ถนนย่านกะมะงะซากิ ถ่ายโดย Thisishansu
หลายท่านอาจคุ้นเคยกับชื่อเมืองโอซาก้า และคงเคยได้ยินชื่อย่าน Airin ในเขตนิชินาริ ซึ่งมีชื่อเสียงในหมู่ Backpacker ระดับโลก สาเหตุที่ย่าน Airin มีชื่อเสียง เนื่องจากมีห้องพักราคาถูก เพราะเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่าผู้ใช้แรงงานรายวัน แรงงานจึงมักจะใช้ที่นี่เป็นที่พักรายวัน
ในอดีตย่านนี้มีประวัติศาสตร์การต่อสู้และนิยามการใช้พื้นที่ที่น่าสนใจไม่น้อย เดิมทีย่านนี้มีชื่อว่า “กะมะงะซากิ” ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเริ่มพลิกตัวฟื้นฟูประเทศครั้งใหญ่ แรงงานจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาหางานทำในเขตเมืองโอซาก้า เฉกเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ในญี่ปุ่น โดยเฉพาะเมื่อมีการจัด EXPO 1970 ทำให้เกิดการจ้างงานในย่านนี้จำนวนมาก ผู้คนเข้ามาหางานทำ มาแล้วก็ไม่กลับ จนย่านกะมะงะซากิถูกขนานนามว่า “เมืองของแรงงาน” กลายเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญขึ้นมา
ปี 1991 ญี่ปุ่นเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานย่านกะมะงะซากิได้รับผลกระทบไปโดยปริยาย มีคนว่างงานอยู่ในย่านนี้เป็นจำนวนมาก ที่ยังมีที่พักอาศัยก็อยู่กันแบบชุมชนแออัด ส่วนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าที่พักก็อยู่กันตามที่สาธารณะจนกลายเป็นคนไร้บ้าน พื้นที่แห่งนี้จึงได้รับฉายาว่า “สลัมกะมะงะซากิ”
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น “สลัม” ก็ถูกมองว่าเป็นแหล่งรวมสิ่งที่ไม่ดี มีอาชญากรรม ลักเล็กขโมยน้อย มีความรุนแรง และการจลาจลบ่อยครั้ง
ในปี 1996 สำนักงานเมืองโอซาก้าตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเรียกย่านนี้ใหม่ว่า “Airin-chiku” เพราะต้องการลบภาพความเป็น “แหล่งเสื่อมโทรม” พวกเขาลบชื่อนี้ออกจากแผนที่ทางการ รวมถึงไม่สนับสนุนให้ใช้คำนี้ในสื่ออีกด้วย แต่ผู้อยู่อาศัยย่านนี้ไม่เห็นด้วย พวกเขามองว่า แม้พวกเขาจะหาเช้ากินค่ำ แต่พวกตนมีส่วนร่วมในการสร้างชาติหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความเจริญของญี่ปุ่นเกิดขึ้นจากการที่ผู้คนในย่านนี้ทำงานหนักแบกรับไว้ โดยได้ค่าตอบแทนแสนถูก พวกเขาจึงยังเรียกย่านนี้ด้วยชื่อเรียกเดิม
ต่อมาในเดือนมิถุนายน ปี 2008 มีการประชุมกลุ่มประเทศจี 8 ครั้งที่ 34 ที่เมืองโอซาก้า แรงงานรายวันและคนไร้บ้านถูกตำรวจจับกุมรายวัน จนนำมาสู่การประท้วงโดยมีชาวเมืองและนักศึกษาเข้าร่วมหลายวัน
ปี 2013-2014 หนังของผู้กำกับ ชิโกะ โอตะ ถูกห้ามฉายในเทศกาลหนังโอซาก้า เนื่องจากไม่ยอมตัดฉากหนังที่พูดถึงถึงวัฒนธรรม และชื่อย่าน “สลัมกะมะงะซากิ”
ปัจจุบันข้อมูลจากการสำรวจอย่างเป็นทางการระบุว่า คนไร้บ้านในโอซาก้ามีประมาณกว่า 4,000 คน แต่ทั้งนี้การประเมินอาจต่ำไป เพราะแรงงานรายวันในย่านกะมะงะซากิอยู่กันแบบกึ่งคนไร้บ้านด้วย กล่าวคือ วันไหนหรือช่วงไหนได้งานก็อาจจะได้พักห้องพัก แต่ถ้าไม่ได้งานก็อยู่แบบเป็นคนไร้บ้าน จึงประมาณกันว่ามีคนไร้บ้านในโอซาก้าถึง 10,000 คน
กลุ่มคนไร้บ้านในโอซาก้ามักจะเผชิญปัญหาหนักสุดคือ ความหนาวเย็นในช่วงฤดูกาลอันหนาวเหน็บของญี่ปุ่น
กลุ่มเด็กสำรวจในโอซาก้า ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่สืบทอดการทำกิจกรรมกันมายาวนานกว่า 30 ปี พวกเขาเริ่มทำกิจกรรมเยี่ยมคนไร้บ้านและแจกจ่ายอาหารในช่วงฤดูหนาว ภายหลังจากเริ่มมีปรากฏการณ์คนไร้บ้านถูกตำรวจและคนทั่วไปทำร้าย โดยเด็กกลุ่มนี้เดินสำรวจ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลาสองเดือนในช่วงฤดูหนาว ในกลุ่มพวกเขามีทั้งเด็กและวัยรุ่น
บทบรรยายข้อความในวีดีโอ “กลุ่มเด็กในโอซาก้าส่งอาหารเครื่องนุ่งห่มแก่คนไร้บ้าน เรียนรู้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในโรงเรียน”
มีคนไร้บ้านอาศัยในโอซาก้าจำนวนมาก
ในย่าน Airin (ซึ่งเดิมคือย่านสลัมกะมะงะซากิ (Kamagasaki) ในเมืองโอซาก้า ) คนไร้บ้านต้องทนอยู่กับความหนาวเหน็บในฤดูหนาว
“สวัสดีครับ พวกเรามาจากกลุ่มสำรวจฯ”
“คุณต้องการข้าวปั้นและมิโซซุปไหมครับ” กลุ่มเด็กถามคนไร้บ้าน
“คุณไม่มีบ้านอยู่หรอครับ” เด็กชายคนหนึ่งในกลุ่มถาม
“ไม่มีหรอก พ่อหนุ่ม” คนไร้บ้านวัยชราคนหนึ่งตอบ
เด็กกลุ่มนี้เดินสำรวจ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลาสองเดือนในช่วงฤดูหนาว ในกลุ่มพวกเขามีทั้งเด็กและวัยรุ่น
“คุณทำอาชีพอะไรมาก่อนค่ะ”เด็กหญิงคนหนึ่งถาม
“พ่อครัว”
“แม้จะเป็นการสนทนาสั้นๆ แต่ทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น” คนไร้บ้านโอซาก้าให้สัมภาษณ์
กลุ่มเด็กเริ่มก่อตั้งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ปรากฏการณ์ทำร้ายคนไร้บ้านกระตุ้นให้พวกเขาทำกิจกรรมดังกล่าว
“ระวังหน่อย มันร้อนนะคะ” เด็กหญิงกล่าวระหว่างเสริฟซุปให้คนไร้บ้าน
“นี่ครับถุงมือ”
“คุณยังชีพด้วยการทำอะไรค่ะ”
“ฉันเป็นช่าง”
“มันเยี่ยมมากเลยค่ะ ฉันคิดว่าฉันต้องทำอะไรบางอย่าง”
บทสนทนาต่างๆทำให้เด็กได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน
ที่มา : NHK, Japantimes, Wikipedia