“จำนวนบ้านที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎร์มีประมาณ 23 ล้านหลัง แบ่งเป็นบ้านที่มีคนอยู่อาศัยประมาณ 16 ล้านหลัง ที่เหลืออีก 7 ล้านหลัง เป็นบ้านที่ว่างเปล่า”
บรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง เล่าไว้ในวงเสวนา ‘ทิศทางการขับเคลื่อนงานคนไร้บ้าน ประจำปี 2567’ ภายในงานมหกรรมด้านการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ประจำปีงบประมาณ 2567 งานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายคนไร้บ้าน ซึ่งจัดขึ้นที่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
บ้านที่ว่างเปล่านั้นไม่อาจบอกได้ชัดเจนว่า ไร้คนอยู่อาศัยจริงๆ หรือจะว่างเปล่าด้วยเหตุผลอะไรบ้าง แต่ก็ทำให้บรรจบตั้งคำถามว่า สังคมไทยยังคงมี ‘คนไร้บ้าน’ เกิดขึ้น
2,499 คน จำนวนคนไร้บ้านที่สำรวจล่าสุดปี 2566 ผ่านโครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) ซึ่งจํานวนคนไร้บ้านนี้ไม่นับรวมคนไร้ที่พึ่งไร้บ้านที่อยู่ในกระบวนการคุ้มครองในศูนย์แรกรับ และสถานคุ้มครองฯ ตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เริ่มมีการสำรวจคนไร้บ้านในไทยอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อปี 2559 ที่พบว่ามีจำนวนคนไร้บ้านประมาณ 1,307 คน เป็นการสำรวจแค่ที่กรุงเทพมหานคร ปีต่อๆ มาจึงมีการขยายพื้นที่สำรวจ และในปีนี้ได้โอกาสดีที่สำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านทั้งประเทศ
วิธีสำรวจที่ใช้เรียกว่า การแจงนับ (counting) คือ การนับจำนวนในครั้งเดียว ซึ่งในโครงการนี้ใช้วิธีนับจำนวนคนไร้บ้านในแต่ละพื้นที่ภายในหนึ่งคืน ตามระยะเวลาที่กำหนด วิธีแจงนับจะช่วยลดความเสี่ยงในการนับซ้ำ สามารถกำหนดเส้นทางที่จะไปนับได้ชัดเจน ไม่ทับซ้อนกัน แล้วที่ต้องทำช่วงเวลากลางคืนเพราะเป็นเวลาที่คนไร้บ้านมีการเคลื่อนตัวต่ำ
ในตัวเลขสองพันกว่าคนที่พบ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 82.5% รองลงมาคือเพศหญิง 16.2% จังหวัดที่มีคนไร้บ้านอาศัยอยู่มากที่สุด 7 อันดับแรก คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น กาญจนบุรี นครราชสีมา และสงขลา โดยที่กรุงเทพฯ มีจำนวนคนไร้บ้านประมาณ 1,271 คน ซึ่งพื้นที่ที่คนไร้บ้านเลือกอยู่มักเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ เป็นย่านการค้า
มีข้อมูลที่น่าสนใจอีกหนึ่งในอย่างจากการสำรวจ คือ อายุของคนไร้บ้านที่พบว่าวัยสูงอายุมีมากที่สุด ประมาณ 20.0% สะท้อนให้เห็นว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของเมืองไทยมีผลต่อคนทุกกลุ่ม
นอกจากสำรวจจำนวนคนไร้บ้านแล้ว ยังมีการเก็บข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการพูดคุยกับคนไร้บ้าน ทำให้ได้รู้ว่า ‘การไร้บ้าน’ ถือเป็นภาวะหนึ่ง แม้จะมีคนไร้บ้านบางคนที่ไร้บ้านตั้งแต่ลืมตาดูโลก แต่ส่วนใหญ่ก็สามารถหลุดพ้นจากภาวะนี้ได้
