‘หางานทำ’ เป็นวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน สำหรับช่วยเหลือคนไร้บ้าน เพราะเป็นการให้ความช่วยเหลือที่ยั่งยืน เขาสามารถดูแลตัวเองได้ต่อไปผ่านการมีรายได้จากงานที่ทำ
แต่เราก็คงไม่สามารถเดินไปหาคนไร้บ้าน แล้วยื่นงานให้ทำได้เลย เพราะคนไร้บ้านก็เหมือนคนอื่นๆ ที่อยากได้งานที่เหมาะสมกับตัวเอง รวมไปถึงความพร้อมทางจิตใจที่จะมีผลต่อชีวิตคนไร้บ้านคนหนึ่งว่าเขาจะสามารถหลุดจากภาวะนี้ได้หรือไม่
การวิจัยเชิงปฏิบัติเพื่อพัฒนาโปรแกรมฟื้นฟูทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก และทดลองใช้เครื่องมือวัดในการตั้งหลักของคนไร้บ้านในศูนย์พักคนไร้บ้าน โดย ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช และคณะ เลยทำการศึกษาแนวทางฟื้นฟูจิตใจคนไร้บ้าน เพื่อให้พร้อมกลับมาตั้งหลักชีวิต จนออกมาเป็น ‘โปรแกรมฟื้นฟูทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก’
ทุนทางจิตวิทยา (Psychological capital) เป็นความเชื่อที่ว่าความคิดและอารมณ์ของเราสามารถส่งผลทั้งบวกและลบต่อสุขภาพจิตและร่างกาย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในเรื่องต่างๆ เช่น การทำงาน การรับมือกับปัญหา การวางแผนอนาคต เป็นต้น ทุนนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเรา อาจจะมากน้อยแตกต่างกันไป ข้อดีคือเป็นทุนที่สร้างเพิ่มได้เรื่อยๆ เสมอ
โปรแกรมนี้เลยหยิบทุนทางจิตวิทยาเป็นหัวใจหลัก เพื่อฟื้นฟูจิตใจของคนไร้บ้าน ให้พวกเขาได้สำรวจทุนทางจิตใจของตัวเอง และค้นหาคุณค่าหรือความหมายในชีวิตตัวเอง จนไปถึงตั้งเป้าหมายในชีวิตที่สอดคล้องกับคุณค่าที่มี โดยโปรแกรมอยู่ในช่วงเสร็จจากการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง ที่ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน ปทุมธานี ในระยะเวลา 20 เดือน ตั้งแต่กันยายน 2562 – กันยายน 2564
เราอยากพาไปทำความรู้จักกับโปรแกรมดังกล่าว เผื่อจะเป็นไอเดียให้คนที่สนใจนำไปต่อยอดทำงานกับคนไร้บ้านต่อไปได้ หรือคนทั่วไปก็สามารถอ่าน เพื่อเข้าใจคนไร้บ้านมากขึ้น ปัญหาจิตใจที่คนไร้บ้านกำลังจะเผชิญก็อาจเหมือนที่คนอื่นๆ เผชิญ
- สำรวจจิตใจ เพื่อเพิ่มความมั่นใจ และเจอเป้าหมายของชีวิต
โปรแกรมฟื้นฟูทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก คือ การละลายกำแพงน้ำแข็ง หรือ Ice Breaking เพื่อให้คนร่วมกิจกรรมไม่เคอะเขิน หรือรู้สึกอึดอัดระหว่างกัน แต่ละคนก็จะได้รู้จักกันมากขึ้น มีผลต่อการทำโปรแกรมต่อไป
