1,271 จำนวนของคนไร้บ้านเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งคนไร้บ้านทั่วประเทศไทยล่าสุดในปี 2566 มีอยู่ที่ 2,499 คน จะเห็นได้ว่าแค่เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็มีคนไร้บ้านเกือบ 50% ของคนไร้บ้านทั่วประเทศแล้ว
ข้อมูลนี้ได้รับการสำรวจภายใต้โครงการแจงนับ (One Night Count) ซึ่งเป็นการร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่สำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศ
และแน่นอนว่ามีคนไร้บ้านบางส่วนที่มีอาการเจ็บป่วย หรือใช้ชีวิตอยู่กับโรคเรื้อรัง จากรายงานอายุขัยเฉลี่ยและภาวะการตายของคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร โดย ดร.ชญานิศวร โคโนะ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส. ระบุว่า คนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะบางส่วนเผชิญอาการป่วยทางกายและจิตใจ ซึ่งคนไร้บ้านส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ การติดเชื้อ และโรคเรื้อรัง และมีบางส่วนที่เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ฯลฯ
สภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย ก็ส่งผลต่อการเสียชีวิตของคนไร้บ้านเช่นเดียวกัน เช่น ในช่วงฤดูร้อน คนไร้บ้านมักจะเสียชีวิตเพราะโรคลมแดด (Heat Stroke) เป็นต้น
อาการเจ็บป่วยส่งผลกับชีวิตคนไร้บ้านอย่างมาก เพราะพวกเขาไม่มีเงินมากพอที่จะเข้าถึงการรักษา ซื้อยา หรือแม้กระทั่งซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคที่สะอาดและได้คุณภาพ ทำให้คนไร้บ้านมักต้องใช้ชีวิตร่วมกับความเจ็บป่วย
แม้จะมีสิทธิการเข้าถึงการรักษาตามกฎหมาย แต่คนไร้บ้านหลายคนไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะมีปัญหาสถานะบุคคล ไม่มีบัตรประชาชนสำหรับยืนยันตัวตนเพื่อใช้สิทธิ์
นอกจากนี้ยังพบว่า คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ 17% ไม่มีความสามารถในการอ่าน ทำให้บางคนอาจตกหล่นจากการได้รับข้อมูลด้านการรักษาพยาบาล และเข้าไม่ถึงวิธีการดูแลสุขภาวะของตัวเองในเบื้องต้น
“มีคนไร้บ้านที่นอนอยู่ริมถนนจริงๆ ให้เราได้เห็น พวกเขาคือกลุ่มเปราะบางในสังคม ซึ่งเป็นเหยื่อของระบบที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย”
นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ หรือ หมอไก๋ ผู้ก่อตั้งโครงการสุขภาวะข้างถนนเพื่อคนไร้บ้านกล่าวบนเวทีเสวนา Good Society Day 2024 “Connect The Good Dots” เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา จัดโดย มูลนิธิเพื่อคนไทย หมอไก่เป็นแพทย์และทำงานวิจัยด้านระบบสุขภาพในกรุงเทพฯ ทำให้เริ่มเห็นอุปสรรคบางอย่าง ที่ทำให้คนในสังคมไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม ประกอบกับช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 สถานการณ์ของคนไร้บ้านยากลำบากกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะพวกเขาอยู่พื้นที่สาธารณะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
“ช่วงที่มีการแพร่ระบาด จะมีข่าวว่าคนยอมติดโควิดเพื่อที่จะได้ถูกส่งตัวกลับบ้าน แต่สำหรับคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ เขาไปไหนไม่ได้”
สุขภาวะข้างถนน เป็นโครงการที่ริเริ่มเพื่อคนไร้บ้านโดยเฉพาะ เนื่องจากคนไร้บ้านประสบปัญหาด้านสุขภาพจำนวนมาก แต่เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล การทำงานเริ่มต้นจากสร้างหน่วยให้บริการการรักษาเคลื่อนที่ (Mobile Clinic) ออกตรวจสุขภาพให้กับคนไร้บ้าน
ทีมอาสาสมัครเป็นบุคลากรแพทย์ที่จะมาออกตรวจทุกวันอังคารในสัปดาห์ที่ 2 และสัปดาห์สุดท้ายของทุกเดือน พื้นที่ที่หน่วยพยาบาลจะเดินทางไปอยู่ภายในกรุงเทพฯ
การให้บริการมีตั้งแต่วัดความดัน ปรึกษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ และจ่ายยาเบื้องต้น ซึ่งให้บริการโดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ที่หน่วยบริการเคลื่อนที่ยังมี ‘หน่วยดนตรี’ ในการออกตรวจ เพื่อสร้างความผ่อนคลายผ่านเสียงเพลงให้กับผู้ที่มารอเข้ารับบริการ ขับกล่อมโดยนักดนตรี นักดนตรีบำบัด และนักจิตวิทยา ซึ่งตลอดทั้งโครงการก็ได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สสส. มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น
