคสอื่น ๆ จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามได้ในตอนถัดไปของซีรี่ส์  กว่าจะเป็นคนไทย (ไม่ไร้สิทธิ) ครับ/ค่ะ