ไร้บ้านไม่ถึง 2 ปี นับเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ : รู้จัก ‘ภาวะไร้บ้าน’ แต่ละช่วงของคนไร้บ้านเพื่อการสนับสนุน ช่วยเหลือ และฟื้นฟูที่เหมาะสม

.

.

.

  • คนไร้บ้านหน้าใหม่ | ไร้บ้านนาน 1-2 ปี
  • อยู่ในภาวะไร้บ้านมากกว่า 2 ปี มีแนวโน้มที่จะเป็น ‘คนไร้บ้านถาวร’ 
  • Fact
  • 1-2 ปี แรกในภาวะไร้บ้าน คือช่วงเวลาที่เป็นจุดคานงัดในการช่วยเหลือให้คนไร้บ้านออกจากภาวะไร้บ้านได้สำเร็จมากที่สุด
  • คนไร้บ้านหน้าใหม่และคนไร้บ้านถาวรมีความแตกต่างกันหลายมิติ เช่น วิถีชีวิต ความหวัง และเป้าหมายในอนาคต 
  • ความแตกต่างระหว่างคนไร้บ้านหน้าใหม่ และคนไร้บ้านถาวรทำให้เราเข้าใจวิธีที่จะสนับสนุน ช่วยเหลือ ฟื้นฟูและเยียวยาพวกเขาได้มากยิ่งขึ้น

.

.

.

คนไร้บ้านถาวร (Permanent Homeless) คนไร้บ้านหน้าใหม่ (New Homeless) คือคนเดียวกันไหม?

คำตอบจากงานวิจัยของ ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ ที่ชื่อว่า “การศึกษาแนวทางวิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงเริ่มต้น” ตอบว่า ทั้ง 2 ชื่อนี้ไม่ใช่คนเดียวกัน และมีความหมายไม่เหมือนกัน

พวกเขาต่างกันด้วยระยะเวลาการเป็นคนไร้บ้าน คนไร้บ้านหน้าใหม่ คือ คนไร้บ้านที่อยู่ในภาวะนี้มานานไม่เกิน 2 ปี และ คนไร้บ้านถาวร คือคนที่ยังคงอยู่ในภาวะไร้บ้านเกิน 2 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ระยะเวลาที่ทำให้พวกเขาต่างกัน จากการสำรวจพบว่า คนไร้บ้านหน้าใหม่และคนไร้บ้านถาวรมีความแตกต่างกันหลายมิติ เช่น วิถีชีวิต ความหวัง และเป้าหมายในอนาคต 

คนไร้บ้านหน้าใหม่จะมีความเครียดมากกว่า เพราะยังไม่ชินกับวิถีชีวิตการเป็นคนไร้บ้าน แถมพวกเขายังมีความหวังที่จะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม จึงทำให้มีความกดดันมากกว่า ในขณะที่คนไร้บ้านมาเกิน 1-2 ปี จะมีความเครียดน้อยกว่า เพราะอาจจะเริ่มชินกับการใช้ชีวิตแบบนี้แล้ว พวกเขาจะรอการช่วยเหลือจากรัฐเป็นหลักมากกว่าจะหาวิธีเหลือช่วยตัวเอง

นอกจากนี้ยังพบว่า ในระยะของการเปลี่ยนผ่าน คนไร้บ้านหน้าใหม่ที่ไร้บ้านมาแล้ว 1-2 ปี  สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก 

1. กลุ่มคนที่ตัดสินใจจะกลับไปอยู่บ้าน ธานีและคณะ พบว่า กลุ่มคนเหล่านี้ค่อนข้างเป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากพวกเขาอาจจะยังไม่ได้แก้ไขปัญหาชีวิตที่ทำให้พวกเขาไร้บ้าน การเข้าไปเผชิญปัญหาอีกครั้งอาจทำให้เขากลับมาเป็นคนไร้บ้านได้อีก 

2. กลุ่มคนที่มีรายได้มั่นคงและมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ คนกลุ่มนี้มีโอกาสหลุดพ้นออกจากภาวะไร้บ้านได้ 

3. กลุ่มคนที่กลายเป็นคนไร้บ้านถาวร พวกเขาสามารถเป็นได้ทั้งคนที่มีโรคจิตเภท และคนที่จิตใจปกติ ทำใจยอมรับกับการเป็นคนไร้บ้านได้แล้ว

จากการศึกษาพบว่า ระยะเวลา 1-2 ปี คือช่วงเวลาเหมาะสมในการทำงานกับคนไร้บ้าน ในการช่วยให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะออกจากภาวะไร้บ้านได้สำเร็จมากที่สุด เพราะหากคนไร้บ้านมีปัจจัยอย่างการมีงานทำและการมีรายได้เพียงพอเรียบร้อยแล้ว พวกเขาก็มีโอกาสที่จะกลับมาใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปได้ 

การเข้าใจความแตกต่างระหว่างคนไร้บ้านหน้าใหม่ และคนไร้บ้านถาวร ทำให้เราเข้าใจวิธีที่จะช่วยเหลือและเยียวยาพวกเขาได้มากยิ่งขึ้นด้วย เพราะภาวะไร้บ้านแต่ละช่วง คนไร้บ้านแต่ละกลุ่มมีเป้าหมายของชีวิตในอนาคตไม่เหมือนกัน คนไร้บ้านหน้าใหม่อาจมีความหวังที่จะกลับไปเป็นอยู่บ้านและใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปเหมือนเดิม คนไร้บ้านหน้าใหม่ที่อยู่ในภาวะไร้บ้านมานานระยะหนึ่ง อาจถูกภาวะกดทับ และบดบังแรงจูงใจในการออกจากภาวะไร้บ้าน 

ความเข้าใจในความแตกต่างของภาวะไร้บ้าน จะนำมาซึ่งการคำนึงถึงวิถีการสนับสนุนช่วยเหลือที่แตกต่างและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน และทำให้แนวโน้มของการออกจากภาวะไร้บ้านของคนไร้บ้านสูงยิ่งขึ้น 

อ้างอิง :

การศึกษาแนวทางวิเคราะห์ต้นทุนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และติดตามการเปลี่ยนแปลงทางชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงเริ่มต้น โดย ธานี ชัยวัฒน์, พีระ ตั้งธรรมรักษ์, รัฐวิชญ์ ไพรวัน, และ นิชาภัทร ไม้งาม