เป้าหมายของโครงการสุขภาวะข้างถนน คือ การดูแลคนไร้บ้าน เมื่อเริ่มโครงการได้ระยะหนึ่งก็พบว่า มีคนไร้บ้านที่มีอาการเจ็บป่วยแต่ไม่อยู่ในขั้นรุนแรง ควรได้รับยาและการดูแลตามอาการ เพื่อไม่ให้อาการเจ็บป่วยรุนแรงมากยิ่งขึ้น หน่วยบริการเคลื่อนที่สามารถช่วยให้คนไร้บ้านเข้าถึงการมีสุขภาวะที่ดีได้
547 ครั้งที่มีคนไร้บ้านเข้ามารับบริการที่หน่วยเคลื่อนที่ 12 ครั้งที่มีการจัดดนตรีบำบัด นี่คือผลลัพธ์ความสำเร็จจากการออกหน่วยเคลื่อนที่ดูแลสุขภาพคนไร้บ้านในปี 2566
จากหน่วยเคลื่อนที่ สู่บ้านพักพิงชั่วคราวทางการแพทย์
ปัจจุบันสุขภาวะข้างถนนไม่ได้หยุดอยู่แค่การออกหน่วยเคลื่อนที่ แต่ยังเดินหน้าร่วมมือกับภาคีเครือข่ายก่อตั้ง ‘บ้านพักพิงชั่วคราวทางการแพทย์สำหรับคนไร้บ้าน’ (Medical Respite Care for Homeless People) ซึ่งเป็นบ้านพักพิงสำหรับคนไร้บ้านในระยะกึ่งเฉียบพลัน และอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวจากการรักษา ซึ่งต้องได้รับการดูแลใกล้ชิด โดยบูรณาการร่วมกับ สสส. พม. ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านคนไร้บ้าน สถานบริการสาธารณสุข (โรงพยาบาลรัฐ คลินิกชุมชนอบอุ่น และศูนย์บริการสาธารณสุข) กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
ภายในงานเสวนาเวทีแลกเปลี่ยนสถานการณ์สุขภาวะคนไร้บ้านสู่การขับเคลื่อนนโยบาย: ตอนที่ 1 สถานการณ์สุขภาพกาย มีการพูดคุยเกี่ยวกับโครงการบ้านพักพิงชั่วคราวไว้เบื้องต้น โดยเกณฑ์เข้ารักการรักษา ได้แก่
หนึ่ง-เป็นคนไร้บ้านที่มีปัญหาด้านที่อยู่อาศัย สอง-มีปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการดูแล สาม-ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานด้วยตัวเองได้ สี่-ต้องอยู่ระยะพ้นการแพร่เชื้อในกรณีที่เป็นโรคติดเชื้อ และห้า-ต้องไม่เป็นโรคทางจิตเวชที่เป็นอันตรายต่อตัวเองและคนอื่น
บริการที่คนไข้จะได้รับหลังจากเข้ารักษาในบ้านพักพิงชั่วคราว คือ อาหาร ที่พักชั่วคราวเป็นระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ และการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์
ซึ่งในบ้านพักพิงแห่งนี้ก็มีกิจกรรมดนตรีบำบัดโดยนักดนตรีอีกด้วย โดยหลังจากเข้ารับการฟื้นฟูแล้ว บ้านพักพิงก็ยังมีส่วนช่วยให้คนไข้เข้าถึงบริการสุขภาพ และเข้าถึงที่พักอาศัยอย่างยั่งยืนผ่านการร่วมมือกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
หลังจากระยะการดำเนินงานมา 1 ปี ปัจจุบันบ้านพักพิงชั่วคราวมีห้องพักทั้งหมด 3 ห้อง บริการผู้ป่วยไปแล้ว 14 คน โดยมีผู้ป่วยที่เป็นคนไร้บ้านทั้งมากกว่า 1 ปี และน้อยกว่า 1 ปี ผู้ป่วยที่จำหน่ายออกจากบ้านพักพิงมีจำนวน 11 คนที่มีอาการดีขึ้นจนสามารถออกไปใช้ชีวิตได้ และมีบางส่วนที่ได้รับการส่งต่อเพื่อรักษาในสถานพยาบาลอื่นๆ
“บางคนโชคร้ายจากการเจ็บป่วย มีผู้ป่วยที่เป็นลูกจ้างรายวันจากที่ไม่ใช่คนไร้บ้าน ก็กลายเป็นคนไร้บ้านไปเลย เพราะเขาทำงานไม่ได้ เมื่อทำงานไม่ได้ก็ไม่มีเงิน”
โรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่มันย่อมเลวร้ายกว่าเมื่อเกิดขึ้นกับคนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ฉะนั้นแล้ว มันคงจะดีกว่า ถ้าหากการรักษาสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย นอกจากนี้ การดูแลหลังจากการรักษาในโรงพยาบาลก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ เพราะถ้าหากขาดการดูแลหรือพักฟื้นที่ถูกต้อง พวกเขาอาจจะต้องวนเวียนกลับมารักษาที่โรงพยาบาลอีก
ปัจจุบันบ้านพักพิงชั่วคราวทางการแพทย์สำหรับคนไร้บ้าน โดยโครงการสุขภาวะข้างถนนกำลังพัฒนารูปแบบการทำงาน และพยายามที่จะขยายต่อไปยังหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถเข้าถึงสุขภาวะที่ดีได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ เฟซบุ๊ก-สุขภาวะข้างถนน
อ้างอิง: