เปิดรายงานการวิจัยฯด้านกม. พบคนไร้บ้านในไทยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เพียงแค่ไร้บัตรประชาชน (1)

ใครหลายคนอาจมีบัตรประชาชนหลายใบเพียงเพราะบัตรหาย เพราะรูปที่ติดบัตรนั้นช่างไร้ความงาม เพราะต้องย้ายที่อยู่ ฯลฯ  เราอาจไม่รู้สึกว่าบัตรประชาชนมีความสำคัญ เพราะเพียงแค่นำสำเนาทะเบียนบ้านไปที่เทศบาลหรืออำเภอ ภายในระยะเวลาไม่นานก็ได้บัตรใหม่มา แต่คนไร้บ้านกลับไม่เป็นเช่นนั้น…

คนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มาภาพ: ประชาธรรม

การออกไปใช้ชีวิตคนไร้บ้านทำให้ขาดการติดต่อกับทางบ้านและทางราชการนาน บางคนไม่มีหลักฐานทางทะเบียน เพราะเติบโตในครอบครัวที่บ้านแตกสาแหรกขาด การขาดการติดต่อกับหน่วยงานราชการเป็นระยะเวลานาน ได้ส่งผลให้คนไร้บ้านถูกคัดรายชื่อออกจากระบบทะเบียนราษฎร์ของทางการ ส่งผลให้คนไร้บ้านประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐ นอกจากนี้ การไม่มีบัตรประชาชนของคนไร้บ้านยังเสี่ยงต่อการประสบปัญหาอีกหลายประการ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ในรายงานวิจัย “โครงการศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญหาและสนับสนุนองค์ความรู้ทางกฎหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน” (1 ธันวาคม 2559 – 30 พฤศจิกายน 2560) ของนายไพสิฐ พาณิชย์กุล และคณะฯ ภายใต้การสนับสนุนทุนโครงการสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ปัญหาการขาดบัตรประชาชนในการแสดงสถานะทางกฎหมายของคนไร้บ้าน ถือเป็นปัญหาสำคัญต่อการได้รับและเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียมกันของของคนไร้บ้าน เนื่องจากบัตรประชาชนเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงสิทธิ ที่บุคคลจะได้รับการรับรองว่าเป็น “บุคคลตามกฎหมาย” อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน โดยรัฐมีหน้าที่ออกเอกสารแสดงตนหรือรับรองตัวบุคคล ตามลักษณะของจุดเกาะเกี่ยวระหว่างบุคคลกับรัฐไทย เพื่อเป็นการรับรองว่าบุคคลนั้นเป็นคนสัญชาติไทย และทำให้บุคคลนั้นสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้เพื่อจัดสวัสดิการให้แก่คนยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส หรือคนไร้บ้านแล้วก็ตาม แต่กฎหมายที่นำมาบังคับใช้นั้น กลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไร้บ้านให้เบาบางลงไปได้

เมื่อไม่มีบัตรประชาชน คนไร้บ้านจะประสบปัญหาในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างน้อย 4 ประการ คือ 1. สิทธิการรักษาพยาบาล 2. สิทธิการศึกษา 3. สิทธิการได้รับเบี้ยเลี้ยงยังชีพ และ 4. การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ

