ค่าบ้านหลักล้าน ค่าเช่าหลักหมื่น : เมื่อการมีที่พักอาศัยในเมือง กลายเป็นของเกินเอื้อม

30% เป็นตัวเลขของค่าเช่าบ้านเฉลี่ยที่คนอเมริกาต้องจ่ายต่อเดือน สำรวจโดยหนังสือพิมพ์ชื่อดังอย่างเดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) ถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักอาศัยที่คนอเมริกาต้องจ่ายในแต่ละเดือนในปี 2565 ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ค่าเช่าบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 28.5% ต่อเดือน

สิ่งนี้เรียกว่า ภาระของการเช่าอาศัย (rent burden) คือ การมีค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ใช้ไปกับที่อยู่อาศัย

“อัตราส่วนค่าเช่าต่อรายได้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเติบโตของรายได้ไม่สามารถตามการเติบโตของค่าเช่าได้ทัน” ลู เฉิน (Lu Chen) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำบริษัทมูดดี้ อนาไลติกส์ (Moody’s Analytics) บริษัทที่ให้ข้อมูลทางการเงินระดับโลก บอกไว้  

ในรายงานชิ้นดังกล่าวยังบอกอีกว่า สถานการณ์ที่ค่าเช่าที่พักอาศัยในอเมริกาเพิ่มขึ้นสูงกว่ารายได้ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2513 และกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเป็นฝ่ายแบกรับภาระค่าเช่าที่สูงเป็นเวลานานแล้ว

ฝั่งเมืองไทยเอง สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ประเมินค่าใช้จ่ายครัวเรือนเดือนกรกฎาคม 2565 พบว่า ประชาชนมีรายจ่ายต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 18,130 บาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้าน เช่น ค่าเช่า ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ประมาณ 4,037 บาท หรือ 22.27% ของรายจ่ายทั้งหมด

การต้องเช่าที่พักอาศัยก็ทำให้บางคนกลายเป็นคนเปราะบาง เมื่อเจอสถานการณ์ไม่คาดฝันส่งผลกระทบได้ง่ายและมากกว่าคนอื่นๆ รายงานโครงการ “บทสํารวจเบื้องต้นชีวิตของคนจนเมืองหลุดระบบ: กรณีศึกษาคนจนเช่าบ้าน/ห้องในเขตกรุงเทพมหานคร” ทำการสำรวจข่าวบนโลกออนไลน์และหนังสือพิมพ์ในช่วงที่โควิดระบาดปี 2563 พบว่า สถานการณ์นี้ทําให้คนเช่าบ้านกลายเป็นกลุ่มที่เปราะบางมากขึ้น เพราะสภาวะทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และนโยบายของรัฐในการจัดการกับโรคระบาด ส่งผลให้พวกเขาไม่มีรายได้ ต้องหลุดออกจากที่พักอาศัยเพราะไม่มีเงินจ่าย กลายเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ นอกจากนี้ กลุ่มคนเช่าบ้านยังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการติดโควิดมากกว่าคนอื่นๆ เนื่องมาจากการอยู่ร่วมกันในบ้านเช่า

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ทำการสํารวจกลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงโควิดระบาด พบแนวโน้มของคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 20 – 30% หรือราว 300 – 400 คน โดยมีสาเหตุมาจากได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ

ถ้าเลือกได้ก็คงอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง เพื่อให้อุ่นใจว่าแม้ชีวิตจะเกิดอะไรขึ้น เรายังคงมีที่ไว้หลบพัก แต่มันก็ไม่ใช่ความฝันที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ง่ายๆ จากผลสำรวจราคาบ้านที่ประกาศขายในเว็บไซต์ Ddproperty เว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของไทย ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ที่ประกาศขายช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2566 ราคาขายที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทมีประมาณ 1% ในขณะที่ราคาขายที่มีจำนวนเยอะที่สุดอยู่ที่ 1 – 3 ล้านบาท มีประมาณ 27% ซึ่งคอนโดและทาวน์เฮาส์ส่วนใหญ่มีราคาอยู่ที่ 1 – 3 ล้านบาท ขณะที่บ้านเดี่ยวมีราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป

