‘One day with me’ คอนเทนต์ยอดฮิตที่ตามดูชีวิตประจำวันของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ดารา หรือศิลปินที่ใครๆ ก็ชื่นชอบ กิจวัตรประจำวันของพวกเขามีได้หลายแบบ เช่น เล่นกีฬา ไปสปาหน้า หรือดินเนอร์ที่ร้านสุดหรู จนบางทีก็เกิดความสงสัยว่าทำไมคนเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ชีวิตเราไม่เหมือนกัน?
เพราะเวลาคือสิ่งที่ทุกคนมี แต่เงิน ต้นทุน และเงื่อนไขของชีวิตคนต่างหากที่ทำให้ 24 ชั่วโมงถูกใช้ไปไม่เหมือนกัน ถ้าหากมีคอนเทนต์ ‘One day with คนไร้บ้าน’ เราคงได้เห็นความแตกต่างของเวลาที่ถูกใช้ไปในแต่ละวันอย่างสิ้นเชิง
‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่เราต่างได้ยินกันจนชินหู และอาจเป็นเรื่องห่างไกลของบางคน ผลลัพธ์ที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมหนึ่งก็คือคนไร้บ้าน พวกเขาก็เคยเป็นคนที่มีความฝันและความหวังในการสร้างชีวิต จนเจอเข้ากับความผิดหวังและหักเหกลายเป็นคนไร้บ้าน
แต่สถานะคนไร้บ้านไม่ใช้สถานะที่ต้องติดตัวตลอดไป พวกเขาสามารถกลับไปมีบ้าน สร้างชีวิตของตัวเองได้อีกครั้ง ถ้าหากมีปัจจัยสนับสนุนเพียงพอ
งานวิจัยการศึกษาแนวทาง วิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านและติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านหน้าใหม่ในช่วงเริ่มต้น โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ และทีม จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศึกษาพฤติกรรมและทัศนคติของ ‘คนไร้บ้านหน้าใหม่’ ถือเป็นระยะเวลาที่ถ้าได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว จะทำให้อยู่ในภาวะนี้ไม่นาน สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้
ธานีลงพื้นที่สำรวจกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่จาก 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่สาธารณะ เช่น สภาสังคมสงเคราะห์ ลานคนเมือง วัดเจ้าอาม และสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นต้น 2.ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู และ 3.บ้านอิ่มใจ
คนไร้บ้านหน้าใหม่ที่ธานีให้คำนิยามไว้ คือ บุคคลที่มีโอกาสจะเป็นคนไร้บ้าน หรือตัดสินใจเข้าสู่ภาวะไร้บ้านมาแล้วไม่เกิน 3 ปี
ถึงจะไม่มีบ้านหรือที่อยู่เป็นของตัวเอง แต่ ‘ที่พักอาศัย’ ก็ยังเป็นสิ่งที่คนไร้บ้านหน้าใหม่ต้องมี ซึ่งการเลือกจะอยู่ที่ไหนขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นคนไร้บ้านด้วย ถ้าออกมาเป็นคนไร้บ้านต่ำกว่า 1 ปีไปจนถึง 2 ปี พวกเขาจะเลือกพักที่ศูนย์พักพิง แต่ถ้าเป็นคนไร้บ้านมาแล้ว 2 – 5 ปีขึ้นไป จะเลือกอยู่ตามพื้นที่สาธารณะมากที่สุด เพราะว่าการอยู่ในภาวะไร้บ้านนานๆ ก็จะคุ้นชินกับการอยู่ข้างนอกมากขึ้น มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนได้ ทำให้พวกเขาเลือกอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เพราะมีอิสระกว่าด้วย
