Jill Pable ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภายในและสถาปัตยกรรม แห่งมหาวิทยาลัยรัฐฟอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคนไร้บ้านซึ่งเธอพบว่าการออกแบบศูนย์พักพิงมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน
กรมที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองของสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Housing and Urban Development) รายงานว่ามีคน 544,000 คน ที่มีปัญหาที่อยู่อาศัย โดย1 ใน 3 ของจำนวนนี้ เป็นคนไร้บ้านทั้งครอบครัว การใช้ชีวิตของคนไร้บ้านนพื้นที่สาธารณะต้องประสบปัญหาสภาพอากาศ อาชญากรรม และการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ (อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สกปรก) ภาวะไร้บ้านเหล่านี้ทำให้คนไร้บ้านขาดความภาคภูมิใจในตัวเองรู้สึกไร้ค่าและสิ้นหวัง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านจึงไม่ใช่เพียงการจัดหาที่อยู่อาศัยหรือการทำให้คนไร้บ้านมีงานทำ แต่ต้องฟื้นฟูความภาคภูมิใจในตัวเองด้วย ซึ่งงานวิจัยของ Pable ที่ศึกษาสภาพแวดล้อมของคนไร้บ้านจึงพบว่าการออกแบบที่อยู่อาศัยมีผลต่อการสนับสนุนหรือขัดขวางให้คนไร้บ้านสามารถที่จะกำหนดชีวิตตัวเองได้ในอนาคต
งานวิจัยของ Pable แสดงผลว่าสภาพทางกายภาพมีผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งศูนย์พักพิงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการมองตัวเองของคนไร้บ้าน การออกแบบศูนย์พักพิงของคนไร้บ้านควรมีโทนสีที่อบอุ่น มีแสงสว่าง มีพื้นที่ใช้สอยส่วนตัวและมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จากประสบการณ์ของ Pable ศูนย์พักพิงส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนสามารถอยู่อาศัยได้มากที่สุด และเมื่อมีคนอยู่จำนวนมาก พื้นที่ก็เต็มไปด้วยความทรุดโทรมสกปรกและมีแต่ความรุนแรง ในท้ายที่สุดคนไร้บ้านก็มักเลือกที่จะออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะมากกว่าการอยู่ศูนย์พักพิง
Pable เล่าเพิ่มเติมว่า เขาเคยทดลองเข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงเพื่อที่จะศึกษาเรื่องการออกแบบห้องนอน ว่ามีผลในการสนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของคนไร้บ้านอย่างไร เธอมีโอกาสได้พบกับ 2 ครอบครัว ที่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว โดยครอบครัวแรกมีลูกสาว 2 คน อายุ 3 และ 4 ขวบ ส่วนครอบครัวที่สองมีลูกชาย 2 คน อายุ 3 และ 18 ขวบ ในช่วงแรกทั้งสองครอบครัวอาศัยอยู่ในห้องนอนที่เป็นเตียงโลหะสองชั้น มีพื้นที่แต่งตัวเล็กน้อย ผนังห้องสีเขียวอ่อน โคมไฟ 1 อัน มีพื้นที่สำหรับก็บของน้อยนิด จนต้องวางซ้อนๆ ทับกันขึ้นไป ต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน และประตูห้องนอนไม่สามารถล็อคได้ เพราะต้องเปิดไว้ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ
สองเดือนต่อมา ครอบครัวหนึ่งได้ย้ายเข้าไปอยู่ในห้องนอนที่ทีมงานของ Pable ได้พัฒนาขึ้น โดยปรับปรุงใหม่ให้ตอบสนองการใช้งานและมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ภายในห้องมีอุปกรณ์ใช้สอยทั้งโต๊ะพับ ผ่าม่านรอบเตียงเพื่อความเป็นส่วนตัว ชั้นวางของ ลิ้นชัก ช่องเก็บของ รวมทั้งทาสีผนังห้องให้มีสีฟ้าอ่อน
หลังจากนั้น Pable ได้สัมภาษณ์ คุณแม่ที่ได้ย้ายมาอยู่ในห้องใหม่ เธอเล่าว่า ตอนที่เธอเข้ามาอยู่ในห้องเดิมเธอรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเลวร้ายเพราะสถานที่อึดอัดจนทำให้เธอรู้สึกเหมือนอยู่ในคุก บางครั้งเธอเลือกที่จะออกไปข้างนอกนานๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องแคบๆ แต่เธอสงสารลูกของเธอที่กำลังเรียนหนังสือ เพราะต้องใช้คอมพิวเตอร์และพื้นที่ในการทำงาน ซึ่งมันมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เมื่อเธอย้ายเข้าอยู่ในห้องใหม่ ภายในห้องมีแสงสว่างเยอะขึ้น มีพื้นที่ให้อ่านหนังสือหรือใช้เวลาร่วมกัน แม้ว่าขนาดห้องจะไม่ได้ใหญ่ขึ้น แต่การจัดสรรพื้นที่และการออกแบบก็ทำให้พวกเขามีทั้งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันมีพื้นที่ให้เด็กทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย เช่น การวาดภาพ การตกแต่งห้อง ช่วยให้ครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น รวมทั้งทำให้เธอมีความมั่นใจขึ้นว่าสามารถดูแลลูกและวางแผนการใช้ชีวิตร่วมกับลูกได้
ในตอนท้ายของงานวิจัย Pable ได้สัมภาษณ์คุณแม่เพิ่มเติมว่า หากไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องที่พักอาศัย คิดว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร เธอตอบว่า ตอนอยู่ที่ห้องเดิม บางครั้งเธอรู้สึกหดหู่เพราะเธอไม่มีความเป็นส่วนตัว แต่ตอนนี้มันรู้สึกแตกต่าง บางครั้งคนเราก็ต้องการความเป็นส่วนตัวและความสงบ ซึ่งผ้าม่าน เตียงประตู ก็สามารถช่วยให้เธอรู้สึกดีขึ้นได้ เธอคิดว่า ถ้ายังอยู่ในสภาพเดิมสักวันอาจทำให้ลูกๆ ของเธอกลายเป็นเด็กก้าวร้าวหรือมีปัญหาได้ แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลง พวกเขาก็ได้ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างพี่น้อง กิจกรรมตามวัยและมีพื้นที่ของพวกเขาเอง ดังนั้นห้องนอนใหม่ ที่สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการของครอบครัว ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นเจ้าของมัน ช่วยเสริมพลังพวกเขา ให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่าและมีประโยชน์กับคนอื่นได้
งานศึกษาวิจัยนี้ อาจเป็นงานศึกษาในพื้นที่ขนาดเล็กแต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่า สถาปัตยกรรมสามารถช่วยเหลือครอบครัวคนไร้บ้าน ให้มีความคิดในเชิงบวก พร้อมที่จะพัฒนาตนเองและวางแผนการใช้ชีวิตในอนาคตได้
ที่มา theconversation.com