กรุงเทพมหานคร ยังคงครองแชมป์เป็นพื้นที่ยอดนิยมของ ‘คนไร้บ้าน’ ที่จะเลือกอาศัยอยู่
จากการแจงนับคนไร้บ้าน One Night Count 2556 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 และการสำรวจข้อมูลเชิงลึกประชากรคนไร้บ้านในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม ผ่านการร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย, มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิอิสรชน ที่ตั้งใจทำโครงการนี้เพื่อสำรวจและได้ข้อมูลของคนไร้บ้านที่เกิดขึ้นจริง
วิธีการใช้สำรวจคนไร้บ้านในครั้งนี้ คือ การแจงนับภายในหนึ่งคืน หรือ One Night Count (ONC) เป็นวิธีใช้สำรวจคนไร้บ้านที่นิยมทำในหลายประเทศ เพื่อกำหนดเส้นทางการสำรวจอย่างชัดเจน ป้องกันการเก็บข้อมูลซ้ำซ้อน และนำข้อมูลคนไร้บ้านนี้มาสำรวจถึงการกระจายตัวของประชากร ก่อนจะพัฒนาเป็นการสำรวจเชิงลึกต่อไป
เหตุผลที่ต้องนับตอนกลางคืน เพราะคนไร้บ้านเป็นกลุ่มประชากรที่มีพลวัตสูง กล่าวคือ มีการเปลี่ยนหน้าใหม่ หรือภาวะไร้ที่อยู่อาศัยตลอดเวลา เช่น วันนี้ไร้บ้าน พรุ่งนี้มีบ้านอยู่ วันต่อไปอาจกลับมาไร้บ้านอีก เป็นต้น ทำให้คนเปราะบางที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านในแต่ละปี หรือจำนวนคนไร้บ้านสะสม มีแนวโน้มสูงกว่าจำนวนที่นับได้ในตอนนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทีมทำงานต้องนำมาพัฒนาวิธีสำรวจคนไร้บ้านต่อไป
ณ ตอนนี้ประเทศเรามีคนไร้บ้านประมาณ 2,499 คน อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มากที่สุด 1,271 คน รองลงมาเป็นชลบุรี 126 คน และเชียงใหม่ 118 คน มี 2 จังหวัดที่ไม่พบคนไร้บ้าน คือ มุกดาหารและกระบี่ มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของคนไร้บ้านในจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะจังหวัดเมือง เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ และขอนแก่น
แสดงให้เห็นว่าพื้นที่เมืองและย่านการค้า/เศรษฐกิจ ยังเป็นพื้นที่ยอดนิยมของคนไร้บ้านที่เลือกจะอาศัยอยู่ เนื่องจากใกล้กับแหล่งงานและรายได้ จากการสำรวจพบอาชีพที่คนไร้บ้านนิยมทำมากที่สุด คือ หาของเก่าขาย ประมาณ 177 คน รองลงมาคือ ทำงานรับจ้างรายวัน 109 คน และมีอาชีพอื่นๆ เช่น รับจ้างประจำ ค้าขาย แสดงความสามารถ ฯลฯ ส่วนจำนวนคนที่ไม่มีงานทำมีประมาณ 399 คน ถือว่ายังน้อยกว่าจำนวนคนที่มีงานทำ
สอดคล้องกับเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาถึงกลายมาเป็นคนไร้บ้าน เพราะสาเหตุใหญ่สุด คือ การตกงาน คิดเป็น 44.72% รองลงมาเป็นปัญหาในครอบครัว 35.18%
‘วัยกลางคน’ เป็นวัยที่พบมากที่สุด คิดเป็น 55% (แบ่งเป็น 2 ช่วงอายุ คือ 41 – 50 และ 51 – 60 ปี) เป็นเพศชายมากที่สุด ประมาณ 82.5% และลักษณะที่เห็นได้ชัดของคนไร้บ้านในเกือบทุกจังหวัด คือ ปัญหาการติดสุรา และปัญหาสุขภาพจิต
อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ‘ภาวะไร้บ้าน’ เป็นเพียงช่วงหนึ่งของชีวิต มีคนไร้บ้าน 21% ที่อยู่ในภาวะนี้ประมาณ 2 – 5 ปี ก่อนที่จะหลุดและกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ อีก 18% อยู่ในภาวะไร้บ้านไม่เกิน 1 ปี นั่นหมายความว่าหากคนไร้บ้านกลุ่มนี้ ได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็วและเหมาะสม จะทำให้สามารถตั้งหลักได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ลดการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านถาวร
นี่เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่ได้จากการสำรวจคนไร้บ้านครั้งนี้ สามารถอ่านข้อมูลอื่นๆ ได้ที่ https://lookerstudio.google.com/u/0/reporting/0f311300-ec43-4e98-94d8-04afe56358a8/page/toRTD?fbclid=IwAR3ZN3L3nIOOvcLrQa120yNwSEoe6TTcv6Ta9gNZ8359xl1tutqE3r4k2nk