‘เพศ’ ก็มีผลต่อการเลือกที่อยู่ด้วยเช่นกัน คนไร้บ้านที่เป็นผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่ศูนย์พักพิงมากกว่า เนื่องจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยและความช่วยเหลือต่างๆ ที่ได้รับจากศูนย์พักพิง
บันทึกประจำวันของคนไร้บ้านหน้าใหม่ 3 คน 3 สถานที่
ลานคนเมืองกรุงเทพฯ หัวลำโพง เยาวราช มหา’ลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ล้วนเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนไร้บ้านนิยมเช็กอินเข้าไปพัก สำหรับ ‘ไก่’ ชายวัย 34 ปี หัวลำโพงคือสถานที่ที่เขาไปพักเป็นประจำ ทุกๆ วันไก่จะตื่นตี 4 เพื่อเดินทางไปอาบน้ำและกินข้าวที่สภาสังคมสงเคราะห์ หลังจากทำธุระส่วนตัวเสร็จแล้ว ไก่ก็เลือกที่จะพักผ่อนแถวสวนเงินซึ่งเป็นสวนสาธารณะในย่านพระราม 6 เป็นที่นั่งกินข้าวเที่ยงประจำของไก่อีกด้วย ซึ่งข้าวก็ห่อมาจากสภาสังคมสงเคราะห์
พอถึง 4 โมงเย็น ไก่เดินทางกลับไปที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อพักผ่อนอยู่ในอาคารผู้โดยสาร เนื่องจากมีทั้งเครื่องปรับอากาศและทีวีให้ดูเพลินๆ ไปจนถึงช่วงที่สถานีปิดทำการ ซึ่งไก่ต้องออกมา เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะมาไล่ ห้องนอนของไก่วันนี้จึงเป็นลานกว้างที่อยู่รอบสถานีหัวลำโพง อันเป็นการจบวันของไก่ ค่าใช้จ่ายวันนี้ของเขาอยู่ที่ 0 บาท
‘ป้าอ้อย’ คุณแม่อายุ 56 ปี จากจังหวัดชลบุรีที่หนีความน้อยใจ มาเป็นคนไร้บ้านในศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู ย่านบางกอกน้อย เธอเล่าว่าเพราะมีปัญหากับลูกเขยและลูกสาว บวกกับโรคซึมเศร้าที่รักษาไม่หาย เธอจึงตัดสินใจออกจากบ้านและมาจบลงที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ ป้าอ้อยได้เงินจากลูกสาว ลูกชาย และเฮียคนสนิทของเธออาทิตย์ละ 500 – 1,000 บาท แต่บางอาทิตย์ลูกๆ ก็ไม่ได้โอนเงินมาให้ เธอเลยต้องขายเสื้อผ้าหรือของประดับที่มีเพื่อยังชีพ
ถ้าวันไหนไม่ได้ทำงาน ป้าอ้อยก็ไม่ได้ออกไปไกลจากศูนย์ฯ มากนัก หลังจากตื่นนอนกิจวัตรของป้าอ้อย คือ กินข้าว พูดคุยกับเพื่อนๆ นอนพักอยู่ในห้อง และที่ขาดไม่ได้เลยคือการดื่มน้ำอัดลม ทำให้บางวันป้าอ้อยจะเสียเงินราว 20 บาท ไปกับค่าน้ำอัดลมอย่างเดียว เพราะมีข้าวจากที่ศูนย์ฯ ไว้ให้
หลังจากถูกบริษัทยกเลิกจ้าง ‘กร’ ชายวัย 40 ปี จึงตัดสินใจเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ และเลือกบ้านพักอิ่มใจ ย่านประปาแม้นศรี เป็นที่พักระหว่างหางาน แม้จะยังหางานประจำไม่ได้ แต่กรก็มีอาชีพรับจ้างอยู่ในไซต์ก่อสร้างรายวัน ทำให้พอมีเงินประคับประคองชีวิตต่อไปได้
