เพราะทุกคนต้องการยืนได้ด้วยตัวเอง : โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง โครงการชวนคนไร้บ้านมาแชร์ค่าห้อง เพื่อจุดเริ่มของการตั้งหลักชีวิต

เรื่อง : เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา
ภาพ : ฉัตรมงคล รักราช

ตึกแถวสูง 3 ชั้นซ่อนตัวอยู่ในตรอกสลักหิน มองจากภายนอกเห็นถึงความเก่าแก่ สีผนังเริ่มซีดจาง เหมือนกับบ้านหลักอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง แต่พื้นที่นี้ก็เป็นหนึ่งในที่พักของกลุ่มคนไร้บ้านบริเวณหัวลำโพง

‘พิม’ (นามสมมติ) แกนนำกลุ่มเป็นคนพาเดินดูสถานที่นี้ พร้อมกับเล่าเรื่องราวของพวกเขาที่กำลังลบสถานะ ‘คนไร้บ้าน’ 

เป็นเวลา 5 โมงเย็นแล้ว ทำให้ตึกแถวนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่กลับมาบ้านหลังทำงาน บางคนตระเตรียมกินอาหารที่ซื้อกลับมา บางคนขอนอนพักเอาแรงก่อน หรือช่วงเย็นนี้ก็กลายเป็นเวลาเริ่มต้นงานของบางคน พวกเขาต่างใช้ชีวิตเช่นมนุษย์ทำงานทั่วไป

‘โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง’ คือจุดเริ่มต้นแรกของพวกเขา โครงการเกิดจากการร่วมกันของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ภาครัฐ และประชาสังคม  โดยมีเป้าหมายสนับสนุนที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน ส่งเสริมการทำอาชีพต่างๆ และจัดการการเงินผ่านกองทุนเก็บออม เพื่อนำไปสู่การตั้งหลักชีวิตในระยะยาว ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเสี่ยงทางสุขภาวะของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะได้อย่างยั่งยืน แนวคิดในการทำโครงการนี้มากจากฐานความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไร้บ้านที่สามารถเปลี่ยนแปลงและมีคุณภาพที่ดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง เมื่อได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมบนพื้นฐานศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

การสนับสนุนที่อยู่อาศัยทำผ่านวิธี ‘แชร์’ ค่าเช่า ร่วมกับกองทุนเครือข่ายคนไร้บ้านและมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย จัดตั้งกองทุนและทำงานส่วนนี้ โดยคนไร้บ้านจะสมทบค่าเช่าห้องร่วมกับเงินของโครงการในสัดส่วน 60 ต่อ 60 ของค่าเช่าห้อง ซึ่งส่วนต่างที่เหลือร้อยละ 20 จะนำไปเป็นเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มด้านอื่นๆ ต่อไป 

ภายในตึกแถวหลังนี้มีห้องพักประมาณ 20 ห้อง แต่ละห้องมีจำนวนคนพักแตกต่างกันไป มีทั้งพักคนเดียว และพักหลายคน ขึ้นอยู่กับการจัดการของแต่ละคนว่าอยากจะช่วยกันแชร์ค่าห้องเพิ่ม หรือสามารถจัดการด้วยตัวเองได้

ตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ทำโครงการ เดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน 2565 มีคนไร้บ้านเข้าถึงที่อยู่อาศัยจำนวน 37 คน

“ทุกคนที่เข้าโครงการมาแบบศูนย์เลย ก็ต้องเริ่มต้นไปเรื่อยๆ เริ่มจากรับจ้างทำงานอะไรก็ได้ตามแต่เขาจ้างมา หลังๆ พอเรามีห้องปุ๊บ ทุกคนได้ทำงาน ก็ทำให้คนไว้ใจเรามากขึ้น รวมถึงนายจ้างด้วย งานก็จะมีมากขึ้น เพราะการที่เรานอนริมคลอง หรือที่สาธารณะ บางคนจะตีค่าว่าเราเป็นคนเร่ร่อน”

