ข้อมูลเล่าชีวิต: ตัวแทนหญิงไร้บ้าน

.

.

โดย ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์

.

.

.

ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง การกลายมาเป็นคนไร้บ้านเป็นสถานการณ์ที่ชวนให้ต้องฉุกคิดหลากหลายเรื่องที่ผู้ชายอาจไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมากเท่า เช่น ความปลอดภัยทั้งช่วงกลางวันและยามค่ำคืน ประจำเดือนและสุขอนามัยส่วนตัว ที่หลับนอน หรือกระทั่งการดูแลคนรอบข้าง ถึงแม้ว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่กว่า 80% จะเป็นชายวัยกลางคน (เมื่อ ‘ชายวัยกลางคน’ กลายเป็นคนไร้บ้านมากที่สุด) แต่นอกเหนือจากข้อมูล One Night Count 2566 แล้ว แผนงานพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสุขภาวะคนไร้บ้าน ยังทำการสำรวจเชิงลึกเพิ่มเติมกับกลุ่มตัวอย่างคนไร้บ้านทั่วประเทศอีกทั้งสิ้น 1,457 คน (n=58% ของคนไร้บ้านทั้งหมด N=2,499 คน) จากกลุ่มตัวอย่างนี้ พบคนไร้บ้านผู้ชาย 80% ผู้หญิง 19% และเพศหลากหลาย LGBTQ อีก 1%

.

.

ด้วยคำถามในแบบสอบถามถามถึงรายละเอียดวิถีชีวิต พื้นเพ การตัดสินใจ ความกังวล และความช่วยเหลือต่างๆ เรื่องราวต่อไปนี้จึงเป็นเรื่องสมมติจากบุคคลสมมติที่เล่าจากข้อมูลส่วนมากและค่าเฉลี่ยของผู้หญิงที่ไร้บ้านทั่วประเทศ ว่าเขาเหล่านี้มีวิถีชีวิตเป็นอย่างไร โดยสามารถดูรายละเอียดกราฟข้อมูลต่างๆ ได้ท้ายเรื่อง

.

____________________________

พื้นเพ…

ป้าอายุ 53 จวนจะ 54 ปีในอีกไม่กี่วันแล้ว แต่มองไปรอบๆตัว ก็เห็นคนไร้บ้านผู้หญิงคนอื่นเหมือนกัน มีตั้งแต่ยังอายุน้อย 21 ปี จนเป็นคุณยาย 95 ปีก็มี (Fig.1) ป้าออกมาจากบ้านก็ตั้งแต่ราวปี 2558 (Fig.2) จนถึงตอนนี้ก็ไร้บ้านมาจะ 10 ปีได้แล้วหล่ะ ป้าเกิดแล้วก็ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มาตลอด (Fig.3, Fig.5) ส่วนมากที่ป้าเคยเห็น ก็มีทั้งคนที่บ้านเกิดอยู่ในพื้นที่ชนบท (Fig.4) แล้วก็ย้ายเข้าเมือง (Fig.6) คงหางานหล่ะมั้งแล้วก็ไม่รอด เลยออกมาเป็นคนไร้บ้านหลังจากมาอยู่ในเมืองแล้ว

ป้าเรียนจบแค่ป.4 (Fig.7) สมัยนั้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเขาเอาแค่ป.4 แต่ที่ป้าเห็นจบสูงถึงปริญญาตรีก็มีเป็นคนไร้บ้านอยู่คนนึง ก่อนป้าออกมาอยู่ข้างนอกก็มีงานทำนะ (Fig.8) เป็นงานรับจ้าง หลายคนตกงานกันก่อนออกมาไร้บ้านแต่ตอนนั้นป้าพอมีงานทำอยู่ ตอนนั้นก็ว่าโชคดีอยู่เพราะป้าก็ทั้งอ่านทั้งเขียนก็ได้ไม่คล่อง (Fig.9, Fig.10) ทำอะไรมากไม่ได้หรอก แต่ถึงป้ามีงานตอนนั้นมันก็ไม่พอค่าใช้จ่าย แถมยังมีปัญหากันในครอบครัวด้วย (Fig.11) ป้าก็เลยต้องออกมา

พื้นที่…

ปกติป้าก็นอนอยู่ตามฟุตบาทริมทางเดินนั่นแหละ บางคนเขาก็มีไปนอนกันใต้สะพานบ้างคงช่วยกันฝนได้อยู่ (Fig.12) ตรงนี้เป็นที่นอนป้ามาราว 2-3 ปีละ (Fig.13) ตลอดที่ไร้บ้านมาเกือบ 10 ปี ก็นอนคนเดียว (Fig.14) แล้วก็แทบจะไม่ได้ย้ายที่หลับนอนเลย (Fig.15) เหมือนพอรู้สึกโอเคกับที่นี่ป้าก็อยู่มาตลอด ส่วนตอนกลางวันป้าก็นั่งอยู่ริมฟุตบาทเหมือนเดิมนั่นแหละ (Fig.16) พอให้ได้เห็นคนผ่านไปผ่านมาอยู่เรื่อยๆ บางทีก็มีไปสวนหรือลานสาธารณะบ้างนะ

วิถีชีวิต…

เรื่องสุขอนามัย ป้าก็อาบน้ำวันละครั้ง อย่างน้อยๆนะ (Fig.17) ก็ไปตามห้องน้ำสาธารณะหรือไม่ก็วัด บางทีก็แหล่งน้ำสาธารณะ พวกคลองอะไรอย่างนี้แหละ (Fig.18) ซักผ้าก็ที่เดียวกัน (Fig.19)

