คนญี่ปุ่นมีสุภาษิตหนึ่งที่ว่า ‘ล้มเจ็ดครั้ง ลุกแปดหน’ (nanakorobi yaoki) เพื่อบอกว่า ในช่วงชีวิตของมนุษย์อาจต้องเจอเรื่องให้ล้มลุกคลุกคลาน แต่เราก็จะสามารถกลับมายืนได้อีกเช่นกัน ประโยคนี้อิงมาจากลักษณะของตุ๊กตาล้มลุก ที่ต่อจะให้กลิ้งสักกี่ครั้ง ก็กลับมาตั้งตรงได้เสมอ
เราก็คงอยากให้เรื่องนี้เป็นจริง แต่การล้มบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกลับมายืนได้ บางคนล้มไปแล้วไม่สามารถกลับมาได้เลย หรือต้องใช้เวลานานในการลุกขึ้นมา อย่างที่คนไร้บ้านเผชิญ เพราะไม่ใช่แค่ความสามารถของเขาในการเผชิญปัญหาเท่านั้น แต่ยังมีหลายๆ องค์ประกอบในชีวิตมนุษย์คนหนึ่งที่จะกำหนดว่า เมื่อไรที่เผชิญกับเรื่องร้ายๆ ยังสามารถกลับมาได้หรือไม่ หนึ่งในนั้นคือจิตใจของพวกเขา หรือที่เรียกว่า ทุนทางจิตวิทยา (Psychological capital)
เฟรด ลูเธนส์ (Fred Luthans) นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการองค์กร บอกว่า ทุนทางจิตวิทยา เป็นความเชื่อที่ว่า ความคิดและอารมณ์ของเราสามารถส่งผลทั้งบวกและลบ ต่อสุขภาพจิตและร่างกาย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในเรื่องต่างๆ เช่น การทำงาน การรับมือกับปัญหา การวางแผนอนาคต เป็นต้น
ทุนทางจิตวิทยามี 4 องค์ประกอบด้วยกัน
การรับรู้ความสามารถของตัวเอง (Self-efficacy) ในทางจิตวิทยาสิ่งนี้หมายถึง ความรู้สึกมั่นใจในความสามารถตัวเองว่า เมื่อใช้ความพยายามแล้ว จะทำให้เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้บรรลุตามความต้องการ
การมองโลกในแง่ดี (Optimism) ไม่ใช่การเชื่อหรือคาดหวังว่าชีวิตต้องราบรื่น แต่เป็นการคาดหวังว่ามีสิ่งดีๆ รออยู่ในอนาคตเสมอ พร้อมกับรับรู้ว่าชีวิตเจอเรื่องท้าทายได้ตลอดเวลา การมองโลกในแง่ดีจะช่วยเมื่อเราตกอยู่ในปัญหา และปรับความคิดได้ว่าเรื่องแย่ๆ จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เราสามารถผ่านมันไปได้ในที่สุด
ความหวัง (Hope) เป็นความสามารถที่จะมองเห็นเส้นทางที่พาเราไปยังอนาคตที่ตั้งใจไว้ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่เราตั้งไว้และความสามารถของเราในการเดินทางไปให้ถึง อาจรวมไปถึงการเอาชนะอุปสรรคไปพร้อมๆ กับการบรรลุเป้าหมาย
ความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resilience) ว่ากันว่านี่เป็นทักษะสำคัญสำหรับใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพราะปัญหาอาจเดินมาเคาะประตูบ้านเราได้ทุกเมื่อ เราเองก็ไม่สามารถหลบหลีกได้ทุกปัญหาอุปสรรค การเผชิญหน้าอาจทำให้เราเจ็บจนล้ม ถึงขั้นที่รู้สึกว่าอาจจะไม่มีวันกลับมายืนได้อีกครั้ง ความยืดหยุ่นทางจิตใจจึงมีผลว่า เราจะฟื้นจากปัญหาอุปสรรคได้หรือไม่ อาจเรียกว่าเป็นความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น
มีหลายวิธีในการสร้างเสริมทุนทางจิตวิทยา วิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ คือ การฝึกพูดเชิงบวกกับตัวเองทุกวัน เช่น ฉันสามารถทำเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จได้ หรือฉันจะจดจ่อกับภารกิจวันนี้ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี การฝึกพูดเชิงบวกกับตัวเองจะช่วยเพิ่มความมั่นใจ และทำให้รู้ว่าเรามีเป้าหมายอะไรบ้าง การบรรลุเป้าหมายแต่ละวันก็เหมือนผ่านด่านเกม มันจะทำให้เราเข้มแข็งและสะสมความมั่นใจไว้ เพื่อในวันที่เราจำเป็นต้องเอามันออกมาใช้ สามารถหยิบมาได้ทันที
ควบคู่ไปกับการ ลดความคิดหรือพูดแง่ลบกับตัวเอง อย่างเช่นฉันมันโง่จริงๆ หรือ เป็นความผิดพลาดที่เลวร้ายสุดๆ เพื่อไม่ให้บั่นทอนกำลังใจและความมั่นใจ เชื่อมั่นเสมอว่าชีวิตเราจะเป็นอย่างไร เรามีอำนาจในการทำมัน
แนวคิดทุนทางจิตวิทยามีการนำมาปรับใช้ในหลายๆ เรื่อง เช่น การออกแบบสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน เพื่อให้พนักงานดึงศักยภาพของตัวเองมาใช้ได้เต็มที่ หรือเอามาใช้ออกแบบการช่วยเหลือคนไร้บ้าน ในการฟื้นฟูและตั้งหลักชีวิตใหม่
