การใช้กำลังบังคับไล่ที่คนไร้บ้านไม่เคยเป็นทางออกของปัญหาผู้ไร้บ้านในแคนาดา

ในคืนคืนหนึ่งที่แคนาดา จะพบคนไร้บ้านมากถึง 35,000 คนโดยประมาณ และตัวเลขที่ว่านี้มีแนวโน้มสูงมากขึ้น เนื่องด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ประชาชนที่กำลังรอเจ้าหน้าตำรวจเข้ามาเก็บกวาดแคมป์ที่พักผู้ไร้บ้านที่ถูกทางการกวาดล้างในเมือง Montréal เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา (ที่มา: The Conversation)

แต่สิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนคนไร้บ้านในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ กลับเป็นการยกระดับการปราบปรามผู้ที่อาศัยพื้นที่สาธารณะในการตั้งเป็นที่อยู่อาศัย (encampment) หรือการแจกใบสั่งแก่เหล่ารถบ้าน (Recreation Vehicle) ที่มารวมตัวกันเสมือนเป็นชุมชน รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการขับไล่ชุมชนชั่วคราวของผู้ไร้บ้านตามเมืองสำคัญอย่าง Montréal และ Toronto

นี่จึงเป็นอีกด้านหนึ่งที่เผยให้เห็นถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐของแคนาดาที่ปฏิบัติต่อประชาชนกลุ่มเปราะบางอย่างไม่เท่าเทียม เกิดการเลือกปฏิบัติ และถูกสอดส่องอยู่ตลอดเวลา นั่นเป็นเพราะพวกเขาเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งต้องการการได้รับการดูแลให้มีสวัสดิภาพและดำรงชีวิตประจำวันได้เฉกเช่นผู้ที่ ‘ไม่ไร้บ้าน’

Joe Hermer นักสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งเมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา ได้ศึกษาวิธีการเอาตัวรอดของประชาชนกลุ่มเปราะบางอย่างเช่นคนไร้บ้าน ต่อการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยรัฐ โดยเน้นประเด็นการศึกษาไปที่วิธีหรือมาตรการที่ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายในการทำให้การเป็นผู้ไร้บ้านกลายเป็นอาชญากรรมต่อสังคม

“คนไร้บ้านไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยไม่ทำผิดกฎหมายข้อใดข้อหนึ่งที่ถูกตราไว้ แน่นอนว่า หากความผิดตามกฎหมายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ไร้บ้านเป็นเพียงความผิดลหุโทษ แต่หากพิจารณาไปถึงการบังคับใช้อย่างจริงจังแล้ว จะพบว่ามันไม่ต่างอะไรกับการทำให้พวกเขากลายเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจรจัดในสมัยก่อนเลย” Hermer อธิบาย

อันที่จริงแล้ว กฎหมายว่าด้วยการจรจัด (vagrancy laws) นั้น ได้ระบุให้การไม่มีงานทำหรือการไร้บ้านเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และที่ผ่านมา กฎหมายนี้ถูกเขียนขึ้นอย่างกำกวม ทำให้เกิดช่องว่างในการใช้ดุลยพินิจของศาล นำไปสู่การบังคับใช้ที่ไม่เท่าเทียม เลือกปฏิบัติตามเพศ เชื้อชาติ และฐานะทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ได้ถูกยกเลิกไปเรียบร้อยแล้ว

แม้ว่ากฎหมายนี้จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังพบการบัญญัติข้อกำหนดท้องถิ่นและกฎหมายฉบับอื่นที่จงใจปฏิบัติต่อผู้ไร้บ้านอย่างไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียมอยู่ นี่จึงเป็นที่มาของการศึกษาผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายและการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อการปฏิบัติต่อคนไร้บ้านที่ไม่เป็นธรรมในแคนาดาครั้งนี้

นอกจากนี้ การเป็นผู้ไร้บ้านกลายเป็นอาชญากรรมได้ก็เพราะเป็นผลพวกมาจากสภาพบังคับของสังคมรอบข้างที่ไม่ยอมรับการเป็นผู้ไร้บ้าน

Patti Fairfield ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร Ne-Chee Friendship Centre ที่ดูแลและช่วยเหลือชาวพื้นเมืองในแคนาดา ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “สังคมยินดีที่จะมอบเงินให้เพื่อช่วยเหลือแก่ผู้ที่เดือดร้อนใดๆ ก็ตามที่ผ่านมา แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาจะไม่ทนนั่นคือ การเห็นคนที่อาศัยในที่พักอาศัยชั่วคราวออกมาเล่นฮอกกี้บนถนน โดยไม่มีท่าทีว่าจะเดือดร้อนในชีวิตที่ไร้บ้านแต่อย่างใด และนั่นเป็นท่าทีที่นำไปสู่การส่งคำร้องต่อทางการ (complaint) เพื่อทำให้คนไร้บ้านพวกนี้ มีสำนึกต่อการเป็นคนไร้บ้าน สำนึกที่ว่านั่นก็คือ การเป็นผู้ก่ออาชญากรรมต่อสังคม” 