“นายจ้างถ้าเขาไม่รู้ว่าเราพักที่ไหน ไม่มีวันรับเราทำงานแน่ๆ เพราะความไว้ใจมันหายไป เขาถือว่าเราเป็นคนเร่ร่อน กลัวเราเป็นมิจฉาชีพ โอกาสมันไม่มีสำหรับเราที่อยู่แบบนี้” 

พิมเล่าว่า การหางานของคนไร้บ้านยากตรงที่นายจ้างมักจะถามว่าพวกเขาพักที่ไหนก่อนรับเข้าทำงาน ต่อให้มีความสามารถแต่ถ้าไม่มีที่พักก็จะถูกปฎิเสธ สำหรับคนไร้บ้าน การมีบ้านไม่ใช่แปลแค่ว่าพวกเขามีที่หลับนอนเท่านั้น แต่ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นและถูกมองเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ประตูแห่งโอกาสเปิดขึ้น เริ่มจากประตูการจ้างงาน

“พอเราเข้ามาอยู่แบบนี้ปุ๊บ สังคมเปลี่ยนไปเลย คนในชุมชนมองเราเหมือนคนปกติ ต้องยกเครดิตให้เจ้าของตึกด้วยนะที่เขาเปิดใจรับเรา จริงๆ ถ้าไม่มีหน่วยงานมาร่วมด้วย เขาก็คงไม่เปิดใจให้เราขนาดนี้”

ห้องพักภายในตึกเป็นห้องแบบสตูดิโอ คือ มีห้องเดียว ห้องน้ำแยกเป็นห้องน้ำรวมข้างล่างตึก ภายในแต่ละคนก็จะมีข้าวของไม่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าใครอยากจะใส่อะไร บางห้องมีเพียงที่นอน หรือบางห้องเก็บข้าวของที่ใช้ทำงาน เช่น เก็บของเก่า

นอกจากตึกที่พิมพาเดินดู มีตึกอีก 2 ตึกที่เป็นที่พักอาศัยของคนไร้บ้านในตรอกสลักหิน ซึ่งการอยู่ใกล้ๆ กันก็ง่ายต่อการชวนไปทำงาน หรือใครมีปัญหาก็สามารถขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ ได้ทันที หรือเย็นวันไหนถ้าไม่มีงานต้องไปทำ พวกเขาก็จะจับกลุ่มกินข้าวเย็นรวมกัน

การปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่เป็นเรื่องยากสำหรับคนไร้บ้านบางคน เพราะความชินกับชีวิตที่ไม่ต้องทำงานตลอดเวลา เน้นรับของแจกมากกว่า แต่การทำงานทำให้พวกเขาได้สัมผัสความอิสระที่ไม่ต้องรอให้ใครเอาของมาให้ แต่พวกเขาสามารถหาเงินซื้อของที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง

“เขาอยากทำงานกันมาก เช้าต้องทักมาหาเราละว่ามีงานอะไรให้ทำบ้าง เพราะเขาอยากได้เงินมาจ่ายค่าห้อง เขากลัวว่าจะต้องกลับไปนอนที่เดิมอีก กังวลสายตาคนอื่นๆ จะมองยังไง เลยทำให้เขากระตือรือร้นมากขึ้น 

“มันเปลี่ยนไปทุกอย่างมากนะ เมื่อก่อนตีสองตีสามยังนั่งริมคลองรอของแจกกันอยู่ เดี๋ยวนี้สองทุ่มก็ขึ้นนอนแล้ว หรือจากเต็มที่ได้กินแค่มาม่า ทุกวันนี้ข้าวท่วมห้องไปหมดแล้ว”

ส่วนหนึ่งที่ทุกคนกระตือรือร้นทำงาน เพราะพวกเขาต้องการรักษาที่พักนี้ไว้ ไม่ต้องการกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีก “เขาอายถ้าต้องกลับไปนอนที่เดิมอีกรอบหนึ่ง มันเป็นความอายที่น่าสะเทือนใจ เคยนอนอยู่ตรงนี้ต้องกลับไปนอนริมคลองอีก แล้วเพื่อนจะมองตัวเองยังไง”