ระยะเวลาที่เข้าสู่ภาวะคนไร้บ้านส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 2 – 5 ปี คิดเป็น 21% มีคนไร้บ้านที่เข้าสู่ภาวะนี้ไม่เกิน 1 ปี ประมาณ 18% ทำให้อนรรฆที่ร่วมทำงานในการสำรวจนี้บอกว่า หากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้รวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่พวกเขาเป็น ‘คนไร้บ้านหน้าใหม่’ คือเพิ่งเริ่มออกมาเป็นคนไร้บ้าน จะลดโอกาสการเกิดคนไร้บ้านถาวร รวมถึงโอกาสเกิดจำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น
เมื่อมองย้อนไปดูถึงเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้คนตัดสินใจออกมาเป็นคนไร้บ้าน เหตุผลอันดับหนึ่ง คือ ไม่มีงานทำ ตกงาน หรือถูกไล่ออก คิดเป็น 44.72% นี่อาจเป็นปัญหาร่วมที่มีหลายคนเผชิญเช่นกัน ส่วนเหตุผลรองลงมา คือ ปัญหาในครอบครัว ประมาณ 35.18%
แต่ถ้าพิจารณาในระดับพื้นที่อย่างกรุงเทพฯ เหตุผลใหญ่ที่ทำให้คนตัดสินใจออกจากบ้าน คือ ปัญหาในครอบครัว รองลงมาถึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการงาน
ถึงจะออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ หรือบางคนมองดูแล้วรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้ไม่น่าจำเป็นต้องใช้จ่ายอะไร แต่ ‘เงิน’ ยังเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องมีอยู่ จากการพูดคุยพบว่า รายได้ของคนไร้บ้านต่ำกว่าเดือนละ 1,500 บาท มีคนไร้บ้านประมาณ 21% ที่ไม่มีงานทำ ซึ่งมีผลต่อการตั้งหลักชีวิตที่จะทำให้หลุดพ้นจากภาวะนี้
มีรายงานชิ้นหนึ่งที่ทำการสำรวจปัจจัยที่ทำให้คนกลายเป็นคนไร้บ้าน มีชื่อว่ารายงานโครงการ “บทสํารวจเบื้องต้นชีวิตของคนจนเมืองหลุดระบบ: กรณีศึกษาคนจนเช่าบ้าน/ห้องในเขตกรุงเทพมหานคร” ในรายงานระบุว่า สถานการณ์ที่พักอาศัยที่ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ มีผลให้คนกลายเป็นคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่โควิด-19 ระบาด ทำให้กลุ่มที่เช่าบ้านอยู่กลายเป็นคนเปราะบาง เสี่ยงต่อการเป็นคนไร้บ้านมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะพวกเขาไม่สามารถหารายได้ได้เหมือนเดิม และมาตรการจัดการกับโรคระบาดของรัฐก็มีผลต่อการหารายได้พวกเขา เมื่อไม่มีเงินมากพอก็ต้องออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะแทน
นี่เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งจากโครงการแจงนับ หากใครสนใจอยากดูข้อมูลอื่นๆ สามารถเข้าไปอ่านได้ที่: https://lookerstudio.google.com/reporting/0f311300-ec43-4e98-94d8-04afe56358a8/page/toRTD?fbclid=IwAR02Zzqu7zFrx46tUHULEH6m_zYGRfTcGsk5kt8Ck8ZQ_nleuOZ8KTBW8xE_aem_AWPiVVFuIOKCDk9oSpG_sK0mTfUN0RPcN7P0F_4hURrmIDAOGPGc9XH-haRVSM_dQD8
ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นตัวช่วยเบื้องต้นที่ทำให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ได้วางแผนการทำงานต่อไปอย่างเหมาะสม เพราะในสังคมที่สวัสดิการยังห่างไกลคำว่าถ้วนหน้า พวกเราต่างมีความเสี่ยง หรือ ‘โอกาส’ ที่จะกลายเป็นคนไร้บ้านได้เช่นกัน