ด้านสิทธิการรักษาพยาบาล งานวิจัยได้ยกตัวอย่างกรณีลุงเจิด

‘ลุงเจิด’เป็นชายวัยใกล้ห้าสิบ ทะเบียนประวัติของลุงถูกคัดออกจากทะเบียนบ้านเดิมไปอยู่ในทะเบียนกลางของจังหวัดเชียงใหม่39 ลุงเล่าว่าพ่อแม่เคยเป็นคนยโสธรแต่ย้ายไปทำงานที่กรุงเทพฯ ลุงเรียนจบ ม.6 ที่โรงเรียนบางกะปิ และเคยเป็นช่างปูนในบริษัทก่อสร้างชื่อดังแห่งหนึ่ง เมื่อบริษัทได้งานรับเหมาก่อสร้างที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อราวยี่สิบปีที่แล้ว ลุงเจิดได้ย้ายมาทำงานที่เชียงใหม่ด้วยชีวิตของลุงเจิดผกผันเพราะเกิดอุบัติเหตุขณะทำงาน ลุงตกมาจากนั่งร้านก่อสร้าง ต้องรักษาตัวอยู่นาน แต่สภาพร่างกายก็ไม่ได้กลับมาปกติได้เหมือนเดิม แม้จะยังคงเดินได้ แต่แข้งขาก็อ่อนแรง นั่งนานไม่ได้ และต้องนอนคว่ำ มิฉะนั้นกระดูกจะทับเส้นประสาททำให้ปวดหลัง ในช่วงที่บริษัทยังทำงานก่อสร้างไม่เสร็จ ทางบริษัทได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ แต่เมื่องานก่อสร้างสิ้นสุดลงบริษัทก็ย้ายกลับไป ลุงเจิดต้องเลี้ยงตัวเองด้วยการเก็บของเก่าขายและอาศัยอยู่กับฝรั่งคนหนึ่ง ก่อนที่จะมาอยู่ที่ศูนย์พักคนไร้บ้าน และขอทานหาเลี้ยงตัวเองเมื่อสภาพร่างกายย่ำแย่ลงกว่าเดิม

เอ็น เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ที่เป็นพี่เลี้ยงเครือข่ายคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่เล่าว่า ลุงเจิดอยากทำบัตรคนพิการเพื่อจะได้รับเบี้ยยังชีพ เขาช่วยค้นข้อมูลจากระบบทะเบียนทางการพบชื่อและเลขประจำตัว 13 หลักของลุง แต่ไม่ปรากฏภาพของลุงเจิดขึ้นมาในคอมพิวเตอร์ และทางการไม่ยอมรับให้เจ้าหน้าที่ มพศ. เซ็นรับรองตัวตน ลุงเจิดจึงทำบัตรประชาชนไม่ได้ แต่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลจากการที่ มพศ. ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ การเดินเรื่องกับทางเทศบาลนครเชียงใหม่เพื่อทำบัตรประชาชนยังไม่ทันมีความคืบหน้า แต่ลุงเจิดก็เสียชีวิตไปเสียก่อน

จากกรณีศึกษาข้างต้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่า คนไร้บ้านเมื่อได้รับการดูแลจากศูนย์พักพิงก็ตาม แต่เมื่อจำต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ปัญหาการขาดเอกสารระบุตัวตนเช่นบัตรประจำตัวระชาชน หรือเลขประจำตัว 13 หลัก ได้ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล ที่ทางโรงพยาบาลจำเป็นที่จะต้องใช้เป็นหลักฐานประกอบในการรักษา และยังคงต้องดำเนินกระบวนการผลักดันให้คนไร้บ้านมีบัตรประจำตัวประชาชน ที่จะต้องใช้ระยะเวลาสักพักในการพิสูจน์สิทธิจากทางราชการ นอกจากนี้กรณีศึกษานี้จะเห็นถึงความพยายามในการให้ความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ หรือพี่เลี้ยงของเครือข่ายคนไร้บ้าน ที่สะท้อนให้เห็นช่องทางในการผลักดันให้คนไร้บ้านได้รับการรักษาพยาบาลผ่านวิธีการขอความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาล ซึ่งวิธีการดังกล่าวย่อมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของโรงพยาบาลเป็นรายกรณีไป

 


ในตอนต่อไปเราจะมาดูกันว่า คนไร้บ้านเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสิทธิการศึกษา สิทธิการได้รับเบี้ยเลี้ยงยังชีพ และ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรบ้าง รวมทั้งข้อเสนอในการแก้ปัญหาของรายงานการวิจัยชิ้นนี้…..

เปิดรายงานการวิจัยฯด้านกม. คนไร้บ้านในไทยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เพียงแค่ไร้บัตรประชาชน (จบ)

 

รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ คนไร้บ้าน 221260