การวิจัยเชิงปฏิบัติเพื่อพัฒนาโปรแกรมฟื้นฟูทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก และทดลองใช้เครื่องมือวัดในการตั้งหลักของคนไร้บ้านในศูนย์พักคนไร้บ้าน โดย ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช และคณะ ที่ศึกษาแนวทางช่วยเหลือคนไร้บ้าน พบว่า ‘จิตใจ’ มีผลที่คนคนหนึ่งจะละทิ้งบ้าน หรือกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
การวิจัยหยิบยกเทรนด์ศึกษาคนไร้บ้านจากต่างประเทศในปัจจุบัน ที่เริ่มหันมาสนใจทรัพยากร (resources) และจุดแข็ง (strengths) ซึ่งเป็นคุณลักษณะทางบวกของคนไร้บ้านมากขึ้น เพราะมีส่วนช่วยพวกเขาในการจัดการกับปัญหาอุปสรรค ทำให้สามารถกลับมาพึ่งพาตนเองได้ หนทางหนึ่งช่วยลบสถานะไร้บ้าน
เพราะการแก้ปัญหาภาวะไร้บ้านที่ผ่านมา จะเน้นที่การป้องกันไม่ให้เกิดคนไร้บ้าน และแก้ไขคนที่อยู่ในภาวะไร้บ้าน ซึ่งอย่างหลังจะช่วยให้คนไร้บ้านหลุดจากภาวะนี้ได้ แต่สิ่งที่ยังขาดหายไป คือ การวัดความพร้อมของคนไร้บ้านในการกลับไปตั้งหลัก เพราะการที่คนคนหนึ่งจะมากลับมาตั้งหลักชีวิตได้ ประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ สุขภาพกายและจิต ความพร้อมของจิตใจ และทักษะด้านอาชีพ
ทุนทางจิตเลยถูกหยิบมาใช้ในการทำงานกับคนไร้บ้าน ออกแบบกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มต้นทุนที่มีอยู่ในตัวบุคคล ช่วยให้เขาพัฒนาตัวเอง (personal growth) เพื่อที่จะนําไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
การสร้างชีวิตใหม่ที่ไม่ไร้บ้าน อาจจะต้องเริ่มจากการมีงานทําตามศักยภาพและความต้องการ การที่คนไร้บ้านจะเข้าถึงการทำงานได้ ก็ต้องผ่านการเตรียมความพร้อม ค้นหาสิ่งที่คนไร้บ้านต้องการ เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปสําหรับพวกเขา ต้นทุนทางจิตจะเป็นตัวช่วยค้นหาสิ่งนี้ได้เช่นกัน
อย่างเช่นความยืดหยุ่นทางจิตใจ หนึ่งตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อคนไร้บ้าน เพราะการเริ่มต้นใหม่เป็นได้ทั้งเรื่องง่ายและยาก ความล้มเหลวมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าหากจิตใจของเขาถูกเตรียมพร้อมให้เจอสิ่งนี้ ก็จะช่วยให้คนไร้บ้านมีกำลังที่จะเดินไปหาเป้าหมายต่อ
“เราพยายามจะสู้และใจเย็น เหมือนจะกัดฟันสู้ว่า ไม่ได้ฟังเสียงนกเสียงกา ใครจะทักยังไงก็เราเฉย ทําเป็นเราไม่ได้ยินซะ เราจะได้ไม่ทุกข์ใจไปกับเขา ถ้าเราไปโต้ตอบ มันก็มีพิษภัยกับเขา เราก็ถือว่า ไม่ได้ยินซะ อะไรซะก็ถือว่าอโหสิกัน ก็ไม่ใช่เรื่องแล้วทีนี้ ก็สบายใจต่างคนต่างสบายใจ”
เสียงจากคนไร้บ้านที่เข้าร่วมโปรแกรมฯ ของเจนนิเฟอร์ เล่าว่า คนรอบข้างมีผลต่อการตั้งหลักชีวิตตัวเองอย่างไร เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ สิ่งที่เขาทำได้ คือ จัดการตัวเอง ไม่สนใจสิ่งลบที่เข้ามา เพ่งสมาธิไปที่เป้าหมายตัวเองให้มากที่สุด ตอนนี้อาจจะยังไม่ถึงปลายทางที่ตั้งไว้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า เขาจะยังไม่ล้มเลิกแน่ๆ
ไม่เฉพาะคนไร้บ้านเท่านั้นที่ต้นทุนทางจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์เราต่างก็อยากมีสุขภาพใจที่แข็งแรง อย่างน้อยก็ช่วยลดปัญหามากมายที่เราต้องเจอในแต่ละวัน ที่สำคัญ ต้นทุนทางจิตใจเป็นรากฐานที่จะช่วยให้เราแข็งแกร่ง เผชิญกับเรื่องที่จะเข้ามาในชีวิตได้
อ้างอิง
การวิจัยเชิงปฏิบัติเพื่อพัฒนาโปรแกรมฟื้นฟูทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก และทดลองใช้เครื่องมือวัดในการตั้งหลักของคนไร้บ้านในศูนย์พักคนไร้บ้าน โดย ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช และคณะ
www.apa.org/topics/psychological-capital
www.psy.chula.ac.th/psy-cap-resilience
www.psychologytoday.com/how-can-psychological-capital-strengthen-your-mind