คนไร้บ้านบางคนเลือกที่จะทำงานทุกวัน เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะมีเงินจ่ายค่าเช่าห้องเพียงพอ รวมถึงเลี้ยงปากท้องตัวเอง แม้กระทั่งเสาร์-อาทิตย์ หากมีงานรับจ้างพวกเขาก็ยินดีไปทำทันที

จุดที่ยากอีกหนึ่งจุด คือ การชวนให้คนไร้บ้านมาเข้าร่วมโครงการ เพราะบางคนมีแผลที่เคยโดยทำร้าย โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อใจ ทำให้พวกเขาไม่กล้าเปิดใจรับใคร พิมเล่าว่าต้องใช้เวลาพักใหญ่ๆ กว่าที่คนจากโครงการจะทำให้คนไร้บ้านคนอื่นๆ เชื่อและยอมเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งวิธีที่ทีมงานสร้างความเชื่อใจให้กับคนไร้บ้าน คือ การลงมือทำให้เห็นจริงๆ ว่า โครงการนี้มาเพื่อช่วยพวกเขา

“ไม่ต้องถามว่าซื้อใจยังไง เขาทำให้เราเห็นจริงๆ ว่าเป็นสิ่งที่เขาพูดและทำ แค่นั้นเอง ลงพื้นที่ให้ได้มากที่สุด รับปากว่าจะช่วยอะไร คือ ช่วยให้ได้ อย่ามาบอกพี่น้องว่าเดี๋ยวช่วยหางานให้แล้วหายไป เพราะมันเป็นความคาดหวังของเราแล้วว่า เดี๋ยวเขาจะมาช่วย แต่เขากลับไม่มา พี่น้องจะไม่ไว้ใจคุณอีกแล้ว 

“แต่ทีมงานเครือข่ายคนไร้บ้านเขาไม่เคยทำแบบนั้น ลงพื้นที่มาทำงานกับเราตลอด มีปัญหาอะไรบอกเขาก็ช่วยตลอด ไม่มีบัตรประชาชนก็ช่วยทำเรื่องให้ เรามีสิทธิ์อะไรก็มาอธิบายให้เราฟัง ตอนโควิดก็ลงมาช่วยเป็นคนแรกๆ ตั้งจุดฉีดวัคซีน ทำให้เราดูมีค่าขึ้น ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง กลายเป็นความไว้ใจที่เรารู้สึกปลอดภัย เขาชวนไปไหนก็กล้าที่จะไป”

ช่วงที่เริ่มโครงการแรกๆ ขั้นตอนชวนคนไร้บ้านเข้าโครงการ พิมเล่าว่า ตอนนั้นยังมีคนกล้าเข้ามาเพียง 2 – 3 คน แต่พอคนกลุ่มนั้นได้ที่อยู่ได้งานทำ คนอื่นๆ เห็นก็เริ่มสนใจอยากเข้าร่วมโครงการบ้าง จนโครงการขยายตัวเรื่อยๆ มีคนเข้ามาเพิ่ม 

“โครงการจะโอนเงินค่าห้องให้กับเจ้าของ เขาก็จะขอให้เจ้าของช่วยดูว่าใครจ่ายบ้าง ส่วนใหญ่จ่ายกันหมดนะ อาจจะมีช้าบ้าง แต่เขาจะทำข้อตกลงกับเจ้าของตึก เช่น ขอทะยอยจ่ายทุกวันแทน หรือบางคนได้เงินมาก็รีบจ่ายค่าห้องเลย ก่อนสิ้นเดือน” 