นอกจากการใช้กำลังปราบปรามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อบีบบังคับผู้ไร้บ้านแล้ว วิกฤตคนไร้บ้านในแคนาดายังถูกซ้ำเติมมากขึ้นจากการบริการจัดการทรัพยากรอย่างผิดที่ผิดทาง

ในเมืองโทรอนโต โครงการ Pathway Inside ได้รับเสียงวิพากย์วิจารณ์ถึงประเด็นการจัดการที่อยู่อาศัยชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้านที่ผิดพลาด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทางการปล่อยให้สถานที่พักพิงชั่วคราวว่างเปล่า ไม่มีคนเข้าพัก เพียงเพื่อจะรอรับผู้ที่อาศัยตามแคมป์คนไร้บ้านและถูกต้อนเข้ามาโดยการบังคับโดยรัฐนั้น เข้ามาอาศัยก่อน ในขณะที่ผู้ไร้บ้านที่ต้องการที่อยู่อาศัยอย่างเร่งด่วนกลับต้องถูกทิ้งให้รอคอยการจัดสรรเป็นลำดับหลัง ในขณะที่ผู้ไร้บ้านที่อาศัยตามแคมป์ชั่วคราวนั้นกลับไม่ต้องการที่จะเข้าพักในที่ที่รัฐจัดสรรไว้ให้

การใช้กำลังบังคับให้คนไร้บ้านตามแคมป์ชั่วคราวเข้าพักอาศัยในที่ที่รัฐจัดไว้ให้นั้น เป็นการจัดการที่ไม่ถูกที่ถูกทาง เพราะคนไร้บ้านส่วนใหญ่นั้นกลับไม่ได้อาศัยอยู่ตามแคมป์ พวกเขาอยู่ตามท้องถนน และในห้วงเวลาแห่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นนี้ ผู้คนยิ่งกระจายตัวกันตามท้องที่สาธารณะต่างๆ มากกว่าที่จะรวมตัวกันเป็นแคมป์ชั่วคราวผู้ไร้บ้าน

นอกจากนี้ Eric Weismann นักสังคมศาสตร์ชาวแคนาดา ผู้มีประสบการณ์การเป็นผู้ไร้บ้าน ยังอธิบายว่า ผู้คนมักจะประเมินผลกระทบเชิงสภาพจิตใจของการเป็นผู้ไร้บ้านต่ำไป

“คนไร้บ้านอยู่สภาวะที่ต้องเอาตัวรอดพร้อมกับมีความกังวลในชีวิตตลอดเวลา เพราะพวกเขาไม่อาจจะได้รับทางเลือกที่เหมาะสม ทางเลือกที่ว่านั่นก็อย่างเช่นการได้มีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง ทางเลือกที่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นหรือไม่พวกเขาไม่เคยเข้าถึงทางเลือกที่ว่านั่นเลย” Weismann อธิบาย

จากประสบการณ์การเป็นผู้ไร้บ้านของ Weismann เขาเชื่อว่า หากเราต้องการให้คนที่กำลังไร้บ้านก้าวข้ามผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต เราจะต้องสนับสนุน จัดวาง และส่งมอบความรู้สึกที่ปลอดภัย มั่นคง และร่วมกันส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจตระหนักถึงความต้องการของผู้ไร้บ้าน เพื่อให้คนไร้บ้านลดความกังวลในชีวิตได้บ้าง

แน่นอนว่า องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของการวางแผนแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน นั่นคือ การให้คุณค่ากับเสียงของผู้ไร้บ้าน หรือผู้ที่มีประสบการณ์ผ่านสภาวะเช่นนั้นมาก่อน และแน่นอนอีกเช่นกันว่า การใช้กำลังปราบปรามผู้ไร้บ้านในตามแคมป์หรือที่สาธารณะต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ไม่อาจตอบโจทย์ต่อการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านอีกต่อไป เพราะนอกจากสถานะการเป็นผู้ไร้บ้านที่ติดตัวพวกเขาแล้ว การไล่ที่ยังจะทำให้พวกเขาไร้ที่อยู่ และต้องอาศัยตามที่สาธารณะต่อไป ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านแต่อย่างใด

ที่มา: Policing and evicting people living in encampments will not solve homelessness in Canada – The Conversation