“เขาจะอยู่ได้เหรอ จะแก้ปัญหาได้จริงไหม ต้องอยู่ถาวรเลยไหม ต้องช่วยเหลือตลอดเลยรึเปล่า มันต่างจากสถานสงเคราะห์อย่างไร”
หลายคนคงมีคำถามทำนองนี้ไม่มากก็น้อย เมื่อมีข่าวการสร้างศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน วันนี้เรามานั่งคุยประเด็นเหล่านี้กับจำนง หนูพันธ์ ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค ที่ร่วมผลักดันนโยบายแก้ปัญหาคนไร้บ้านโดยเริ่มต้นจากการสร้างศูนย์พักพิงฯ เขาเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า มันเป็นจุดเริ่มต้นของการให้โอกาสคนไร้บ้านได้พัฒนาคุณภาพชีวิต
การผลักดันเรื่องการสร้างศูนย์พักพิงคนไร้บ้านเป็นอย่างไรบ้าง
เราได้งบประมาณมาเพื่อปรับปรุงศูนย์ฯที่บางกอกน้อย และเตรียมสร้างศูนย์ใหม่ที่เชียงใหม่ และขอนแก่น โดยได้งบมา 118 ล้านบาท
หลังจากนี้คนไร้บ้านก็จะมีความมั่นคงมากขึ้นในเรื่องของที่อยู่อาศัย เพราะจะทำเป็นศูนย์ชั่วคราว มีบ้านมั่นคง พี่น้องคนไร้บ้านเข้าถึงโอกาสนี้มากขึ้น
อยากให้ช่วยเล่าว่า งบส่วนนี้ ผลักดันจนได้มาอย่างไร
เกิดขึ้นจากการผลักดันของกลุ่มคนไร้บ้าน ร่วมกับเครือข่ายสลัมสี่ภาค เราขับเคลื่อนเพื่อให้พี่น้องได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราได้รับ คือ เราได้เข้าถึงการเสนองบประมาณกับทางนายกรัฐมนตรี อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว ท่านก็สนองตอบโดยการลงพื้นที่ไปสำรวจเอง ซึ่งการลงพื้นที่ทำให้เขาเห็นภาพปัญหาจริงๆ ซึ่งปัญหาต่างๆจะถูกแก้ได้จริงๆก็ต่อเมื่อผู้มีอำนาจลงไปในพื้นที่ ส่งผลให้งบประมาณมันดำเนินต่อไปได้ผ่านองค์กรพอช.การแก้ปัญหาต่างๆก็ดำเนินต่อไปได้
ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของพี่น้องสลัม ผมยังเชื่อว่า ถ้ารัฐมนตรีลงไปทำงานลงไปดู ลงพื้นที่ทุกพื้นที่ ติดตามอย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้ และแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง และพี่น้องก็มีชีวิตที่ดีขึ้นลดปัญหาของพี่น้องคนไร้บ้าน
เราไม่ใช่ดูเฉพาะที่พักพิงชั่วคราวอย่างเดียว แต่ดูเรื่องของคุณภาพชีวิตด้วย เรื่องของการช่วยเหลือตัวเอง เช่นการปลูกพืชผักสวนครัวในศูนย์ฯเพื่อให้เกิดการดูแลกันเอง
เรื่องสุขอนามัยก็เหมือนกัน อย่างเช่นที่บางกอกน้อย จากเคยอยู่รวมกันทั้งผู้หญิงผู้ชาย ตอนนี้ปรับปรุงใหม่ แยกหญิง ชาย และปรับสุขลักษณะอนามัยมากขึ้น ห้องน้ำต่างๆก็แยก และทำให้พี่น้องคนไร้บ้านรู้จักการออมเงินเพื่ออนาคตของตัวเอง เพื่อลูกหลานด้วย
มองสถานการณ์คนไร้บ้านปัจจุบันอย่างไร
สถานการณ์คนไร้บ้าน ตอนนี้ถือว่าดีขึ้น สถานการณ์ตอนนี้ก็ถือว่าพัฒนาไปเยอะ ก็อยู่ที่ตัวเขาเองด้วย ต้องขอบคุณตัวเขาทุกคนที่มารวมตัวกันภายใต้เครือข่ายคนไร้บ้าน ร่วมกับเครือข่ายสลัมสี่ภาคที่เป็นพี่เลี้ยงใหญ่ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ก็จะเห็นเป็นภาพวันนี้ที่เชียงใหม่ อีกภาพหนึ่งเราก็จะเห็นที่ขอนแก่น (กำลังจะมีศูนย์ฯที่เชียงใหม่และขอนแก่น)
