การแก้ปัญหาคนไร้บ้านต้องแก้ที่ต้นเหตุ: บทเรียนจากสก็อตแลนด์

เป็นที่ทราบกันว่า ปัญหาคนไร้บ้านคือปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นทั่วโลก องค์การสหประชาชนเผยว่าทุกวันนี้ มีคนไร้บ้านร่วมกว่า 100 ล้านคน

ในขณะที่สก็อตแลนด์เห็นว่า ปัญหาคนไร้บ้านสามารถได้รับการยั้บยั้งได้ หากมีมาตรการที่ทำให้ผู้คนไม่ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาดังกล่าว

ในเวลานี้ สิ่งที่สก็อตแลนด์ทำคือการยั้บยั้งการเข้าใกล้ภาวะไร้บ้านตั้งแต่ต้นทาง

ทีมผู้เชี่ยวชาญร่วมมือกับภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็นคนไร้บ้านในสก็อตแลนด์ได้จัดทำรายงานต่อรัฐบาลกลางแห่งสก็อตแลนด์ว่า หน่วยบริการภาครัฐจะต้องมีส่วนร่วมในแผนบูรณาการเพื่อป้องกันการเข้าถึงความเสี่ยงต่อภาวะไร้บ้าน 

เพื่อแก้ปัญหาคนไร้บ้านได้อย่างถาวร ทีมผู้เชี่ยวชาญเสนอให้รัฐบาลควรแก้ที่ต้นตอของปัญหา นั่นหมายถึงการสอบถามประชาชนในพื้นที่ในเรื่องของสถานการณ์ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะเมื่อประชาชนเข้ามาติดต่อหน่วยงานรัฐใดก็ตาม รวมถึงศาล และหน่วยรักษาความสงบอย่างตำรวจ

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่สอบถามสถานการณ์ที่อยู่อาศัย และควรติดต่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันทีเมื่อคาดว่าผู้รับบริการของรัฐนั้นเสี่ยงต่อการเจอปัญหาไร้บ้าน เพื่อระงับเหตุในเบื้องต้นต่อไป

เพราะไร้บ้านจึงเจ็บป่วย

รายงานจาก The Crisis องค์กรภาคประชาสังคมที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านในสหราชอาณาจักร รายงานว่า มีประชากรชาวสก็อตแลนด์ร้อยละ 8 ที่เคยประสบกับภาวะคนไร้บ้านในช่วงชีวิตที่แตกต่างกัน 

นอกจากนี้ คนไร้บ้านและคนที่มีความเสี่ยงในภาวะดังกล่าวต่างต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพมากกว่าประชากรที่ไม่ได้อยู่กับความเสี่ยงดังกล่าวอีกด้วย อย่างในปี 2018 ยังมีรายงานว่า คนไร้บ้านและคนที่เผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าวนั้นเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลมากกว่าประชากรที่ไม่ได้เผชิญกับภาวะดังกล่าวถึง 3 เท่า พวกเขาถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาในหน่วยแพทย์ฉุกเฉินมากกว่า 3 เท่า และยังต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตและการใช้สารเสพติดอีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลในหลายๆ ประเทศจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดหาที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะเพื่อยับยั้งปัญหาสุขภาพของคนไร้บ้าน เช่น นโยบายบ้านหลังแรกของฟินแลนด์ที่ช่วยลดจำนวนผู้ไร้บ้านไปได้มากกว่าหนึ่งในสามของผู้ไร้บ้านทั้งหมด

ความสำเร็จของรัฐบาลฟินแลนด์ในครั้งนี้ตั้งอยู่บนมุมมองที่คิดกลับด้าน นั่นคือการแก้ปัญหาต้นเหตุให้กับคนที่เข้าใกล้ภาวะเสี่ยงต่อการไร้บ้านตั้งแต่เริ่มเข้าใกล้ภาวะดังกล่าวก่อนที่จัดบริการหาที่อยู่อาศัยอย่างถาวร

ยกระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน: กลไกเชิงสถาบันที่รัฐไม่ควรมองข้าม

เพื่อยกระดับความร่วมมือแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น รัฐบาลสก็อตแลนด์จึงจำเป็นต้องเสนอกฎหมายใหม่เพื่อสร้างกลไกเชิงสถาบันให้เกิดความร่วมมือในระหว่างหน่วยงานรัฐ เพื่อไปสู่การแก้ไขเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างรัฐบาลเวลส์ สหราชอาณาจักร การตรากฎหมายใหม่ขึ้นใหม่ในปี 2014 ถือเป็นกลไกเชิงสถาบันที่ช่วยปรับการทำงานร่วมกันภายในระหว่างหน่วยงานรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน ผลลัพธ์ที่ได้คือทำให้ยั้บยั้งผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการไร้บ้านได้มากถึง 2 ใน 3 จากผู้ที่มีภาวะเสี่ยงทั้งหมด

อย่างไรก็ดี รัฐบาลสก็อตแลนด์ต้องการที่จะทำมากกว่านั้น 

เมื่อการได้มีและอาศัยอยู่ในบ้านคือเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลสก็อตแลนด์ และถือเป็นหมุดสำคัญของสังคมที่ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐได้ง่าย สิ่งที่รัฐบาลสก็อตแลนด์ทำจึงเป็นการสอบถาม ติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการไร้บ้านของประชาชนที่เข้ารับบริการภาครัฐอยู่เสมอ และเริ่มลงมือติดตามเป็นรายบุคคล เมื่อคาดว่าคนคนนั้นจะมีความเสี่ยง และส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอร่วมมือช่วยยับยั้งความเสี่ยงนี้ 

ในรายงานของผู้เชี่ยวชาญยังเสนออีกว่า องค์กรผู้ให้เช่าเพื่อสังคม (social landlords) ควรเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยการยั้บยั้งภาวะไร้บ้าน และรัฐบาลท้องถิ่น (council) ควรให้สถานพักพิงชั่วคราวแก่ผู้ที่กำลังต้องหาที่อยู่อาศัยอย่างถาวร นอกจากนี้ มาตรการชั่วคราวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดเพื่อปกป้องผู้เช่าทั่วไปจากการถูกไล่ที่หรือสั่งให้ย้ายออกยังควรพัฒนาต่อยอดให้เป็นมาตรการที่ถูกบังคับใช้อย่างถาวร และควรให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่น (council) ในการระงับคำสั่งไล่ที่ได้อีกด้วย

เพราะกฎหมายสก็อตแลนด์บัญญัติว่า บุคคลสามารถกลายเป็นผู้ไร้บ้านได้ หากที่อยู่อาศัยนั้นไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ (อาศัยอยู่ได้) อีกต่อไป ดังนั้น การหลุดพ้นจากการไร้บ้านอย่างถาวร คือการจัดหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ปลอดภัย และมั่นคงถาวร

ด้วยความหวังที่จะยั้บยั้งเหตุที่จะเข้าสู่การไร้บ้านก่อนผู้คนที่จะสูญเสียบ้านจริงๆ ทำให้ยอดผู้ไร้บ้านลดลงอย่างมาก 

การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ สอบถามหรือติดตามสถานการณ์ภาวะเสี่ยงต่อการไร้บ้านจึงเป็นใจความสำคัญของมาตรการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านของสก็อตแลนด์ในวันนี้

ที่มา: Taking early action is key to preventing homelessness, according to this Scottish report – World Economic Forum