วันที่ต้องไปทำงาน กรจะตื่นตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง กินข้าวเช้าที่บ้านอิ่มใจ และออกเดินทางไปสมุทรปราการโดยขนส่งสาธารณะ ระหว่างวันกรโชคดีที่หัวหน้างานเลี้ยงข้าว เขาจึงไม่ต้องเสียเงินสักเท่าไหร่ พอถึงเวลา 3 โมง เป็นเวลาเลิกงาน กรเดินทางกลับบ้านอิ่มใจ ข้าวเย็นในบ้านอิ่มใจทำให้กรอิ่มไปอีกมื้อ จากนั้น 3 ทุ่มถึงเวลาเข้านอนของกร ค่าใช้จ่ายทั้งวันนี้ของกรอยู่ที่ 18 บาท ซึ่งเป็นค่ารถสองแถวขาไปและขากลับ
จากการติดตามคนไร้บ้านหน้าใหม่ตลอดระยะเวลา 5 เดือนนี้ ธานีพบว่า ส่วนใหญ่พวกเขามักจะมีกิจวัตรประจำวันที่ไม่แตกต่างในแต่ละวัน คือ นอนในที่เดิมๆ ตื่นขึ้นก็เดินทางไปสถานที่เดิมๆ เช่น ไปหางาน ไปรับจ้างรับพระจากต่างจังหวัดมาขาย ไปพักผ่อนตามสถานที่ที่มีเครื่องอำนวยความสะดวก หรือไม่ก็รอรับข้าวฟรี แต่ละคนจะมีการจัดสรรเวลาที่ต้องไปในแต่ละสถานที่ นอกจากนี้ธานีเห็นว่า สถานที่ที่คนไร้บ้านหน้าใหม่ไปซ้ำๆ มักจะเป็นสถานที่ที่ไม่ใกล้จากที่อยู่ของตัวเอง
คนไทยทำไมถึงไร้บ้าน?
มีหลากหลายเหตุผลให้คนเลือกที่จะไร้บ้าน แต่ในงานวิจัยชิ้นนี้ ธานีบอกว่า เหตุผลหลักๆ ที่คนเลือกไร้บ้าน ก็คือปัญหาทางเศรษฐกิจ และปัญหาครอบครัว
“ผมเป็นลูกชายในครอบครัวคนจีนแถวเยาวราช เมื่อพ่อแต่งงานใหม่ ผมถูกพูดจาเหน็บแนมเพียงเพราะผมช่วยงานที่บ้าน และไม่ไปหางานข้างนอกทำ พ่อของผมก็ไม่ได้ปกป้องอะไร เรื่องนี้สร้างความอึดอัดใจตลอดเวลาที่อยู่บ้าน ผมเลยตัดสินใจออกมาทำงานรับจ้าง และกลายมาเป็นคนไร้บ้านที่อาศัยบ้านอิ่มใจเป็นที่นอน”
นี่คือ ‘ตี๋’ คนไร้บ้านหน้าใหม่ที่ตัดสินใจเดินออกมาจากบ้าน เพราะปัญหาครอบครัว เขามักถูกแม่เลี้ยงต่อว่าเพราะไม่ชอบเขา ในขณะที่พ่อของตี๋เองก็ไม่เคยช่วยตี๋เลย ความรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจที่จะอยู่ที่ที่เรียกว่า ‘บ้าน’ ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายตี๋จึงตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตข้างนอก เลี้ยงดูตัวเองตามลำพัง
“การกลับบ้านทั้งๆ ที่ยังมีปัญหาครอบครัว ไม่ใช่แนวทางที่ทำให้คนไร้บ้านจะสบายใจมากขึ้น”
ธานีบอกว่า คนไร้บ้านจะสบายใจที่ได้กลับบ้านมากกว่า คือ ตอนที่พวกเขามีงานและมีเงินแล้ว เพราะการมีสองสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า พวกเขาเริ่มพึ่งพาตัวเองและตั้งตัวได้แล้ว อีกทั้งยังเป็นการสร้างศักดิ์ศรีให้กับตัวเองมากขึ้น พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีตัวตนและมีคุณค่า จึงมีโอกาสที่จะกลับไปที่บ้านอีกครั้ง หรือก็สร้างบ้านใหม่ของตัวเองได้เลย ปัญหาครอบครัวกับปัญหาเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน เพราะทางออกของปัญหาทั้งสอง คือ มีงานและเงินนั่นเอง
