“ตอนแรกสั่งเสื้อมาร้อยกว่าตัว ไม่คิดว่า คนจะให้ความสนใจมากขนาดนี้ คือ เราไม่คิดว่าแค่การทำเสื้อสื่อสารเรื่องคนไร้บ้าน จะมีคนสนใจมาก”
หากใครได้ไปร่วมงาน “HUMAN OF STREET Season 2 (Greeting For the Homeless)” ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2560 ณ พิพิธบางลำพู คงจะสะดุดตากับนิทรรศการที่ถูกจัดวางภายในงาน ได้แก่ “สกรีนลายเสื้อ” “เรื่องเล่าริมทาง” และ “Homeless Experience” แม้ตัวนิทรรศการจะดูไม่หวือหวา แต่แฝงด้วยนัยและความหมาย กลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้ลงไปสัมผัสกับคนไร้บ้านเป็นระยะเวลากว่าหกเดือน
นิทรรศการทั้งสามชุดนี้ เกิดขึ้นจากการที่นิสิตมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมเวทีอบรม Homeless Creative Lab ซึ่งจัดโดยความร่วมมือระหว่าง สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะไทยพีบีเอส ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนางานสื่อสาร เปิดไอเดีย ปรับมุมมอง เปลี่ยนโลกความเข้าใจ ในประเด็น “คนไร้บ้าน”
สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากตัวงานที่พวกเขาผลิต คือคำถามที่ว่า ไอเดียเบื้องหลังของงานศิลปะสามชุดนี้ คืออะไร เรื่องราว และประสบการณ์อันใดที่บันดาลใจให้พวกเขาสื่อสารประเด็น “เรื่องคนไร้บ้าน” ในแนวทางเช่นนั้น
ทันทีที่เดินเข้างาน “HUMAN OF STREET Season 2 (Greeting For the Homeless)” ที่พิพิธบางลำพู ก่อนถึง Homeless Cafe เราจะพบกับเสื้อขาวแขวนเรียงรายสกรีนสัญลักษณ์ตัว “-“ และ เลข “0” มองดูแล้วอยากได้มาไว้ในครอบครองสักหนึ่งตัว และพลันพบว่า เสื้อนี้สกรีนแจกจ่ายแก่ผู้เข้าร่วมงาน เสื้อที่นิสิตกลุ่มนี้เตรียมมาก็พร่องลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนต่างเข้ามาสอบถามความหมายของลายสกรีน และขอรับไปเป็นที่ระลึก จนกลุ่มน้องนักศึกษาประจำกลุ่มต้องล้างบล๊อคสกรีนอยู่บ่อยครั้ง
“ตอนแรกสั่งเสื้อมาร้อยกว่าตัว ไม่คิดว่า คนจะให้ความสนใจมากขนาดนี้ คือ เราไม่คิดว่าแค่การทำเสื้อสื่อสารเรื่องคนไร้บ้าน จะมีคนสนใจมาก”
“เกมส์” หรือ ปราโมท ธรรมมา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ตัวแทนกลุ่มทำสกรีนเสื้อ เล่าอีกว่า ตนได้เข้าร่วมโครงการ Homeless creative lab ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้คนทุกอาชีพมาร่วมกันหาวิธีการสื่อสารเรื่องของคนไร้บ้าน จึงรวมตัวกับเพื่อนสามคน คือ ตนเอง เรียนนิเทศฯ เพื่อนอีกคนหนึ่งเรียนศิลปะ และอีกคนหนึ่ง เรียน สังคมวิทยา สองคนหลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“มันเป็นความรู้สามด้านมารวมกัน เราคิดกันว่า จะทำอะไรกันดี เราพยายามหาวิธีสื่อสารประเด็นคนไร้บ้าน จนในที่สุด สรุปกันว่า จะเอางานศิลปะมาสกรีนเป็นลายเสื้อ โดยการทำให้เสื้อเป็นตัวสื่อสาร แต่ตัว text ที่เราใช้เป็นตัวสื่อสาร คือ ตัวเลขที่ใช้นำหน้าบัตรประชาชน มันมีหลายตัวเลขตั้งแต่ขีด 0 1 2 3 4 5 6 7… แต่เราเลือกตัวขีดกับตัว 0 เพราะตัวขีด หมายถึง คนที่ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น หลักประกันสุขภาพ หรือรัฐสวัสดิการ”