วันๆ ป้าหาเงินจากการหาของเก่าแล้วก็เอาไปขาย บางทีไม่มีจริงๆ ก็ขอเขามั่ง เบี้ยผู้สูงอายุของรัฐก็ช่วยได้เหมือนกัน (Fig.20) ยังโชคดีว่าป้ามีบัตรประชาชน (Fig.21) บางคนทำหายไปแล้วนี่สวัสดิการอะไรก็ขอไม่ได้เลย อาทิตย์นึงป้าหาเงินได้ราว 310 บาท (Fig.22) คิดเป็นเดือนก็อาจจะราวๆ 1,240 บาทหล่ะมั้ง (Fig.23) ก็เอาไปหาข้าวกินได้วันละ 2 มื้อ วันไหนดีหน่อยก็ได้ 3 มื้อ แล้วแต่วันเนอะ (Fig.24) ส่วนใหญ่ไม่ซื้อก็คนทั่วไปเนี่ยแหละที่เขาเอาข้าวมาแจก (Fig.25, Fig.26) ป้าก็ไปรับมาเอง (Fig.27) แต่พอบวกกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิตย์นึงป้าก็มีค่าใช้จ่ายซัก 500 บาท (Fig.28) มันไม่พอจะอยู่จะกินหรอก (Fig.29) ไม่ต้องคิดถึงจะไปหาบ้านเลย

สุขภาพ…

ปกติป้าไม่สูบบุหรี่นะ (Fig.30) แต่เห็นคนที่เขาสูบก็วันละซัก 6 ตัวได้ (Fig.31) เหล้าป้าก็ไม่กิน (Fig.32) แต่ที่เห็นเขากินกันก็ราวๆ วันละ 3 กั๊กได้ (3/4 ขวด) (Fig.33) กินกัน 4-5 วันต่อสัปดาห์นั่นแหละ (Fig.34) ป้ายังโชคดีไม่มีโรคประจำตัว หลายคนที่มีโรคประจำตัวนี่น่าจะลำบากน่าดู (Fig.35) แล้วป้าก็ยังดูแลตัวเองได้ แต่จะให้ดูแลคนอื่นด้วยคงไม่ได้หรอก (Fig.36) ยังดีด้วยที่ป้าไม่ได้ต้องดูแลใคร (Fig.37)

ถ้าป้าป่วยนิดๆหน่อยๆก็ไปหาซื้อยาตามร้านขายยาเอา (Fig.38) เห็นคนไร้บ้านผู้ชายส่วนใหญ่ก็บอกปล่อยให้หายเอง ไม่ดูแลตัวเองเท่าผู้หญิงอย่างเราหรอก ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ป้าก็แล้วแต่นะ บางทีก็ต้องปล่อยให้มันหายเองตามยาที่มี อีกทีนึงก็ไปหาหมอที่อนามัยหรือโรงพยาบาลเลย (Fig.39) ก็ถือว่ายังดี ปีที่ผ่านมานี่ป้าไม่ต้องเข้ารักษาพยาบาลเลย (Fig.40) แต่ถ้าต้องเข้าจริงๆ ก็คงไปหาที่โรงพยาบาลโน่นแหละ (Fig.41) เพราะเวลาเข้าป้าก็ใช้สิทธิ์บัตร 30 บาทรักษาเอา ไม่งั้นจ่ายไม่ไหวแน่ๆ (Fig.42)

ความสัมพันธ์และการกลับบ้าน…

คนในครอบครัวที่ป้าสนิทด้วยไม่มีเลย (Fig.43) ถ้าป้ามีปัญหาอะไรส่วนมากก็ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนคนไร้บ้านในละแวกด้วยกันนี่แหละ (Fig.44) ป้าไม่เคยได้ลองกลับบ้านหรือเยี่ยมบ้านนะ (Fig.45, Fig.46) บ้านป้าเขาไม่ต้อนรับเรา (Fig.47) แต่เห็นคนที่เคยเขาก็ลองกันอยู่ 2-3 ครั้ง (Fig.48) แต่สุดท้ายก็กลับมาเป็นคนไร้บ้านเหมือนเดิม

การช่วยเหลือ…

ป้าได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงพม. เป็นประจำ (Fig.49) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ช่วยได้เยอะอยู่ (Fig.50) ส่วนภาคเอกชนเขาก็ช่วยเรื่องเงินเป็นหลัก รองมาก็เสื้อผ้า (Fig.51) แต่นอกจากนี้ป้าก็ไม่ต้องการความช่วยเหลืออะไรมากไปกว่านี้แล้ว (Fig.52) ทุกวันนี้ป้าก็ไม่ค่อยมีอะไรต้องกังวลเท่าไหร่ (Fig.53) อยู่ตัวแล้วแหละมั้ง ป้าชินกับความอิสระ คงไม่อยากกลับไปทำงานประจำแล้วแหละ ถ้าเกิดมีอยากทำงานเป็นรับจ้างรายวันมากกว่า (Fig.54)

____________________________

.

.

ชุดกราฟข้อมูลอ้างอิงเรื่องราว

พื้นเพ…

.

พื้นที่…

.

วิถีชีวิต…

.

สุขภาพ…

.

ความสัมพันธ์และการกลับบ้าน…

.

การช่วยเหลือ…

.