“เราไม่ได้ฝึกอาชีพให้ แต่ดูจากทุนที่เขามีว่าถนัดอะไร” เสียงจากคนทำงานช่วยเหลือคนไร้บ้านที่หางานให้เหมาะกับพวกเขา

“นอกจากส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้คนไร้บ้าน ความตั้งใจอีกอย่างหนึ่งของเรา คือการเปิดพื้นที่ให้คนไร้บ้านได้แสดงตัวตนว่า พวกเขาไม่ใช่คนขี้เกียจ คนมีปัญหาทางจิต หรือคนอันตราย อย่างที่ใครเขาพูดกัน”

โด่ง-สมพร หาร​พรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิ​พัฒนา​ที่​อยู่อาศัย (มพศ.) ผู้รับหน้าที่ดูแลคนไร้บ้านใน 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี บอกว่าจากการทำงานเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านมาหลายปี โด่งเห็นความเปลี่ยนแปลงต่อคนทั่วไปที่มีต่อคนไร้บ้านเป็นไปในทางบวกมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทัศนคติด้านลบบางอย่างยังคงมีอยู่

“เราพยายามสนับสนุนให้คนไร้บ้านมีงาน และมีที่อยู่อาศัย เช่น โครงการห้องเช่าคนละครึ่งที่นำร่องไปก่อน ล่าสุดก็กำลังผลักดันนโยบายเรื่องห้องเช่าราคาถูก เรามองเห็นว่าการมีที่อยู่อาศัยมันช่วยให้พวกเขาตั้งหลักได้”

 โด่ง-สมพร หาร​พรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิ​พัฒนา​ที่​อยู่อาศัย (มพศ.)

.

ที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้านไม่ใช่มีไว้ในยามพักผ่อน แต่มันคือจุดเริ่มต้นของความหวังในชีวิตที่ยังคงเหลืออยู่ โด่งเล่าว่า เมื่อมีที่พัก คนไร้บ้านก็จะเริ่มนึกถึงอนาคตและวางแผนชีวิตในก้าวต่อๆ ไป

นอกจากที่พักพิง อาชีพก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่โด่งพยายามผลักดันให้คนไร้บ้านเข้าถึง ปัจจุบันทางมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับภาคีอื่นๆ ผลักดันให้คนไร้บ้านเข้าถึงการมีงานทำมากยิ่งขึ้นด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลาย เช่น จัดหางานให้ตามความสามารถของคนไร้บ้าน และเสริมทักษะการบริหารจัดการรายได้ของตัวเอง เป็นต้น

“คนไร้บ้านแต่ละคนมีศักยภาพในด้านอาชีพไม่เหมือนกัน แต่ละคนเขาถนัดแตกต่างกัน แถมอายุก็ต่างกัน เราก็ลงไปดูว่าแต่ละคนถนัดเรื่องอะไร แล้วสร้างเป็นกลุ่ม ผลักดันแต่ละกลุ่มไปเลย เราไม่ฝึกอาชีพให้ แต่ดูจากทุนที่เขามีดีกว่า”

‘ความภูมิใจในตัวเอง’ เป็นสิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากแววตาของคนไร้บ้านหลังจากที่พวกเขามีงานทำ โด่งเสริมว่า นอกจากความภูมิใจแล้ว ก็ยังมีพลังบางอย่างที่ทำให้คนไร้บ้านลุกขึ้นมาแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่าตัวเองก็มีดี และไม่ได้เป็นคนขี้เกียจอย่างที่ใครเขาพูดกัน

“หลังจากมีงานทำ เราสังเกตว่าคนไร้บ้านเริ่มพูดถึงอนาคตมากขึ้น เขาไปคุยกับเพื่อนๆ ด้วยกันว่า ‘ฉันมีงานทำแล้วนะ’ แววตาเขาเป็นประกายและมีพลังออกมาเลย นี่ก็เป็นเรื่องดี”

.

“การมีงานทำงานเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไร้บ้านรู้สึกมีศักดิ์ศรีและมีศักยภาพ”

“เรื่องงานมันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของรายได้อย่างเดียวนะ การทํางานมันเป็นส่วนที่บ่งบอกความหมายของชีวิตด้วย การทํางานมันทําให้เรามีตัวตนอยู่ เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งที่จะทําให้คนทั่วไปเห็นว่าคนไร้บ้านมีศักดิ์ศรีและมีศักยภาพ คือ การทําให้คนไร้บ้านออกไปทํางาน ให้เขาได้ตั้งหลักด้วยตัวเอง”

สำหรับคนไร้บ้าน การมีงานทำเป็นเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้พวกเขา การตั้งหลักชีวิตของตัวเองจะผ่านไปไม่ได้เลยถ้าหากขาดรายได้ ซึ่งรายได้ก็ต้องมาจากการทำงานนั่นเอง อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงบอกว่า การมีงานทำงานเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไร้บ้านรู้สึกมีศักดิ์ศรีและมีศักยภาพ