ช่วงที่ 2 เป็นการเข้าสู่โปรแกรมฟื้นฟูทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก (Intervention phase) เป็นการทำกิจกรรมรายสัปดาห์ที่จะมีกิจกรรมให้ทำไม่ซ้ำกัน เพื่อให้คนร่วมกิจกรรมได้มีเวลาและทางที่จะเข้าไปสำรวจตัวเอง ค้นหาสิ่งที่เขามี และมองหาเป้าหมายในชีวิตอีกครั้ง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการกลับไปตั้งหลักหลุดจากภาวะคนไร้บ้าน
‘เพลงชีวิต’ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้น ให้ผู้เข้าร่วมบอกเพลงที่รู้สึกว่าตรงกับชีวิตตัวเอง มีผู้เข้าร่วมคนหนึ่งที่บอกว่า ‘เพลงหนอนผีเสื้อ’ ตรงกับชีวิตเขาที่คนอื่นๆ มองมาอาจเป็นหนอนที่ไม่มีค่ามาก แต่ภายในเขามีศักยภาพพอที่จะทำประโยชน์ให้คนอื่นๆ ได้เหมือนกัน และวันหนึ่งหนอนก็จะกลายเป็นผีเสื้อ เช่นเดียวกับชีวิตของเขาที่จะเปลี่ยนไป
เนื้อเพลงที่สมาชิกคนอื่นๆ เลือกมา ส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันกับเรื่องราวในชีวิต หรือคนสำคัญของตัวเอง ที่ไม่ใช่แค่ครอบครัว มีทั้งความสัมพันธ์ในรูปแบบคนรัก หรือเพื่อน ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยสมานจิตใจของคนไร้บ้าน และเพิ่มความหวังในชีวิตว่า จะเริ่มต้นใหม่ ดูแลตัวเอง กลับไปหางานทำ เพื่อกลับไปหาคนสำคัญอีกครั้ง
เพลงยังทำให้คนไร้บ้านได้ทบทวนตัวเอง สำรวจความคิดความรู้สึกที่พวกเขาอาจจะไม่เคยมองเห็น และช่วยให้เขาสามารถสื่อสารหรืออธิบายความรู้สึกของตัวเองได้ง่ายขึ้น
“ตั้งใจว่าอยากทำอะไรต้องทำให้ได้ ลุงก็ไม่น่าจะมีอุปสรรคอะไรหรอก เพราะลุงเป็นคนขยันอยู่แล้ว”
คำตอบของผู้เข้าร่วมคนหนึ่งหลังจากเข้าช่วงที่ 3 คือการเก็บผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมโปรแกรม ลุงหมาย (นามสมมติ) บอกว่า ตัวเองมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น กลับมาเชื่อมั่นใจตัวเองอีกครั้ง และความมั่นใจก็มาพร้อมกับเป้าหมายว่า ลุงหมายจะเก็บเงินเพื่อเลี้ยงดูตัวเอง จะได้ไม่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน
“ลุงก็ภูมิใจในตัวเองว่า เมื่อก่อนลุงแย่สุดๆ แล้วก็มาทําดีได้ ก็ถือว่าดีมาก บางคนอยากกลับตัว เราต้องให้โอกาสเขา คนติดคุกเราอย่าไปมองไม่ดี อย่างลุงเนี่ยแย่มาแล้ว ลุงยังกลับตัวได้เลย”
หลายคนเริ่มกลับมามีความหวังและกล้าที่จะมองอนาคต ตั้งเป้าหมายอีกครั้ง ไม่ว่าจะเก็บเงินให้ครอบครัว ออมเงินสำหรับช่วงเกษียณ หรือทำตามความฝันตัวเอง เป้าหมายของแต่ละคนอาจเป็นระยะใกล้ๆ ที่ทำแล้วเห็นผลเลย หรือระยะไกลๆ ที่เวลาจะเป็นตัววัดอีกทีหนึ่ง ความสำคัญอาจอยู่ที่พวกเขากลับมาหวังอีกครั้ง หรือความหวังอาจไม่ได้หายไปไหน อยู่ในตัวเขาเอง เพียงรอเวลาให้ไปเจออีกครั้ง
อ้างอิง :