บทเรียนจากฟินแลนด์: ช่วยคนไร้บ้านด้วยการให้ “บ้าน”

วิธีการอาจฟังดูธรรมดา แต่นโยบายของฟินแลนด์ในการแก้ปัญหาคนไร้บ้านด้วยการมีบ้านก่อนเป็นอันดับแรกมีประสิทธิภาพมาก มันช่วยจบปัญหา ไม่ใช่แค่จัดการกับมัน

ภาพ Photograph: Marja Väänänen/Courtesy of Helsinki City Museum

นโยบายของฟินแลนด์ให้บ้านแก่คนไร้บ้านก่อนเป็นอับดับแรกมีผลกระทบในเชิงบวกมาก ตัวเลขคนไร้บ้านถาวรตั้งแต่ปี 2008 -2014 ลดลงประมาณ 1,200 คน และจำนวนคนไร้บ้านลดลงเรื่อยๆ

นโยบายให้บ้านก่อนเป็นอันดับแรกเป็นวิธีการที่เรียบง่าย เมื่อคนปราศจากบ้าน คุณก็ให้บ้านแก่เขาก่อน บ้านที่มั่นคง ไม่ใช่บ้านที่ให้อยู่ระหว่างรอกระบวนการคัดกรองเพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป ความคิดนี้วางอยู่บนพื้นฐานที่ว่า คนไร้บ้าน คือคนที่ต้องการบ้าน ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้พวกเขาไร้บ้านควรยกขึ้นมาหลังจากที่พวกเขามีบ้านที่มั่นคง คนไร้บ้านไม่ได้บอกรัฐหรอกว่า พวกเขาจะเลิกติดยา หรือหางานที่มั่นคงทำก่อนแล้วค่อยมีบ้าน รัฐควรยอมรับว่าการมีบ้านก่อนจะช่วยแก้ปัญหาสุขภาพ และปัญหาสังคมได้ง่ายกว่ามาก

ฟินแลนด์เป็นประเทศเดียวในยุโรปที่จำนวนคนไร้บ้านลดลง โดยในปี 2015 จำนวนคนไร้บ้านต่ำกว่า 7,000 คน ในจำนวนนี้รวมจำนวนคนที่อยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวแล้ว ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของจำนวนคนไร้บ้านทั้งหมด พัฒนาการดังกล่าวคือ ผลจากนโยบายของรัฐบาลฟินแลนด์เพื่อต้องการแก้ปัญหาคนไร้บ้านในระยะยาว

หัวใจหลักของความสำเร็จนี้ง่ายๆ ธรรมดามาก คือ รัฐบาลเริ่มบรรจุนโยบาย “มีบ้านก่อนเป็นอันดับแรก”  นี่เป็นกรอบการทำงานธรรมดาที่ทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยการทำงานร่วมมือกับท้องถิ่น ชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ความร่วมมือและการกำหนดเป้าหมายนำไปสู่ผลลัพธ์ดังกล่าวข้างต้น อันนี้เป็นผลจากการประเมินขององค์กรมาตรฐานระดับนานาชาติที่เป็นอิสระจากรัฐ

คำกล่าวที่ว่า “เราไม่สามารถให้บ้านแก่คนไร้บ้าน เพราะเราไม่มีบ้านให้”  ไม่ใช่เหตุผลที่เหมาะสมนัก เพราะการให้บ้านคือ การทำให้ตัวเลขความต้องการบ้านกับจำนวนบ้านสมดุลกัน เพราะตอนนี้ระบบอสังหาริมทรัพย์มันเฟ้อ คนไม่สามารถเข้าถึงได้ จนเป็นเหตุให้คนต้องออกมานอนข้างถนน

ในฟินแลนด์ พยายามสร้างทางเลือกการมีบ้าน เช่น การเปิดใช้บ้านในแนวทางสงเคราะห์สังคม การซื้อแฟลตเอกชนเพื่อให้คนไร้บ้านเช่าอาศัยอยู่ หรือแม้แต่การสร้างตึกแถวใหม่เพื่อสนับสนุนให้คนมีที่อยู่อาศัย ฯลฯ ส่วนสำคัญของโครงการคือ การเปลี่ยนศูนย์พักพิงชั่วคราวและหอพักให้สามารถรองรับคนไร้บ้านที่ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างเพียงพอ โฮสต์เทลสำหรับคนไร้บานในเฮลซิงกิมีเตียง 250  เตียงดูแลโดยกองทัพบก เมื่อสองปีก่อน โฮสต์เทลแห่งนี้ถูกรีโนเวทใหม่ให้กลายเป็นหอพักขนาด 80 ห้อง พร้อมเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก การทำหอพักที่ไม่ใช่แค่ศูนย์พักพิงชั่วคราวได้เปลี่ยนภาพลักษณ์นโยบายคนไร้บ้านของฟินแลนด์ต่อคนทั่วไป

นโยบายทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงิน แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า การบริหารงบประมาณเพื่อจบปัญหาคนไร้บ้านย่อมคุ้มค่ากว่าการใช้งบประมาณเพื่อจัดการกับมัน ลงทุนเพื่อจบปัญหาคนไร้บ้านย่อมได้รับผลตอบแทนเสมอ นี่เรายังไม่ได้พูดถึงเหตุผลเรื่องความเป็นมนุษย์ และคนชายขอบเลยนะ

นโยบาย “มีบ้านก่อนเป็นอันดับแรก” จะก่อให้เกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อถูกบรรจุลงไปในนโยบายหลัก ไม่ใช่แค่โครงการนำร่องเชิงบุคคล นโยบายนี้คือ การสร้างที่พักอาศัยเพื่อรองรับ รากฐานที่สำคัญคือ ต้องจัดที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ การสร้างอาคารที่อยู่อาศัยทางสังคมเป็นการลงทุนที่ฉลาด คุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ ลดการว่างงาน และส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่น

อาจกล่าวได้ว่า  ข้ออ้างการขาดแคลนงบประมาณในกลุ่มประเทศตะวันตกทำให้เราขาดที่อยู่อาศัยสงเคราะห์สังคมที่เข้าถึงได้ ไม่ใช่เหตุผล แต่อยู่ที่เจตจำนงทางการเมืองมากกว่า

 


เขียนโดย จูฮา คัลคิแนน ผู้อำนวยการมูลนิธิ Y 

ที่มา: The Guardian