“การุณไร้บ้านเพราะเดินทางมาเสี่ยงดวงในกรุงเทพฯ ตอนแรกเขาตั้งใจไว้ว่า จะเรียนเป็นช่างซ่อมโทรศัพท์มือถือ การนอนในที่สาธารณะจึงเป็นวิธีที่การุณเลือกเพราะมันประหยัดเงินที่สุด” ท่อนหนึ่งจากงานวิจัยที่เล่าเรื่องของ
‘การุณ’ ชายวัย 58 ปี จากอยุธยา เป็นอีกหนึ่งคนที่ไร้บ้านเพราะปัญหาเศรษฐกิจ นอกจากการุณแล้วก็มีคนไร้บ้านอื่นๆ อีกหลายคน ที่ต่างอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น พวกเขาเลือกเดินทางเข้ามาหาโอกาสในเมืองใหญ่ และใช้ชีวิตแบบคนไร้บ้าน เพราะวิถีชีวิตนี้มันช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตได้เยอะ สำหรับคนที่มีต้นทุนชีวิตน้อยอย่างพวกเขา วิธีนี้จึงช่วยให้เกิดการประหยัดและเพิ่มช่องทางให้กับพวกเขาได้ กลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่ไม่มีบ้านเพราะปัญหาเศรษฐกิจ แน่นอนว่าการมีอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้คือความต้องการสูงสุดของพวกเขา
“ตอนนี้คิดว่าจะไร้บ้านไปนานแค่ไหน”
คนที่ไร้บ้านเป็นเวลาไม่ถึง 1 ปี จากพื้นที่สาธารณะ ศูนย์สุวิทย์วัดหนู และบ้านอิ่มใจ จำนวน 14 คน จากทั้งหมด 37 คน ตอบว่า พวกเขาจะไร้บ้านจนกว่าจะมีงานทำ หาที่อยู่ของตัวเองได้ หรือจนกว่าจะกลับไปหาครอบครัวได้ ซึ่งคำตอบนี้เป็นคำตอบที่มีคนตอบมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนที่ไร้บ้านเป็นระยะเวลานานกว่า ในขณะที่คนไร้บ้านตั้งแต่ 3 – 5 ปี จากทั้ง 3 พื้นที่ เลือกที่จะตอบว่า พวกเขาน่าจะไร้บ้านไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลานาน หรือไม่แน่ก็อาจจะไร้บ้านตลอดไป
1 ปี อาจเป็นระยะเวลาที่สามารถเปลี่ยนชีวิตได้ กับคนไร้บ้านก็เช่นกัน งานวิจัยบอกว่า ภายในช่วงเวลาการเริ่มต้นเป็นคนไร้บ้านที่สำคัญมากที่สุด คือ ภายใน 1 ปีแรก ถ้าพวกเขาไม่สามารถพบกับจุดเปลี่ยน (Turning point) ที่จะตั้งหลักชีวิตได้ โอกาสที่เขาจะเปลี่ยนจากคนไร้บ้านหน้าใหม่เป็นคนไร้บ้านถาวร ที่ทั้งความหวังและความฝันในชีวิตเริ่มลดลงเรื่อยๆ จากความพยายามในการตั้งหลักครั้งแล้วครั้งเล่า
หากยังมีคนไร้บ้านที่เลือกตอบว่า พวกเขาจะไร้บ้านจนกว่าจะมีเงินหรือมีงาน แปลว่าความหวังในตัวพวกเขาก็คงยังไม่เหือดแห้ง ที่จะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีกครั้ง
อ้างอิง:
- ธานี ชัยวัฒน์, พีระ ตั้งธรรมรักษ์, รัฐวิชญ์ ไพรวัน, และ นิชาภัทร ไม้งาม (2561). การศึกษาแนวทางวิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงเริ่มต้น. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ: กรุงเทพฯ
สืบค้นจาก :
https://drive.google.com/file/d/1PuVAkJJ40j2W0z3RCtl1slZlU40ZzoNh/view