อาหาร ดนตรี ศิลปะ สะพานเชื่อมสายใยระหว่างชุมชนและคนไร้บ้าน

แมนเชสเตอร์ (Manchester) เมืองทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ ไม่ได้ขึ้นชื่อเพียงแต่สโมสรฟุตบอลเท่านั้น แต่ในช่วงราวยุค 80-90 เมืองนี้มีกลายเป็นหัวหอกสำคัญในการปฎิวัติอุตสาหกรรมดนตรีอังกฤษไปตลอดกาล ด้วยกลิ่นอายลักษณะความเฉพาะตัวปนความดุดัน ความดิบ และความเดือดดาลของวงดนตรีที่มาจากเมืองนี้ หรือที่เรียกว่า Madchester Music จากจุดเล็กๆ ในไนต์คลับที่ชื่อ The Haçienda  จนไปสู่ค่ายดนตรีที่สร้างผลงานโดดเด่นในช่วงเวลานั้นคงเป็นใครไม่ได้นอกจาก Factory Records ผู้ปลุกปั้นวงดนตรีแนวหน้าอย่าง Joy Division, New Order และ Happy Mondays ล้วนมีส่วนผลักดันให้เกิดกระแสดนตรี Britpop และยังคงส่งอิทธิพลกับวงดนตรีจนถึงยุคปัจจุบัน

แม้ว่ายุค Madcheste ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองในสายเลือดของ โอลิเวอร์ วิลสัน (Oliver Wilson) ลูกชายของ โทนี่ วิลสัน (Tony Wilson) หนึ่งในผู้ก่อตั้งค่ายเพลง Factory Records และเจ้าของ The Haçienda ได้จับมือกับองค์กรการกุศล เจ้าของร้านอาหาร เจ้าของบาร์ นักดนตรีในเมืองเพื่อแปลงโฉมโกดังเก่าขนาดสามชั้นให้กลายเป็นร้านเบเกอรี่และครัวชื่อ “Peacemeal” เป็นพื้นที่สตูดิโอ และไนต์คลับ ภายใต้นิยามว่า “social enterprise lifestyle space” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขวิกฤตการณ์คนไร้บ้านในเมืองแมนเชสเตอร์ จำนวนคนไร้บ้านคร่าวๆ จากประชากรในเมือง 154 คน กลายเป็นคนไร้บ้านหนึ่ง 1 คน และจำนวนคนไร้บ้านเสียชีวิตข้างถนนทะยานขึ้นไป 123 คนในปีค.ศ. 2018 ตัวเลขยังคงเพิ่มขึ้นไปทุกปี

ในเมื่อนี่คือเมืองแมนเชสเตอร์ Peacemeal จึงย่อมไม่ใช่ร้านอาหารธรรมดาแน่นอน เพราะเพียงแค่สูตรอาหารในร้านก็ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากการร่วมมือกันของร้านอาหาร ร้านบาร์ และเชฟในท้องถิ่น เมนูจึงจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปทุกสัปดาห์ ไม่เพียงเท่านั้นความพิเศษของร้านนี้ใช้การจ้างงานคนไร้บ้านเป็นพนักงาน การจ้างงานนี้ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดรายได้ที่จะเป็นบันไดขั้นแรกในการตั้งตัวได้ มีความมั่นคง คนไร้บ้านยังจะได้ฝึกอบรมทักษะด้านเบเกอรี่และครัว เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มคนไร้บ้านให้สามารถพัฒนาตัวเองเข้าสู่อุตสาหกรรมร้านอาหารและการบริการที่เฟื่องฟูของเมืองได้ด้วยตนเองต่อไปด้วย

จากการสัมภาษณ์โอลิเวอร์ กล่าวว่า “การต้องนอนข้างถนนในแมนเชสเตอร์ เพิ่งถูกมองว่าเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมเมื่อไม่นานนี้เอง และในเมื่อเมืองของเรากำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูอีกครั้ง โดยให้ดนตรีและศิลปะมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้

ความฝันของโอลิเวอร์ไม่ได้หยุดเท่านี้ จากมุมมองว่าการต้องใช้ชีวิตข้างถนนในแมนเชสเตอร์ เป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรม ในขณะที่เมืองแมนเชสเตอร์เองกำลังพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ปัญหาคนไร้บ้านและกลุ่มคนไร้บ้านจึงไม่ควรถูกมองข้าง เช่นเดียวกับที่ Peacemeal กำลังพยายาทำ เขาปรารถนาที่จะให้มันพัฒนาให้มันกลายเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่คนในเมืองสามารถมาใช้ชีวิตร่วมกันได้ โดยมีอาหาร ดนตรีและศิลปะมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้

ไม่แน่ว่า พื้นที่นี้อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสังคม วัฒนธรรมและชีวิตผู้คนในเมืองได้เหมือนไนต์คลับระดับตำนานที่ชื่อ The Haçienda เคยทำได้มาแล้วก็ได้

เพราะเมือง อาหาร ดนตรี ศิลปะ และผู้คนได้พบกัน อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

ที่มา :
https://www.manchestereveningnews.co.uk/whats-on/food-drink-news/peacemeal-bakery-kitchen-manchester-adair-16246096
https://www.globalcitizen.org/en/content/oli-wilson-peacemeal-homelessness-manchester/
https://www.mancunianmatters.co.uk/life/28052019-peacemeal-for-the-people-ancoats-warehouse-to-help-homeless-back-into-work-fusing-all-day-eatery-with-night-time-dance-floor/