ดูเหมือนจะง่าย แต่จริงๆ แล้วไม่ง่ายเลย เนื่องจากการเป็นคนไร้บ้านทำให้การหางานยากกว่าคนทั่วไปเป็นเท่าตัว ทั้งที่อยู่อาศัยที่ไม่แน่นอน เสื้อผ้าหน้าผมที่อาจจะไม่ได้น่ามองเหมือนคนอื่นๆ ทำให้โอกาสในการทำงานของพวกเขามีน้อยกว่าคนอื่นๆ มาก 

“พี่น้องคนไร้บ้านหลายคนเล่าว่า ตอนไปทำงานแรกๆ ก็ปกติ แต่พอนายจ้างรู้ว่าเป็นคนไร้บ้านเขาก็ไม่พอใจ เกิดการตีตราว่าคนไร้บ้านไม่ดีบ้าง คนไร้บ้านทำงานไม่ได้บ้าง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็ทำปกติเลย”

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสุขภาวะคนไร้บ้าน

.

เมื่อเจอการตีตราซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งผลให้คนไร้บ้านหลายคนหมดความมั่นใจในตัวเอง ทำให้พวกเขาไม่สามารถลุกขึ้นตั้งหลักแบบที่ตัวเองต้องการได้ ท้ายที่สุดก็ไม่อาจหลุดพ้นจากภาวะไร้บ้าน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯและเครือข่ายอื่นๆ ผลักดันให้คนไร้บ้านมีอาชีพและมีที่อยู่อาศัยของตัวเองได้ เพื่อที่ในอนาคตพวกเขาจะลุกขึ้นมาตั้งหลักและดำเนินชีวิตของตัวเองได้อีกครั้ง

“ปัจจุบันการทำงานช่วยคนเหลือบ้าน เราพยายามไม่ทำแบบ One Size Fits All ที่หมายถึงการช่วยเหลือรูปแบบเดียวกับคนไร้บ้านทุกคน เพราะเราค้นพบแล้วว่าคนไร้บ้านมีความหลากหลาย ทั้งคนไร้บ้านหน้าใหม่ คนไร้บ้านหน้าเก่า พวกเขาต่างก็มีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน”

อนรรฆเล่าว่า สำหรับคนไร้บ้านหน้าใหม่ พวกเขาจะไม่ค่อยมีประสบการณ์ไร้บ้านมากนักทำให้ยังไม่คุ้นชินกับวิถีชีวิตแบบนี้และอยากจะหลุดพ้นจากการเป็นคนไร้บ้าน ‘Job Matching’ หรือการค้นหางานตามทักษะจึงเป็นวิธีที่จะช่วยให้พวกเขามีงานทำได้ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือกับกิจการที่ต้องการหาลูกจ้างด้วย

ในส่วนของคนไร้บ้านหน้าเก่าที่ไร้บ้าน 5 ปีขึ้นไป เนื่องจากพวกเขามีประสบการณ์ไร้บ้านมานาน ความหวังและความฝันของพวกเขาอาจถูกทำลาย จนอาจจะไม่เหลือความก้าวหน้าในชีวิตแล้ว รวมไปถึงความเชื่อมั่นในตัวเองก็อาจจะไม่ได้มีมากเท่าคนไร้บ้านหน้าใหม่ นอกจากการหางานให้แล้ว การบำบัดฟื้นฟูจิตใจก็เป็นอีกกระบวนการที่มองข้ามไปไม่ได้

“คนไร้บ้านคือกลุ่มคนที่ถูกแยกออกจากสังคมของคนทั่วไป ยิ่งนานเขาก็จะคุ้นชินกับการเป็นคนนอกแบบนี้ ถ้าวันหนึ่งเราจะเอาคนไร้บ้านกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง เราก็ต้องสร้างความมั่นใจให้เขานะ มันต้องใช้ทั้งความกล้าและความพยายามมากๆ เลย”

ไม่ว่าจะรับจ้างต่อคิว เป็นลูกจ้างรายวัน ทุบตึก หรือเสิร์ฟอาหาร ถ้าเป็นงานที่ทำแล้วมีรายได้ คนไร้บ้านหลายคนก็ยืนยันอยากจะทำ เพราะฉะนั้นแล้ว ‘โอกาส’ จึงเป็นสิ่งที่พวกเขาโหยหามาก ซึ่งอนรรฆและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ก็พยายามสร้างโอกาสส่งไปถึงมือคนไร้บ้านให้ได้มากที่สุด

“เราตั้งมั่นอยู่ในความเชื่อที่ว่าคนไร้บ้านมีศักดิ์ศรีและมีศักยภาพ ถ้าเราให้โอกาสเขาอย่างเพียงพอ ถ้าพวกเขาได้รับการส่งเสริม ได้รับการฟื้นฟู เราเชื่อว่าคนไร้บ้านสามารถก้าวหน้าในชีวิตต่อได้”