“แม่บอกว่า คุณเป็น ‘คนเร่ร่อน’ เหรอคะ?”
เด็กสาวคนหนึ่งถามกับเฟิร์น (Fern) ระหว่างที่เจอกันโดยบังเอิญ ณ ซุปเปอร์มาเก็ตแห่งหนึ่ง แม่ของเด็กสาวคนนี้เป็นลูกของน้องสาวเฟิร์น พวกเขาจึงเป็นญาติกันและคุ้นเคยเป็นอย่างดี จนกระทั่งเฟิร์นตัดสินใจออกจากเมืองหลังสามีเสียชีวิต ย้ายไปใช้ชีวิตใน ‘รถบ้าน’ ขับออกไปเรื่อยๆ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง วิถีชีวิตเช่นนี้ก็ทำให้คนอื่นๆ รวมถึงญาติของเธอเองมองว่า เฟิร์นกลายเป็นคนเร่ร่อน
“ฉันไม่ใช่คนเร่ร่อน (Homeless) ฉันแค่ไม่มีบ้านอยู่ (Houseless) มันต่างกันว่าไหม?” เป็นคำตอบของเฟิร์น
Nomadland ภาพยนตร์สัญชาติอเมริกาเล่าเรื่องราวของเฟิร์นและกลุ่มคนที่เลือกวิถีชีวิตรถบ้าน คำว่า Nomad (โนแมด) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณอย่าง Nomás (โนมาส) ที่แปลว่า ตะเวนไปมา, หลงทาง เพื่อหาทุ่งหญ้า คำว่า Nomad ในปัจจุบันเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่เลือกย้ายจากที่หนึ่งไปอยู่อีกที่หนึ่ง มากกว่าจะมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งถาวร
คำนี้ก็กลายมาเป็นชื่อหนังเรื่องนี้ที่กำกับโดยโคลอี เจา (Chloé Zhao) ซึ่งก็ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือที่ชื่อว่า Nomadland: Surviving America in the Twenty-First Century เขียนเล่าถึง Nomad ในอเมริกา หนังของเขาได้รับคำชมและรางวัลมากมายการันตี เสียงจากคนดูบอกว่า หนังเรื่องนี้ถ่ายทอดชีวิตคนเร่ร่อนออกมาได้น่าสนใจ และทำให้รู้จักพวกเขาจริงๆ
.
แก่ก่อนรวย สภาพชีวิตที่บางคนต้องเผชิญ
ที่มาที่ไปของเฟิร์นตัวละครหลัก Nomadland ไม่ได้บอกไว้ชัดเจน เรารับรู้เพียงว่า เธอกำลังอยู่ในช่วงใกล้วัยเกษียณ จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่หางานคนหนึ่ง ที่แนะนำให้เฟิร์นเกษียณก่อนวัย เพราะงานเริ่มหายากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเธอ แต่เฟิร์นไม่ได้มีเงินมากพอที่จะเกษียณ เธอยังคงมุ่งหน้าออกไปหางานทำ งานที่พอจะเปิดรับให้คนอย่างเธอ ตั้งแต่เป็นพนักงานในโรงงาน พนักงานในซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงลูกจ้างประจำแผงขายของแบบแบกะดิน
.
การสูญเสียคู่ชีวิตทำให้เฟิร์นต้องใช้ชีวิตเพียงลำพัง อยู่ในรถบ้านที่เป็นสมบัติไม่กี่ชิ้น มุ่งหน้าขับรถออกไปเรื่อยๆ ตอนเช้าทำงาน ตกดึกหาที่ว่าง อย่างลานจอดรถ เพื่อจอดรถนอนได้โดยไม่ถูกไล่
จนกระทั่งเฟิร์นได้เจอกับกลุ่มคนที่มีชีวิตคล้ายตัวเอง พวกเขาต่างอยู่ในช่วงวัยเดียวกันกับเธอ บางคนก็อายุมากกว่า บางคนเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ที่วิถีชีวิตเช่นนี้ดูไม่เหมาะสม แต่ทุกคนก็เลือกที่จะออกมาอยู่รถบ้าน หาที่ว่างๆ ใกล้ทะเลทรายรกร้าง จอดรถใกล้กันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ดูแลกันและกัน
“ฉันเคยคิดจะฆ่าตัวตาย เปิดแก๊สทิ้งไว้แล้วจุดบุหรี่สูบให้บ้านระเบิด”
เมย์ (May) เพื่อนใหม่ที่เฟิร์นเจอ เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เลือกชีวิตแบบนี้ เพราะค่าใช้จ่ายในการอยู่รถบ้านมันถูกกว่า โดยเฉพาะเมย์ที่ตอนนี้ 62 ปีแล้ว งานสำหรับเธอหายากเช่นเดียวกับเฟิร์น รายได้จึงพอเพียงแค่การอยู่รถบ้าน
เมย์พูดถึงเงินประกันสังคมที่เธอควรจะได้รับหลังเกษียณอย่างติดตลกว่า ตัวเองทำงานมาตั้งแต่อายุ 12 ปี กลับได้เงิน 550 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 19,000 บาท สำหรับเมย์เงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอให้เธอใช้ชีวิตได้ เธอจึงต้องทำงานเรื่อยๆ
ชีวิตของเมย์ก็คล้ายกับเฟิร์นและคนอื่นๆ พวกเขาต่างทำงานหนักมาตลอดชีวิต และหวังว่าบั้นปลายจะได้เจอผลตอบแทนที่ดี แต่สิ่งที่รออยู่ คือ ตัวเลขในบัญชีที่น้อยนิด หรือติดลบตามด้วยหนี้ก้อนโต หลายคนยังต้องออกมาทำงานต่อไปจนกว่าร่างกายจะไม่ไหว หรือลาจากโลกนี้ไป
การออกมาใช้ชีวิตในรถบ้านช่วยลดค่าใช้จ่ายของพวกเขา แต่ใช่ว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายเลย พวกเขายังต้องเสียเงินกับเรื่องอื่นๆ ไม่ต่างจากคนมีบ้าน เช่น ค่าเช่าพื้นที่สำหรับจอดรถบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะโดนไล่ และป้องกันอันตราย ที่ที่เฟิร์นเคยไปเช่าจอด ต้องเสียค่าเช่าประมาณ 370 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 13,000 บาท
แต่มีอีกหลายคนที่ตัดสินใจเลือกรถบ้าน เพราะพวกเขาอยากทำตามความฝันก่อนจะลาจากโลกไป นั่นคือ ‘ออกมาใช้ชีวิต’
ณ คืนหนึ่งขณะที่สมาชิกออกมาล้อมวงคุยกันรอบกองไฟที่ก่อขึ้นเพื่อให้ความอบอุ่น มีสมาชิกคนหนึ่งเล่าว่า เขาตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตข้างนอกเพราะเพื่อนสนิทตายด้วยโรคร้าย ก่อนจะจากไปเพื่อนบอกเขาว่า ให้รีบออกไปใช้ชีวิตเถอะ อย่ามัวแต่หาเงิน ดูอย่างเขาสิ หาเงินแทบตายสุดท้ายไม่ได้ใช้เลย นับเป็นเรื่องยากสำหรับบางคนที่ต้องเลือกระหว่างทำตามความฝัน แต่ชีวิตอาจไม่มั่นคง กับใช้ชีวิตเพื่อความมั่นคงบั่นปลาย ที่ก็ไม่รู้อีกว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงไหม
.
หนังเจาะจงเล่าเรื่องคนเร่ร่อนที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเข้ากับสถานการณ์ประชากรโลกตอนนี้ ที่หลายๆ ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย คือ มีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น กรมการปกครองเปิดเผยตัวเลขสำรวจประชากร เดือนธันวาคม 2566 ผู้สูงอายุ หรือคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีประมาณ 13,064,929 คน คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ยังคงทำงานอยู่ หรือมีลูกหลานเลี้ยงดู ในเรื่องของรายได้ มีผู้สูงอายุ 34% ที่มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนที่สำนักงานสถิติแห่งชาติกำหนดไว้ในปี 2564 ฐานรายได้ขั้นต่ำที่ทุกคนควรมีต่อเดือน คือ 2,802 บาท หรือ 33,624 บาทต่อปี
ทำให้มีประมาณ 5% ของผู้สูงอายุทั้งประเทศที่มีเงินเหลือเก็บ แต่เมื่อสำรวจลงลึกก็พบว่า มี 40% ของผู้สูงอายุที่ออมเงิน เงินที่ออมต่ำกว่า 50,000 บาท อาจพูดได้ว่า สถานะการเงินของผู้สูงอายุไทยอยู่ในภาวะเปราะบาง แม้จะมีสวัสดิการจากรัฐอย่างเบี้ยยังชีพ เดือนละประมาณ 600 – 1,000 บาท แต่หลายเสียงก็บอกว่ายังไม่เพียงต่อการใช้ชีวิต
ข้อมูลจากโครงการแจงนับคนไร้บ้าน One Night Count สำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านในไทย ปี 2566 มีจำนวนคนไร้บ้านประมาณ 2,499 คน ซึ่งช่วงอายุที่มีจำนวนมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 40-59 ปี คิดเป็นร้อยละ 56.87 และมีสัดส่วนผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ 22.13 ของประชากรไร้บ้านทั้งหมด ซึ่งจะเห็นได้ว่า โดยสัดส่วนแล้วค่อนข้างใกล้เคียงกับสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั่วไปจากการสำรวจของกรมการปกครอง
ความสูญเสียและวิกฤตการเงิน เหตุผลที่ผู้สูงอายุต้องออกจากบ้าน
เฟิร์นไม่ได้มองว่า ตัวเองเป็นคนเร่ร่อน สำหรับเธอคำนี้ค่อนข้างมีความหมายร้ายแรง เธอรู้สึกว่า ตัวเองเพียงแค่ไม่มีที่อยู่อาศัยตามนิยามที่สังคมกำหนดต่างหาก ทำให้เธอก็ต้องคอยตอบคำถามเรื่องนี้ หรือรับมือกับสถานการณ์ที่ชวนอึดอัดใจ อย่างเช่นตอนที่เธอต้องกลับไปหาญาติคนเดียวที่เหลืออยู่อย่างน้องสาว เพราะรถบ้านเสียและไม่มีเงินเหลือแล้ว น้องสาวของเฟิร์นใช้ชีวิตแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เธอแต่งงานกับนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ อยู่ในบ้านหลังใหญ่ที่ห้อมล้อมด้วยลูกและหลาน
ไลฟ์สไตล์นี้ทำให้เฟิร์นรู้สึกอึดอัดที่จะอยู่ด้วย แต่ปัญหาตรงหน้าทำให้เธอไม่มีทางเลือก จนมาเจอบทสนทนาของกลุ่มเพื่อนสามีน้องสาวที่นัดมาเจอกันที่บ้าน พวกเขาต่างทำงานเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เรื่องที่คุยส่วนมากเลยเป็นการเกทับยอดขายบ้านที่ตัวเองทำได้
.
