งานวิจัยเผย ปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือฉุกเฉิน 35,000 บาท ช่วยป้องกันคนไร้บ้าน

กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม เผยว่า การให้เงินกู้ยืมฉุกเฉินราว  35,000  บาท แก่กลุ่มบุคคลเสี่ยงต่อการเป็นคนไร้บ้าน  ช่วยลดจำนวนคนไร้บ้านได้ในทั้งระยะสั้นและระยะยาว

คนไร้บ้านหญิงนอนอยู่บนทางเท้าย่านใจกลางเมืองแวนคูเวอร์ บริติชโคลัมเบีย (แอนดี้ คลาก/รอยเตอร์)

 

สำหรับคนที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญเสียทุกอย่าง การให้กู้ยืมเงินอาจจะเป็นหนทางช่วยชีวิต

งานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม 2016 ระบุว่า การให้เงินกู้ยืมประมาณ 35,000  บาท (1,000 ดอลล่าร์สหรัฐ)  ยามฉุกเฉินช่วยลดโอกาสการเป็นคนไร้บ้าน หรือการต้องออกมาใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เจมส์ ซัลลิแวน  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม และผู้ร่วมวิจัย กล่าวถึงการค้นพบแง่มุมสำคัญในการช่วยเหลือผู้คนให้ยังสามารถอยู่อย่างอิสระและมีเกียรติในสังคมว่า “ผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญด้านที่อยู่อาศัยถกเถียงกันมานานว่า จะแก้ปัญหาคนไร้บ้านสหรัฐอเมริกาได้อย่างไร งานศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่าไม่เพียงแต่กลุ่มเป้าหมายที่จะตกเป็นคนไร้บ้านได้รับการปกป้อง แต่เรายังประหยัดเงินด้วย”

ในแต่ละปี  หลายเมืองใช้เงินราวสามแสนบาท(10,000 ดอลล่าร์สหรัฐ) เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้าน เมืองนิวยอร์กมีคนไร้บ้านมากกว่า 62,000 คน  ใช้เงินหลายล้านเหรียญต่อปีเพื่อให้พวกเขาเข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิง และฟื้นฟูสุขภาพ

งานศึกษาชิ้นนี้พยายามศึกษาว่า อะไรจะเกิดขึ้นหากสำนักงานเมืองจัดสรรงบเพื่อป้องกันแทนที่จะรอปัญหาเกิดก่อน ซึ่งซัลลิแวนและทีมของเขาสำรวจผลจากการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่คนจำนวน 4,500 ครอบครัวในชิคาโกของศูนย์ป้องกันการไร้บ้านระหว่างปี พ. ศ. 2553-2555  โดยกลุ่มคนที่รู้สึกว่าตนเองกำลังจะสูญเสียหลายๆสิ่ง และกำลังจะกลายเป็นคนไร้บ้าน หรือต้องการใช้เงินด่วนสามารถโทรเข้ามาที่ศูนย์ดังกล่าวเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด จึงช่วยได้เฉพาะรายที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น

ซัลลิแวนและทีมวิจัยได้เปรียบเทียบผลลัพธ์จากคนที่กู้ยืมเงินจากศูนย์ราว 35,000 บาท กับคนที่ไม่ได้ให้กู้ทั้งที่มีความจำเป็นตามเกณฑ์ที่ระบุไว้  พบว่า คนที่ได้รับเงิน ร้อยละ 88 ไม่ได้กลายเป็นคนไร้บ้าน ในระยะเวลาสามเดือน ส่วนในระยะเวลาหกเดือน  มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 76  แม้แต่ในช่วงระยะเวลาภายในสองปีคนที่ได้รับเงินก็ไม่มีแนวโน้มที่จะออกมาใช้ชีวิตไร้บ้าน

ผลการวิจัยที่ได้สอดคล้องกับงานวิจัยอื่นๆที่ว่า คนจนตระหนักดีว่าจะบริหารจัดการเงินที่ได้รับมาอย่างไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่  ซึ่งผลการวิจัยลักษณะนี้พบได้ทั่วไปในงานศึกษาประเทศกำลังพัฒนาเช่น ประเทศแอฟริกาใต้

อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายปัจจัยที่จะช่วยคนไร้บ้านสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพตนเองให้ดีขึ้นในระยะยาว ตัวอย่างเช่น ในรัฐยูทาห์  ปัญหาคนไร้บ้านที่มีอย่างยาวนานกำลังจะหมดไปเพราะรัฐตัดสินใจสร้างบ้านให้

“ถ้าคุณต้องการหยุดปัญหาการไร้บ้าน ก็ต้องเอาคนเข้าไปอยู่ในบ้าน  ตรรกะง่ายๆ” วอร์กเกอร์กอร์ดอนวอล์คเกอร์ผู้อำนวยการกองพัฒนาที่อยู่อาศัยและชุมชนของรัฐ กล่าวกับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์

 


ที่มา : Business Insider