จากที่ทำงานกับคนสลัม คนจนเมือง ปัญหาคนไร้บ้าน คนจนในเมือง หรือคนแออัด เป็นปัญหาร่วมกันอย่างไร
เป็นปัญหาร่วมกันแน่นอน ภายใต้เครือข่ายสลัมสี่ภาคที่ดูแลพี่น้องคนจนเมือง หรือชุมชนแออัด สุดท้ายเมื่อเรามาดูเรื่องของคนไร้บ้านพบว่า หนักกว่าคนสลัม เพราะอย่างน้อยคนสลัมมีที่อยู่ แต่อยู่ที่สาธารณะ ที่เอกชน ที่วัด เขามีโอกาสมากกว่าเพราะเขามีบ้านอยู่ และอยู่กับครอบครัว แต่คนไร้บ้าน เขาอยู่แบบไม่มีครอบครัว ตัวคนเดียวก็มี เราลงมาทำงานร่วมกัน เพราะว่าเป็นคนจนด้วยกัน แต่จนกว่าเราอีก เพราะเป็นคนจนแล้วไม่มีที่อยู่อาศัย อาศัยอยู่ตามที่สาธารณะแล้วก็ถูกมองว่าเป็นอาชญากร คือทุกคนรังเกียจหมด ไม่กล้าเข้าใกล้ เขากลัวเสียภาพของเมือง กทม.ก็ไล่ ทั้งที่ลึกๆแล้ว คนไร้บ้านเป็นคนจนจริงๆ ไม่รู้จะอธิบายอะไรได้มากกว่านี้ แต่ถ้าได้ลงสัมผัส ก็จะเข้าใจว่าเขากำลังเผชิญอะไรอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่มากกว่าเครือข่ายสลัมสี่ภาคเจออีก
ศูนย์พักพิงฯเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาคนไร้บ้านอย่างไร
การที่พี่น้องมาเป็นคนเร่ร่อน หรือคนไร้บ้าน เขามีปัญหาลึกๆ คนส่วนใหญ่จะมองว่า พวกนี้อาจจะไม่รักดี แต่จริงๆแล้วเขามีปัญหาที่ลึกมากกว่านั้น ปัญหาครอบครัว ปัญหาจิตใจ ฯลฯ จนเขาไม่อยากกลับบ้าน ไม่อยากอยู่ที่บ้านตัวเอง แต่ถ้าเรามีศูนย์ฯ เขาสามารถมาอยู่ในศูนย์ได้ จะชั่วคราวหรือถาวรก็แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะเลือก แต่ ณ ตอนนี้เขามีโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆกับงบประมาณตัวนี้ เราก็จะผลักดันให้ดีขึ้นเรื่อยๆทุกๆปี มาดูแลให้ครบวงจรทั้งหมด เขาก็จะสามารถกลับมาเป็นคนปกติได้
หลังจากมีศูนย์พักพิงฯ คนไร้บ้านมีที่พึ่งพิงอย่างที่พีว่ามา แล้วจากนี้ในอนาคต?
ก็ต้องมาดูเรื่องคุณภาพชีวิตของพวกเขา ตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดง ไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ คือ ให้รัฐดูแลตั้งแต่ต้นเหมือนคนปกติ เหมือนคนทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล หรืออะไรก็ตาม ทุกอย่างต้องเหมือนกัน พวกแรงงานข้ามชาติ หรือไม่มีบัตรประชาชนก็ต้องทำให้เขาเข้าถึง ทำให้เขามีหลักแหล่งที่แน่นอน มีอะไรรองรับ เพื่อให้เขาได้รับโอกาสขั้นพื้นฐานเหมือนคนปกติ นี่คือสิ่งที่มองในอนาคต ถ้าทำแบบนี้เชื่อว่าจะลดจำนวนพี่น้องคนไร้บ้าน
ถ้าเราบริหารแบบนี้ โดยมีงบประมาณของรัฐสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา เราก็จะสามารถต่อยอดไปได้เรื่อยๆ
วีดีโอสัมภาษณ์