นอนหลับข้างเกมส์ กินข้าวข้างคอม : Net Cafe Refugee คนไร้บ้านในแบบของญี่ปุ่นที่เลือกนอนในร้านเกมส์

.

เด็กยุค 90’s ปลายๆ คงรู้จัก ‘ร้านเกมส์’ เป็นอย่างดี ในยุคที่คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตไม่ได้เข้าถึงง่ายแบบทุกวันนี้ หลังเลิกเรียนร้านเกมส์ถูกยกให้เป็นจุดหมายถัดไปก่อนที่นักเรียนจะกลับบ้าน ไม่ใช่แค่เด็ก ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน

หลายคนใช้เวลาอยู่หน้าจอนานมาก บางคนข้ามวันข้ามคืนเลยก็มี บางคนอยู่จนแม่ต้องมาตามกลับบ้าน ผู้ปกครองหลายคนในยุคนั้นเลยทราบดีว่า ถ้าลูกตัวเองไม่อยู่โรงเรียนหรือบ้าน ก็จะไปอยู่ร้านเกมส์ แต่สุดท้ายเมื่อถึงจุดหนึ่งพวกเขาก็กลับบ้านและค่อยแวะเวียนมาใหม่ในวันหลัง

ญี่ปุ่นก็มีร้านเกมส์ที่เรียกกันว่า ‘Net Cafe’ มีลักษณะคล้ายกับที่ไทย แต่จะนิยมทำเป็นห้องส่วนตัวที่มีขนาดเล็ก มีเตียงให้นอนได้สำหรับหนึ่งคน Net Cafe เป็นที่นิยมในคนญี่ปุ่นอย่างมากเนื่องจากมีสิ่งบันเทิงครบครัน ทั้งคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต บางที่มีหนังสือการ์ตูนให้อ่านกันด้วย ค่าใช้บริการก็ไม่แพง เรียกได้ว่าจะอยู่ในนั้นทั้งวันเลยก็ได้

แม้จะชอบเล่นเกมส์แค่ไหน ก็คงมีน้อยคนที่จะอยู่ในที่แบบนี้ทั้งวันทั้งคืน เพราะมันทั้งเสียงดังและแคบ แต่สำหรับคนไร้บ้าน นี่คือแหล่งพักพิงที่พวกเขาเข้าถึงได้ กลุ่มคนเหล่านี้ถูกเรียกว่า ‘Net Cafe Refugee’ ที่แปลว่า ผู้อพยพในเน็ตคาเฟ่

ผู้อพยพในคาเฟ่คือใคร? พวกเขาก็คือคนไร้บ้าน ที่ประสบปัญหาต่างๆ ทำให้ไม่มีบ้านหรือกลับบ้านไม่ได้ เรื่องราวของพวกเขาถูกตีแผ่โดยช่องยูทูปที่ชื่อว่า The Japan Reporter ซึ่งเราเองได้หยิบยกเรื่องราวบางส่วนมาให้ทุกคนได้อ่านกันในวันนี้

“การเป็นคนไร้บ้านไม่ใช่ชีวิตแบบที่ผมอยากจะมีหรอก แต่ก็หลุดพ้นไม่ได้สักที หากจะเช่าอพาร์ทเมนท์ในญี่ปุ่นคุณต้องมีทั้งรายได้ที่มั่นคงและเงินดาวน์ที่เยอะมาก แถมตัวผมเองก็มีหนี้จากเงินกู้การศึกษาอีก ส่วนครอบครัวผมก็เตะผมออกจากบ้านมานานแล้ว คงจะไปขอความช่วยเหลือเขาไม่ได้หรอก”

ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว คือ สิ่งที่ฉุดรั้งไม่ให้ ‘ฮิโรโยกิ’ มีบ้าน ชายวัย 29 ปีคนนี้ทำอาชีพรับจ้างรายวัน และอาศัยอยู่ในร้านอินเทอร์เน็ตมามากกว่า 5 ปีแล้ว ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากออกไปจากที่นี่ แต่ปัญหาที่รุมเร้าทำให้เขาไปไหนไม่ได้ ร้านอินเทอร์เน็ตที่มีทั้งข้าว ที่นอน แอร์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ จึงกลายเป็นบ้านสำหรับฮิโรโยกิ


(ทางเข้าร้านอินเทอร์เน็ต ขอบคุณภาพจาก: @wolrdup5165, YouTube)

.

การจะเช่าบ้านในญี่ปุ่นโดยเฉพาะในเมืองยอดนิยมอย่างโตเกียว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด ผู้เช่าจะต้องมีเงินดาวน์อย่างต่ำประมาณ 4-6 เดือนของค่าเช่าบ้าน ‘โนบุฮิโระ คิคุชิ’ ผู้จัดการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่แห่งหนึ่ง เล่าว่า เขามักเห็นคนไร้บ้านมานอนที่นี่อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งคาดเดาว่าคงเป็นเพราะไม่สามารถหาที่อยู่ถาวรได้ เนื่องจากการจะเช่าบ้านในญี่ปุ่นนอกจากต้องมีเงินดาว์นแล้ว ยังต้องแสดงหลักฐานแสดงรายได้ที่มั่นคง และมีผู้ค้ำประกัน