ตลอดการทัวร์ตึกแถวนี้ ใบหน้าของผู้พักอาศัยแต่ละคนเต็มไปด้วยรอยยิ้ม พร้อมกับเชื้อเชิญให้เข้าไปหา หรือบางคนเดินเข้ามาหาเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ฟัง พิมบอกว่าหากเป็นสมัยก่อนที่จะเข้าโครงการไม่มีทางได้เจอคนไร้บ้านมุมนี้ เพราะพวกเขาจะหวาดกลัวคนอื่นๆ เนื่องจากชีวิตที่ไม่แน่นอน การต่อสู้เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องมีตลอดเวลา

“เวลามีของแจกทำไมคนไร้บ้านต้องวิ่งไปเอา เพราะเราต้องใช้ของสิ่งนั้น ไปขายเพื่อแลกเป็นเงินเลี้ยงตัวเอง อาหารที่ได้มาเขาไม่มีทางแบ่ง เพราะเขากลัวว่าตัวเองจะไม่พอ ต่อให้เหลือเขาก็จะทิ้ง แต่ทุกวันนี้เราเดินกันเอ้อระเหย ไม่ต้องแย่งกัน เพราะมันอิ่มแล้วไง อยากกินอะไรเขาได้ซื้อเพราะมีรายได้

“พิมพยายามบอกทุกคนเรื่องการแบ่งปัน จริงๆ ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เราต้องให้เขาก่อน พอเขาได้เป็นผู้รับเดี๋ยวเขาปล่อยให้คนอื่นเองแหละ อีกอย่างมันไม่ต้องอดแล้ว ทุกคนมีงาน มีเงิน เขาไม่จำเป็นต้องเก็บของไว้มากมาย อยากกินอะไรก็ซื้อมาแบ่งกัน กับข้าว 5 คนก็ 5 อย่าง มีพี่คนหนึ่งไปทำงานเป็นแม่ครัวที่โรงเรียนหนึ่ง ทุกเย็นแกจะเอาอาหารที่เหลือมาแจกทุกคน มันเป็นมื้อที่สำคัญของทุกคนพอสมควร”

ความเปลี่ยนแปลงของสมาชิกคนไร้บ้าน จากที่ต้องแย่งชิงให้ตัวเองอิ่มท้องคนเดียวเท่านั้น ณ ตอนนี้พวกเขาเริ่มรับบทเป็นคนให้ แบ่งปันสิ่งที่มีกับเพื่อนพี่น้องคนอื่นๆ  รวมถึงเริ่มซื้อของขวัญให้กำลังใจตัวเอง 

“อยากได้อะไรก็ซื้อ มันไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก่อนหน้านี้เราต้องรอคนบริจาค แต่ตอนนี้อยากได้อะไรซื้อเลย อาจจะเรียกว่าเขาใช้ชีวิตเหมือนก่อนมาอยู่ที่สาธารณะ กลับเข้าโหมดปกติแล้ว แต่อนาคตก็ต้องรอดูอีกทีนะ (หัวเราะ)”

นี่อาจไม่ใช่ตอนจบที่บอกว่าคนไร้บ้านตรอกสลักหินได้อยู่อย่างมีความสุขตลอดกาล แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการได้กลับมาใช้ชีวิตที่ยืนด้วยตัวเอง มีความมั่นคงของชีวิตเป็นจุดหมายที่พวกเขาพยายามเดินทางไปให้ถึง อาจเป็นเป้าหมายเดียวกันกับที่เราทุกคนมี

‘บ้าน’ ไม่ว่าจะลักษณะแบบไหนแต่นิยามของแต่ละคน แต่พื้นที่นี่ไม่ใช่แค่ที่หลับนอนหรือพักผ่อนเท่านั้น แต่ ณ วันนี้การมีบ้าน มีที่พักอาศัยกลายเป็นตัวการันตีความเชื่อมั่นในตัวเรา เช่นคนไร้บ้านที่มีเมื่อบ้านพวกเขาก็ได้รับความเชื่อมั่นและเปิดโอกาสให้ได้ทำงานเลี้ยงตัวเองอีกครั้ง