“มันแปลกที่คุณสนับสนุนให้คนเอาเงินเก็บไปลงทุนสร้างหนี้ เพื่อซื้อบ้านที่แพงเกินไป” เฟิร์นเอ่ยขึ้นหลังจากฟังพวกเขาพูดมานาน
“เราไม่ได้อยู่ในจุดที่ทิ้งทุกอย่างแล้วไปขับรถได้แบบคุณนะ” ชายคนหนึ่งตอบโต้เธอ พวกเขาต่างคิดว่า ชีวิตของเฟิร์นช่างมีอิสระเสรี อยากจะออกไปอยู่ในรถบ้านก็ไป ทิ้งทุกอย่างได้ทันที ไม่เหมือนพวกเขาที่มีเรื่องให้ต้องคิดเยอะ มีภาระและความรับผิดชอบมากมายที่ต้องแบกรับไว้
“คิดว่าฉันอยู่ในจุดที่ทิ้งทุกอย่างแล้วไปเหรอ” ชีวิตของเฟิร์นในตอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่เธอเลือกได้ ทั้งสถานการณ์การเงินที่ทำให้เธอไม่สามารถมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งได้ หรือการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ทำให้เธอหวาดกลัวที่จะสร้างความสัมพันธ์ กลัวการปักหลักนานๆ จนต้องออกไปใช้ชีวิตข้างนอกอย่างทุกวันนี้
“หนังเน้นเล่าตัวละครที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีนักแสดงหลายคนบอกกับฉันว่า ‘ในวัยนี้ เราผ่านอะไรมามาก ผ่านการเปลี่ยนแปลง 1 – 2 ครั้ง ต้องสูญเสียคนที่เรารักไป’ ทำให้ฉันมองว่าการออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อนของผู้สูงอายุและวัยรุ่นนั้นแตกต่างกัน”
เจา ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ BFI อธิบายว่า ทำไมเธอจึงเลือกเล่าถึงคนสูงวัยไร้บ้าน เพราะส่วนใหญ่หนังที่มีโครงเรื่องเกี่ยวกับการออกผจญภัยในโลกกว้าง มักจะหยิบตัวละครที่เป็นวัยรุ่น หรืออยู่ในช่วงหนุ่มสาวที่กำลังค้นหาตัวเองมาเล่า โดยการออกเดินทางก็เหมือนการได้เรียนรู้ชีวิตรูปแบบหนึ่ง ได้เจอประสบการณ์ที่มีผลต่อชีวิตข้างหน้า
เพราะเจารู้สึกว่า ชีวิตของคนสูงวัยก็น่าสนใจไม่แพ้กัน การเดินทางของพวกเขาเริ่มต้นจากความสูญเสีย หรือสถานการณ์การเงินเข้าขั้นวิกฤต อาจเรียกได้ว่า พวกเขาเป็นผลลัพธ์จากโลกทุนนิยมที่มีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังเสมอ
คนดูจะอยู่กับเฟิร์นได้แค่ระยะเวลา 2 ชั่วโมงที่หนังฉาย หลังจากจอดับมืดเพราะถึงฉากจบแล้ว เราคงไม่รู้ว่าชีวิตของเฟิร์นจะเป็นอย่างไรต่อไป สิ่งสุดท้ายที่เราได้เห็น คือ เฟิร์นที่ขับรถบ้านคู่ใจของเธอไปบนถนนอย่างไร้จุดหมายปลายทางเช่นเดิม เธอไม่สามารถกลับไปแก้ไขอดีต ที่จะทำให้ชีวิตปัจจุบันดีขึ้น สิ่งที่เฟิร์นทำได้คือการใช้ชีวิตต่อไป มีรถบ้านที่ตั้งชื่อว่า ‘นำทาง’ ข้างเคียงเสมอ
.
.
.
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2725450