“อีกตัวหนึ่งก็จะเป็นเลขศูนย์ ซึ่งเป็นการรอพิสูจน์สิทธิ คือ อาจจะมีหลักฐาน หรือดีเอ็นเอที่บ่งบอก แต่อย่างไรก็เป็นการอพิสูจน์สิทธิอยู่ดี การรอพิสูจน์กมีความหมายว่ายังจะไม่ได้รับสิทธิ เหมือนกับตัว “ขีด” เราจึงอยากสื่อสารเลขบัตรประชาชนให้สังคมรู้ว่า เลขบัตรประชาชนเป็นปัญหาหนึ่งของคนไร้บ้าน เวลาที่เขาเจ็บป่วย หรือจะเข้ารับการรักษาจากรัฐ คนที่ไม่มีบัตรประชาชนจะไม่ได้รับการรักษาเลย จากการลงพื้นที่บางคนป่วย นอนเสียชีวิตเลยก็มี ไม่ได้สิทธิประโยชน์ หรือการคุ้มครองจึงมองว่าบัตรประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญมาก”
ย้อนกลับไปเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว นักศึกษากลุ่มนี้ยังมองคนไร้บ้านเฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไป คือ เป็นคนขี้เกียจ และไม่ทำงาน แต่การที่ตนเองจำต้องสื่อสารในประเด็นนี้ และได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยก็ทำให้พานพบกับบางอย่างที่เปลี่ยนความคิดพวกเขา
“อันที่จริงแล้ว คนไร้บ้านไม่อยากเป็นคนไร้บ้านหรอก”
“จริงๆแล้วก่อนจะมาทำโครงการนี้ เรามองคนไร้บ้านเหมือนกับคนทั่วไปนะ คือ คนไร้บ้านคงเป็นคนขี้เกียจ ไม่ทำการทำงานทั้งที่สุขภาพร่างกายก็ดี”
“แต่อันที่จริงแล้วมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คนไร้บ้านไปตกอยู่ในภาวะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการถูกทอดทิ้ง การไม่มีสิทธิในบัตรประชาชน บางคนเคยเป็นนักโทษแต่พอพ้นโทษออกมาสู่สังคม มาหางานทำ สังคมก็ไม่ได้ใจกว้างพอที่จะเปิดรับคนเหล่านั้น หรือบางคนหนีออกมาจากครอบครัวเลยเพราะไม่อยากเป็นภาระ บางคนโสด แล้วอยู่กับพี่น้องที่มีครอบครัว รู้สึกอึดอัด ก็ออกมาเป็นคนไร้บ้านก็มี พอออกมาใช้ชีวิตแบบนี้ก็ต้องปรับวิถีชีวิต การกิน การอยู่การนอน วิถีชีวิตของเขาก็เลยเป็นแบบที่เราเห็น”
เกมส์ ยังเล่าอีกว่า ก่อนเริ่มทำงาน พวกเขาไม่คาดคิดว่า รูปแบบการสื่อสารโดยใช้การสรีนเสื้อ ซึ่งเป็นรูปแบบธรรมดา และไม่ใหม่ พอนำมาโยงเข้ากับลวดลายและเนื้อหา กลับพบว่า มันสื่อสารได้ค่อนข้างมาก
“ในตอนแรกเรามีคำถามว่า สังคมสนใจเรื่องคนไร้บ้านมากน้อยขนาดไหน เราไม่รู้ว่าคนข้างนอกจะมองคนไร้บ้านอย่างไร แต่พอเราได้มาทำแบบนี้แล้ว ก็มีคนร่วมงานหลายคนเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับที่มาของลายเสื้อว่า คืออะไร มีที่มาอย่างไร เขาเข้าใจเรื่องที่มาของตัวนำหน้าเลขบัตรประชาชนมากขึ้น “ขีด” หมายถึงอะไร “0” คืออะไร มันทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น เราก็รู้สึกว่าอย่างน้อยเราได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสื่อสารเรื่องนี้ออกไป สรุป คือ เกินความคาดหวัง”
ติดตามอ่านตอน ความหมายหลังภาพถ่ายในงานนิทรรศการ Human of street SS 2 และเมื่อเรื่องเล่าข้างถนน ถูกนำมาจัดวางทางศิลปะ ในงาน Human of street SS 2 ได้ที่ https://penguinhomeless.com