ค่าเช่าห้องในโตเกียวในปี 2023 พุ่งสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับราคาในปี 2022 ภายในระยะเวลาหนึ่งปี ราคาห้องเพิ่มไปกว่าเดิมมากถึง 10.8% อยู่ประมาณ 698,300 เยนต่อตารางเมตร หรือราว 166,803 บาท นอกจากค่าเช่าแล้วยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าประกัน ค่าทำสัญญา ค่าส่วนกลาง เป็นต้น

“ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ของเราคิดค่าบริการถูกมาก แค่ 1,300 เยนต่อชั่วโมง (311 บาท) ซึ่งมันถูกกว่าการที่ไปเช่าโรงแรมแคปซูลอยู่อีกนะ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ถูกที่สุดแล้วสำหรับการหาที่พัก” คิคุชิกล่าว

บางคนอาจจะคิดว่าที่นี่ทั้งถูกและดี แถมมีบริการครบครัน การที่คนไร้บ้านมาอยู่ที่นี่คงเป็นเรื่องที่ดีแล้ว แต่สำหรับคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ไม่ได้รู้สึกแบบนั้นเสมอไป

“เมื่อก่อนเคยมาเที่ยวที่เน็ตคาเฟ่อยู่บ้าง แต่พอมาอยู่จริงๆ ผมตื่นเพราะเสียงล้างจานและเสียงรบกวน แต่อย่างน้อยมันก็ใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ จนกว่าผมจะมีงานประจำและเก็บเงินได้”

‘ฟูมิยะ’ ในวัย 26 ปี ทำอาชีพเป็นยามเฝ้าไซต์ก่อสร้าง ซึ่งเป็นงานที่มีรายได้ไม่มั่นคงเท่าไหร่นัก แม้จะอาศัยอยู่ห้องสี่เหลี่ยมแบบนี้เป็นเวลานาน แต่เขาก็ยังไม่ละทิ้งความพยายามที่จะมีที่พักแบบมั่นคงอยู่ ตัวเขาเองก็ยังคงพยายามหางานประจำทำต่อเรื่อยๆ  

ภายในห้องร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ (ขอบคุณภาพจาก: @wolrdup5165, YouTube)

.

งานประจำเป็นสิ่งที่คนไร้บ้านต้องการเป็นอย่างมาก งานวิจัยของ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ที่ทำการศึกษาแนวทาง วิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านและติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านหน้าใหม่ในช่วงเริ่มต้น ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)อธิบายนโยบายการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านของญี่ปุ่นไว้ว่า เป็นนโยบายที่มุ่งสร้างคนไร้บ้านให้เป็นคนที่พึ่งพาตัวเองได้ มีการช่วยเหลือด้านการฝึกอาชีพและทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการจัดหางาน 

ภายในระยะเวลา 10 ปี ญี่ปุ่นสามารถทำให้ตัวเลขของคนไร้บ้านจากหลักหมื่นกลายมาเป็นหลักพันต้นๆ ได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายนี้ ญี่ปุ่นมีประชากรอาศัยอยู่ทั้งหมดราว 123 ล้านคน ซึ่งตัวเลขของคนไร้บ้านมีแค่ 3,000 กว่าคนเท่านั้น เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดแล้วคนไร้บ้านมีเพียง 0.0024% เท่านั้น

แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังของ 0.0024% มีใครบางคนไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในนั้น นั่นคือผู้อพยพในคาเฟ่นั่นเอง ธานีระบุว่า เนื่องจากการจำกัดความของคนไร้บ้านตามกฎหมายญี่ปุ่น ไม่ได้ครอบคลุมคนที่ย้ายที่พักอาศัยไปมา หรืออยู่เพียงชั่วคราว ซึ่งก็คือนิสัยของผู้อพยพในคาเฟ่ เพราะพวกเขาจะย้ายจากคาเฟ่หนึ่งไปอีกคาเฟ่หนึ่ง ทำให้พวกเขาไม่ถูกนับว่าเป็นคนไร้บ้าน หรือที่เรียกว่า Invisible Homeless (คนไร้บ้านที่มองไม่เห็น)

“เขาว่ากันว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มั่งคั่ง เพราะฉะนั้นผู้คนจึงมีความสุข แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น ถ้าชีวิตดำเนินแบบนี้ต่อไป ผมก็คงหมดหวังกับที่นี่แล้ว”

ฮิโรโยกิทิ้งท้าย ผู้อพยพในคาเฟ่หรือคนไร้บ้านเป็นบุคคลที่ไม่มีใครรู้และไม่มีใครเห็นมากนัก ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาราคาที่อยู่อาศัยเป็นเหมือนกำแพงที่กำบังพวกเขาไว้ ทำให้ถูกมองข้ามจากรัฐจนไม่สามารถขยับขยายออกไปจากห้องที่เหลี่ยมนี้ได้ 

.

.

อ้างอิง:

  • www.japantoday.com
  • www.jn8.jp.com
  • www.thematter.co
  • www.globalpropertyguide.com
  • www.nippon.com
  • www.worldmeters.info
  • www.youtube.com
  • www.youtube.com
  • ธานี ชัยวัฒน์, พีระ ตั้งธรรมรักษ์, รัฐวิชญ์ ไพรวัน, และ นิชาภัทร ไม้งาม (2561). การศึกษาแนวทางวิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงเริ่มต้น. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ: กรุงเทพฯ