ความฝันของการมีที่พักอาศัยเป็นของตัวเอง อาจเริ่มไกลออกไปสำหรับบางคน แม้จะไม่ต้องซื้อเงินสด มีวิธีอื่นอย่างการกู้เงิน แต่ก็ต้องตามมาด้วยการเตรียมหลักฐานมากมาย รวมไปที่ฐานรายได้ที่ต้องเข้าเกณฑ์ถึงจะได้กู้เงิน

เมื่อการครอบครองเริ่มยากขึ้น ทำให้เกิดอีกคำที่ใช้เรียกคนกลุ่มหนึ่งว่า Generation rent หรือเจเนอเรชันแห่งการเช่า เมื่อรายได้พวกเขาไม่เพียงพอต่อการเป็นเจ้าของ ‘การเช่า’ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ได้ครอบครอง แต่ก็แลกกับการต้องมีรายได้สม่ำเสมอ เพื่อให้เพียงต่อการเช่าได้ เพราะไม่แล้วพวกเขาอาจไม่เหลือของ หรือแม้แต่ที่พักอาศัย จนกลายเป็น ‘คนไร้บ้านหน้าใหม่’

กลุ่มคนเปราะบาง หรือคนที่มีรายได้น้อย ถือเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงนี้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ รายงานข้างต้นได้ทำการสำรวจราคาเช่าที่พักในชุมชนแออัดอย่าง ‘ชุมชนวัดดวงแข’ มีคนเช่ารายหนึ่งบอกว่า เขาต้องเสียค่าเช่าอย่างน้อยเดือนละ 1,500 บาท และมีค่าใช้จ่ายรวมน้ําไฟ 3,737 บาท ส่วนสภาพบ้านเช่าก็เป็นห้องเช่าที่มีคุณภาพต่ำ คับแคบ ไม่มีความปลอดภัย ไม่มีห้องน้ําภายในห้องต้องใช้ห้องน้ําร่วมกับผู้เช่าคนอื่นๆ

นอกจากนี้ รายงานยังพบว่ามีที่พักรูปแบบอื่นๆ สำหรับกลุ่มคนรายได้น้อย เช่น ที่อยู่สาธารณะอันได้แก่ วัด ศาลเจ้า เช่นที่วัดปทุมคงคาที่ไม่มีเด็กวัด แต่มีที่พักสําหรับ ‘คนวัด’ ที่ทําหน้าที่ต่างๆ เช่น คนโบกรถ คนทำพิธีกรรม จํานวนที่พักสําหรับผู้คนเหล่านี้ราว 10 ห้อง

เมื่อเจาะลึกไปที่วิธีการหารายได้ของคนกลุ่มนี้ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นแรงงานซึ่งทํางานอยู่ในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจต่างๆ ของกรุงเทพ เช่น สุขุมวิท เพลินจิต ฯลฯ เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย เช่น คนขับรถ คนขายอาหาร แรงงานร้านอะไหล่ รถเข็นขายของ เป็นต้น

สภาพสังคมโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจในตอนนี้ อาจบอกได้ว่าหลายคนมีความเสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบ หรือถึงขั้นกลายเป็นคนไร้บ้านได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรหันมาทำนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่ และทำให้ทุกๆ คนสามารถมีโอกาสเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยของตัวเองได้

อ้างอิง :

รายงานโครงการ “บทสํารวจเบื้องต้นชีวิตของคนจนเมืองหลุดระบบ: กรณีศึกษาคนจนเช่าบ้าน/ห้องในเขตกรุงเทพมหานคร” 

https://www.ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/อสังหาไทย-ไตรมาส-3-ปี-2023-72751

https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=index

http://www.tpso.moc.go.th/th/node/12623